พิธีกรรมงานอวมงคล


[ 10 ส.ค. 2554 ] - [ 18381 ] LINE it!

ศาสนพิธีของศาสนาพุทธ
ศาสนพิธีทางพระพุทธศาสนาและหน้าที่ชาวพุทธ
 
พิธีกรรมงานอวมงคล
 
พิธีกรรมงานอวมงคล
  
การทำบุญเนื่องในงานอวมงคล ได้แก่ งานทำบุญซึ่งปรารภเหตุที่ไม่เป็นมงคล
 
     การทำบุญเนื่องในงานอวมงคล  ได้แก่  งานทำบุญซึ่งปรารภเหตุที่ไม่เป็นมงคล  เช่น  ปรารภการตายของบิดามารดา  ครู  อาจารย์  หรือญาติมิตร  เป็นต้น  ทำบุญในงานฌาปนกิจบ้าง 7 วัน 50 วัน 100 วันบ้าง  ทำบุญเนื่องในวันคล้ายวันตายบ้าง  เพื่อให้เหตุร้ายกลายเป็นดี  เพื่อบรรเทาความเศร้าโศก  การทำบุญในกรณีเช่นนี้  มีพิธีนิยม  ส่วนมากเหมือนทำบุญในงานมงคล  ดังกล่าวมานี้  แต่มีข้อต่างกันบ้างดังต่อไปนี้ 
 
1.  จำนวนพระสงฆ์ที่นิยมสวดพระพุทธมนต์  เมื่อครบกำหนดวันทำบุญ  นิยมนิมนต์พระ 7 รูปบ้าง 10 รูปบ้าง  ถ้าเป็นพระราชพิธี  นิยมนิมนต์ 10 รูป  เป็นพื้น  สวดพระอภิธรรมนิมนต์ 4 รูป เป็นเกณฑ์  ถ้ามีบังสุกุลหรือมีสวดแจง  ไม่จำกัดจำนวนแน่นอน  ตามกำลังศรัทธา 10-20-50-100 รูป หรือมากกว่านี้ก็มี  แล้วแต่ฐานะทางเจ้าภาพ  แต่ส่วนมากนิยมนิมนต์เท่าอายุผู้ตาย
 
    การเทศน์ในงานศพ  นิยมมีพระสวดรับเทศน์นี้ด้วย 4 รูป  ไม่มีพระสวดรับก็ได้ส่วนพระที่แสดงธรรมเทศน์อานิสงส์หรือเทศน์ปฐมสังคยนา  หรือเทศน์เรื่องอื่นๆ  นิยมรูปเดียวก็มี 2-3 รูปก็มี  ตามฐานะเจ้าภาพ
 
2.  การสวดมนต์ในงานอวมงคล  ไม่ต้องตักบาตร  หรือหม้อน้ำมนต์  ไม่ต้องวางด้ายสายสิญจน์ที่โต๊ะหมู่บูชา  คงใช้แต่ผ้าภูษาโยง  ถ้าไม่มีผ้าภูษาโยงจะใช้ด้ายสายสิญจน์แทนก็ได้  เรียกว่าสายโยง  โยงจากฝาหีบทางด้านศีรษะศพมาวางไว้บนพานใกล้โต๊ะหมู่บูชา  หรือใกล้พระภิกษุผู้เป็นประธาน
 
3.  เมื่อถึงเวลากำหนดพระสงฆ์เข้านั่งยังอาสน์สงฆ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ถ้าพระสวดอภิธรรม  เจ้าภาพในงานพึงจุดเทียนธูปที่หน้าโต๊ะพระพุทธรูปก่อน  แล้วจุดที่หน้าตู้พระธรรมทีหลัง  เสร็จแล้วอาราธนาศีลต่อไป  พระให้ศีลแล้ว ไม่ต้องอาราธนาธรรม  แต่บางแห่งอาราธนาธรรมก็มี
 
งานอวมงคลหลังจากพระให้ศีลจบอาราธนาพระปริตรอย่างเดียว
 
เมื่อพระสงฆ์สวดหรือเทศน์จบ เจ้าภาพพึงเก็บสิ่งของเครื่องกีดขวางออกให้หมดแล้วจัดสิ่งของที่จะถวายพระ
 
     ถ้าสวดพระพุทธมนต์  เมื่อพระให้ศีลจบ   ต้องอาราธนาพระปริตรอย่างเดียว  ต่อเมื่อพระเทศน์ขึ้นธรรมมาสน์  ไม่ต้องอาราธนาด้วยวาจา  เมื่อเจ้าภาพเห็นว่าได้เวลาตามที่กำหนดแล้ว  ก็จุดเทียนหน้าธรรมาสน์  เรียกว่าจุดเทียนบูชาธรรม  พระผู้แสดงธรรมที่จะขึ้นสู่ธรรมาสน์  โดยถือเป็นธรรมเนียมว่าการจุดเทียนหน้าธรรมาสน์  เป็นการอาราธนาธรรม  มีธรรมเนียมอีกอย่างหนึ่ง  ซึ่งควรกำหนดไว้เป็นพิเศษคือ  เครื่องทองน้อยหน้าศพตามปกติ  ถ้าเจ้าภาพตั้งไว้เพื่อเคารพศพ  ตั้งเครื่องทองน้อยให้ดอกไม้หันเข้าศพธูปเทียนหันออกข้างหน้า  หันธูปเทียนเข้าหาศพ  ทั้งนี้เพื่อให้ศพได้บูชาธรรมเทศนาด้วย  และจุดเมื่อพระเริ่มเทศน์เท่านั้น  หลังจากรับศีลแล้ว  ถ้าไม่มีศพแต่เจ้าภาพมีความประสงค์จะให้มีเทศน์  เพื่อระลึกถึงอุการะคุณ  จะจุดเครื่องทองน้อยตั้งไว้ข้างหน้าตนเองเพื่อบูชาธรรมก็ได้
 
4.  เมื่อพระสงฆ์สวดหรือเทศน์จบ  เจ้าภาพพึงเก็บสิ่งของเครื่องกีดขวางออกให้หมด  จัดสิ่งของที่จะถวายพระ เช่น  ดอกไม้ ธูป เทียน หรือสิ่งของอย่างอื่น  นอกจากผ้าหรือใบปวารณา  มาวางไว้ตรงหน้าพระสงฆ์  แล้วบอกญาติพี่น้องช่วยกันประเคน  เสร็จแล้วคลี่ผ้าภูษาโยงนั้น  ถ้ามีผ้าโดยมากมักเอาใบปวารณากลัดติดกับผ้านั้นรวมกัน  การทอดผ้าหรือใบปวารณานี้  ควรทอดขวางตัดกับผ้าภูษาโยง  คือวางขวางบนผ้าภูษาโยงนั้นอย่าทอดไปตามทางยาว  ดูไม่งาม  และควรทอดตามลำดับพระเถระ  เสร็จแล้วนั่งประนมมือ  จนกว่าพระสงฆ์จะพิจารณาบังสุกุลจนจบ  แต่บางแห่งนิยมทอดผ้าก่อนถวายของก็มีในราชการนิยมถวายของก่อน  ทอดผ้าภายหลัง  ซึ่งยังถือปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน
 
5.  ถ้าสวดพระพุทธมนต์แล้วฉันเช้าหรือฉันเพลในวันนั้น  การถวายสิ่งของและการทอดผ้าบังสุกุล  ทำภายหลังจากฉันเสร็จเรียบร้อยแล้ว  แต่ถ้าสวดมนต์เย็น  ฉันเช้าหรือเพลในวันรุ่งขึ้น และมีผ้าไตรจีวรทอดก็ควรทอดภายหลังพระสวดจบในเย็นวันนั้น  เพื่อให้ท่านนุ่งห่มฉลองศรัทธาในวันรุ่งขึ้น  ส่วนสิ่งของและใบปวารณานั้น  เก็บไว้ถวายและทอดในวันรุ่งขึ้น  ภายหลังจากฉันเสร็จแล้ว
 
6.  สำหรับรายการพระสวดอภิธรรมตอนกลางคืนหรือพระเทศน์ พระสวดรับเทศน์ถ้าเจ้าภาพประสงค์จะอาราธนาฉันในวันรุ่งขึ้นด้วยก็ได้  แต่สิ่งของและผ้าทอดบังสุกุลควรจัดการถวายและทอดให้เสร็จสิ้นในวันนั้น
 
ทอดผ้าบังสุกุล
 
พิธีทอดผ้าบังสุกุลก่อนการฌาปนกิจ
 
7.  ในการฌาปนกิจศพ  ก่อนที่จะถึงเวลาทำฌาปนกิจศพเล็กน้อย  นิยมมีการทอดผ้ามหาบังสุกุล  หรือเรียกว่าบังสุกุลปากหีบ  ในการเช่นนี้  โดยมาเจ้าภาพนิยมเชิญแขกผู้ใหญ่ที่มีเกียรติขึ้นทอดและให้แขกผู้มีเกียรติสูง  ซึ่งจะเป็นผู้จุดเพลิงเป็นคนแรกนั้น  เป็นคนทอดหลังสุด  ให้แขกผู้มีเกียรติรองลงมาทอดก่อน  แขกผู้ทอดผ้าบังสุกุลนี้  ให้ถือว่าเป็นแขกผู้มีเกียรติ  ฉะนั้นก่อนทอดและหลังทอดแล้ว  การทำความเคารพศพทุกครั้ง  จะต้องยืนคอยจนกว่าพระสงฆ์ขึ้นไปพิจารณา
 
     ขณะที่พระสงฆ์กำลังพิจารณาอยู่นั้น  ก็ควรประนมมือขึ้น  การทอดไตรจีวรก่อนเผาศพนั้น  ไม่ควรมีมากเกินไป  เพราะจะทำให้แขกที่มาร่วมงานนั่งคอยนาน  ควรใช้ประมาณ 3 ไตร  กำลังพอดี
 
ระเบียบปฏิบัติการไปร่วมงานศพ
 
     การรดน้ำศพ
 
     1.  แต่งกายไว้ทุกข์ตามความนิยมของสังคมท้องถิ่นนั้นๆ
     2.  การรดน้ำศพถือสืบกันมาว่า  ไปขอขมาโทษ  เพื่อจะได้ไม่มีเวรภัยต่อกัน
     3.  นิยมรดน้ำศพเฉพาะท่านผู้มีอายุสูงกว่า  หรือรุ่นราวคราวเดียวกันเท่านั้น
     4.  ผู้มีอายุมากกว่าผู้ตาย  ก็ไปร่วมงานให้กำลังใจเจ้าภาพ  แต่ไม่นิยมรดน้ำศพ
 
     วิธีปฏิบัติการรดน้ำศพพระภิกษุสงฆ์
 
     1.  นั่งคุกเข่าตามเพศ  กราบเบญจางคประดิษฐ์ 3 ครั้ง  พร้อมกับนึกขอขมาโทษว่า  “หากได้ล่วงเกินท่าน  ทั้งทางกาย  วาจา ใจ ก็ดี  ขอท่านโปรดอโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด”
     2.  เมื่อขอขมาโทษเสร็จแล้ว  พึงถือภาชนะด้วยมือทั้งสองเทน้ำรดลงที่ฝ่ามือขวาของศพ  พร้อมกับนึกในใจว่า “ร่างกายที่ตายแล้วนี้  ย่อมเป็นอโหสิกรรมไม่มีโทษ  เหมือนน้ำที่รดแล้วฉะนั้น”
     3.  เมื่อรดน้ำศพเสร็จแล้ว  กราบเบญจางคประดิษฐ์อีก 3 ครั้ง  พร้อมกับอธิษฐานว่า “ขอจงไปสู่สุคติเถิด”
 
     การไปงานตั้งศพบำเพ็ญกุศล
 
     1.  นิยมแต่งกายไว้ทุกข์ตามความนิยมของท้องถิ่นนั้นๆ
     2.  นิยมนำพวงหรีดหรือกระเช้าดอกไม้ หรือพวงดอกไม้  อย่างใดอย่างหนึ่งตามควรแก่ฐานะตนไปแสดงความเคารพ
 
     การแสดงความเคารพศพของคฤหัสถ์
  
     1.  ถ้ามีอาวุโสมากกว่าตน  นิยมนำพวงหรีดไปด้วย  เมื่อวางพวงหรีดแล้ว  ถ้าแต่งเครื่องแบบราชการ 
นิยมยืนตรงโค้งคำนับ  ถ้ามิได้แต่งเครื่องแบบ  ยืนตรงน้อมตัวลงยกมือไหว้
 
     2.  ถ้านำกระเช้าดอกไม้  แจกันดอกไม้  หรือพวงหรีดดอกไม้ไปเคารพศพ  เมื่อวางกระเช้าดอกไม้แล้ว  นิยมนั่งคุกเข้าราบ  ทั้งเพศชายและหญิง  จุดธูป 1 ดอก  ประนมมือยกธูปขึ้นจบ  ให้ปลายนิ้วชี้อยู่ระหว่างคิ้ว  ตั้งจิตขอขมาโทษ (เหมือนดังที่กล่าวไว้แล้ว)
 
     3.  เมื่อขอขมาแล้ว  พึงปักธูป ณ ที่ปัก  นั่งพับเพียบหมอบกราบ  กระพุ่มมือ (คือนั่งพับเพียบตะแคงตัวข้างขวาหันหน้าไปทางศพ  วางมือขวาลงก่อน  แล้ววางมือซ้ายลงแนบกับมือขวาประนมมือตั้งอยู่กับพื้น  พร้อมกับหมอบให้หน้าผากลงจรดสันมือ)  พร้อมตั้งใจอธิษฐานแล้วลุกขึ้น
 
หมายเหตุ  ถ้าเป็นผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องประกอบเกียรติศพนั้น  ผู้ไปเคารพศพ  ไม่ต้องจุดธูปบูชาศพ
 
     การแสดงความเคารพศพพระภิกษุสงฆ์
  
     1.  นิยมแต่งกายตามแบบเช่นเดียวกับศพคฤหัสถ์
 
     2.  เมื่อวางเครื่องสักการบูชาแล้ว  นิยมนั่งคุกเข่าตามเพศ  สุภาพบุรุษนั่งคุกเข่าตั้งท่าเทพบุตร  สุภาพสตรีนั่งคุกเข่าเท้าราบท่าเทพธิดา  จุดธูป 1 ดอก  ประนมมือยกธูปตั้งขึ้น  ให้ปลายนิ้วหัวแม่มืออยู่ระหว่างคิ้ว  ปลายนิ้วชี้จรดหน้าผากพร้อมกับตั้งใจขอขมาโทษ
 
     3.  เมื่อขอขมาโทษแล้ว  พึงปักธูป ณ ที่ปักธูป  กราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ 3 ครั้ง  พร้อมกับนึกอธิษฐาน
 
      การไปงานฌาปนกิจศพ
  
     นิยมแต่งกายไว้ทุกข์ตามความนิยมของสังคมท้องถิ่นนั้นๆ
 
การวางดอกไม้จันทน์ในงานฌาปนกิจ
 
การเดินขึ้นเมรุเพื่อวางดอกไม้จันทน์ควรเดินเรียงแถวขึ้นไปเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย
 
     ลำดับการขึ้นเมรุศพ
  
     1.  ถ้าเป็นงานพระราชทานเพลิงศพ  นิยมขึ้นเมรุศพตามลำดับทางคุณวุฒิ คือ  ผู้มียศถาบรรดาศักดิ์สูงกว่าขึ้นไปเผาก่อน  ผู้มีคุณวุฒิน้อยกว่าขึ้นภายหลัง
 
     2.  ถ้าเป็นงานฌาปนกิจศพ  นิยมขึ้นเมรุเผาศพตามลำดับทางวัยวุฒิ  คือ  อายุมากขึ้นไปเผาก่อน  ผู้มีอายุน้อยกว่าขึ้นภายหลัง
 
     วิธีปฏิบัติในการเผาศพ
  
     1.  เมื่อขึ้นไปถึงเมรุแล้วนิยมยืนตรง  ห่างจากศพประมาณ 1 ก้าว  ถ้าแต่งเครื่องแบบราชการ  นิยมยืนตรงโค้งคำนับ  ถ้าไม่ได้แต่งเครื่องแบบราชการ  นิยมน้อมตัวลงยกมือไหว้พร้อมทั้งธูปเทียน ดอกไม้จันทน์ในมือ (เฉพาะศพที่มีอายุมากกว่า  หรือรุ่นราวคราวเดียวกัน)  แล้วตั้งจิตขอขมาโทษต่อศพ
 
     2.  เมื่อตั้งจิตขอขมาโทษศพจบแล้ว  น้อมตัวลง  วางธูป เทียน  ดอกไม้จันทน์ที่เชิงตะกอนพร้อมกับพิจารณาถึงความตายว่า  “ร่างกายของเราแม้นี้เลยย่อมถึงความตายเป็นธรรมดาอย่างนี้มีปกติเป็นอย่างนี้  ไม่ล่วงพ้นความตายอย่างนี้ไปได้ “  จากนั้นยืนตรงโค้งคำนับหรือยกมือไหว้อีกครั้ง  พร้อมกับนึกอธิษฐานจิตในใจว่า “ขอจงไปสู่สุคติเถิด”
 
      3.  การที่ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายขึ้นไปทำพิธีเผาศพพร้อมกันนั้น  เป็นพิธีการแสดงความเคารพต่อศพเท่านั้น  ยังไม่ใช่พิธีการเผาศพจริง ต่อเมื่อเสร็จขั้นตอนแสดงความเคารพศพแล้ว  นิยมให้วงศาคณาญาติ  มิตรสหาย ผู้ใกล้ชิดกับผู้ตาย  ขึ้นไปทำการเผาศพจริงอีกครั้ง  จึงเสร็จพิธีเผาศพ บริบูรณ์
 
ข้อควรรู้
 
     1.  การเดินขึ้นเมรุ  เพื่อวางดอกไม้จันทน์  ควรเดินเรียงแถวขึ้นไป  เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและงดงาม  หากเดินขึ้น 2 แถว  จะสะดวกในการวางดอกไม้จันทน์  และการลงจากเมรุทางบันไดทั้งสองข้าง  อีกทั้งยังเป็นแผนที่ดีงามให้แก่อนุชนรุ่นหลัง
 
     2.  การไปร่วมงานศพ  นอกจากจะไปเพื่อขอขมาโทษแก่ผู้ตาย  และไปให้กำลังใจแก่ญาติของผู้ตายแล้ว  ยังเป็นการไปเพื่อเจริญมรณานุสติ  ระลึกถึงความตายว่า  ชีวิตนี้ตกอยู่ในกฎไตรลักษณ์  ไม่เที่ยงเป็นทุกข์  เป็นอนัตตา  ไม่ควรประมาทในชีวิต  สักวันต้องเวียนมาถึงเราอย่างแน่นอน  ควรเร่งสร้างบุญสร้างบารมี  สั่งสมความดี  โดยการทำทาน  รักษาศีล  และเจริญภาวนา
 
รับชมวิดีโอ
 

รายการวิดีโอที่เกี่ยวข้อง

โครงการอบรมพระ 1 แสนรูป
 
บทความที่เกี่ยวข้องกับศาสนพิธี ตอนการจัดโต๊ะหมู่บูชา
 
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
เวียนเทียน ขั้นตอนการเวียนเทียนเวียนเทียน ขั้นตอนการเวียนเทียน

บทสวดมนต์ หนังสือสวดมนต์ วิดีโอบทสวดมนต์ อานิสงส์ของการสวดมนต์บทสวดมนต์ หนังสือสวดมนต์ วิดีโอบทสวดมนต์ อานิสงส์ของการสวดมนต์

พิธีทอดผ้าป่าธรรมชัยเพื่องานพระพุทธศาสนาทั่วไทยพิธีทอดผ้าป่าธรรมชัยเพื่องานพระพุทธศาสนาทั่วไทย



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

พุทธประวัติ - วันสำคัญในพระพุทธศาสนา