มนุษย์มาจากไหน เหตุใดจึงเรียกว่ามนุษย์


[ 15 ส.ค. 2554 ] - [ 18269 ] LINE it!

ตายแล้วไปไหน
ชีวิตหลังความตายเป็นอย่างไร
 
มนุษย์มาจากไหน เหตุใดจึงเรียกว่ามนุษย์
 
มนุษย์คือผู้มีจิตใจสูงส่ง
  
การกลับได้อัตภาพเป็นมนุษย์เป็นการยาก
 
     หลังจากที่ท่านได้เรียนรู้เรื่องอบายภูมิมาแล้ว  จะเห็นได้ว่า  อบายภูมินั้นเป็นดินแดนที่มีแต่ความทุกข์ทรมานยิ่งนัก  นอกจากนี้ยังทำให้เราได้ข้อสรุปที่สำคัญอีกประการหนึ่งว่า  การเกิดเป็นสัตว์นรกก็ดี  เปรตก็ดีอสุรกายก็ดี  หรือสัตว์เดียรัจฉานก็ดี  ล้วนเป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์ครั้งยังมีชีวิตอยู่ทั้งสิ้น  แสดงให้เห็นว่าภูมิมนุษย์จะต้องมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตในสังสารวัฏนี้  ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถึงความสำคัญของการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ว่า  เป็นความยากอย่างหนึ่งทีเดียว  ซึ่งปรากฏใน  พุทธวรรค ว่า
 
“กิจฺโฉ  มนุสฺสปฎิลาโภ  การกลับได้อัตภาพเป็นมนุษย์  เป็นการยาก”
  
     การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน 31 ภูมินั้น  หากเราจะเปรียบเทียบสัตว์ที่อยู่ในภูมิอื่นๆ  กับภูมิมนุษย์แล้ว  จะพบว่า  สัตว์ที่เกิดในภูมิมนุษย์นั้นมีจำนวนน้อยมาก  แต่สัตว์ที่ไปบังเกิดในภูมิฝ่ายสุคติ  มีสวรรค์ 6 ชั้นบ้าง  พรหมบ้าง  อรูปพรหมบ้าง  มัจำนวนมากที่สุดทีเดียว
 
     หากเราได้พิจารณาให้ถ่องแท้แล้วจะพบว่า  สุคติภูมิ เป็นภูมิแห่งการเสวยผลแห่งกุศลกรรมที่ตนได้กระทำไว้  ทุคติภูมิ  เป็นภูมิแห่งการเสวยผลบาป  ส่วนภูมิมนุษย์นั้นเป็นศูนย์กลางแห่งการสร้างบุญและบาปนั่นเอง
          
     ในบทนี้ท่านจะได้ทำความรู้จักกับภูมิที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด  คือ  มนุสสภูมิ  เป็นการอธิบายเรื่องของตัวของเราเอง  และมวลมนุษยชาติทั้งหลาย  เราไม่ได้ศึกษาในเชิงวิทยาศาสตร์  แต่เป็นการศึกษาในเชิงพุทธศาสตร์  ซึ่งจะชี้ให้เห็นว่า  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมองมนุษย์อย่างไร
 
1. ความหมายของคำว่า  มนุสสภูมิ
 
     ในลำดับแรก  เรามาทำความเข้าใจถึงความหมายของคำว่า  มนุษย์  กันก่อน  มนุษย์หมายถึง  คน หรือ เหล่าคน  เขียนตามแบบบาลีได้ว่า  มนุสฺส  มาจากคำว่า มน (อ่านว่า มะ-นะ) ซึ่งแปลว่า  ใจ  รวมกับคำว่า อุสฺส  ที่แปลว่า สูง  เมื่อรวมความหมายแล้ว  แปลว่า  ผู้มีใจสูง
 
มน แปลว่าใจ รวมกับคำว่า อุสฺส แปลว่าสูง รวมกันเป็นมนุษย์แปลว่าผู้มีใจสูง
 
มนุษย์ แปลว่า ผู้มีใจสูง
 
     เหตุที่ได้ชื่อว่า  มีใจสูง  เพราะมีความดีงามอยู่ในจิตใจ  กล่าวคือ  มีความรู้จักผิดชอบชั่วดี  รู้บุญบาป  รู้จักมีเมตตากรุณา  เป็นต้น  และเมื่อนำคำว่า  มนุสฺส  มารวมกับคำว่า  ภูมิ ที่แปลว่า แผ่นดิน  ที่อยู่  ก็จะหมายถึง  ที่อยู่ของผู้มีใจสูง  นอกจากความหมายของคำว่า  มนุษย์  ดังกล่าวมาแล้ว  ยังมีที่แสดงไว้อีกหลายนัย  ดังนี้
 
     1. มนุษย์มีใจรุ่งเรืองและกล้าแข็ง
     2. มนุษย์เข้าใจในสิ่งที่เป็นเหตุอันควรและไม่ควร
     3. มนุษย์เข้าใจในสิ่งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์
     4. มนุษย์เข้าใจในสิ่งที่เป็นกุศลและอกุศล
     5. มนุษย์เป็นลูกของเจ้ามนุ
 
     ที่ว่ามนุษย์เป็นลูกของเจ้ามนุนั้น  มีเรื่องเล่าสืบมาในคัมภีร์พุทธศาสน์ว่า  ในสมัยต้นกัปหลังจากที่อกุศลธรรมเกิดขึ้นตามลำดับ  อาหารของมนุษย์ยุคแรกหายไปตามลำดับ  คือ ง้วนดิน (โอชาดิน)  กะบิดิน (สะเก็ดดิน)  และเครือดิน  หายไป  ข้าวสาลีอันเกิดสุกในที่ที่ไม่ต้องไถ  ไม่มีรำ  ไม่มีแกลบ  บริสุทธิ์  มีกลิ่นหอมมีเมล็ดเป็นข้าวสารก็ได้ปรากฏขึ้น  พวกมนุษย์ได้นำเอาข้าวสาลีชนิดใดมาเพื่อเป็นอาหารเย็นในเวลาเย็น  ในตอนเย็น ข้าวสาลีนั้นก็สุกงอกขึ้นเอง  ความขาดหาได้ปรากฏไม่  พวกนั้น  เมื่อบริโภคข้าวสาลีซึ่งเกิดในที่ที่ไม่ได้ไถ  ก็มีข้าวสาลีนั้นเป็นภักษาเป็นอาหาร  ได้ดำรงอยู่ตลอดกาลยืดยาวนาน  เพราะความปรากฏแห่งอกุศลธรรมอันลามกของมนุษย์ยุคนั้น  ข้าวสาลีจึงมีรำหุ้มเมล็ดบ้าง  มีแกลบบ้าง  ข้าวสาลีที่เกี่ยวแล้วหาได้งอกขึ้นอีกไม่  แม้ความขาดตอนก็ได้ปรากฏ  ข้าวสาลีเป็นกลุ่มจึงเกิดขึ้น  มนุษย์จึงตกลงแบ่งข้าวสาลีกัน  และกั้นเขตคันกันเป็นนาครั้งแรก
 
     แต่ต่อมามีมนุษย์บางตนมีความโลภ  รักษาส่วนของตนไว้  ถือเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ได้ให้บริโภค  คนเหล่าอื่นได้จับผู้นั้นได้  ครั้นจับได้แล้วจึงกล่าวว่า  ทำไมท่านทำกรรมชั่ว  รักษาส่วนของตนไว้  แต่ลักเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ได้ให้  มาบริโภคเล่า  ท่านอย่าได้ทำกรรมชั่วช้าอย่างนี้อีก  คนนั้นก็รับคำของคนเหล่านั้นว่า  เราจะไม่ทำอย่างนี้อีก  แต่แล้วก็ทำอีกเหมือนเดิม 3 ครั้งจนเขาจับได้เป็นครั้งที่ 4 จึงถูกคนอื่นๆ  เอามือทุบบ้าง  เอาก้อนดินขว้าง  เอาท่อนไม้ตีบ้าง  อทินนาทานจึงปรากฏ  การครหาจึงปรากฏ  มุสาวาทปรากฏ  การจับท่อนไม้จึงปรากฏ  ครั้งนั้นพวกคนดีมีศีลธรรมทั้งหลายจึงได้ประชุมพร้อมกัน  ปรารภเรื่องนั้น  แล้วตกลงกันว่า  เราควรนับถือคนผู้หนึ่งซึ่งจะกล่าวว่าผู้ที่ควรว่ากล่าวได้  ติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้  ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้  ส่วนพวกเราจักให้ส่วนแห่งข้าวสาลีแก่ผู้นั้น
 
มนุสฺส หมายถึงว่า เป็นลูกของพระเจ้ามนุ
 
มนุสฺส หมายถึงว่า เป็นลูกของพระเจ้ามนุ
 
     ในคราวนั้น คนเหล่านั้นจึงเข้าไปหาคนที่มีรูปร่างงามกว่า  น่าดูกว่า  น่าเลื่อมใสกว่า  มีศักดิ์ใหญ่กว่า  แล้วได้กล่าวคำนั้นว่า  มาเถิดผู้เจริญ  ท่านจงว่ากล่าวได้โดยชอบ  ติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้  จงขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้  ส่วนพวกเราจักให้ส่วนแห่งข้าวสาลีแก่ท่านดังนี้  คนนั้นได้รับคำของคนเหล่านั้น  แล้วได้ว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้โดยชอบ  ติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้  ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้  คนเหล่านั้นก็ได้ให้ส่วนแห่งข้าวสาลีแก่ท่านผู้ประเสริฐนั้น  ซึ่งขณะนั้นเป็นมนุษย์ที่ชื่อว่า  มนุ  ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินปกครองประเทศ  และถวายพระสามัญนามว่า  พระเจ้ามหาสัมมตะ  เพราะมหาชนสมมติขึ้น  พระเจ้ามหาสัมมตะทรงวางระเบียบแบบแผน  กฎข้อบังคับอย่างเที่ยงธรรม  เพื่อให้ประชาชนประพฤติปฏิบัติตามประชาชนต่างก็มิได้ฝ่าฝืนเลย  คงกระทำตามนั้นทุกประการ  เหมือนหนึ่งว่าบุตรที่ดีทั้งหลายได้ประพฤติตามโอวาทของบิดา  เหตุนี้จึงเรียกว่า มนุสฺส  หมายถึงว่า  เป็นลูกของพระเจ้ามนุ
 
รับชมวิดีโอ
 

รายการวิดีโอที่เกี่ยวข้อง

นานาเทศนา
 
บทความที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์มาจากไหน เหตุใดจึงเรียกว่ามนุษย์
 
 
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
มนุษย์ต่างดาวมีจริงหรือ รวมคลิปภาพมนุษย์ต่างดาวมนุษย์ต่างดาวมีจริงหรือ รวมคลิปภาพมนุษย์ต่างดาว

มนุษย์ต่างดาวมีจริงหรือ  ตอนที่ 2มนุษย์ต่างดาวมีจริงหรือ ตอนที่ 2

มนุษย์ในชมพูทวีป โลกแห่งความแตกต่างมนุษย์ในชมพูทวีป โลกแห่งความแตกต่าง



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ตายแล้วไปไหน