รู้ทันน้ำเสียเราเคลียร์ได้-ความรู้รอบตัว


[ 25 พ.ย. 2554 ] - [ 18279 ] LINE it!

รู้ทันน้ำเสีย เราเคลียร์ได้ 
 
        ท่ามกลางวิกฤตน้ำท่วมที่ยาวนาน น้ำที่เริ่มเน่าเสียทำให้เราทุกคนต่างมองหาทางแก้ EM balls หรือ ลูกบอลจุลินทรีย์ ก็ดูจะเป็นเสมือนความหวัง แต่มันก็ยังคงเต็มไปด้วยคำถาม ว่าใช้ได้ผลจริงรึเปล่า วันนี้เราจะมาทำความรู้จักมันให้มากขึ้น และร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียไปพร้อมๆ กัน  ก่อนจะเข้าใจเรื่อง EM ได้ เราต้องเข้าใจก่อนว่าน้ำเสียคืออะไร
 
น้ำเสีย คือน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนไม่มากพอ สิ่งมีชีวิตไม่อาจอาศัยอยู่ได้
น้ำเสีย คือน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนไม่มากพอ สิ่งมีชีวิตไม่อาจอาศัยอยู่ได้
 
        น้ำเสีย ไม่ใช่แค่น้ำที่มีสีดำหรือมีกลิ่นเหม็น แต่คือน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนไม่มากพอ สิ่งมีชีวิตไม่อาจอาศัยอยู่ได้ ดังนั้น น้ำที่เราเห็นว่าใส แต่หากมีออกซิเจนไม่เพียงพอหรือมีสารพิษเจือปน ก็นับเป็นน้ำเสียได้เช่นกัน แล้วน้ำเสียเกิดจากอะไร เราลองไปตั้งต้นกันที่พื้นฐานสักนิด ว่าในน้ำมีอะไรบ้าง 3 สิ่งที่มีในน้ำและเราควรรู้จัก ได้แก่
 
สารประกอบ
สารประกอบ
 
        1. สารประกอบ เช่น ออกซิเจน ไฮโดรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ โซลเฟต และอื่นๆ อีกมากมาย
 
สารอินทรีย์ละลายน้ำ
สารอินทรีย์ละลายน้ำ
 
        2. สารอินทรีย์ละลายน้ำ หรือ ซากพืชซากสัตว์และสิ่งต่างๆ ที่ทำปฏิกิริยาละลายอยู่ในน้ำ
 
จุลินทรีย์
จุลินทรีย์
 
        3. จุลินทรีย์ ซึ่งกินอาหารอินทรีย์ละลายน้ำเป็นอาหาร โดยใช้สารประกอบต่างๆ เป็นพลังงาน จุลินทรีย์ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม
 
        - กลุ่มที่ใช้ออกซิเจนเป็นพลังงาน หรือ เอโรบิค
        - กลุ่มที่ไม่ใช้ออกซิเจนเป็นพลังงาน หรือ อะเนโรบิค และ
        - กลุ่มที่อยู่ได้ทั้ง 2 ภาวะ ถ้ามีออกซิเจนก็ใช้ ถ้าไม่มีก็จะใช้สารประกอบอื่นๆ
 
จุลินทรีย์ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม
จุลินทรีย์ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม
 
        น้ำท่วม ได้พัดพาสารประกอบและสารอินทรีย์จำนวนมากมาด้วย โดยมาในรูปแบบของขยะ ดินโคลน และสารอินทรีย์ละลายน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของเหล่าจุลินทรีย์ ขณะที่น้ำยังมีออกซิเจน เจ้าเอโรบิค หรือกลุ่มที่ใช้อากาศ ก็จะใช้ออกซิเจนเป็นพลังงานในการกินสารอินทรีย์ เมื่อมีอาหารมากก็กินมาก กินมากก็เพิ่มจำนวนมาก เพิ่มจำนวนมาก ก็ใช้พลังงานมาก ออกซิเจนจึงเริ่มน้อยลง เมื่อนั้นเองเจ้าอะเนโรบิค ซึ่งกินโดยใช้สารประกอบอื่นเป็นพลังงานได้ ก็เริ่มครองพื้นที่แทน แต่มีอยู่กลุ่มหนึ่งที่ใช้โซลเฟิลเป็นพลังงาน เจ้าตัวนี้เองที่คายผลผลิตหลังการกินออกมาเป็นไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือ ก๊าซไข่เน่า ซึ่งเป็นต้นเหตุให้น้ำมีกลิ่นเหม็นนั่นเอง
 
น้ำมีความสามารถในการบำบัดตัวเองตามธรรมชาติอยู่แล้ว
น้ำมีความสามารถในการบำบัดตัวเองตามธรรมชาติอยู่แล้ว
 
        น้ำ มีความสามารถในการบำบัดตัวเองตามธรรมชาติอยู่แล้ว เช่นการไหลของน้ำ จะทำให้น้ำมีออกซิเจนจากอากาศละลายลงสู่น้ำเพิ่มขึ้น หรือการที่น้ำมีจุลินทรีย์ ก็เป็นกลไกการย่อยสลายตามธรรมชาติ แต่บางครั้งเมื่อน้ำท่วมขัง ไม่มีการไหล หรือมีปริมาณสารอินทรีย์ละลายน้ำมาก จนย่อยสลายตามธรรมชาติไม่ทัน เราก็ต้องการแก้น้ำเสียด้วยมือเราเอง วิธีการแก้มี 3 วิธี คือ
 
        1. การเติมออกซิเจน
        2. การใช้สารเคมี
        3. การลดปริมาณสารอินทรีย์ละลายน้ำ
 
        EM คืออะไร  EM ย่อมาจาก Effective Micro-organisms หรือจุลินทรีย์ที่เก่งเฉพาะด้าน เราต้องเข้าใจก่อนว่าจุลินทรีย์ ก็เหมือนกับมนุษย์ จุลินทรีย์แต่ละพวกจะมีความถนัดต่างกัน เหมือนมนุษย์ที่มีหลายอาชีพ ส่วนใครจะเป็นจุลินทรีย์ดี จุลินทรีย์ไม่ดี ก็แล้วแต่วาระกันไป เพราะจุลินทรีย์ที่เราถือว่าไม่ดีบางตัว ก็สามารถทำประโยชน์ได้ในบางโอกาส เช่น จุลินทรีย์บางกลุ่มที่ทำให้น้ำเสีย ก็มีส่วนช่วยในกระบวนการสร้างไบโอแก๊ส เป็นต้น
 
หลักการทำงานของ EM ก็คือ การคัดจุลินทรีย์ที่เก่งในด้านที่เราต้องการ เพื่อนำมาใช้
หลักการทำงานของ EM ก็คือ การคัดจุลินทรีย์ที่เก่งในด้านที่เราต้องการ เพื่อนำมาใช้
 
        หลักการทำงานของ EM ก็คือ การคัดจุลินทรีย์ที่เก่งในด้านที่เราต้องการ เพื่อนำมาใช้ มีหลายสูตร แตกต่างกันออกไป ที่พบเห็นมากในสูตร EM ก็พวกได้แก่พวกจุลินทรีย์ผลิตกรดแลคติคและยีสต์ จุลินทรีย์ทั้ง 2 ประเภท เป็นพวกที่อยู่ได้ทั้งภาวะมีและไม่มีออกซิเจน ทนต่อสภาพความเป็นกรดของน้ำเสีย ทำให้สามารถลงไปช่วยย่อยสารอินทรีย์ได้โดยไม่ตายเสียก่อน อีกพวกที่พบมากในสูตร EM คือ จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ซึ่งสามารถสังเคราะห์ก๊าซไข่เน่าให้เป็นซัลเฟอร์ ช่วยลดปัญหาเรื่องกลิ่นได้ เมื่อได้ยินคำว่าสังเคราะห์แสงแล้ว อย่างเพิ่งเข้าใจว่ามันจะคายออกซิเจนได้เหมือนพืช เนื่องจากมันไม่มีสีเขียวของคลอโรฟิลล์ มันจึงไม่สามารถผลิตออกซิเจนมาเติมให้น้ำได้ ทำได้เพียงสังเคราะห์แสงมาเป็นพลังงานให้ตัวเองเท่านั้น จุลินทรีย์ที่ผลิตออกซิเจนได้ คือพวกสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ที่อาจเกิดขึ้นได้อยู่แล้วในน้ำท่วม ซึ่งมีอาหารของมันมากกว่าปกติ แต่ในขณะที่มันผลิตออกซิเจน มันก็ใช้ออกซิเจนเช่นกัน โดยเฉพาะตอนกลางคืน ทำให้ออกซิเจนในน้ำอาจจะหมดไปได้
 
        รู้จัก EM คร่าวๆ ไปแล้ว เราลองไปหาคำตอบสำหรับคำถามมากมายที่เกิดขึ้นในช่วงนี้กัน ทำไมถึงมีบางเสียงบอกว่า ไม่ได้ผล
 
การใช้ EM ไม่เหมาะกับน้ำท่วม
การใช้ EM ไม่เหมาะกับน้ำท่วม
 
        ประเด็นแรก ที่ถูกพูดถึงเสมอ คือ การใช้ EM ไม่เหมาะกับน้ำท่วม จุดกำเนิดของ EM เกิดขึ้นเพื่อใช้ในการเกษตรกรรมของประเทศญี่ปุ่น ต่อมาจึงถูกพัฒนาให้นำมาใช้ตามบ้าน ขัดพื้น ซักผ้า ล้างส้วม ซึ้งทั้งหมดล้วนเป็นพื้นที่ควบคุม คำว่าพื้นที่ควบคุม คือ พื้นที่ๆ เรารู้สภาพของน้ำ รู้ว่ามีอะไรในน้ำบ้าง รู้ขนาดว่ากว้างยาว สูงเท่าไหร่ เพื่อให้เราเลือกใส่จุลินทรีย์ได้ถูกประเภทและถูกปริมาณ การใส่ EM ลงไปในน้ำเสีย ก็เปรียบเหมือนการส่งทหารออกไปรบ เราต้องเลือกทหารให้ถูกประเภท เพราะทหารอากาศอาจไม่เชียวชาญการต่อสู้บนพื้นดินเท่าทหารราบ รวมถึงจำนวนทหารที่ส่งไป ถ้าศัตรูมี 1 แสน เราก็ควรส่งทหารไปอย่างสมน้ำสมเนื้อ เว้นแต่ว่าจุลินทรีย์ของเราจะมีประสิทธิภาพสูงมากๆ ก็อาจพอสู้ได้ในระดับหนึ่ง แต่สำหรับน้ำท่วม ทุกพื้นที่มีความแตกต่างกัน บางพื้นที่เป็นถนน เป็นพื้นที่เปิด พื้นที่น้ำไหล มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่สามารถตรวจสอบการปนเปื้อนของน้ำได้ จึงทำให้แตกต่างกับการใช้ EM ในบ่อปลา หรือทำความสะอาดพื้นบ้าน การโยน  EM balls ลงไปในน้ำไหลซึ่งมีการหมุนเวียนออกซิเจนอยู่แล้ว อาจทำให้จุลินทรีย์ใน EM ไปแย่งใช้ออกซิเจน จนทำให้ออกซิเจนในน้ำยิ่งลดลง สุดท้ายแล้วจุลินทรีย์จะทำงานได้ตลอดรอดฝั่งรึเปล่า ก็ไม่สามารถประเมินได้
 
จุลินทรีย์เจ้าถิ่น
จุลินทรีย์เจ้าถิ่น
 
        ประเด็นที่สอง คือเรื่องจุลินทรีย์เจ้าถิ่น โดยธรรมชาติของจุลินทรีย์ มันเป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบอยู่ในสภาพที่เหมาะสมกับตัวเอง และ EM ก็ถือเป็นจุลินทรีย์ต่างถิ่น เมื่อมันต้องมาอยู่ในที่ใหม่ที่ไม่คุ้นเคย มันก็ไม่อาจแย่งอาหารจากจุลินทรีย์เจ้าถิ่นได้ เมื่อขาดอาหารก็ตาย และตกเป็นอาหารของจุลินทรีย์เจ้าถิ่นแทน นั่นแปลว่าการโยน EM โดยไม่ศึกษาให้ดี อาจส่งผลให้น้ำยิ่งเน่าเสียมากขึ้นก็เป็นได้ และวิธีการใช้ EM ที่ถูกต้องคืออะไร เราต้องแยกแยะระหว่าง EM กับ EM Balls ให้ได้ก่อน จากวิธีการทำ EM balls สูตร 1 เริ่มต้นที่หัวเชื้อจุลินทรีย์ หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า EM น้ำ นำไปผสมกับกากน้ำตาลและน้ำ ได้ออกมาเป็น EM ขยาย นำ EM ขยายไปผสมกับรำละเอียด รำหยาบ ดินทราย เพื่อปั้นเป็นรูป จนกลายเป็น EM Balls ดังนั้นการนำ EM หัวเชื้อไปใช้ราดเลยก็ใช้ได้เช่นกัน แต่ที่ต้องผสมกากน้ำตาลก็เพื่อเพิ่มจุลินทรีย์ ที่ต้องปั้นเป็นรูปก็เพื่อถ่วงน้ำหนัก ให้จุลินทรีย์ลงไปทำงานได้ลึกถึงใต้น้ำ ระหว่างการใช้และการปั้น EM ทุกชนิดควรสวมถุงมือ เพื่อป้องกันจุลินทรีย์บางตัวที่อาจทำปฏิกิริยากับผิวหนังจนเกิดความผิดปกติได้ และเมื่อปั้นเสร็จ ควรตาก EM balls ไว้ในร่ม อย่างน้อย 7 วัน เพื่อให้จุลินทรีย์ได้กินกากน้ำตาลและขยายพันธุ์ก่อนใช้ ถ้าใช้โดยไม่ทิ้งไว้กากน้ำตาลจะยังอยู่ แทนที่จะได้จุลินทรีย์เพิ่ม จะกลับกลายเป็นการเพิ่มสารอินทรีย์ลงไปแทน
 
EM จะใช้แก้ปัญหาน้ำท่วมในครั้งนี้ได้ผลหรือไม่
EM จะใช้แก้ปัญหาน้ำท่วมในครั้งนี้ได้ผลหรือไม่
 
        สรุปแล้ว เราควรใช้ EM แก้ปัญหาน้ำท่วมเน่าเสียรึเปล่า จากที่กล่าวมาทั้งหมดอาจเห็นว่าข้อมูลยังไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ว่า EM จะใช้กับน้ำท่วมในครั้งนี้ได้ผลหรือไม่ เพราะยังมีปัจจัยมากมายที่ต้องคำนึงถึงในการใช้แต่ละครั้ง แม้ EM บางส่วนจะมีส่วนประกอบที่สามารถช่วยลดกลิ่นได้จริง แต่การใช้ผิดสูตร ผิดวิธี ผิดปริมาณ ก็อาจยิ่งทำให้น้ำเน่าเสียได้เช่นกัน ดังนั้น สิ่งสำคัญหากต้องการใช้ คือต้องศึกษาให้ดีก่อน และใช้ให้ถูกวิธี เพราะ EM ก็เป็นเพียงจุลินทรีย์ธรรมดา ไม่ใช่ของวิเศษที่แก้ปัญหาได้ทุกอย่าง แต่สิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาให้เราได้ คือความรู้และความเข้าใจ
 
การเก็บขยะ และลดการทิ้งขยะลงในแหล่งน้ำ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาน้ำท่วมเน่าเสีย
การเก็บขยะ และลดการทิ้งขยะลงในแหล่งน้ำ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาน้ำท่วมเน่าเสีย
 
        ถึงการใช้ EM จะยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนนัก แต่เรายังมีอีกทางเลือกหนึ่ง เป็นวิธีง่ายๆ ที่เราทุกคนสามารถร่วมมือกันทำได้ นั่นคือ การเก็บขยะ และลดการทิ้งขยะลงในแหล่งน้ำนั่นเอง


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
วันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2566วันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2566

iphone 5 (ไอโฟน5) นวัตกรรมจาก Steve Jobs (สตีฟ จ็อบส์)iphone 5 (ไอโฟน5) นวัตกรรมจาก Steve Jobs (สตีฟ จ็อบส์)

นีล อาร์มสตรอง มนุษย์คนแรกที่เหยียบดวงจันทร์ เสียชีวิตแล้วนีล อาร์มสตรอง มนุษย์คนแรกที่เหยียบดวงจันทร์ เสียชีวิตแล้ว



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ความรู้รอบตัว