หัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนาคืออะไร


[ 14 ก.พ. 2555 ] - [ 18320 ] LINE it!

หลวงพ่อตอบปัญหา
 
 
โดย พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทัตตชีโว)
เรียบเรียงจากรายการหลวงพ่อตอบปัญหา ทาง DMC
 
 

คำถาม: เนื่องจากมีเพื่อนชาวคริสต์หลายคน เพื่อนๆ เหล่านี้เคยถามลูกว่า แก่นแท้หรือหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนามีอย่างไร ลูกตอบไม่ได้ จึงขอเรียนถามหลวงพ่อค่ะ?

 
คำตอบ: สำหรับของชาวคริสต์หัวใจสำคัญของศาสนาของเขา เขาบอกว่าจงรักกันและกัน เหมือนดังเช่นพระเจ้ารักท่าน อันนี้เป็นเมตตา ซึ่งเป็นข้อ 1 ในพรหมวิหาร 4 ซึ่งเป็นธรรมะหมวดหนึ่งในพระพุทธศาสนา
 
หลักสำคัญของพระพุทธศาสนา
หลักสำคัญของพระพุทธศาสนา
 
        สำหรับชาวพุทธเรา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้หลักสำคัญของพระพุทธศาสนาไว้ 3 ข้อใหญ่ ซึ่งสามารถครอบคลุมเอาคำสอนไว้ทั้งหมด จะถือเป็นแก่นแท้ หรือหัวใจของพระพุทธศาสนาก็ได้ ซึ่งได้แก่
 
        1. การไม่ทำบาปทั้งปวง คือละเว้นจากอกุศลกรรมบถ 10 อย่าง
 
        ด้วยกาย 3 คือ 1). ไม่ฆ่าสัตว์ 2). ไม่ลักทรัพย์ 3). ไม่ประพฤติผิดในกาม
 
        ด้วยวาจา 4 คือ 1). ไม่พูดปด 2). ไม่พูดส่อเสียด 3). ไม่พูดคำหยาบ 4). ไม่พูดเพ้อเจ้อ
 
        ด้วยใจ 3 คือ 1). ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น 2). ไม่มีจิตพยาบาทปองร้ายผู้อื่น 3). ไม่เห็นผิดจากคลองธรรม
 
        2. การทำกุศลให้ถึงพร้อม โดยทำบุญหรือทำความดี 3 อย่าง คือ 1).ให้ปันสิ่งของ 2). รักษาศีล 3). เจริญภาวนา ซึ่งตรงกับ บุญกิริยาวัตถุ 3 ถ้าจะพูดให้ละเอียดลงไป เป็นบุญกิริยาวัตถุ 10 คือเพิ่มจากบุญกิริยาวัตถุ 3 อีก 7 ข้อ รวมเป็น 10 ได้แก่
 
        1. ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตัว
        2. ทำบุญด้วยการขวนขวายรับใช้ช่วยเหลืองานการต่างๆ
        3. ทำบุญด้วยการแบ่งส่วนบุญให้กับผู้อื่น
        4. ทำบุญด้วยการอนุโมทนาบุญ หรือยินดีในบุญในความดีของผู้อื่น
        5. ทำบุญด้วยการฟังธรรม หาความรู้เพื่อยกใจตนเองให้สูงขึ้น
        6. ทำบุญด้วยการเทศน์สอนธรรมะให้ผู้อื่น เพื่อยกใจผู้อื่นให้สูงขึ้น และ
        7. ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรงตามคลองธรรม
 
        3. การทำใจให้ผ่องใส โดยหมั่นสวดมนต์เจริญภาวนา นั่งสมาธิกลั่นใจให้ใสละเอียดมาขึ้นเรื่อยๆ ทั้ง 3 ประการนี้เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาที่ศาสนาคริสต์เขาว่าจงรักกันและกัน ดังเช่นพระเจ้ารักท่าน ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งในเรื่องของการทำความดีในพระพุทธศาสนานั่นเอง
 

คำถาม: หินยาน กับมหายาน ต่างกันอย่างไร  และธรรมยุตกับมหานิกาย ต่างกันอย่างไรครับ?

 
คำตอบ: คู่แรก หินยานกับมหายานมีที่มาคือ เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานเมื่อวันเพ็ญกลางเดือน 6 หลังจากนั้นพอเข้าพรรษาต่อมาประมาณเดือน 8 ก็มีการสังคายนาพระไตรปิฎก
 
        สังคายนาคือ การจัดหมวดหมู่ของธรรมะ เนื่องจากเมื่อสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ คำสอนของพระองค์มิได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร มีผู้ที่รับอาสาจะบันทึกเหมือนกัน แต่พระองค์ตรัสว่าไม่เป็นไร พวกเธอตั้งใจปฏิบัติธรรมกันดีกว่า เอาเวลาที่มีอยู่น้อยนิดไปเผยแผ่พระพุทธศาสนากันให้เต็มที่ เวลานี้ยังไม่ต้องบันทึกหรอก เพราะว่ามีอยู่ผู้หนึ่งที่สามารถบันทึกเอาไว้ในใจโดยไม่เลอะเลือน ผู้นั้นคือ พระอานนท์
 
        พระอานนท์ท่านทำหน้าที่เป็นอุปัฏฐากของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตำแหน่งอุปัฏฐากถ้าจะเปรียบเทียบกับสมัยนี้ ก็จะพออนุโลมได้ว่า เป็นเลขาฯ ส่วนพระองค์ เวลาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปเทศนาสั่งสอนที่ไหนก็ตาม ถ้าพระอานนท์อยู่ด้วยก็ได้ฟังและจำได้ แต่ถ้าไม่อยู่ด้วยเมื่อพระพุทธองค์เสด็จกลับมา ก็จะทรงเทศน์เรื่องนั้นให้พระอานนท์ฟังโดยเฉพาะอีกรอบหนึ่ง เพราะฉะนั้นเมื่อถึงคราวที่ประชุมทำสังคายนา พระอรหันต์ทั้งหลายก็แบ่งหน้าที่กันออกไป
 
        ประธานในการทำสังคายนาคือ พระมหากัสสปเถระ ท่านเป็นผู้ตั้งคำถาม พระอานนท์เป็นผู้ตอบว่าเรื่องนั้นๆ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ที่นั้น วันนั้น เดือนนั้น ปีนั้น สาเหตุที่ทรงเทศน์เพราะอะไรก็จะบอกไว้ด้วย คำบอกเล่าของพระอานนท์บันทึกอยู่ในพระไตรปิฎกส่วนที่เป็นพระสูตร
 
        สำหรับส่วนที่เป็นพระวินัย มีพระอรหันต์อีกรูปหนึ่งชื่อพระอุบาลีเป็นผู้ตอบ พระอุบาลีท่านเก่งในด้านพระวินัยหรือด้านกฎระเบียบของสงฆ์ พอตอบและจัดหมวดหมู่พระธรรมเรียบร้อยแล้ว ก็แบ่งได้เป็น 3 หมวดใหญ่ๆ จึงเรียกว่า พระไตรปิฎก
 
        ไตร แปลว่า 3 ปิฎก แปลว่า ตะกร้า รวมก็คือตะกร้า 3 ใบ
 
        ใบที่ 1 ใส่พระวินัย คือ เรื่องราวเกี่ยวกับกฎระเบียบของสงฆ์
 
        ใบที่ 2 ใส่พระสูตร คือ เรื่องราวที่เกี่ยวกับสงฆ์ในสมัยพุทธกาล
 
        ใบที่ 3 ใส่พระอภิธรรม ซึ่งเป็นหมวดที่เกี่ยวกับเนื้อธรรมะล้วนๆ เป็นธรรมเบื้องสูง
 
        ผู้ที่เข้าร่วมประชุมทำสังคายนาในครั้งนั้น เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด จำนวน 500 รูป เมื่อสังคายนาเสร็จเรียบร้อยแล้วก็แบ่งกันท่อง แบ่งกันสวดเป็นตอนๆ และถือเป็นข้อปฎิบัติทั้งหมด ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาเผยแผ่ลงไปทางภาคใต้ของอินเดีย พระภิกษุที่ถือปฏิบัติแบบนี้ถูกเรียกว่า “หินยาน”
 
        ยาน ในที่นี้หมายถึงยานพาหนะ คือเครื่องพา เครื่องนำไปให้พ้นทุกข์ หีน (ฮี-นะ) แปลได้ 2 อย่าง แปลว่าต่ำก็ได้ หรือทางภาคใต้ก็ได้
 
        พระภิกษุฝ่ายหินยาน รับเอาคัมภีร์พระไตรปิฎกที่บันทึกจากคำสวดล้วนๆ ของพระอรหันต์ตามที่ท่านสังคายนาไว้ นำไปใช้เป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติ โดยไม่พยายามเปลี่ยนแปลงแก้ไขวินัยใดๆ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้เลย แม้จะทรงอนุญาตไว้ว่า สิกขาบทเล็กน้อยบางข้อ ถ้าจำเป็นก็อาจประชุมและแก้ไข หรือเพิกถอนวินัยเล็กน้อยเหล่านั้นได้ เพื่อให้ปรับเข้ากับสภาพสิ่งแวดล้อมซึ่งเปลี่ยนไป แต่ว่าก็เป็นข้อถกเถียงกันภายหลังว่าวินัยข้อไหนบ้างเป็นข้อเล็กน้อย และพระอานนท์ก็บังเอิญลืมทูลถามว่าเล็กน้อยนั้นแค่ไหน
 
        เพราะฉะนั้น ที่ประชุมก็เลยไม่ยอมแก้ไขคงใช้ข้อความเดิมอย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ไว้ซึ่งก็นับว่าเป็นการมองการณ์ไกลอย่างรอบคอบ ทำไมจึงบอกว่ารอบคอบ?เราลองมาคิดว่าหากขณะนี้พระพุทธศาสนาได้แพร่หลายไปทั่วโลกแล้ว และสมมติว่าพระภิกษุเมืองนี้ แก้ไขกฎข้อนี้ พระภิกษุเมืองโน้นแก้ไขกฎข้อโน้น ถ้าเวลาผ่านไป 100 ปี 200 ปี พระภิกษุในพระพุทธศาสนามาเจอกัน อะไรจะเกิดขึ้น? แน่นอนเลยว่าพระวินัยจะไม่ลงรอยกัน เพราะแก้กันคนละแห่ง คนละหน
 
        ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาเดือดร้อนนี้ ที่ประชุมสงฆ์จึงไม่ยอมแก้ไขใดๆ คงใช้ตามแบบเดิมซึ่งเคร่งครัดมาก และสามารถรักษาภาพลักษณ์ของเดิมได้อย่างดี พูดง่ายๆ คือเป็นพวกอนุรักษ์นิยมนั่นเอง
 
        ในยุคเดียวกันนั้น คือในครั้งที่ทำปฐมสังคายนามีพระภิกษุกลุ่มหนึ่ง ซึ่งที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ เกิดความน้อยใจ ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมประชุมสังคายนาด้วย เลยจัดประชุมกันเอง โดยติดตามนัดหมายผู้ที่ได้ยินได้ฟังเรื่องราวจากพระโอษฐ์มาเหมือนกัน จำมาว่าอย่างไรก็ช่วยกันทำ ช่วยกันบันทึกไว้
 
        กลุ่มนี้ได้เผยแผ่พระศาสนาขึ้นไปทางภาคเหนือของอินเดียว แล้วถือหลักโอนอ่อนผ่อนตาม เพราะต้องการรับสมาชิกให้มากๆ ไว้ก่อน ท่านแก้ไขพระวินัย โดยอ้างพุทธานุญาตให้แก้ไขวินัยข้อเล็กน้อยได้ เพราะฉะนั้นพระวินัยทั้งหลาย เมื่อผ่านเข้าไปในประเทศต่างๆ เช่นจีน เป็นต้น ก็เป็นพระวินัย ที่มีการแก้ไขปรับปรุงกันเรื่อยมา
 
        ในที่สุดปรากฏภายหลังว่าแก้พระวินัยจนหละหลวมกันมาก แต่ก็ได้สมาชิกเยอะ พวกนี้เรียกตัวเองว่าพวกมหายาน หมายความว่าเป็นยานใหญ่มีสมาชิกมาก นี่ก็เป็นเรื่องราวในประวัติศาสตร์ มาถึงเรายุคนี้ก็รับรู้เป็นอุทาหรณ์แต่เพียงว่าคนส่วนมากเวลาทำอะไรแล้ว ยากที่จะให้พร้อมเพรียงเห็นตรงกันได้
 
        เพราะฉะนั้นขณะที่เราทำงานอยู่เดี๋ยวนี้ ก่อนจะลงมือทำอะไร ต้องวางกฎเกณฑ์ให้รัดกุมเสียตั้งแต่ต้นนั่นแหละดี เนื่องจากฝ่ายมหายาน ซึ่งขึ้นไปทางภาคเหนือ มักจะมีการแก้ไขพระวินัยอยู่เรื่อยๆ พระวินัยจึงเริ่มฟั่นเฟือน เริ่มหละหลวงถึงแม้จะได้สมาชิกมามาก แต่ก็ปนเปไปกับลัทธิดั้งเดิม ซึ่งเป็นลัทธิความเชื่อในท้องถิ่นนั้นๆ ก่อนที่พระพุทธศาสนาเผยแผ่เข้าไป เมื่อก่อนนี้ก็เริ่มที่แผ่นดินจีนนั่นแหละเป็นจีนมหายาน ทิเบตมหายาน ต่อมาเกาหลี ญี่ปุ่น ก็เป็นมหายานด้วย พอนานไปๆ เนื่องจากพระวินัยไม่รัดกุม การปฏิบัติก็เลยฟั่นเฟือนเต็มที ที่คงรูปร่างเดิมอยู่ได้มากที่สุดก็ฝ่ายหินยาน หรือฝ่ายที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาลงใต้ของอินเดีย ซึ่งขณะนี้ก็ได้กลายมาเป็นว่าพระพุทธศาสนาที่มั่นคงที่สุดก็อยู่ในเมืองไทยเรานี่แหละ ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่พระพุทธศาสนาปักหลักได้มั่นคงที่สุดในโลก
 
        สำหรับธรรมยุตกับมหานิกาย นี้เป็นเรื่องของพระภิกษุในประเทศไทย เรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็กพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์จะปรับปรุงคุณภาพสงฆ์ให้ดีขึ้น ก็เลยแบ่งพระภิกษุในเมืองไทยออกเป็น 2 สังกัดด้วยกัน
 
ธรรมยุตกับมหานิกาย
ธรรมยุตกับมหานิกาย
 
        สังกัดหนึ่งเรียกว่าธรรมยุต อีกสังกัดหนึ่งเรียกว่า มหานิกาย แต่ว่าถึงจะแยกเป็น 2 สังกัดก็ตาม ทั้ง 2 สังกัดนี้ก็ขึ้นตรงกับสมเด็จพระสังฆราชพระองค์เดียวกัน ตำรับตำราพระไตรปิฎก หรือ ทุกสิ่งทุกอย่างใช้เล่มเดียวกัน ไม่มีอะไรต่างกัน เพียงแต่ว่าแนวทางการปกครองสงฆ์ ได้แบ่งสายปกครองออกไป 2 สังกัดเท่านั้นเอง


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
อานิสงส์ของการสวดมนต์มีอะไรบ้างอานิสงส์ของการสวดมนต์มีอะไรบ้าง

ถ้าฮวงซุ้ยดีจะทำให้ลูกหลานมีความเจริญจริงหรือถ้าฮวงซุ้ยดีจะทำให้ลูกหลานมีความเจริญจริงหรือ

การเกิดเป็นคนนั้นยากจริงหรือการเกิดเป็นคนนั้นยากจริงหรือ



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

หลวงพ่อตอบปัญหา