ทำไมหลายคนจึงกลัวความตาย


[ 29 พ.ค. 2555 ] - [ 18270 ] LINE it!

ข้อคิดรอบตัว
 
 
 
ข้อคิดจากความตาย
 
        ความตายเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกครั้งที่มีบุคคลสำคัญหรือผู้มีชื่อเสียงมากในโลกเสียชีวิตไป ก็จะเกิดกระแสความเศร้าโสกเสียใจ น่าใจหาย และมีคำถามเกิดขึ้นมากมายว่าหลังความตายนั้นเราไปไหนกัน ซึ่งบางคนก็เชื่อว่าตายแล้วสูญ ที่น่าสนใจคืออะไรเป็นตัวตัดสินว่าตายจริงหรือไม่จริง
 

ความตายเป็นการจากไปอย่างไม่มีวันกลับซึ่งทำให้หลายคนกลัว เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

 
        คนเรานั้นมักจะกลัวในเรื่องที่ตัวเองไม่รู้ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับอนาคตของตัวเองว่า ถ้าตายแล้วไปไหน มันสูญหมดไปหรือไม่ และกลัวว่าอุตส่าห์ทำงานเก็บเงินสะสมเงินทอง ชื่อเสียงทุกอย่าง พอตายมันก็แว๊บหายหมดไปเลยหรือ ถ้าคิดว่าสูญก็จะกลัว แต่ถ้าคิดว่าไม่สูญ ยังมีการเวียนว่ายตายเกิด แล้วเราจะไปเกิดที่ไหน ก็ไม่มั่นใจอีก เพราะคนเราทำดีก็มาก ทำไม่ดีก็มีบ้างเหมือนกัน ก็เริ่มกลัวว่าจะไปดีหรือไม่ เพราะถ้าไปนรกก็น่ากลัว สรุปก็คือ ไม่รู้ว่าชีวิตหลังความตายนั้นเป็นอย่างไร ก็เลยกลัว แต่ถ้ารู้จะไม่ค่อยกลัว ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ปฏิบัติธรรมจนได้ฌานสมาบัติ ได้ญาณทัศนะ รู้ตายก่อนตายได้ รู้ด้วยว่าตัวเองจะตายเมื่อไหร่ หรือว่าตายแล้วไปไหน ชีวิตหลังความตายเป็นยังไร พอรู้ว่าตายแล้วไม่สูญ เราก็ยังอยู่ แล้วจะไปเกิดที่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความดี บุญ บาปที่เคยทำเอาไว้ แล้วก็มั่นใจในความดีที่ตัวเองทำเอาไว้เพียงพอว่าตายแล้วฉันไปดีแน่ๆ อย่างนี้จะไม่ค่อยกลัวความตาย ดูอย่างพระอรหันต์ท่านก็ไม่กลัวอะไรเลย พระอริยบุคคลทั้งหลายก็ไม่กลัว คนที่สร้างบุญสร้างกุศลมากไม่กลัวเพราะรู้ว่าตัวเองจะไปดี
 

มีเกณฑ์การตัดสินอย่างไรถึงเรียกว่าบุคคลคนนี้ตายแน่ๆ?

 
        ในทางการแพทย์ก็มีหลายเกณฑ์ เพราะหมอแต่ละประเทศก็มีมาตรฐานการวินิจฉัยไม่เหมือนกัน กฎหมายแต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกันอีก บางประเทศถือว่าหัวใจหยุดเต้น บางประเทศถือว่าคลื่นสมองราบ สมองหยุดทำงาน ถือว่าตายแล้ว เพราะเขาไม่รับรู้แล้ว อย่างที่เป็นเจ้าหญิงนิทราหลับไม่รู้เรื่องก็ถือว่าตายแล้ว บางประเทศก็ถือว่ายังไม่ตาย แต่ละประเทศจะมีเกณฑ์ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นทางโลกเราพักไว้ก่อน
 
        แล้วทางธรรมในพระพุทธศาสนา เอาเป็นของจริงเลยที่ไม่ใช่ความคิดและความเชื่อ ที่เรียกว่าตายนั้นคือเมื่อไหร่ คำตอบก็คือว่า เมื่อลมหยุด ที่เรียกว่าสิ้นลม คือลมหายใจหยุดเมื่อไหร่ก็คือตาย แต่บางคนอาจจะสงสัยว่าถ้าจมน้ำแล้วหยุดหายใจไปชั่วคราว ต่อมาก็ผายปอดให้น้ำออกมา สักพักก็หายใจใหม่ ช่วงเวลาที่หยุดหายใจไปชั่วขณะนั้นเรียกว่าตายหรือไม่ อย่างนั้นถือว่ายังไม่ตาย เหมือนเรากลั้นลมหายใจ เพราะลมหายใจยังไม่ขาดจริง และเคยได้ข่าวบางคนที่ว่าตายแล้ว จัดงานศพ ใส่โลงแล้ว อยู่ๆ ก็ฟื้นขึ้นมา อย่างนี้ก็มีแล้วเรียกว่าตายหรือไม่ บางครั้งอาจเป็นลักษณะกึ่งๆ หยุดหายใจ แต่จริงๆ อาจเป็นลมละเอียด ก็ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า การหายใจทางปอดนั้นก็ส่วนหนึ่ง แม้แต่ทางเซลผิวหนังก็หายใจได้ ถ้าเป็นสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำๆ ที่ตัวเล็กๆ พื้นที่ผิวต่อปริมาณเซลมันจะมาก แต่ถ้าเป็นสิ่งมีชีวิตบางๆ หนาแค่ 2-3 มิลฯ พื้นที่ผิวเกือบเท่าเดิม แต่ว่ามันเฉลี่ยให้กับเซลแค่ 2-3 มิลฯ อย่างนี้ไม่ต้องมีปอด หายใจทางผิวหนังก็พอ อันนี้ในทางชีววิทยา
 
        เพราะฉะนั้นตอนที่หายใจบางๆ จนคนนึกว่าหยุดหายใจไปแล้ว แต่ความจริงยัง สายใยชีวิตยังอยู่ พอถึงคราวลงล็อคปั๊บกลับหายใจขึ้นมาใหม่ ในเชิงปฏิบัติจริงๆ นั้น เมื่อไหร่ถึงเรียกว่าตาย ตอบในเชิงปฏิบัติก็คือ เมื่อกายละเอียดหลุดจากขั้วต่อที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ตรงกลางท้องนั่นแหละ พอหลุดปุ๊บอาการที่เห็นคือคนใกล้ๆ ตายจะมีอาการคล้ายๆ กับสะอึกลมขึ้นมา 3 เฮือก ฮึกขึ้นมาแล้วก็ป๊อกไปเลย นั่นแหละจังหวะนั้นคือกายละเอียดถอดจากขั้วที่ศูนย์กลางกายปั๊บก็คือสิ้นชีวิต เพราะกายละเอียดทิ้งกายหยาบไปแล้ว และไปเกิดใหม่ตามแรงบุญแรงบาปตัวเอง
 
อาการ 3 เฮือกสุดท้ายก่อนที่กายละเอียดจะถอดออกจากขั้วที่ศูนย์กลางกาย
อาการ 3 เฮือกสุดท้ายก่อนที่กายละเอียดจะถอดออกจากขั้วที่ศูนย์กลางกาย
 
        ถ้ายังไม่ได้ถอดจากขั้ว เช่นว่า แอบไปเที่ยวไปฝันกลางคืนเวลาหลับ อย่างนั้นสายใยยังอยู่ ยังไม่ตาย แต่ถ้าเกิดเมื่อไหร่ถอดขั้วก็คือทิ้งเลย ขั้วต่อถอดแล้วมีอาการสะอึกขึ้นมา 3 เฮือก เหมือนหายใจเข้าไปลึกๆ 3 เฮือกแล้วก็ป๊อก ตัวก็ยวบถอยลงไป นั่นคือตาย บางคนก็เห็นชัดบางคนก็ไม่ชัด แล้วแต่คน
 
ถ้าเรารู้ว่าเราจะต้องจากไปแล้ว เราจะมีวิธีเตรียมตัวสำหรับความตายอย่างไร?
 
        หลักคือว่า ทำความดีให้มากๆ มีอยู่ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าถามพระอานนท์ว่า อานนท์เธอเจริญมรณานุสติ นึกถึงความตายบ่อยไหม พระอานนท์ตอบว่านึกถึงบ่อยทุกวันเลย พระพุทธองค์ก็บอกว่ายังไม่พอ จะถือว่าเป็นผู้ไม่ประมาทจริงนั้นจะต้องนึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออกเลย ก็ไม่ใช่ว่าเราจะต้องนึกแต่ว่าเราจะต้องตายๆ แต่ให้นึกอยู่ในใจลึกๆ ว่ายังไงเราก็ต้องตาย แต่ละวินาทีที่ผ่านไป แต่ละช่วงเวลาของลมหายใจเข้าออก ชีวิตเราเองเหลือน้อยลงไปทุกที เมื่อรู้อย่างนี้แล้วจะได้ไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปเปล่า พระพุทธเจ้าถึงให้พระภิกษุทบทวนอยู่เรื่อยๆ ว่า บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่าวันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ เพราะฉะนั้นถ้ารู้ว่าเราต้องตายแน่แล้วจะได้ไม่ประมาทแต่ขวนขวายทำความดี คนไม่เข้าใจก็จะคิดว่าไปนึกถึงความตายบ่อยๆ แล้วมันเศร้าเดี๋ยวจะเป็นคนอมทุกข์ เขามองพระพุทธศาสนาว่าสงสัยจะเป็นคนอมทุกข์ทั้งหมดเลย แต่พอฝรั่งเขามาเห็นชาวพุทธกลับสงสัยว่าทำไมหน้าตาเบิกบานกว่าฝรั่งอีก ประเทศไทยเป็นชื่อสยามเมืองยิ้มด้วยซ้ำไป เมื่อนึกถึงความตายบ่อยๆ ทำไมหน้าไม่ทุกข์ ทำไมใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส เพราะเรามีทางออก ถ้านึกว่าตายแน่ๆ มันก็เซ็ง แต่พอนึกว่าตายแน่แล้วทำความดี สร้างบุญสร้างกุศล มีทางออกอย่างนี้หัวใจก็เบิกบาน กลายเป็นผู้ที่ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต
 
สำหรับคนที่ต้องตายกะทันหันควรจะเตรียมใจอย่างไร?
 
        ต้องบอกเลยว่าใครที่ชวนให้ทำความดี แล้วบอกว่างานยุ่ง ไม่มีเวลา เอาไว้แก่ก่อน ว่างงานก่อนค่อยเข้าวัด คิดอย่างนี้นั้นประมาท ถามว่าคนอายุน้อยกว่าเราแล้วตายก่อนเรานั้นมีไหม ก็มี นอนอยู่ในบ้านเฉยๆ แล้วตายก็มี มีทุกรูปแบบ เพราะฉะนั้นเราต้องไม่ประมาท การทำความดีนั้นอย่าผลัดวันประกันพรุ่ง ท่านกล่าวว่าการผลัดเพี้ยนต่อพญามัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่ย่อมไม่มีแก่เรา ถึงคราวพญามัจจุราชมาทวงเอาชีวิตจะขอผลัดไปก่อนก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นการทำความดีควรทำเดี๋ยวนี้ ทำทันที พอมีใครมาชวนให้ทำก็ควรจะทำเลย ทำให้เต็มกำลังของเราเอง ทั้งทาน ศีล ภาวนา บุญกุศลเกิดขึ้นตลอดเวลาอย่างนี้ละก็เราจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต มัจจุมารจะมาทวงชีวิตเมื่อไหร่เราพร้อม ไม่มีปัญหา และถ้าทำเต็มที่จนถึงที่สุดแล้วนั้นจะเป็นผู้ที่มัจจุมารมองไม่เห็น หมายถึงว่าบุญเราเต็มที่จนกระทั่งเราสามารถขจัดกิเลสมารไปจากใจทั้งหมดได้ เราก็จะก้าวพ้นการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารไปสู่ชีวิตที่อมตะก็คือพระนิพพาน
 
ชีวิตหลังความตายนั้นเป็นอย่างไร?
 
        ชีวิตหลังความตายก็อย่างที่บอกไว้ว่า เราก็ต้องไปเกิด ตายนี่มันแค่เปลี่ยนที่อยู่ เพราะฉะนั้นบ้านหลังเก่าคือร่างกายของเรานี้พอหมดสภาพตามกาลเวลา ก็ต้องจากโลกนี้ไปก็แบบหนึ่ง หรือว่าเกิดอุบัติเหตุ ก็เหมือนบ้านบางทีก็เก่าจนผุพัง บางทีก็ถูกไฟไหม้ แผ่นดินไหว ถูกทุบรื้อทำลาย กายของเราเองก็ด้วยหลายเหตุ แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุอะไรก็ตาม เมื่อร่างกายนั้นหมดสภาพจนเราไม่อาจอาศัยอยู่ต่อไปได้ ก็ต้องทิ้งไปหาบ้านใหม่อยู่ จะอยู่บ้านไหนก็อยู่ที่ว่าเรามีทุนอยู่เท่าไหร่
 
ชีวิตหลังความตายนั้นบางคนก็ไปยังยมโลกแล้วไปรับคำพิพากษา
ชีวิตหลังความตายนั้นบางคนก็ไปยังยมโลกแล้วไปรับคำพิพากษา
 
        ถ้าทางโลกบอกว่าบ้านเก่าอยู่ไม่ได้ น้ำท่วม ปลวกกิน เจอปัญหาสารพัดจนอยู่ไม่ได้แล้ว ก็ต้องไปหาที่อยู่ใหม่ก็คือจะสร้างใหม่หรือซื้อใหม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามีทุนเท่าไหร่ ถ้ามีเงินเยอะก็สร้างคฤหาสน์หรือปราสาทก็ได้ ถ้าเงินน้อยก็อยู่กระต๊อบหลังเล็กๆ ไป หรือไม่มีเลยก็ต้องไปอาศัยเขาอยู่ เหมือนกันถ้าเราสร้างบุญเยอะๆ เราก็มีสิทธิไปอยู่ในกายที่ละเอียดประณีตขึ้น เช่น เป็นกายทิพย์ของเทวดา นางฟ้า อย่างนี้เป็นต้น ตามกำลังบุญ หรือกำลังบาป วนเวียนอยู่ในภพทั้ง 3 เราทุกคนไม่มีใครไม่เคยขึ้นสวรรค์ เป็นเทวดา นางฟ้ามาก่อน แล้วก็ไม่มีใครไม่เคยตกนรกด้วย ตอนนี้มาเป็นกายมนุษย์แล้วอย่าประมาทในการทำความดี ยิ่งเกิดมาได้พบเจอพระพุทธศาสนา มาพบเนื้อนาบุญอย่างนี้ ให้ตั้งใจสร้างบุญให้เต็มที่ ถึงจะคุ้มกับที่มีบุญได้เกิดมาเป็นมนุษย์มาพบพระพุทธศาสนา ใครพบแล้วไม่สร้างบุญนั้นน่าเสียดายจริงๆ มิหนำซ้ำใครนอกจากไม่สร้างบุญแล้ว ถ้ามีความคิดผิดเพี้ยนไปเกิดการดูหมิ่นพระรัตนตรัย ไปจาบจ้วงล่วงเกินเข้า ต้องบอกว่าน่ากลัวจริงๆ อันตรายอย่าทำเด็ดขาด ให้ตั้งใจขวนขวายแต่สร้างความดีและหลีกเลี่ยงอกุศลกรรมทั้งปวงอย่างนี้ ถือว่าเราเตรียมตัวก่อนตายได้อย่างดีเยี่ยม
 
วัตถุประสงค์ของการจัดงานศพต่างๆ หลายแบบนั้นมีไว้เพื่ออะไรและจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ตายจริงๆ?
 
        เนื่องจากว่าผู้ที่ตายก็ไม่รู้ว่าตัวเองจะไปไหน กลัว และญาติพี่น้องก็อาลัยอาวรณ์ที่ต้องสูญเสีย จึงมีพิธีกรรมต่างๆ ขึ้นมาเพื่อมาตอบตรงนี้ ถ้าหากว่าเป็นแค่เพียงการปลอบประโลมใจ ก็มักจะเป็นการจัดพิธีเพื่อให้ญาติมิตรมาชุมนุมกัน แสดงความระลึกถึงเป็นการให้เกียรติบ้าง บางทีกลายเป็นหน้าตาหรือศักดิ์ศรีของญาติที่เหลืออยู่ จนกระทั่งมีบางคำเขาบอกว่า “คนตายขายคนเป็น” คือตายทีนี้จนเลย
 
        แต่ในพระพุทธศาสนาเรารู้หลักความจริง เพราะฉะนั้นพิธีกรรมข้างนอกเป็นแค่ของแถม เราสนใจที่สาระมากกว่า สาระคือเมื่อคนตายแล้วอะไรก็เอาไปไม่ได้ สิ่งที่เอาไปได้คือ บุญและบาป ที่ติดอยู่ในกลางใจเขาเท่านั้นเอง พอเข้าใจอย่างนี้สิ่งแรกที่เราควรให้เขาคือให้บุญ และเขาก็ไม่อยากได้อย่างอื่นด้วย อยากได้บุญอย่างเดียว คนไม่รู้หลักบางทีพอมีคนตายปั๊บก็ร้องไห้คร่ำครวญ มีความรู้สึกเหมือนเขายังไม่ตาย เหมือนอย่างกษัตริย์อียิปต์ที่มีความหวังว่าในอนาคตตัวเองอาจจะฟื้นได้ก็ให้ทำเป็นมัมมี่ พันผ้าฉีดยารักษาร่างกายเอาไว้เผื่อว่าจะมีทางฟื้น ลงทุนสารพัดสร้างพีรามิดให้อยู่ ซึ่งมันก็ไม่ได้ช่วยอะไร ดูมัมมี่ที่แกะออกมาก็แห้งกรังอยู่อย่างนั้น หมดค่าใช้จ่ายมหาศาล
 
        บางคนกอดศพ ไม่ว่าจะเป็นลูก สัตว์เลี้ยง โศกเศร้าคร่ำครวญไม่ยอมปล่อย ก็ไม่ใช่สาระ พอตายปั๊บเขาก็ทิ้งเลยไม่ได้สนใจไยดีกับร่างกายตัวเองเลย พอจากไปก็รู้สึกว่าเป็นปฏิกูลเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เขาก็ไปเป็นกายละเอียดแบบใหม่ของเขาตามกำลังบุญกำลังบาปที่ว่าไว้ เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจหลักตรงนี้ แล้วก็อย่าไปยึดติดกับของหยาบๆ อย่างนั้น คิดถึงระลึกถึงก็เอาบุญไปให้ ส่งบุญไปให้ พระพุทธศาสนาเราจับหลักตรงนี้ ดังนั้นจะให้ทุกคนอยู่ในบุญด้วยการสวดพระอภิธรรม 7 วัน ทำไมต้อง 7 วัน เพราะถ้าไม่ใช่บุญเยอะจริงๆ หรือบาปหนักจริงๆ ส่วนใหญ่จะวนเวียนอยู่ 7 วัน แล้วก็ไปยมโลกรอการพิพากษาของพญายมราช ถ้าช่วง 7 วันนั้นยังอยู่ ยังมีสิทธิมาฟังพระอภิธรรมได้ มีสิทธิรับบุญได้เต็มที่ เพราะฉะนั้นใน 7 วันนั้นต้องอาศัยญาติพี่น้องให้รีบทำบุญไปให้
 
ยมทูตคุมตัวไปยังยมโลกแล้วไปรับคำพิพากษา
ยมทูตคุมตัวไปยังยมโลกแล้วไปรับคำพิพากษา
 
        พอครบ 7 วันปั๊บ ยมทูตก็คุมตัวไปแล้วยังยมโลกแล้วไปรับคำพิพากษา ถ้าเกิดต้องไปตกในนรกขุมลึกปั๊บ บางทีส่งบุญไปแล้วไม่ถึงก็มี เพราะฉะนั้นที่แน่ๆ ภายใน 7 วันหลังจากตายแล้วนั้นให้รีบส่งบุญไปดีกว่า จะทำบุญกุศลอะไรก็แล้วแต่ ใน 7 วันแรกนั้นทำให้เต็มที่ไปเลย เพราะฉะนั้นสาระอยู่ที่ว่าให้ได้เกิดบุญแล้วเอาบุญส่งไปให้ เลี้ยงพระด้วยยิ่งดีใหญ่ แล้วสร้างบุญใหญ่ สร้างพระ สร้างกฐิน ผ้าป่า โบสถ์ วิหาร เท่าที่กำลังเราทำไหว ทำอะไรก็ได้ที่เกิดบุญ การฟังสวดพระอภิธรรม อาราธนาศีล ฟังพระสวดพระพุทธมนต์ นี้ก็เป็นทางมาแห่งบุญอันหนึ่ง จะให้ได้บุญเยอะเวลาพระท่านสวดให้ตั้งใจฟัง ทำสมาธิไปด้วยแล้วนึกถึงผู้ที่จากไปให้เขาใสๆ ที่ศูนย์กลางกายแล้วส่งบุญไปให้ อย่างนี้บุญจะได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย จับหลักหัวใจตรงนี้ให้ได้ แล้วเราจะมีวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องทั้งหมดเลย
 
ในการทำพิธีกงเต๊กของชาวจีนนั้น ผู้ตายจะได้รับสิ่งต่างๆ ที่เผาไปให้หรือไม่?
 
        จะถึงได้มีอย่างเดียวคือ บุญ ถามว่าเผาแล้วเกิดบุญหรือไม่ ถ้าไม่เกิดบุญก็ไม่ถึง ถ้าเกิดบุญก็ถึง เพราะขนาดร่างกายยังเอาไปไม่ได้ แล้วจะเอาอย่าอื่นไปได้อย่างไร จะได้ไปก็คือบุญกับบาปเท่านั้นเอง ถามว่าทำเลนี้มายังไง ก็มาจากความรู้สึกของคนที่คุ้นกับของหยาบ นึกว่าตายแล้วต้องทิ้งทุกอย่างไว้บนโลกถ้าอยากให้เขาสบายก็ต้องส่งทุกอย่างไปให้ ในสมัยก่อนหนักยิ่งกว่านี้ พอตายปั๊บเอานางสนมกำนัน เอาทหารขุนนาง จับไปฆ่า ไปฝังทั้งเป็นในสุสานจักรพรรดิ อย่างจิ๋นซี นี่เอาไปฝังอยู่ด้วยจะได้ตามไปรับใช้จักรพรรดิ ทำอย่างนี้ฮ่องเต้ก็ยิ่งบาปกรรมหนักเข้าไปอีก ไม่เข้าใจเรื่องบุญ ติดของหยาบ ในคนทั่วไปมันมีความรู้สึกว่าเห็นง่าย จับต้องได้ ก็เลยส่งไปให้แบบนี้ เอาข้าวของต่างๆ ไปเผาไฟส่งไปให้โดยนึกว่าน่าจะถึงผู้ล่วงลับ แต่สำหรับบางคนที่เห็นเศรษฐีทำอย่างนั้นก็อยากจะทำบ้างแต่เงินไม่มี ก็เลยทำเป็นแบงค์กงเต๊กเอาไปเผาไปให้เพราะมันถูกดี ทำทุกอย่างจำลองทุกอย่างที่อยากส่งไปให้ผู้ตายได้ใช้ ทั้งบ้าน รถ สารพัดที่อยากจะให้ แล้วนำไปเผา จึงเป็นที่มาของทำเนียมกงเต๊ก แต่หัวใจจริงๆ นั้นต้องอยู่ที่บุญ จะถึงหรือไม่ถึง ถามตัวเองแล้วตอบเลยว่า ทำอย่างนี้แล้วเกิดบุญหรือไม่ ถ้าเกิดบุญก็ถึง ถ้าไม่เกิดบุญก็ไม่ถึง
 
มีวิธีการปฏิบัติตนอย่างไร สำหรับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ที่ยังจมอยู่กับความเศร้าโสกเสียใจ กับการจากไปของบุคคลอันเป็นที่รักของเขา?
 
        ให้รู้ว่า ทุกคนตายแน่ ยอมรับความจริงนี้ก่อน ตายแล้วไปไหน อยู่ที่เสบียง คือ บุญ เพราะฉะนั้นรักใครคิดถึงใครให้สร้างบุญส่งไปให้ นี่คือถูกหลัก ในครั้งพุทธกาลก็มีหญิงที่ลูกตายตั้งแต่ยังเล็ก เสียใจมาก วิ่งอุ้มศพลูกร้องให้ทุกคนช่วย ใครก็ช่วยไม่ได้เพราะตายแล้ว จนมาถึงพระพุทธเจ้านางก็ขอให้ช่วยลูกของนางด้วย พระพุทธเจ้าก็บอกว่า ได้ เมื่อได้ยินดังนั้นก็ใจชื้นขึ้นมาเลย เพราะคนอื่นบอกไม่ได้กันหมด หูตาสว่างขึ้นมาก็ถามว่าต้องทำอย่างไร พระพุทธเจ้าบอกว่าต้องมียา ให้ไปขอเมล็ดพันธุ์ผักกาดจากบ้านที่ไม่เคยมีคนตาย ไม่เคยมีญาติพี่น้องคนไหนตายเลย ก็ปรากฏว่าหาไม่ได้ เพราะบ้านไหนๆ ก็มีคนตาย นางก็เริ่มได้คิดว่าการตายเป็นเรื่องปกติ เป็นธรรมดาของมนุษย์ สุดท้ายก็มากราบพระพุทธเจ้าว่าสามารถคลายใจจากลูกตัวเองได้ ก็ขอบวชเลย ปฏิบัติธรรมจนบรรลุธรรมได้ด้วย เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจหลักความจริงตรงนี้ ไม่ใช่แค่บุคคลอันเป็นที่รักของเราเท่านั้น แม้ตัวเราก็ต้องตายด้วย ดังนั้นเตรียมตัวก่อนตายดีกว่า สร้างบุญกุศลให้เต็มที่ บาปกรรมอกุศลให้ห่างไว้ดีกว่า เมื่อละโลกแล้วเราก็ไปดี


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ทำไมคนเราจึงต้องมีเครดิตกันด้วยทำไมคนเราจึงต้องมีเครดิตกันด้วย

การโคลนนิ่งเป็นวิธีการทำให้มนุษย์เป็นอมตะได้หรือไม่การโคลนนิ่งเป็นวิธีการทำให้มนุษย์เป็นอมตะได้หรือไม่

อาชีพ 5 อย่างที่ไม่ควรทำ พระพุทธองค์กล่าวว่าเป็นอาชีพที่มีโทษอาชีพ 5 อย่างที่ไม่ควรทำ พระพุทธองค์กล่าวว่าเป็นอาชีพที่มีโทษ



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ข้อคิดรอบตัว