การโคลนนิ่งเป็นวิธีการทำให้มนุษย์เป็นอมตะได้หรือไม่


[ 6 มิ.ย. 2555 ] - [ 18264 ] LINE it!

ข้อคิดรอบตัว
 
 
การโคลนนิ่ง-ชีวิตเนรมิตได้
 
        ในเรื่องของพันธุกรรม และลักษณะการถ่ายทอดทางพันธุกรรม มีการศึกษาค้นคว้าด้านพันธุศาสตร์ ทำให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น ว่าการที่พี่น้องมีหน้าตาคล้ายๆ กัน หรือเหมือนพ่อแม่ ก็มาจากพันธุกรรมนี่เอง และมีความรู้ใหม่เกิดขึ้นมาอีกคือ ในปี 2545 มีเด็กคนหนึ่งเกิดขึ้นมาจากการโคลนนิ่ง และยังมีองค์กรบางแห่งที่อ้างตัวว่าเป็นเหมือนศาสนาหนึ่งที่มีความเชื่อว่า มนุษย์ยุคแรกของโลกใบนี้นั้นเกิดมาจากการโคลนนิ่ง และก็เชื่อว่าการโคลนนิ่งนี้จะเป็นวิธีการทำให้มนุษย์เป็นอมตะได้ด้วย
 

เรื่องของพันธุกรรมและการโคลนนิ่ง พ่อแม่จะมีผลต่อพันธุกรรมส่งผลไปยังลูก และหมายรวมถึงปู่ ย่า ตา ยาย ด้วย เรื่องนี้มีความเป็นมาอย่างไร?

 
        อันนี้ก็ชัดเจนว่าเป็นอย่างนี้จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการแพทย์ก็ตาม หรือทางด้านของพระพุทธศาสนาก็ตาม ก็สอดคล้องกัน ในด้านการแพทย์นั้น ยีนส์หรือโครโมโซมของลูกก็จะได้มาจากพ่อแม่ พ่อแม่ก็ได้มาจากปู่ย่าตายายอีกทอดหนึ่งต่อกันมา ดังนั้นลักษณะของลูกหลายๆ อย่างก็รับมาจากพ่อแม่นั่นเอง ในด้านของทางพระพุทธศาสนาเรื่องกฎแห่งกรรม เวลาลูกจะมาเกิดก็จะมาหาพ่อแม่ที่มีลักษณะกรรมใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเราต้องรู้สภาพของใจนั้นมีขึ้นมีลง บางครั้งก็ดีบางครั้งก็ไม่ดี บางคนก็สงสัยว่าพ่อแม่ก็ดีๆ นะ แต่ทำไมลูกออกมานิสัยไม่เหมือนพ่อแม่ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าตอนที่ลูกจะมาเกิดเป็นจังหวะที่พ่อแม่กำลังอารมณ์ไม่ดี ลูกออกมาเลยมีปัญหา มันมีความซับซ้อนในเรื่องของกรรมซึ่งมีขึ้นมีลงผสมผสานกันเยอะมาก อย่างไรก็ตามเด็กที่จะมาเกิดนั้นจะเป็นผู้ที่มีลักษณะกรรมเกี่ยวพันกับพ่อแม่ ผลที่เห็นได้ชัดคือ มาจากพันธุกรรม ทางด้านการแพทย์จะส่งผลในเรื่องทางหยาบ ทางละเอียดคือผลแห่งกรรมที่ดึงดูดให้คนที่มีอายตนะใกล้เคียงกัน มีกรรมที่ผูกพันกันมา มาเกิดเป็นพ่อแม่ลูกกัน เป็นอย่างนั้น มันเกี่ยวโยงกันทั้ง 2 ส่วน
 
ลักษณะการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
ลักษณะการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
 
        ที่เห็นได้ชัดเจนคือ รูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ อันนี้คือได้รูปแบบมาจากพ่อแม่ นี้คือทางด้านการแพทย์ ลักษณะโครโมโซมมาจากพ่อแม่ หน้าตาก็ย่อมมีส่วนคล้ายพ่อแม่โดยธรรมชาติ แต่ก็ไม่ใช่เป๊ะๆ เพราะเวลาจะมาเกิดนั้นต้องมาจากลักษณะของยีนส์จะแบ่งมาจากพ่อครึ่งหนึ่งจากแม่ครึ่งหนึ่ง มันจะผสมกันจึงไม่เหมือนพ่อหรือแม่ 100 % ลักษณะบางอย่างเป็นลักษณะเด่น ลักษณะด้อย มีการแฝงอยู่อีกจึงมีการผสมผสานกันอยู่มาก เรื่องพันธุกรรมก็มีความซับซ้อนในตัวอยู่มาก
 

โรคที่มีการสืบทอดมาทางพันธุกรรม เช่น เบาหวาน มะเร็ง ฯลฯ มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของกรรมในทางพระพุทธศาสนาบ้างหรือไม่?

 
        เกี่ยวกันแน่นอน อย่างในเมืองไทยที่เจอกันอยู่บ่อยๆ คือ โรคธาลัสซีเมีย คือคนที่เป็นโรคเลือด ที่เม็ดเลือดจะมีอายุสั้นกว่าคนทั่วไป มีลักษณะผิดปกติ ทำให้อายุไม่ยืน เม็ดเลือดโดยทั่วไปจะอยู่ได้ประมาณ 120 วัน แต่คนที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย เลือดจะอยู่ได้ไม่ถึง 120 วัน คืออยู่ได้ 20-30 วันมันก็แตกแล้ว พอเม็ดเลือดไม่ปกติเวลาผ่านม้าม ม้ามจะเป็นที่กรองเลือดที่ไม่ดี พออายุมันมากขึ้นจะเป็นลักษณะผ่านช่องไปไม่ค่อยได้ จะถูกทำลาย ฉะนั้นเม็ดเลือดคนที่เป็นธาลัสซีเมีย พอลักษณะผิดปกติ อายุยังไม่เท่าไหร่ ผ่านไม่ได้ก็ถูกทำลาย คนเหล่านี้ม้ามจะโต พอเลือดถูกทำลาย ธาตุเหล็กจะถูกสะสมไว้ตามผิว ฉะนั้นผิวจะออกดำๆ หน่อย และไขกระดูกที่ทำหน้าที่สร้างเลือดก็จะทำงานหนัก จะเห็นว่ากระดูกคิ้วหรือแก้มนั้นมันจะปูนขึ้นมา เพราะมันต้องทำงานหนักในการผลิตเม็ดเลือดออกมาชดเชยในส่วนที่ถูกทำลายไป ซึ่งคนไทยเป็นกันเยอะเพราะเป็นโรคทางพันธุกรรม ถ้าพ่อแม่เป็นตกถึงลูกๆ ก็เป็นอีก
 
        ถ้าจะว่าในทางพระพุทธศาสนา เด็กที่มาเป็นอย่างนี้ก็เพราะมีกรรมผูกพันด้านนี้กันมา ถึงต้องมาเป็นอย่างนี้ เคยทรมานสัตว์มา พอถึงเวลาก็จะมาเจอพ่อแม่ที่มีกรรมคล้ายๆ กัน ก็เลยมารับช่วงลักษณะพันธุกรรมอันนี้ต่อไปอีก แล้วจะแก้อย่างไร? ในแง่ทางกฎแห่งกรรมก็คือ ถ้ารู้อย่างนี้แล้วจากนี้ไปอย่าไปทำบาปกรรมอะไรใหม่ เช่น ทรมานสัตว์ ฆ่าสัตว์ อย่างนี้เป็นต้น ต้องรักษาศีลให้ดีเยี่ยม ทำบุญถวายภัตตาหารพระ ถวายยารักษาโรคให้พระภิกษุสงฆ์ ช่วยเหลือคนเจ็บไข้ได้ป่วย ปล่อยสัตว์ปล่อยปลา ให้ชีวิตสัตว์เป็นทาน ฯลฯ บุญเหล่านี้จะได้มาเจือจางบาปอกุศลที่เราเคยทำในอดีตให้มันเบาบางลง เราก็จะค่อยๆ ดีขึ้น
 
แผนที่รหัสพันธุกรรม
แผนที่รหัสพันธุกรรม
 
        ในด้านการแพทย์ เขาก็มีวิธีการในการแก้ไขอีกทางหนึ่งขึ้นมาเสริมกัน เราคงเคยได้ยินที่มีการทำแผนที่รหัสพันธุกรรม มนุษย์เราเมื่อเอา DNA ในเซลส์แต่ละเซลส์ในนิวเครียสมาขยายดูจะพบว่า มี DNA อยู่ประมาณ 3 พันล้านรหัส เขาพยายามจะถอดรหัสอยู่ว่าในแต่ละรหัสนั้นทำหน้าที่อะไร อยู่ตรงไหน เป็นยังไง ซึ่งพอเช็คตรงนี้ได้แล้วต่อไปถ้าต้องการมีลูก เราก็ไปเช็คก่อนว่าใน DNA เรานั้นมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอะไรบ้าง เราก็สามารถบอกหมอได้ว่าช่วยตัด DNA ตัวที่จะทำให้มีส่วนเป็นโรคนั้นๆ ออกให้ด้วย แล้วเอา DNA ตัวที่ดีๆ มาใส่แทน ตัดต่อได้ Genetic engineering คือ วิศวพันธุกรรมศาสตร์ ทำการตัดต่อทางพันธุกรรม นี่เป็นศาสตร์สาขาหนึ่งเลย ซึ่งในด้านพืชนั้นพันธุกรรมไม่ซับซ้อนเท่ากับมนุษย์ ซึ่งเขาทำสำเร็จมามากแล้วที่สามารถเอายีนส์ของแบคทีเรียบางอย่าง ที่สร้างโปรตีนสร้างอะไรต่างๆ ขึ้นมาผลิตยาไปใส่ในต้นไม้ ใส่ในพืชให้มันสามารถผลิตสารอะไรต่างๆ เหล่านั้นขึ้นมาได้ หรือบางทีเขาไปตรวจสอบดูว่าในใยแมงมุมนั้นเหนียวมาก จะเห็นว่าแม้มันเป็นเส้นเล็กๆ เวลาเราไปโดนติดมือเข้าต้องออกแรงล้างพอสมควร เขาเช็คแล้วพบว่าใยแมงมุมนั้นมีความเหนียวกว่าเหล็กกล้าที่ทำเป็นสลิง 6 เท่า ในขนาดเท่ากันนั้นใยแมงมุมเหนียวกว่าเยอะเลย เขาก็ไปดูว่ามันมีการเรียงโมเลกุลอย่างไร แล้วก็ไปเอายีนส์ของแมงมุมที่ทำตรงนี้ขึ้นมาเอาไปใส่ในสัตว์ที่ผลิตน้ำนม ตัดต่อขึ้นมา น้ำนมที่ให้ออกมาก็มีสายใยนี้ผสมอยู่แล้วก็เอามาสกัด สุดท้ายมาทำเป็นสายสลิงคล้ายๆ ต้นกล้าเลย เส้นเล็กๆ เส้นผ่าศูนย์กลางนิดเดียวปรากฏว่ารับน้ำหนักรถยนต์ 6 คันได้สบายไม่ขาดเลย ก็มีวิธีการในการตัดต่อสายพันธุกรรมได้ เป็นศาสตร์สาขาหนึ่ง
 
        ดังนั้นพ่อแม่แต่ละคนก็เช็คได้ ต้องการให้ลูกตัวเองเป็นอย่างไร มีโรคอะไรที่ไม่ดีก็ตัดออก แล้วเอาของดีๆ มาต่อแทน สามารถกำหนดสีผม ตา ปาก ทุกอย่างได้หมด เลือกได้ตามใจชอบ วิทยาการในทางทฤษฎีก็มีการพัฒนาไปถึงขั้นนั้นแล้ว ในทางปฏิบัติโอกาสเป็นไปได้ก็อยู่ไม่ไกล ถามว่าอย่างนี้มันขัดกับกฎแห่งกรรมหรือไม่ จริงๆ แล้วไม่ขัดเลย เพราะว่าคนจะตัดต่อหรือไม่เวลาสัตว์มาเกิด ปฏิสนธิวิญญาณจะมาเกิดก็จะพอดีๆ กับที่เขาทำทางหยาบๆ เรียบร้อยหมดแล้ว ถ้าพ่อแม่ไม่ได้ตัดต่ออะไรเลย และมีโอกาสที่จะเป็นโรคนั้นโรคนี้อยู่ ก็ยังเป็นตามธรรมชาตินี้อย่างเดิม สัตว์ที่มาเกิดก็จะเป็นสัตว์ที่พอดีๆ กับสภาพอย่างนั้น ถ้าพ่อแม่คนไหนไปเลือกเอาการตัดต่อต่างๆ นานานั้นแล้ว ลูกที่จะมาเกิดก็จะเป็นคนที่มีสภาพที่พอดีๆ กับที่ไปตัดต่อไว้เรียบร้อยแล้ว ฉะนั้นเด็กที่จะมาเกิดก็จะพอดีๆ กับสภาพนั้นๆ เหมือนกรณีเด็กหลอดแก้ว เป็นต้น ไม่ใช่ว่าจะดีหมดนะ บางทีออกมาแล้วโอกาสที่จะพิการก็มากกว่าเด็กทั่วไปอีก มีโอกาสเสี่ยงมากกว่าการเกิดตามปกติ
 
การทำเด็กหลอดแก้วและการโคลนนิ่งนั้นจะเรียกว่าเป็นการฝืนธรรมชาติ หรือฝืนกรรมได้หรือไม่?
 
        ไม่ใช่ฝืนกรรม เป็นการฝืนธรรมชาติโดยทั่วไปก็จริง แต่เป็นหลักการทั่วไปอย่างหนึ่ง ไม่ได้เป็นการฝืนกรรม เพราะเด็กที่มาก็จะเป็นเด็กที่พอดีๆ กับสภาพที่ทำไปแล้วอย่างนั้น ไม่ได้เป็นการฝืนกรรม เพราะกรรมมี 2 อย่าง คือกรรมในอดีต กับกรรมในปัจจุบัน กรรมในอดีตมาก็มาตอนหนึ่งไม่ใช่เพิกเฉยปล่อยตามยถากรรม คือเราจะต้องจัดการชีวิตของเราในชาตินี้ให้ดีด้วย วิบากกรรมในอดีตเท่ากัน คนหนึ่งในชาตินี้ตั้งใจทำความดีสู้ก็ตั้งตัวได้ ส่วนอีกคนถ้าเหลวไหลก็ยากจนชีวิตลำบาก ฉะนั้นกรรมปัจจุบันก็สำคัญ
 
มีบางกลุ่มออกมาต่อต้านไม่เห็นด้วยกับการตัดต่อ ตัดแต่งพันธุกรรม ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตอะไรก็ตาม ว่าควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติที่สร้างมา เรื่องนี้มีความเห็นว่าอย่างไร?
 
        เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เรียกว่าเป็นศาสตร์ทางด้านจริยธรรม อย่างบางประเทศเขาจะห้ามไม่ให้มีการโคลนนิ่ง ก็สงสัยว่า โคลนนิ่งนั้นเป็นยังไง กับหลอดแก้วนั้นต่างกันอย่างไร เอาย่อๆ ก่อน เด็กหลอดแก้วนั้นหมายถึงว่า ตอนที่จะเอาไข่ของแม่ผสมกับสเปิร์มของพ่อนั้นไปผสมในหลอดแก้วแทน พอผสมเสร็จแล้วก็เอาไข่ที่ผสมแล้วนั้นไปฝังในมดลูกของแม่อีกครั้งหนึ่ง เป็นการผสมข้างนอก ถ้าสภาพร่างกายของแม่รับได้เด็กก็จะโตขึ้นมา คำว่าเด็กหลอดแก้วนั้นหมายถึงตอนผสมเขาผสมในหลอดแก้วเท่านั้นเอง บางคนถ้ามดลูกของแม่รับไม่ได้ก็ต้องมีการอุ้มบุญ คือไปจ้างผู้หญิงอื่นที่สภาพร่างกายแข็งแรงช่วยอุ้มท้องแทน หรือบางทีพ่อเองสเปิร์มไม่แข็งแรง ก็ต้องไปขอสเปิร์มจากคนอื่นหรือจากธนาคารที่เขาบริจาคก็มีซึ่งเขาจะไม่ให้รู้ว่าเป็นใครเพราะกลัวจะมีปัญหาพ่อลูกกันทีหลัง แค่ให้รู้ได้ว่ารูปพันธุ์สัณฐานเป็นอย่างไร สติปัญญาแค่ไหน เพื่อพิจารณาแบบพ่อพันธุ์เท่านั้น หรือบางทีทั้งพ่อทั้งแม่มีปัญหาก็ต้องเอาไข่ของผู้หญิงอื่นและสเปิร์มของผู้ชายคนอื่นมาทำแทนอย่างนี้เป็นต้น นี้คือที่มาของคำว่าเด็กหลอดแก้วหรืออุ้มบุญ ปัญหามีอยู่ว่า การรับอุ้มบุญนั้นบางครั้งตัวคนที่รับอุ้มบุญมีความผูกพันกับเด็ก ไม่อยากยกลูกให้คนอื่น บางประเทศก็เลยไม่อนุญาตให้ทำ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ
 
        ในอีกกรณีที่เรียกว่า โคลนนิ่ง นั้นไม่มีการผสมระหว่างอสุจิของพ่อกับไข่ของแม่ เป็นการเอาเซลส์จากร่างกายของคนใดคนหนึ่ง เช่นจากพ่อหรือจากแม่ หรือจากใครก็ตาม แล้วเอานิวเครียสมาเพาะเลี้ยงขึ้นมาจนเติบโตเป็นคนอีกคนหนึ่งขึ้นมา ฉะนั้นลักษณะพันธุกรรมของเขาจะมาจากต้นแหล่งเลย เช่นว่าออกมาจากพ่อก็จะเหมือนพ่อทุกอย่างเลย 100 % ซึ่งการโคลนนิ่งนี้บางประเทศก็ยังไม่อนุญาตให้ทำ เพราะเกรงปัญหาทางด้านจริยธรรมและสังคม เหมือนเป็นการเพาะตัวสำรองเอาไว้เพื่อเปลี่ยนเอาอวัยวะต่างๆ หรือเนื้อเยื่อมาใช้แทนกัน ซึ่งจะมีปัญหาในอนาคตเกิดขึ้นหลายอย่างคนก็เลยกลัวกัน
 
การโคลนนิ่งมนุษย์นั้นในบางประเทศก็ยังไม่อนุญาตให้ทำ
การโคลนนิ่งมนุษย์นั้นในบางประเทศก็ยังไม่อนุญาตให้ทำ
 
        ถามว่าทางด้านพระพุทธศาสนามีมุมมองอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ การโคลนนิ่ง ถูกหรือผิด หรืออะไรก็แล้วแต่ ต้องแยกส่วนกัน ทั้งเรื่องเด็กหลอดแก้วหรืออะไรก็แล้วแต่ บางครั้งอาจเกิดคำถามว่าผิดศีลปาณาติบาตหรือไม่ เราต้องเข้าใจก่อนว่า ชีวิตเริ่มต้นของเรานั้นเริ่มตอนปฏิสนธิวิญญาณของเราในครรภ์มารดา ถ้ามีการทำลายไปก่อนมีการฝังตัวที่ผนังมดลูกก็ถือว่ายังไม่ผิดศีลข้อ 1 แต่ถ้ามีการฝังตัวที่ผนังมดลูกแล้วและไปทำให้ชีวิตมันตกไปหลังจากนั้นถือว่าผิดศีล บาปเท่ากับเราฆ่าคน
 
        ฉะนั้นในกรณีเด็กหลอดแก้วนั้นเขาจะเอาไข่มาหลายๆ ฟองเพื่อเสีย แล้วเอาอสุจิของพ่อมาผสมเข้าไป แล้วก็เลือกเอาไข่ใบที่สมบูรณ์ที่สุดมา 1 ฟอง ที่เหลือก็ทิ้งอันนี้ไม่ถือว่าเป็นการฆ่าเพราะปฏิสนธิวิญญาณยังไม่เกิด แต่พอไปฝังในผนังมดลูกของแม่เมื่อไหร่นั่นคือเริ่มกำเนิดชีวิต การโคลนนิ่งก็อยู่ในทำนองคล้ายๆ กัน จะผิดศีลหรือไม่ก็ดูตรงนี้ ถ้าว่าผิดศีลก็ผิดตั้งแต่ต้น ถ้าไม่ผิดศีลก็ต้องมาดูต่อว่าจะมีผลกระทบต่อสังคมอย่างไร ซึ่งในเรื่องนี้มีข้อถกเถียงกันเยอะมากและยังไม่มีข้อสรุปกันง่ายๆ เพราะมีหลายมุมมอง
 
        แต่อย่างไรก็ตาม มีหลักอยู่อย่างหนึ่งที่อยากจะฝากเอาไว้ให้วินิจฉัยกันคือ อย่าเอาความคิดของเราไปตัดสินชีวิตของคนอื่น จะคิดอะไรต้องคิดในมุมมองของเจ้าของชีวิตเขา ยกตัวอย่างเช่น ถ้ากฎหมายเมืองไทยเรามีการอนุญาตให้ทำแท้ง 2 กรณี คือ 1.ผู้หญิงถูกข่มขืนแล้วท้อง 2.แพทย์ตรวจพบว่ามีโรคทางพันธุกรรมที่เมื่อคลอดออกมาแล้วจะพบปัญหาหนักมาก อาจพิการหรือมีโรคร้ายแรง นี่คือกฎหมายอนุญาต ถามว่าจริงๆ แล้วควรทำหรือไม่ ถ้าในทางพระพุทธศาสนาแล้วไม่ควรทำทั้ง 2 กรณี ถ้าทำก็ถือว่าบาปเลยทันทีกันทุกฝ่าย เพราะทุกชีวิตต่างก็รักชีวิตของตัวเองทั้งนั้น ฉะนั้นต้องเคารพในชีวิตของคนอื่นเขา อย่าดูจากมุมของเราเอง ต้องดูจากมุมของเจ้าของชีวิต อันนี้เป็นหลักการพื้นฐานสำคัญในการตัดสินเรื่องราวของทุกเรื่องในหลักจริยธรรม ต้องคิดในมุมอย่างนี้
 
ถ้าครอบครัวไหน มีลูกที่เกิดมาจากการกระทำทางเทคโนโลยีทางการแพทย์แบบนี้ จะมีหลักอย่างไรที่จะทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข และคนรอบข้างควรจะปฏิบัติตนอย่างไร?
 
        จริงๆ แล้วถ้าเราไม่วิตกวิจารณ์จนเกินเหตุ ในสมัยก่อนเราก็เคยหลายๆ ครอบครัวที่ไปรับลูกคนอื่นมาเป็นลูกบุญธรรมเพราะตัวเองมีลูกไม่ได้ แล้วเอาใจใส่ดูแลเป็นอย่างดีมาตลอด เมื่อเด็กโตขึ้นมาก็สามารถเอาดีได้ ฉะนั้นเด็กหลอดแก้วหรือเด็กที่เกิดมาแบบอื่นๆ ก็คล้ายๆ กัน เราอย่าไปมองเฉพาะที่มาของเขา เราต้องให้ความรัก การอบรมเลี้ยงดูที่ดีต่อเขาแล้วเราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
อาชีพ 5 อย่างที่ไม่ควรทำ พระพุทธองค์กล่าวว่าเป็นอาชีพที่มีโทษอาชีพ 5 อย่างที่ไม่ควรทำ พระพุทธองค์กล่าวว่าเป็นอาชีพที่มีโทษ

โกหกแบบไหนถึงจะไม่ผิดโกหกแบบไหนถึงจะไม่ผิด

มนุษย์มีสิทธิพ้นจากความทุกข์ทรมานโดยวิธีการุณยฆาตได้หรือไม่มนุษย์มีสิทธิพ้นจากความทุกข์ทรมานโดยวิธีการุณยฆาตได้หรือไม่



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ข้อคิดรอบตัว