มนุษย์มีสิทธิพ้นจากความทุกข์ทรมานโดยวิธีการุณยฆาตได้หรือไม่


[ 18 มิ.ย. 2555 ] - [ 18266 ] LINE it!

ข้อคิดรอบตัว
 
 
โดย พระมหา ดร.สมชาย ฐานวุฑโฒ
เรียบเรียงจากรายการข้อคิดรอบตัว ทาง DMC
 
 
การุณยฆาต 
 
        การุณยฆาต หรือ การฆ่าโดยความกรุณานั้นกำลังเป็นปัญหาถกเถียงกันอย่างมากทั้งในทางการแพทย์ กฎหมาย พระพุทธศาสนาในฐานะเป็นศาสนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสัจธรรมซึ่งประกอบด้วยเหตุผล ในสภาวะที่มนุษย์เผชิญกับวาระสุดท้ายแห่งชีวิต ด้วยพยาธิสภาพที่สิ้นหวังและเกินกว่าจะเยียวยาและมีคุณภาพชีวิตในภาวะปกติแล้ว มนุษย์มีสิทธิที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ทรมาน โดยเลือกที่จะตายได้ด้วยการุณยฆาต
 
การุณยฆาต หรือ การฆ่าโดยความกรุณา สำหรับผู้ป่วยที่หมดหนทางเยียวยาให้หายจากการเจ็บป่วย
การุณยฆาต หรือ การฆ่าโดยความกรุณา สำหรับผู้ป่วยที่หมดหนทางเยียวยาให้หายจากการเจ็บป่วย

        สำหรับผู้ป่วยที่หมดหนทางเยียวยาให้หายจากการเจ็บป่วย และมีคุณภาพชีวิตเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ มีศักดิ์ศรี ล้วนมีเหตุผลที่รับฟังได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นมุมมองทางการแพทย์ ศาสนา สังคม และความชอบธรรมทางกฎหมาย
 
        สำหรับแนวคิดตะวันตก การุณยฆาต มีข้อพิจารณา 3 ประการ คือ

        1. เมื่ออยู่ในภาวะเจ็บปวดทรมานอย่างแสนสาหัส
        2. สิทธิส่วนบุคคลที่จะยุติชีวิตลง
        3. บุคคลไม่ควรจะถูกบังคับให้ยืดชีวิตออกไปในสภาพที่ช่วยตนเองไม่ได้ และไร้การรับรู้ทางสมอง
 
        การุณยฆาตที่ได้รับอนุญาตในประเทศตะวันตก ถูกนำไปปฎิบัติอย่างกว้างขวางในหลายประเทศ อาทิ

        รัฐบาลเบลเยี่ยม ประกาศออกกฎหมาย เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2545 มีผลบังคับใช้วันที่ 23 กันยายน 2545 อนุญาตเฉพาะผู้ป่วยผู้ใหญ่ และให้มีผลบังคับใช้กับผู้ป่วยเด็กในอีก 2 ปีต่อมา แต่ยังมีข้อโต้แย้งว่า แพทย์จะมีสิทธิ์กระทำการุณยฆาตทารกที่มีอาการสมองตายได้หรือไม่ ในปี พ.ศ. 2548 มีกฎหมายรองรับให้เภสัชกรและแพทย์สามารถจำหน่ายและใช้อุปกรณ์การทำการุณยฆาตได้ "การุณยฆาตสำเร็จรูป" ดังกล่าว ซื้อขายกันในสนนราคาประมาณ 2,000 บาท ประกอบด้วย ยากล่อมประสาท เช่น Barbiturate และยาประเภทดมให้หมดสติ เป็นต้น

        ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ กฎหมายเปิดช่องให้พิจารณาได้ว่า แพทย์สามารถกระทำการุณยฆาตได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ตราบใดที่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าไม่มีมูลเหตุที่ "จงใจทำให้ผู้อื่นตาย"

        ประเทศเนเธอร์แลนด์ ออกกฎหมายรองรับ การุณยฆาต ตั้งแต่ปี 2539 และพบว่าสถิติการตายประมาณ 9.1% ของการตายทั้งหมดต่อปี เกิดจาก การุณยฆาต (2,300 ราย สมัครใจตาย และ 400 ราย ตายเพราะแพทย์ลงมือเอง และ 1,040 ราย ถูกการุณยฆาตโดยผู้ป่วยไม่มีส่วนรับรู้หรือให้ความยินยอม) นอกจากนี้กฎหมายยังเปิดกว้างให้ผู้ป่วยอายุ 12-16 ปี มีสิทธิร้องขอการุณยฆาต ได้ โดยพ่อแม่หรือญาติให้คำยินยอม

        ในประเทศออสเตรเลีย เฉพาะ Northern Territory เท่านั้น ที่มีกฎหมายรองรับให้แพทย์สามารถกระทำ การุณยฆาต ได้ ทั้งในกรณีที่ผู้ป่วยเองและญาติผู้ป่วยร้องขอ หรือกรณีที่แพทย์มีส่วนช่วยเหลือในการเตรียมอุปกรณ์เพื่อปลิดชีพตามความต้องการของผู้ป่วย และกระทำด้วย "น้ำมือ" ของผู้ป่วยเอง แต่ภายหลังที่มีเหตุการณ์ผู้ป่วย 4 ราย ปลิดชีพตนเองด้วยอุปกรณ์ที่ติดตั้งโดยแพทย์ รัฐบาลกลางจึงได้สั่งยกเลิกกฎหมายทันทีในปี พ.ศ. 2540
 

การุณยฆาต มีความหมายว่าอย่างไร?

 
        การุณยฆาต หรือ Euthanasia เป็นภาษากรีก ประกอบด้วยคำศัพท์ 2 คำ คือ eu หมายถึง good และ thanatos หมายถึง death แปลรวมความว่า ตายดี ตายสงบ หรือ การฆ่าโดยความกรุณาปราณี
 
        ในสมัยที่อาตมาเรียนนั้น ถ้าในแง่ของกฎหมายไทยจะอนุญาตให้ทำแท้งได้ 2 กรณี โดยถูกต้องตามกฎหมาย คือ ถ้าผู้หญิงคนนั้นมีลูกที่พิการในท้อง และผู้หญิงถูกข่มขืนมาแล้วทำให้ตั้งครรภ์ อันนี้ก็เรียกว่าเป็นการุณยฆาตอีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน หรือในกรณีที่คนเป็นมะเร็งในระยะสุดท้ายที่มีความเจ็บปวดทรมานมากๆ รักษาไม่หาย อย่างนี้เป็นต้น ก็อนุญาตให้ฆ่าได้ ในบางประเทศ
 

มีกรณีใดบ้างที่ควรหรือไม่ควรกระทำการุณยฆาต?

 
        ต้องบอกว่าถ้าเกิดไปฆ่าแล้วก็ทุกกรณีไม่ควรทำเลย แม้แต่กรณีทำแท้งที่กฎหมายอนุญาตทั้ง 2 กรณีนั้นก็ไม่มีสิทธิ์นะ แม้จะรู้ว่าถ้าเขาเกิดมาแล้วจะลำบากก็ตาม ซึ่งเราก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปกำหนดชีวิตคนอื่นเขา อย่างในสมัยที่อาตมาเรียนอยู่ คณะแพทย์จุฬาฯ นั้น แม้กฎหมายจะอนุญาตให้ทำแท้งได้ แต่ว่าอาจารย์ทางภาควิชาสูตินารีเวชนั้นแทบจะไม่มีใครยอมทำเลย เพราะทุกคนกลัวบาปหมด ฉะนั้นเรื่องกฎหมายกับเรื่องศีลธรรม 2 อย่างนี้มันจะส่งผลทั้งคู่ เพราะเมื่อไหร่ที่เป็นการฆ่าชีวิตออกไปจากตัวไม่ว่าจะเป็นตัวเองหรือผู้อื่นก็เป็นบาปทั้งนั้น และขอย้ำว่าอันนี้ไม่ใช่ความเชื่อ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่ความเชื่อแต่เป็นความจริง พระองค์ไม่ใช่ผู้บัญญัติว่าอะไรผิดอะไรถูก แต่พระองค์เป็นผู้ตรัสรู้ธรรมคือไปรู้ถึงความจริงของโลกและชีวิตว่า ทำอย่างนี้แล้วเป็นบาปจะต้องไปรับกรรมตกนรกไปอบายภูมิ ทำอย่างนี้แล้วเป็นบุญจะได้ไปสุคติโลกสวรรค์ อย่างนี้เป็นต้น พระองค์พบความจริงเช่นนี้แล้วมาบอกเรา ไม่ว่าจะมีพระพุทธศาสนาหรือไม่ ใครไปฆ่าคนหรือชีวิตสัตว์อื่นก็บาปตลอด ฉะนั้นให้รู้ว่าอย่าทำ มันเสี่ยงเป็นอันตรายอย่างยิ่ง
 
ในกรณีผู้ป่วยที่รักษาไม่หายแล้ว แต่ยังใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ ใครควรเป็นผู้ตัดสินว่าจะถอดออกหรือไม่เพื่อให้เขาได้จากไปอย่างสงบ?
 
        คือถ้าเกิดไปถอดออกเลยเป็นลักษณะการกระทำอย่างนี้ไม่ได้ ผิดเลย แต่ถ้าให้เขาไปอย่างสงบๆ ของเขาเอง รอเวลา อย่างมากที่สุดก็จนกว่าออกซิเจนจะหมดถังแล้วปล่อยให้เขาไปอย่างสงบเองจะดีกว่า อย่างกรณีที่ผู้เป็นลูกไปดึงสาย ออกซิเจน ของพ่อแม่ออก อย่างนี้ถือว่าเสี่ยงมาก อันตรายมาก อย่าทำ ถึงแม้ว่าจะมีเจตนาดีก็ตาม แต่มันก็ยังผิดอยู่ดี อย่าทำแบบนั้นเลย เพราะเราไม่มีสิทธิ์ใดๆ ที่จะไปพรากชีวิตของใครได้เลย
 
ควรจะมีข้อคิดใดๆ ให้สำหรับผู้ที่กำลังคิดจะทำการุณยฆาตนี้?
 
        ในทุกๆ กรณีให้เรารู้ว่าเราต้องเคารพในชีวิตของบุคคลอื่น รวมทั้งเห็นคุณค่าในชีวิตของตัวเราเองด้วย แล้วให้ใช้ชีวิตนั้นให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ ถ้าได้ศึกษาธรรมะแล้วรู้หลัก จะไม่อยากให้ชีวิตเราต้องจากโลกนี้ไปเลย แม้ให้สั้นลงอีกหน่อยหนึ่งก็ไม่ควร อยากให้อยู่ได้อย่างยาวนานที่สุด แต่ว่าใช้เวลาที่มีอยู่นั้นในการทำความดี แม้จะทำอะไรไม่ได้เพราะยังนอนอยู่บนเตียงผู้ป่วย ก็แค่เอาใจนิ่งๆ ที่ศูนย์กลางกายที่กลางท้องทำสมาธิ ทุกเสี่ยววินาทีที่ผ่านไป ผลบุญจะเกิดขึ้นกับเราอย่างมหาศาล ถ้าเป็นคนอื่นเราก็ควรจะแนะเขา ไม่ใช่ไปพรากเขาออกจากชีวิต คือถ้าจะเอาเหตุผลการุณยฆาตนั้น ถ้าเผื่อต่างคนต่างมีเหตุผลกันทั้งโลกแล้ว ก็คงจะฆ่ากันได้ทั้งโลกเลย
 
เราไม่มีสิทธิ์ใดๆ ที่จะไปพรากชีวิตของใครได้ ควรปล่อยให้เขาจากไปอย่างสงบของเขาเองดีกว่า
เราไม่มีสิทธิ์ใดๆ ที่จะไปพรากชีวิตของใครได้ ควรปล่อยให้เขาจากไปอย่างสงบของเขาเองดีกว่า
 
        สรุปคือ ต้องยุติตรงที่ว่าไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม เราไม่มีสิทธิ์ที่จะไปละเมิดชีวิตของคนอื่นเขา ต้องเคารพ เพราะสิทธิ์ในชีวิตนั้นเป็นสิทธิ์ที่ยิ่งใหญ่ ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นคนดีหรือเลวก็ตาม ซึ่งเรื่องนี้มันจะเกี่ยวพันไปถึงเรื่อง กฎหมายโทษประหารชีวิตนั้นควรมีหรือไม่ หลายๆ ประเทศเขาก็ไม่ให้มี อย่างมากที่สุดก็ให้จำคุกตลอดชีวิต เพราะถือว่าเรื่องของชีวิตเป็นเรื่องที่สำคัญและยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เราไม่มีสิทธิ์จะไปฆ่าเขา อย่างมากก็แค่ควบคุมเขาไว้ไม่ให้ไปทำความเดือดร้อนให้คนอื่นเขาอีก ทำได้แค่นั้น
 
คนที่ต้องฆ่าผู้อื่นตามหน้าที่นั้นเขาจะบาปหรือไม่?
 
        ถ้าเทียบกันแล้ว มันอยู่ที่เจตนา ซึ่งเจตนาของเขามันไม่แรงเท่ากับคนที่ตั้งใจเอาปืนไปยิงฆ่าคนอื่น โดยเปรียบเทียบก็จะเบากว่า แต่ก็ยังบาปอยู่ดี คือคนในโลกนี้จะมีความพอใจต่างกัน เพราะฉะนั้นในหน้าที่นี้ก็จะมีบางคนอยากทำ บางคนก็ไม่อยากทำ ซึ่งแต่ละคนก็มีสิทธิ์จะเลือกได้ มันอยู่ที่ความพอใจของแต่ละคน
 
สำหรับบางคนที่มีความจำเป็นต้องทำเพราะหน้าที่นั้น ควรทำอย่างไร มีวิธีทำให้หนักเป็นเบาได้หรือไม่?
 
        ให้ดูที่หลักการ 5 ข้อ คือ
 
        1. สัตว์นั้นมีชีวิต
 
        2. รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต
 
        3. มีเจตนาที่จะฆ่าสัตว์นั้น
 
        4. ทำความพยายามที่จะฆ่าสัตว์นั้น
 
        5. สัตว์นั้นตายด้วยความพยายามนั้น
 
        แต่ว่าสำคัญมากที่สุดคืออยู่ที่เจตนา แต่ว่าจากหนักจะให้เป็นเบาหรืออะไรก็แล้วแต่นั้น ทางที่ดีนั้นอย่าไปยุ่งเลยดีที่สุด มันไม่คุ้มกัน อันตรายมาก
 
ในบางประเทศที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้ จะมีผลกับผู้ที่ออกกฎหมาย หรือเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างเสรีอย่างไรบ้าง?
 
        คนออกกฎหมายนั้นมีส่วนแห่งบาปด้วยหมด เพราะเป็นคนเปิดทางให้ฆ่า เท่ากับสนับสนุนให้มีการฆ่าเกิดขึ้น ฉะนั้นคนเราทุกคนจึงควรต้องศึกษาให้เข้าใจหลักความจริงของโลกและชีวิต จากคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะได้นำมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการดำเนินชีวิตได้ ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ เพราะถ้าตัดสินใจผิดไปทีเดียวนั้น ผลที่เกิดขึ้นกับตัวเองและคนอื่นนั้นมันมาก
 
สำหรับคนที่เคยทำการุณยฆาตไปแล้ว เขาควรจะทำอย่างไรต่อไป?
 
        หลักการก็ได้มาจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย คือว่า
 
        1. อดีตที่ผิดพลาดลืมให้หมด อย่าไปคิดถึงมัน เพราะถ้าไปคิดถึงบ่อยๆ เหมือนเป็นการตอกย้ำซ้ำความผิดเดิม ฉะนั้นมันก็จะแรงขึ้น จึงควรลืมให้หมด อย่าคิดทบทวนถึงมันอีก
 
        2. บาปอกุศลทั้งหลายไม่คิดทำเพิ่ม ควรเดินหน้าทำแต่ความดีให้เต็มที่ ทั้งการให้ทาน รักษาศีล และทำสมาธิภาวนา เพื่อเติมบุญไปเจือจางบาปอกุศลที่เกิดขึ้นให้อ่อนแรงลง นั่นเอง
 
        จะเห็นได้ว่า การการุณยฆาตนั้น ไม่มีคำว่า การุณ และ ฆ่า แน่นอนเพราะเป็นสิ่งที่ผิดและเป็นการละเมิดศีลข้อแรกด้วย ควรยึดหลักง่ายๆ คือ เราต้องไม่ฆ่าชีวิตผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นกรณีใดๆ ทั้งสิ้น ที่สำคัญคือเจตนานั้นอย่าให้มี ถ้าเหลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็ให้เราพยายามทำตัวเราให้ดีที่สุด ด้วยการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ซึ่งเป็นหลักง่ายๆ ในทางพระพุทธศาสนานั่นเอง


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
วิชาโหงวเฮ้งทำให้รู้หน้ารู้ใจจริงหรือวิชาโหงวเฮ้งทำให้รู้หน้ารู้ใจจริงหรือ

จริงหรือไม่ที่ยาเสพติดช่วยให้ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานได้ดีจริงหรือไม่ที่ยาเสพติดช่วยให้ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานได้ดี

ทำไมละครจึงมีอิทธิพลจนเกิดพฤติกรรมการเลียนแบบได้ทำไมละครจึงมีอิทธิพลจนเกิดพฤติกรรมการเลียนแบบได้



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ข้อคิดรอบตัว