วัดมเหยงคณ์


[ 10 ก.ย. 2555 ] - [ 18274 ] LINE it!

วัดมเหยงคณ์

 
วัดมเหยงคณ์
วัดไทย ในจังหวัดพระนครศรีอยุทธยา
 
            ณ แดนทุ่งทหารกล้าหันตรานี้             คือธานีอโยธยาราชาสร้าง
 
            พระจอมจักรเจ้าอโศกทรงนำทาง         เป็นแบบอย่างบรมกษัตริย์ขัดติยา
 
            มเหยงคณ์ร่มเย็นเป็นวัดใหญ่               สามสมัยกาลผ่านนานหนักหนา
 
            อโยธยาอยุทธเยศกรุงเทวา                พุทธศาสตร์คู่หล้าคู่ฟ้าไทย
 
วัดมเหยงคณ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วัดมเหยงคณ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
 
        เมื่อย่างเข้าสู่ตัวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาราชธานีเก่าของไทย  สัมผัส แรกที่ได้เห็นคือวัดวาอารามเก่าแก่ ซากปรักหักพังที่แสดงถึงการผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มาเนิ่นาน นับตั้งแต่ครั้งที่ไทยเรารับพระพุทธศาสนามาจากดินแดนมัธยะประเทศ เมื่อครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชทรงเผยแพร่พระสัจธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระ สัมมาสัมพุทธเจ้ามายังดินแดนแถบนี้
 
        เมื่อถึงเจดีย์วงเวียนวัดสามปลื้ม เลี้ยวอ้อมขวาตามวงเวียนไปราวหนึ่งกิโลเมตรจะเข้าสู่ทุ่งหันตราหรือทุ่งทหาร กล้าในเขตอโยธยาตอนเหนือ ภาพเบื้องหน้าคือวัดมเหยงคณ์ พระอารามหลวงฝ่ายอรัญนิวาศรีสมัยอโยธยา จากบันทึกในพงศาวดารต่างๆ และจากการขุดค้นศึกษาของกรมศิลปากรพบว่า วัดมเหยงคณ์สร้างในสมัยอโยธยาโดยพระนางกัลยาณี ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าสามพระยา ต่อมาสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ได้มีการปฏิสังขรณ์ทั้งพระอาราม พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาตั้งพระตำหนักเพื่อทรงควบคุมการก่อสร้างใหม่ ซึ่งใช้เวลาถึงสามปีจึงแล้วเสร็จ ได้มีงานฉลองถวายทานพระภิกษุสงฆ์จำนวน 1,000 รูป
 
ผนังก่ออิฐแดงดูเด่นสง่าแต่ไกล และเจดีย์ขนาดใหญ่หลายองค์
ผนังก่ออิฐแดงดูเด่นสง่าแต่ไกล และเจดีย์ขนาดใหญ่หลายองค์
 
        สิ่งที่สายตาสัมผัสเมื่อแรกเห็นคือผนังก่ออิฐแดงดูเด่นสง่าแต่ไกล และเจดีย์ขนาดใหญ่หลายองค์ ที่บ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่อลังการณ์แต่ครั้งเก่าก่อน ทางเข้าปัจจุบันนี้ซึ่งแต่ก่อนถือเป็นด้านหลังวัดมีความร่มรื่นด้วยแมกไม้ สายน้ำที่สงบนิ่งจากสระสองฝากถนน เมื่อก้าวผ่านซุ้มประตูจะเป็นฉนวนเข้าสู่พระอุโบสถ ฉนวนซึ่งเป็นกำแพงอิฐสูงเมตรเศษ ทางเดินปูลาดด้วยอิฐลายก้างปลาให้ความร่มรื่นและรู้สึกเย็นฉ่ำเพราะตะไคร่ น้ำที่ขึ้นอยู่ประปราย
 
พระอุโบสถ(ด้านใน) เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูน
พระอุโบสถ(ด้านใน) เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูน
 
        พระอุโบสถ ซึ่งเป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูน ขนาด 9 ห้อง มีความกว้าง 17 เมตร ยาว 35 เมตร 50 เซนติเมตร ตั้งอยู่บนฐานสูงสองชั้นนลดหลั่นกัน ถือเป็นพระอุโบสถที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาวัดเก่าในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีแท่นฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปสองฐาน แต่พระพุทธรูปของเดิมชำรุดแตกพังไม่มีชิ้นดีแล้ว
 
ผนังด้านนอกอุโบสถมีมุขเด่นยื่นออกมาทั้งหน้าหลัง
ผนังด้านนอกอุโบสถมีมุขเด่นยื่นออกมาทั้งหน้าหลัง
 
        ผนังด้านนอกอุโบสถมีมุขเด่นยื่นออกมาทั้งหน้าหลัง มีใบเสมาหินสีเขียวเทาล้อมรอบทั้งแปดทิศ แต่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์อยู่เพียงใบเดียว ด้านหลังของพระอุโบสถด้านทิศตะวันตกมีเจดีย์ประธานทรงระฆังตั้งอยู่บนฐาน เขียวทรงกลมสามชั้นและฐานทักษิณทรงสี่เหลี่ยมจัตตุรัส มีบันไดทางขึ้นทั้งสี่ทิศ รอบฐานเจดีย์มีช้างโผล่ครึ่งตัวซุ้มจรนำรอบฐานทักษิณ ด้านละ 20 ตัว รวม 80 ตัว
 
เจดีย์ช้างล้อม
เจดีย์ช้างล้อม
 
        เจดีย์ช้างล้อม เป็นเจดีย์แบบเดียวกับที่ศรีสัชนาลัยสุโขทัยซึ่งได้รับอิทธิพลมา จากลังกา ช้างแต่ละหัวมาจากช่างต่างคนกันเพราะมีรูปลักษณ์ที่ต่างกันอย่างสังเกตได้ ถัดออกมามีเจดีย์ทั้งสี่องค์และเจดีย์รายที่เรียงรายอยู่รอบพระอุโบสถอยู่ หลายองค์
 
        ในส่วนของสังฆาวาสเป็นที่สงบร่มเย็น งดงามด้วยกุฏิไม้สักและอาคารต่างๆ ที่จำเป็น มีอาคารปฏิบัติธรรมซึ่งมีผู้มาทำภาวนาทุกวัน ทั้งมาเช้ากลับเย็นและมาอยู่ในวันหยุดสุดสัปดาห์ ทำให้สถานที่แห่งนี้ไม่เคยว่างเว้นจากผู้ปฏิบัติธรรมเลย บางโอกาสก็นั่งใต้โคนไม้บ้าง รอบสระน้ำบ้าง นอกจากนั้นยังมีอาคารต่างๆ ที่สร้างให้กลมกลืนกับบรรยากาศธรรมชาติ เช่น สร้างเป็นถ้ำ เป็นศาลา แม้กระทั่งห้องน้ำห้องส้วมก็สร้างอิงแบบธรรมชาติ มีเรือนสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมตั้งอยู่ด้านตรงข้ามกับเขตสังฆาวาส โดยมีคลองและถนนคั่นอยู่
 
สถานที่แห่งนี้ไม่เคยว่างเว้นจากผู้มาปฏิบัติธรรมเลย
สถานที่แห่งนี้ไม่เคยว่างเว้นจากผู้มาปฏิบัติธรรมเลย
 
        วัดมเหยงคณ์ จึงเป็นที่เย็นกายเย็นใจของผู้ได้มาถึง เสมือนได้เข้าสู่มหานครโบราณ ที่สงบร่มเย็นทั้งด้วยบรรยากาศธรรมชาติและด้วยธรรมะปฏิบัติ ที่พระอาจารย์ท่านพระครูเกษมธรรมทัต ได้อบรมให้อยู่เสมอ
 
 
รับชมวิดีโอ วัดมเหยงคณ์


รับชมคลิปวิดีโอวัดมเหยงค์
ชมวิดีโอวัดมเหยงค์   Download ธรรมะวัดมเหยงค์



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
วัดโบสถ์วัดโบสถ์

ประเพณีล้างเท้าพระ ประวัติความเป็นมาและกำหนดการประจำปีประเพณีล้างเท้าพระ ประวัติความเป็นมาและกำหนดการประจำปี

บวช แค่คิดชีวิตก็เปลี่ยนบวช แค่คิดชีวิตก็เปลี่ยน



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

พระพุทธศาสนา