สำรวมอินทรีย์นำชีวีพ้นทุกข์


[ 20 ก.ค. 2556 ] - [ 18280 ] LINE it!

สำรวมอินทรีย์นำชีวีพ้นทุกข์
 
 
 
     การเดินทางในสังสารวัฏอันหาเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลายไม่ได้นี้ หมู่สัตว์ถูกอวิชชา คือความไม่รู้แจ้งเห็นจริงในชีวิตปิดบังเห็น จำ คิด รู้ ให้มืดมนอนธกาล เมื่อเกิดมาแล้ว ล้วนตกอยู่ในความประมาท มัวเมาในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสอันเป็นบ่วงแห่งมาร ร้อยรัดไว้ ทำให้เพลิดเพลินจนหลงลืมเป้าหมายดั้งเดิมที่เกิดมาเพื่อแสวงหาหนทางของพระนิพพาน มนุษย์ถูกอวิชชาเข้าครอบงำจิตใจเช่นนี้มายาวนาน ทำให้ไม่เคยคิดถึงคำถามของชีวิตที่ว่า เกิดมาทำไม ตายแล้วจะไปไหน และมีอะไรเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต หากได้มีโอกาสตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม ด้วยการหมั่นตรึกระลึกนึกถึงศูนย์กลางตลอดเวลา เมื่อใจถูกกลั่นให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ ย่อมจะรู้เห็นเรื่องราวของชีวิตไปตามความเป็นจริง
 
มีวาระพระบาลีที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า
 
                            “โย จ อุปฺปติตํ อตฺถํ    น ขิปฺปมนุพุชฺฌติ
                              อมิตฺตวสมเนฺวติ       ปจฺฉา จ อนุตปฺปติ
 
     ก็ผู้ใด รู้ไม่เท่าทันเหตุที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน ผู้นั้นย่อมตกอยู่ในอำนาจของศัตรู และจะเดือดร้อนในภายหลัง
 
                              โย จ อุปฺปติตํ อตฺถํ    ขิปฺปเมว นิโพธติ
                              มุจฺจเต สตฺตุสมฺพาธา  กุกฺกุโฏว วิฬาริยา
 
     ส่วนผู้ใด รู้เท่าทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน ผู้นั้นก็จะพ้นจากการเบียดเบียนของศัตรู เหมือนไก่พ้นจากกรงเล็บของแมว ฉะนั้น”
 
     ยังมีเรื่องราวอีกมากมายในโลกที่เรายังไม่รู้และคาดคิดไม่ถึง เราจึงควรเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ ทำตัวประหนึ่งพระราชาผู้พร้อมที่จะก้าวเข้าสู่สมรภูมิรบ เตรียมพร้อมที่จะรับกับทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น ผู้ที่เตรียมพร้อมเช่นนี้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ไม่ประมาท การเป็นผู้พร้อมเสมอสำคัญมาก เพราะชีวิตของเรานั้นไม่แน่นอน ในวันนี้เรามีชีวิตอยู่ แต่วันพรุ่งนี้ตัวของเราเองก็ไม่อาจรู้ว่าจะมีเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงรออยู่หรือไม่ การทำตนให้พร้อมอยู่เสมอ จึงเป็นสิ่งที่บัณฑิตนักปราชญ์สรรเสริญ โดยเฉพาะการรู้เท่าทันใจของตนเอง เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด รู้เท่าทันกิเลสอาสวะที่บังคับเห็น จำ คิด รู้ของเรา แล้วไม่ยอมให้กิเลสอาสวะเหล่านั้นมาดลใจเราให้ประมาท ทำให้เราสามารถประคับประคองตนให้รอดพ้นจากภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้ หากไม่ประคับประคองสติให้ดี ปล่อยใจให้ไหลเลื่อนไปตามกระแสกิเลสแล้ว จะทำให้ชีวิตผิดพลาดได้ง่าย เมื่อผิดพลาดแล้วก็ยากที่จะรอดพ้นไปจากความทุกข์ทรมาน
 
     * ครั้งหนึ่ง เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ทรงประกาศพระศาสนา ยังสรรพสัตว์ทั้งหลายเป็นจำนวนมากให้ดื่มอมฤตธรรม ให้เข้าถึงบรมสุข คือพระนิพพาน แต่ยังมีพุทธสาวกอีกเป็นจำนวนมาก ที่ยังไม่ได้บรรลุวัตถุประสงค์ของชีวิต ยังไม่หมดสิ้นอาสวกิเลส ครั้นได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้วเกิดมหาปีติ ได้ตัดสินใจสละความสุขสบายในทางโลกออกบวชบำเพ็ญสมณธรรมตามรอยพระบาทของพระศาสดา ในจำนวนนั้น ได้มีกุลบุตรหนุ่มท่านหนึ่งตัดสินใจออกบวชเช่นกัน มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะบำเพ็ญเพียรทำอาสวกิเลสให้หมดสิ้นไป ทุกๆ วันท่านได้บำเพ็ญสมณธรรมไม่เคยขาด แต่สิ่งที่เราคาดไม่ถึงยังมีอีกมากมายซึ่งอาจเกิดขึ้นได้เสมอ
 
     วันหนึ่ง พระภิกษุรูปนั้นเดินบิณฑบาต ได้ทอดสายตาลงต่ำ ก้าวเดินบิณฑบาตด้วยความสงบสำรวมตามปกติ จนกระทั่งไปถึงบ้านหลังหนึ่ง เพียงชั่วขณะจิตแวบเดียวเท่านั้นที่ท่านละจากการทอดสายตาลงต่ำ แล้วช้อนตาขึ้นมองตามปกติ พลันสายตาของท่านพบหญิงสาวคนหนึ่ง ที่มีรูปร่างสวยงามจับใจ ประกอบกับในอดีตชาติเคยเกิดมาพบกัน มีความหลังด้วยกันมาก่อน ทำให้กิเลสอาสวะอันเป็นกระแสที่นอนเนื่องมานาน ถูกพิษแห่งราคะเสียดแทงใจอย่างแรงกล้า ทำให้เผลอสติ ไม่ได้ประคองใจไว้ในตัว แต่ส่งใจออกไปข้างนอก ไปติดอยู่กับหญิงสาวคนนั้น สมณธรรมที่เพียรประพฤติปฏิบัติมายาวนานก็ไม่สามารถต้านทานได้ เกิดความรุ่มร้อนอยากลาสิกขาออกไปใช้ชีวิตกับหญิงสาวนั้น
 
     จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า ความประมาทเลินเล่อ ไม่สำรวมเพียงชั่ววูบ อาจทำให้เกิดอันตรายอย่างใหญ่หลวงในชีวิตพรหมจรรย์ พระพุทธองค์ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการสำรวมระวังเป็นอย่างมาก เพราะจะทำให้ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลส หากปราศจากความสำรวมแล้ว ย่อมจะก่อให้เกิดทุกข์แสนสาหัส
 
     ข่าวที่พระภิกษุหนุ่มรูปนั้นอยากสึกเป็นที่เลื่องลือกันในหมู่ของพระภิกษุ เพียงแต่ว่ายังไม่มีใครรู้สาเหตุที่แท้จริง พระบรมศาสดาทรงเล็งเห็นอุปนิสัยแห่งมรรคผลของเธอจึงตรัสเรียกมาถามว่า “ภิกษุ การบวชในศาสนาของตถาคตนั้น เป็นสิ่งที่ประเสริฐสุดแล้ว เหตุไฉนเธอจะละเพศนี้ไปเล่า” เมื่อถูกพระศาสดาตรัสถามเช่นนั้น พระภิกษุหนุ่มไม่กล้าทูลคำเท็จ จึงกราบทูลตามความเป็นจริงว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ตอนที่ข้าพระองค์ออกเดินบิณฑบาต ได้เห็นหญิงคนหนึ่งประดับประดาร่างกายอย่างสวยงาม ข้าพระองค์อดใจไม่ไหว มีจิตผูกพันกับนาง อยากลาสิกขาพระเจ้าข้า” พระศาสดาได้ทรงสดับดังนั้น ทรงปรารถนาจตรัสเตือนสติภิกษุหนุ่มให้ได้คิด จึงทรงนำอดีตนิทานมาตรัสเล่าว่า
 
     ชาติหนึ่งที่พระบรมพระโพธิสัตว์เกิดเป็นไก่ป่า มีบริวารหลายร้อยตัว อาศัยอยู่ในป่าหากินกับเหล่าบริวารอย่างสงบสุขตลอดมา โดยไม่มีภัยอันตรายใดๆ เกิดขึ้น กระทั่งมีนางแมวตัวหนึ่งมาอาศัยอยู่ในอาณาบริเวณใกล้เคียงกับสถานที่ที่พระโพธิสัตว์กับเหล่าบริวารอาศัยอยู่ นางแมวตัวนั้นได้ใช้กลอุบายล่อลวงให้ไก่ทั้งหลายตายใจหลงเข้าไปหากินในถิ่นของมันว่า ในป่าที่มันได้อาศัยอยู่ มีอาหารอุดมสมบูรณ์มาก ไม่อดอยากยากแค้นเลย  เมื่อไก่ทั้งหลายหลงเชื่อต่างพากันเข้าไปหากินในป่านั้น นางแมวเจ้าเล่ห์ได้จับไก่ป่าบริวารของพระโพธิสัตว์กินจนหมด และปรารถนาจะล่อให้ไก่พระโพธิสัตว์เข้าไปอีก แต่พระโพธิสัตว์รู้เท่าทันเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น จึงไม่ยอมประมาท
 
     แมวเจ้าเล่ห์คิดว่า เจ้าไก่ตัวนี้ช่างอวดดีเหลือเกิน ไม่รู้ว่าเราเป็นแมวเจ้าอุบาย เราควรที่จะเล้าโลมว่า จะยอมเป็นภรรยาของมัน เมื่อมันหลงเชื่อเรา แล้วตกอยู่ในอำนาจของเรา เราจะสำเร็จโทษมันในภายหลัง เมื่อคิดอุบายเช่นนี้แล้ว นางแมวได้เข้าไปหาพระโพธิสัตว์ แล้วพูดขึ้นด้วยคำพูดที่อ่อนหวานว่า “ดูก่อนพ่อไก่น้อยสีแดงผู้มีขนสวยงามเกินกว่าใครในป่านี้ ขอให้ท่านลงมาจากกิ่งไม้ที่เกาะอยู่เถิด เราจะยอมเป็นภรรยาของท่าน ไก่น้อยตัวประเสริฐของฉัน ฉันมีความสุขที่ไม่มีสิ่งใดเปรียบรอท่านอยู่ ขอท่านจงลงมาเถิด” ไก่พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น มีสติรู้เท่าทันในเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น คิดในใจว่า เจ้าแมวตัวนี้กัดกินญาติของเราหมดแล้ว บัดนี้คงอยากกินเราแน่นอน เราจะไล่มันไปดีกว่า คิดแล้วก็กล่าวขึ้นว่า “เจ้าเป็นสัตว์ ๔ เท้าที่สวยงาม ส่วนฉันเป็นสัตว์ ๒ เท้า แมวกับไก่อยู่ด้วยกันไม่ได้หรอก ไปหาตัวอื่นเป็นคู่ครองเถิด เราไม่ต้องการแมวอย่างเจ้าหรอก”
 
     นางแมวฟังคำพระโพธิสัตว์ก็ยังไม่ยอมแพ้ คิดในใจว่า เราจะล่อลวงไก่ตัวนี้ไปกินให้ได้ จึงพูดว่า “ฉันจะยอมเป็นภรรยาแสนดี จะทำอะไรเพื่อท่านทุกอย่าง ไม่ยอมแบ่งใจไปให้ใครเลย ท่านคือชีวิตฉัน อย่าผลักไสไล่ส่งฉันเลย ท่านจะได้พบฉันผู้เป็นพรหมจาริณี เป็นโอกาสที่หาได้ยากยิ่ง” แม้ได้ฟังดังนั้นแล้วก็ตาม ด้วยความเป็นผู้รู้ทันเหตุการณ์ พระโพธิสัตว์ก็ไม่หลงกล คิดในใจว่า เห็นทีเราจะต้องขู่ให้แมวตัวนี้หนีไป คิดแล้วก็พูดขึ้นอย่างไม่แยแสว่า “ดูก่อนเจ้าโจรลักไก่ จงไปไกลๆ เถิด เราไม่มีทางหลงกลเจ้าหรอก เจ้าจะทำอะไรเราได้ เจ้าไม่ต้องการเราเป็นสามีหรอก อย่ามาทำเป็นพูดดีเลย ไปหลอกผู้อื่นเถิด ผู้อื่นอาจหลงกลเจ้าก็ได้” เมื่อพระโพธิสัตว์กล่าวดังนี้แล้ว นางแมวจึงยอมล้มเลิกความตั้งใจที่จะหลอกกินพระโพธิสัตว์อีกต่อไป
 
     เมื่อพระบรมศาสดาตรัสเล่าอดีตนิทานจบแล้ว ทรงประกาศสัจธรรม ในที่สุดแห่งการแสดงธรรม ภิกษุที่กระสันอยากสึกนั้น ได้มีดวงตาเห็นธรรม ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล มีจิตใจที่หนักแน่นมั่นคงอยู่บนเส้นทางของพระอริยเจ้า ไม่เกิดความรู้สึกที่อยากลาสิกขาอีกต่อไป
 
     จะเห็นว่า การที่เรามีสติ รู้เท่าทันเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น โดยใช้สติปัญญาพิจารณาแล้วจึงเชื่อ เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะถ้าเราเป็นผู้รู้เท่าทันเหตุการณ์แล้ว จะทำให้เราผ่านวิกฤติของชีวิตได้อย่างง่ายดาย การมีสติอยู่ตลอดเวลา จนสามารถแยกแยะ และรู้เท่าทันอาสวกิเลส อันเป็นต้นตอของทุกข์ทั้งปวงได้ เราจะต้องมีใจที่ใสบริสุทธิ์ตลอดเวลา เพราะใจที่ผ่องใสบริสุทธิ์ อยู่ตรงจุดแห่งความละเอียด คือศูนย์กลางกายนี้ จะทำให้เรารู้แจ้งเห็นแจ้ง ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคตไปพร้อมๆ กัน หากทำได้เช่นนี้ ย่อมได้ชื่อว่า รู้เท่าทันเหตุการณ์อย่างแท้จริง  ดังนั้นให้ทุกท่านตั้งใจปฏิบัติธรรมให้ดีกันทุกๆ คน

 
พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหา มุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม ๕๙ หน้า ๙๑
 
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
พิษแห่งกามพิษแห่งกาม

สุกรโพธิสัตว์สุกรโพธิสัตว์

เทวดาเตือนภัยเทวดาเตือนภัย



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน