พระของขวัญวัดปากน้ำ รุ่น 1-3


[ 20 เม.ย. 2550 ] - [ 18447 ] LINE it!
View this page in: English

พระของขวัญวัดปากน้ำ 

วันครูวิชชาธรรมกายพระของขวัญวัดปากน้ำพระของขวัญ
ประวัติพระมงคลเทพมุนี อานุภาพหลวงปู่กำหนดการวันครูวิชชาธรรมกาย

 

พระของขวัญวัดปากน้ำ รุ่น 1 - 3

ทำไมพระผงวัดปากน้ำ (พระของขวัญ) จึงศักดิ์สิทธิ์ และมีอานุภาพมาก
 
พระของขวัญวัดปากน้ํา
พระของขวัญวัดปากน้ํา ภาพจาก dhammakaya.net


     ในสมัยที่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ยังมีชีวิตอยู่ ท่านได้ผลิต “พระผงวัดปากน้ำ” หรือที่เรียกกันว่า “พระของขวัญ” ออกมา 3 รุ่น รุ่นละ 84,000 องค์ ซึ่งร่วมทั้ง 3 รุ่นก็มีจำนวนมากถึง 252,000 องค์ เนื่องจากพระของขวัญของหลวงปู่มีความศักดิ์สิทธิ์มาก มีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่ว จึงมีผู้คนจำนวนมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล ไปรับพระของขวัญของหลวงปู่ที่วัดปากน้ำด้วยตนเอง

     หลวงปู่มีดำริให้สร้างพระของขวัญขึ้น เพื่อหาทุนสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม ซึ่งท่านจะมอบให้กับญาติโยมที่มีกุศลศรัทธาร่วมบริจาคเงินทำบุญตั้งแต่ 25 บาทขึ้นไป เพื่อไว้เป็นเครื่องตรึกระลึกนึกถึงบุญ ซึ่งพระผงที่สร้างขึ้นนี้ จะเป็นรูปองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปางปฐมเทศนา ด้านหลังจารึกอักษรขอมว่า “ธรรมขันธ์” และหลวงปู่ตั้งชื่อว่า “พระของขวัญ”

      พระของขวัญ เป็นพระผงที่มีส่วนผสมของดอกไม้หอมที่ใช้บูชาพระประจำเช้า - เย็น เช่น ดอกมะลิ, ดอกบัว, เกสรดอกไม้ ซึ่งนำมาตากแห้ง แล้วป่นผสมกับแป้ง และที่สำคัญจะมีเส้นเกศาของหลวงปู่ผสมอยู่ด้วย ซึ่งหลังจากผสมเสร็จแล้ว จะนำมาปั้นเป็นก้อน แล้วอัดเป็นบล็อกออกมา พระของขวัญนี้ หลวงปู่จะมอบให้ 1 องค์ ต่อ 1 คน เท่านั้น ไม่ว่าใครจะทำบุญมากขนาดไหน ก็จะได้เพียงแค่องค์เดียว อีกทั้งยังฝากรับแทนกันไม่ได้ หรือแม้รับไปแล้ว หากทำหายไป จะมารับใหม่ก็ไม่ได้เหมือนกัน เพราะหลวงปู่กล่าวว่า “พระของขวัญแต่ละองค์นั้น มีเจ้าของหมดแล้ว” ซึ่งก็หมายถึงว่า หลวงปู่ได้คำนวณเอากายละเอียดของผู้ที่ทำบุญกับท่านมาทั้งในอดีตและปัจจุบัน มาซ้อนในกลางพระของขวัญด้วยวิชชาธรรมกาย แล้วเชื่อมให้ติดกัน (จะเข้าใจเพิ่มขึ้นก็ต่อเมื่อได้นั่งสมาธิ จนเข้าถึงพระธรรมกายภายใน และได้ศึกษาวิชชาธรรมกาย)
 
พระของขวัญวัดปากน้ำ
พระของขวัญวัดปากน้ำ รุ่น 1

      การรับพระของขวัญ ต้องรับจากมือหลวงปู่ จึงจะศักดิ์สิทธิ์ที่สุด เพราะเวลาหลวงปู่มอบให้ ท่านจะใช้วิชชาธรรมกาย บรรจุพระของขวัญซ้อนติดลงไปในศูนย์กลางกายของผู้รับด้วย และเมื่อบรรจุแล้ว พระนิพพานก็จะซ้อนความศักดิ์สิทธิ์ผ่านพระของขวัญซึ่งเป็นเสมือนสื่อ ไปยังผู้เป็นจ้าของพระของขวัญ แล้วจะบันดาลให้ความปรารถนาของเจ้าของพระ สำเร็จได้โดยง่าย สาเหตุที่พระของขวัญของหลวงปู่ศักดิ์สิทธิ์และมีอานุภาพอันไม่มีประมาณได้นั้น เป็นเพราะหลวงปู่ได้กราบทูลพระธรรมกายของพระพุทธเจ้าทั้งหมดว่า จะผลิตของขวัญเอาไว้ให้สำหรับผู้มีบุญที่ได้ทำบุญสร้างโรงเรียนพระปริยัติขึ้นมา โดยหลวงปู่ได้ขออาราธนาพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ ไม่ว่าจะมีมากน้อยเพียงใด ทั้งที่เข้านิพพานไปแล้วตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ หรือเข้านิพพานไปเก่าๆแก่ๆ มีธาตุธรรมแก่ๆ กายใหญ่โตสวยงาม มีอานุภาพมาก มีพลังบุญพลังบารมีมาก โดยไม่ซ้ำธาตุ ไม่ซ้ำธรรม ไม่ซ้ำพระพุทธเจ้า กล่าวคือ เมื่อหลวงปู่อาราธนามาชุดหนึ่ง ท่านก็เอาพลังบุญ พลังบารมี รัศมี กำลังฤทธิ์ อำนาจ สิทธิ เฉียบขาด เอาบุญศักดิ์สิทธิ์ มาทำความศักดิ์สิทธิ์ให้บังเกิดขึ้นกับพระของขวัญ โดยทำตลอดต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันเข้าพรรษาจนถึงวันออกพรรษา

        ผู้รับพระของขวัญองค์แรก ก็คือ หลวงปู่วัดปากน้ำ โดยท่านต้องทำบุญสร้างโรงเรียนพระปริยัติก่อน เพราะหลวงปู่ถือว่าพระของขวัญนี้เป็นของพระนิพพาน ท่านเป็นเพียงผู้ควบคุมดูแลในการผลิตเท่านั้น ดังนั้น ก่อนจะรับพระของขวัญ ท่านจึงร่วมทำบุญด้วยตนเอง 25 บาท แล้วรับไว้ 1 องค์ เป็นองค์ปฐม หรือเป็นองค์แรก จากนั้นพระ - เณรในวัดและเจ้าภาพที่ทำบุญตั้งแต่ 25 บาทขึ้นไปก็รับเป็นองค์ต่อๆไป ที่สำคัญ เมื่อมีผู้รับพระของขวัญไปแล้ว หลวงปู่ก็ยังคุมทีมงานทำวิชชาให้ทำความละเอียด ทับทวีความศักดิ์สิทธิ์ให้เกิดขึ้นกับพระของขวัญอย่างตลอดต่อเนื่อง ตลอดวันตลอดคืน เพื่อให้พระของขวัญศักดิ์สิทธิ์ยิ่งๆขึ้นไป กล่าวคือ เมื่อพระของขวัญไปอยู่กับบุคคลใดแล้ว ก็ให้ไปบันดาลให้เขาสมความปรารถนา ให้ไปปกปักรักษาชีวิตและทรัพย์สินของเขา เมื่อเวลาที่เขาจะเดินทางไปเหนือล่องใต้ โดยทางรถ ทางเรือ หรือไปด้วยยวดยานพาหนะอันใด ก็ขอให้เขาอย่ามีเหตุเภทภัย ให้มีปาฏิหาริย์ไม่ซ้ำปาฏิหาริย์
 
พระของขวัญวัดปากน้ำ
พระของขวัญวัดปากน้ำ รุ่น 2

       หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เคยกล่าวไว้ว่า ผู้ที่ได้พระของขวัญไป จะมีสมบัติติดตัวพันล้าน ซึ่งการที่ท่านเปรียบเทียบอย่างนี้ เพราะการถวายปัจจัย 25 บาทเพื่อสร้างโรงเรียนพระปริยัติในช่วงนั้น เป็นการทำบุญถูกเนื้อนาบุญ กล่าวคือ ถูกองค์พระธรรมกายนับอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วน เพราะได้ทำกับหลวงปู่และบรรดาผู้ที่เข้าถึงพระธรรมกายโดยตรง ดังนั้น แม้จะทำบุญจำนวนน้อย เวลาบุญส่งผลก็จะได้มาก และแม้ทำบุญจำนวนมาก เวลาบุญส่งผล ก็จะได้มากยิ่งๆขึ้นไปเป็นทับทวี เหมือนบัณฑิตในกาลก่อนที่ได้ถวายทานแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียว เวลาบุญส่งผล ก็ทำให้เขาได้เป็นถึงพระเจ้าจักรพรรดิ มีสมบัตินับอนันต์ นับภพนับชาติไม่ถ้วนเลยทีเดียว

     แม้ว่าในบางครั้ง หลวงปู่อยากจะให้พระของขวัญแก่ผู้ใดเป็นการส่วนตัว ท่านก็ยังต้องให้ผู้นั้นบริจาคปัจจัยทำบุญสร้างโรงเรียนพระปริยัติให้แก่วัดเหมือนกัน เพราะท่านถือว่า ท่านผลิตพระของขวัญออกมาก็เพื่อวัด มิใช่ทำเพื่อส่วนตัว ดังนั้น จึงมอบพระของขวัญให้ผู้ใดไปเปล่าๆไม่ได้ ที่สำคัญหลวงปู่ยังประกาศไม่ให้ใครนำพระของขวัญออกไปแจกนอกวัด ตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่ง สมเด็จป๋า (พระสังฆราชองค์ที่ 17) พูดกับหลวงปู่ว่า จะขอพระของขวัญจากหลวงปู่ เพื่อเอาติดตัวไปตามหัวเมืองต่างๆ และเมื่อใครต้องการ ก็จะให้เป็นของขวัญแก่เขา หลวงปู่ได้กล่าวว่า “ทำอย่างนั้นไม่ได้ พระของเรามีคุณภาพจริง ผู้อยากได้ต้องมาเอาเอง ถ้าเอาไปอย่างนั้น ของดีก็กลายเป็นของเก๊ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส” และท่านยังพูดแถมท้ายอีกว่า “อย่ากลัวเลย...แปดหมื่นสี่พันองค์ 2 หน ก็ไม่พอแจก” ซึ่งก็เป็นจริงอย่างที่หลวงปู่พูดไว้ไม่มีผิด ทั้งๆที่ทางวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ไม่ได้ทำใบปลิวแจ้งข่าวประชาสัมพันธ์อะไรใหญ่โตเลย
 
     แต่เมื่อผู้ที่รับพระของขวัญจากหลวงปู่ไปแล้ว ได้เจออานุภาพและเรื่องราวความมหัศจรรย์อย่างเหลือเชื่อ ก็ทำให้ข่าวความศักดิ์สิทธิ์ของพระของขวัญแพร่สะพัดกระจายออกไปอย่างรวดเร็ว จนทำให้มีผู้คนข้ามน้ำข้ามทะเล เหมารถ เหมาเรือ พากันมาจากต่างจังหวัด จากต่างประเทศ เพื่อไปขอรับพระของขวัญกันอย่างเนืองแน่นประดุจวัดปากน้ำมีงานมหรสพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันวิสาขบูชา มีคนเดินทางไปรับพระของขวัญมากถึง 1,500 คน จนทำให้หลวงปู่ต้องย้ายสถานที่มอบพระของขวัญไปที่พระอุโบสถ โดยจัดระบบระเบียบในการมอบพระของขวัญใหม่ โดยหลวงปู่ได้จัดให้มีพระภิกษุคอยจัดคนเข้า – ออกจากพระอุโบสถ คนละประตู คือ ประตูหน้าเป็นทางเข้าไปรับพระ และเมื่อรับแล้วให้ไปออกทางประตูหลัง อีกทั้งในแต่ละรอบของการรับพระ หลวงปู่จะให้คนทยอยเข้ามาจนเต็มพระอุโบสถก่อน จากนั้นท่านก็สั่งปิดประตู เมื่อสาธุชนทยอยกันรับไปเรื่อยๆจนคนในพระอุโบสถเริ่มน้อยลงแล้ว หลวงปู่จึงจะสั่งให้เปิดประตูรับคนเข้าไปใหม่ ในวันหนึ่งๆ หลวงปู่จะอธิบายให้ผู้ที่จะรับพระของขวัญได้ทราบถึงวิธีอาราธนาพระของขวัญเป็นร้อยๆรอบ ซึ่งแต่ละรอบ ท่านยังเล่าถึงอานุภาพของพระของขวัญที่มีคนรับไปแล้วได้ประสบกับตัวเอง ดังนี้

     “บัดนี้ ท่านทั้งหลายทั้งหญิงและชายได้เสียสละเวลาให้เป็นส่วนของพระพุทธศาสนาโดยตรง มาสมทบทุนสร้างโรงเรียนพระปริยัติ ที่ท่านได้เสียสละโลกิยทรัพย์สร้างโรงเรียนพระปริยัติอย่างนี้ ได้ชื่อว่าทำถาวรวัตถุไว้ในพระพุทธศาสนา เรียกว่าเป็นศาสนสมบัติให้ศาสนาแล้ว ท่านผู้สร้างสมบัติให้ศาสนานั่นแหละ จักเป็นเหตุที่ตั้งให้มีสมบัติไม่รู้จักสิ้นเสื่อม เหตุนี้ ท่านทั้งหลายที่ได้เสียสละทรัพย์ลงไปแล้ว 25 บาท 30 บาท 50 บาท ตามศรัทธาของตนที่สละลงไปนั้น ได้ชื่อว่าทำผลถาวรให้แก่เจ้าของทรัพย์นั่นเอง ซึ่งจะได้รับผลต่อไปในภายภาคหน้าที่ฝากไว้ในพระพุทธศาสนาเช่นนี้ ไม่เสื่อมทรามนับชาติไม่ถ้วน เพราะท่านบริจาคของ ท่านสละทรัพย์ จะส่งผลให้ท่านในมนุษย์ก็จะส่งผลของมนุษย์ให้ ในทิพย์ก็จะส่งผลที่เป็นทิพย์ให้ ในกามภพนี้จะได้สบสมบัติในภายหน้านับประมาณไม่ได้ เหตุนี้ดังนี้ ท่านทั้งหลายได้เป็นผู้อุปถัมภ์พระศาสนาเช่นนี้ ฝ่ายทางพระศาสนาที่ได้รับสมบัติของท่าน ก็จะมีของตอบแทนแก่ท่าน คือ ของศักดิ์สิทธิ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งเราทั้งหลายยังไม่เคยพบเคยเห็นว่าศักดิ์สิทธิ์ขนาดนี้ อาจจะเป็นได้จริงหรือคาดคะเนไม่ถูก ผู้พูดนี้เองเป็นผู้อาราธนาพระพุทธเจ้าในนิพพาน มีธรรมกายมากด้วยกัน ได้ไปอาราธนาพระพุทธเจ้ามานับพระนิพพานไม่ถ้วน นับอสงไขยก็ไม่ถ้วน มาผลิตของขวัญนี้ให้ปรากฏขึ้นในมนุษย์ ธรรมกายในมนุษย์นี้ก็ได้เข้าสมทบด้วย ดูแลการงานนั้นๆ ท่านทำอย่างไร ก็ทำไปตามท่าน พระพุทธเจ้าท่านจัดแจงทำทั้งนั้น ตั้งแต่วันเข้าพรรษาจนกระทั่งถึงวันออกพรรษา วินาทีหนึ่งมิได้หยุดเลย ท่านกระทำความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน พอออกพรรษาแล้ว พอได้อรุณก็สำเร็จด้วยความประสงค์ของท่านในการผลิตของขวัญ องค์ต้นทรงรับสั่งว่า “ของศักดิ์สิทธิ์ขนาดนี้บังเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก” แล้วก็หับพระโอษฐ์ทีเดียว เมื่อรับสั่งดังนี้แล้ว เราก็คำนวณว่า ศักดิ์สิทธิ์เพียงแค่ไหน คำนวณไม่ถูก

      ผู้พูดนี้ก็ได้ลงมือแจกในวันแรม 6 ค่ำ เป็นวันเกิดของผู้พูดนี้ ได้แจกของขวัญออกไป อัศจรรย์ต่างๆ ความศักดิ์สิทธิ์ของของขวัญนั้น ผู้ที่ได้รับไปแล้ว นางเขียว บางไผ่ เป็นผู้หญิงอายุ 80 กว่า ได้รับพระเอาไปแล้วเอาไปไว้บนหลังมุ้ง พอค่ำลงเท่านั้นเปล่งรัศมีสว่างเต็มบ้านเต็มช่อง พากันตกตะลึงเพราะไม่รู้เรื่องอะไรกัน ทะเลิ่กทะลั่กไปตามกันพักใหญ่นานอยู่ แล้วแสงนั้นก็ค่อยโทรมลงไป โทรมลงไป ก็มารวมอยู่ที่สว่างหลังมุ้ง นางเขียวก็รู้ว่าพระของขวัญเอาไว้ที่นั่น แสงสว่างนี้ออกจากพระของขวัญนั้นเอง แต่เช้าเชียวมาหาผู้พูดนี้ บอกว่า “ท่าน...เมื่อคืนนี้แสงสว่างเกิดที่บ้านดิฉัน พระท่านเปล่งรัศมีสว่างเชียว เดิมทีก็ไม่รู้ว่าอะไร แล้วก็มารวมอยู่ที่พระ จึงรู้ว่าพระ” รูปร่างนางเขียวเมื่อวันมารับพระของขวัญนั้น มีโรคภัยไข้เจ็บเป็นประจำอยู่ คืนเดียวเท่านั้น เวลามาบอกตอนเช้า ร่างกายเปล่งปลั่งไปหมด แปลกกว่าปกติเดิมทีเดียว ผิวพรรณเกลี้ยงเกลาไปหมด ดูสะอาดสะอ้าน มีผิวพรรณวรรณะ เขารู้สึกว่าของขวัญนี้อัศจรรย์ แปรชั่วเป็นดีได้ขนาดนี้เชียวหนอ เรารู้สึกว่า ศักดิ์สิทธิ์เพียงแค่นี้แลหรือ”
 
พระของขวัญวัดปากน้ำ รุ่น 3 (ซ้าย) พิมพ์ตื้น (ขวา) พิพม์นูน
พระของขวัญวัดปากน้ำ รุ่น 3 (ซ้าย) พิมพ์ตื้น (ขวา) พิพม์นูน

     ผู้ที่ได้รับพระของขวัญไปบูชาคล้องติดตัว ต่างได้เจออานุภาพพระของขวัญกันมากมายหลายแบบ ซึ่งบางคนก็เจอพระของขวัญของตัวเองพูดได้ กล่าวคือ เวลามีเหตุเภทภัย พระของขวัญจะเปล่งเสียงเตือนเจ้าของให้ไปทางโน้นทางนี้ จนกระทั่งรอดปลอดภัย หรือวันดีคืนดี วันขึ้น 15 ค่ำ อยู่ๆพระของขวัญก็แสดงอานุภาพให้เจ้าของเห็นโดยการลอยขึ้น แล้วเปล่งรัศมีเป็นแสงขาวนวลเท่าลูกมะพร้าวลอยออกไป และพอถึงเวลาก็ลอยกลับคืนมา หรือบางคนได้เจออานุภาพ ทำมาค้าขึ้น ร่ำรวยจนตัวเองแปลกใจ หรือบางคนตกต้นตาลสูงๆแล้วไม่เป็นอะไรก็มี หรือบางคนประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตก คนอื่นตายหมด แต่ตัวเองกลายเป็นคนเดียวที่รอดมาได้อย่างเหลือเชื่อ นอกจากนี้ ยังมีบางคนที่ประสบอุบัติเหตุร้ายแรงโดยคนรอบข้างที่ไปด้วยกันเสียชีวิตหมด แต่ตัวเองซึ่งแขวนพระของขวัญติดตัวกลับรอดชีวิตมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารที่ออกรบในสมัยสงครามเกาหลี

      หลวงปู่ได้เล่าว่า “ที่เขาเล่าในทางเกาหลี ทหารอังกฤษ อเมริกัน ทหารฝรั่งกำลังคุยกันอยู่ มีทหารไทยอยู่บ้าง ลูกระเบิดทำลายมันตกลงกลางประชุมกำลังคุยกันอยู่นั้น ปึงเดียวเท่านั้นตายหมด เหลือไทยคนเดียวมีพระของขวัญอยู่ในตัว ฝรั่งให้เหรียญกล้าหายแก่ไทยคนนั้นยังปรากฏอยู่ นี่คือความศักดิ์สิทธิ์ทั้งนั้น

      เรื่องอภินิหารและความศักดิ์สิทธิ์ของพระของขวัญนี้ หนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ปีที่ 6 สัปดาห์ที่ 280 วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2503 ได้เสนอข่าวตีพิมพ์จดหมายของ สิบตรี วาสนา อาคมวัฒนะ แห่งกรมผสมที่ 21 ที่เขียนมาจากเกาหลี ซึ่งได้เล่าถึงอานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ของพระของขวัญที่ตนและเพื่อนอีกคนหนึ่งได้รับไปจากพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ความว่า “กระสุนปืนใหญ่ของข้าศึกยิงถูกคลังกระสุน ไฟไหม้ถังน้ำมันจนเกิดเป็นแสงอร่ามไปทั่ว ผู้ที่พักอาศัยอยู่ในที่นั้นต้องกระจัดกระจายไป ปืนและเครื่องเหล็กละลายไปกับกองไฟใหญ่นั้น เพื่อนทหารคนหนึ่งทิ้งห่อพระไว้ ตอนสายๆเพลิงค่อยสงบลงจึงรีบรุดไปยังที่นั่นกัน ก็เห็นพระอันน่าประหลาดที่ห่อผ้าเช็ดหน้าแขวนเด่นอยู่กับเสาเหล็กเป็นที่ประหลาดใจแก่ทหารทั้งหลายเป็นอันมาก เพราะแม้แต่เหล็กก็ยังละลาย แต่ผ้าขาวที่ห่อพระไม่ได้ลงเลขยันต์อะไร กับพระอีกองค์หนึ่ง ยังคงอยู่ในสภาพปกติ มิได้เสียหายเลย เป็นพระเครื่องวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ อีกทั้งตนเองนั้นก็รอดตายจากสมรภูมิหลายต่อหลายครั้ง เนื่องจากมีการยิงขนาดเผาขนกันไม่เว้นแต่ละวัน ก็รอดมีชัยมาได้ทุกครั้ง บางครั้งอยู่ในวิถีปืนที่ยิงมาอย่างหนัก ถ้าไม่มีโอกาสเพ่งศูนย์กลางตัว ก็เพียงภาวนาดังกล่าว และระลึกถึงอาจารย์ คือ หลวงปู่ ก็พอแล้ว สามารถคุ้มกันได้และพลอยคุ้มกันเพื่อนฝูงไปได้อีกด้วย”

ข้อมูลเบื้องต้น พระผงวัดปากน้ำ (พระของขวัญ)


      พระของขวัญวัดปากน้ำ เป็นพระผง ขนาดเล็ก ที่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้สร้างขึ้น มีทั้งหมด 3 รุ่น ด้วยกัน คือ รุ่น 1 รุ่น 2 และ รุ่น 3 พระของขวัญแต่ละรุ่นดังกล่าวนี้ หลวงปู่กระทำให้สำเร็จขึ้นมาด้วยวิธีเจริญสมาธิภาวนา ตามหลักวิชาธรรมกาย ขนาดองค์พระโดยประมาณ กว้าง 1.4 เซนติเมตร ยาว 2 เซนติเมตร หนา 4 – 6 มิลลิเมตร

     พุทธลักษณะ เป็นพระนั่งสมาธิราบ ปางปฐมเทศนา องค์พระนั่งอยู่ในซุ้มเรือนแก้วยอดแหลม ด้านหลังองค์พระเป็นอักขระขอม อ่านว่า “ธรรมขันธ์”

     ส่วนผสมมีหลายอย่าง ส่วนใหญ่จะเป็นดอกมะลิแห้งที่บดละเอียดแล้ว, เส้นเกศาของหลวงปู่ และผงวิเศษที่หลวงปู่ทำขึ้นอีกส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีส่วนผสมอื่นๆ อีกตามส่วน โดยได้นำเอาส่วนผสมดังกล่าว มาโขลกตำจนละเอียดเข้ากันดีแล้วจึงได้นำมาพิมพ์ (พระของขวัญ รุ่น 2 และรุ่น 3 ก็ใช้กรรมวิธีเดียวกัน)
 อ้างอิง :
    หนังสืออานุภาพหลวงปู่...ยุคต้นวิชชา
    พระของขวัญ  วัดปากน้ำ  พิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ.2539

 
 
พระของขวัญ วัดปากน้ำ รุ่น 1-3

        พระวัดปากน้ำรุ่น 1-3 ชื่อว่า “พระของขวัญ” ในวงการพระเครื่อง นิยมเรียกว่า “รุ่นแรก” เพราะรูปทรงและพิมพ์ที่ใช้คือแม่พิมพ์เดียวกันหมด เป็นพระรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากะทัดรัดสวยงามน่ารัก หลวงพ่อสดท่านทำขึ้นมาเพื่อสมนาคุณแด่ผู้บริจาคทรัพย์สมทบทุนสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม ที่วัดปากน้ำในสมัยที่หลวงพ่อสด เป็นเจ้าอาวาสอยู่

        พระรุ่น 1 นั้นสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2493 จำนวน 84,000 องค์ ทำบุญ 25บาท เป็นอย่างน้อย (อย่างมากเท่าใดก็ได้) จะได้รับพระจากหลวงพ่อสด 1 องค์ จะบริจาค พัน หมื่น แสน ก็ได้เพียงองค์เดียว เพราะหลวงพ่อสดท่านยึดถือว่า พระมีราคามากกว่าเงิน พระวัดปากน้ำไม่มีการแจกฟรี!

        การทำพิธีเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของพระวัดปากน้ำ ไม่เหมือนที่อื่นๆ ไม่มีการเชิญเหล่าท่านคณาจารย์มาร่วมทำพิธี แต่อาศัยบุคคลในวัดที่ได้วิชชาธรรมกายของหลวงพ่อเท่านั้นไม่ว่าจะเป็นฆราวาส ภิกษุ ก็ตามแต่ มีข้อบังคับคือต้องเป็นคนของวัดเท่านั้น เมื่อสร้างแล้วก็ทยอยทำพิธี เป็นต้นว่า พระที่เสร็จแล้ว 100 องค์ก็ทำพิธี แล้วก็นำออกแจก 100 องค์ ต่อมาเมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วก็นำมาทำพิธีแล้วทยอยแจก ลักษณะนี้ไปเรื่อยๆ เป็นลูกโซ่
 
พระของขวัญรุ่น 1
 
พระวัดปากน้ำรุ่น 1

        ทำพิธีด้วยวิชชาธรรมากยนานถึง 4 เดือน เพราะอยู่ในช่วงของการเข้าพรรษาพอดี ทำพิธีไปแจกไปนั้น หมดที่องค์สุดท้ายเมื่อ พ.ศ.2495 พระรุ่น 1 นี้ความสวยงามของพระนั้นเป็นที่นิยมในหมู่คุณแม่บ้าน และสาวๆ ทั่วไปที่ทำมาค้าขาย

พระของขวัญรุ่น 2
 
พระวัดปากน้ำ รุ่น 2 
 

        เมื่อพระรุ่น 1 ได้แจกไปนั้น เมื่อเด็กๆ และคุณแม่บ้านนำไปคล้องกัน เมื่อเวลาอาบน้ำแล้วเกิดเนื้อของพระเปื่อยยุ่ยฟองฟูขึ้น จึงนำเรื่องนี้มาเล่าให้หลวงพ่อสดท่านทราบ จากนั้นหลวงพ่อสดจึงแก้ปัญหาโดยนำน้ำมันตั้งอิ๊วมาทาที่องค์พระเพื่อกันเปื่อยยุ่ยฟองฟู แล้วนำแจก ชาวบ้านจึงเรียกกันว่ารุ่น 2 แท้ที่จริงก็คือรุ่น 1 นั่นแหล่ะ ในวงการฯ จึงได้ตัดสินว่าให้เรียก รุ่น 1-2 เป็นรุ่นแรก
 
พระของขวัญรุ่น 3
 
พระวัดปากน้ำรุ่น 3 พิมพ์ตื้น

พระวัดปากน้ำรุ่น 3 พิมพ์ตื้น
 
        พระรุ่น 3 นี้สร้างเมื่อ พ.ศ.2499 จำนวน 84,000องค์ พระรุ่น 3 แบ่งออกเป็น 2 พิมพ์ใหญ่ๆ คือ พิมพ์ตื้นและพิมพ์ลึก พระพิมพ์ตื้น เป็นแม่พิมพ์ที่เคยกดพระรุ่น 1  มาก่อน และพิมพ์นี้สร้างก่อนพิมพ์ลึก แม่พิมพ์ตื้นนี้ดังที่กล่าวมาในขั้นต้นว่าเคยใช้กดรุ่น 1 มาก่อน ท่านเก็บแม่พิมพ์ไว้แล้วนำมากดรุ่น 3 เนื่องจากเก็บเอาไว้นาน ฝุ่นเกาะและมีคราบน้ำมันอยู่หนาแน่นมาก ประกอบด้วยหลวงพ่อสดท่านได้ปรับปรุงสูตรเพื่อกันพระเปื่อยยุ่ย โดยการใส่น้ำมันตั้งอิ๊ว
 
พระวัดปากน้ำรุ่น 3 พิมพ์ลึก

พระวัดปากน้ำรุ่น 3 พิมพ์ลึก
พระวัดปากน้ำรุ่น 3 พิมพ์ลึก


        หลังจากที่กดพิมพ์ตื้นได้จำนวนหนึ่ง ด้วยความเก่าแก่ของแม่พิมพ์เกิดหักชำรุด เณรที่ทำหน้าที่กดจึงมาเรียนต่อหลวงพ่อสด จากนั้นหลวงพ่อจึงสั่งให้แกะพิมพ์ใหม่ ไม่ให้จำเจแบบของเก่า และนี้ก็เป็นปฐมเหตุที่เกิดพิมพ์ลึกขึ้นมานั่นเอง จากหลักฐานของวัด พระรุ่น 3 ได้แจกหมดไปเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2514 คือหลังจากหลวงพ่อสดมรณภาพไปแล้วนั่นเอง และสรุปได้ว่า พระวัดปากน้ำที่หลวงพ่อสดท่านสร้างและทำพิธี มีเพียง 3 รุ่น คือ 1, 2 และ 3 เท่านั้น เพราะแจกพระรุ่น 2 ได้เพียง 2 ปีกว่า หลวงพ่อท่านก็มรณภาพลงใน พ.ศ.2502 เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า พระวัดปากน้ำรุ่น 1 ถึงรุ่น 3 ชื่อ “พระของขวัญ” ส่วนรุ่น 4 ชื่อ “พระธรรมขันธ์” รุ่น 5 เรียก “พระธรรมกาย” ส่วนรุ่น 6 ชื่อ “พระไตรปิฎกหินอ่อน” ได้พิมพ์ปฐมฤกษ์ เมื่อ 26 สิงหาคม พ.ศ.2532 ซึ่งทำแจกแด่ผู้ที่สมทบทุนบริจาคทรัพย์สร้างพระไตรปิฎกหินอ่อน, พระมหาวิหารและพระมหาเจดีย์ ผู้ใดที่มีพระรุ่นนี้ หากตกที่นั่งลำบากให้เพ่งไปที่องค์พระจนติดตาแล้วอาราธนาขอพรให้คุ้มครองพร้อมกับภาวนาว่า “สัมมาอะระหัง” แล้วความปาฏิหาริย์จะบังเกิดขึ้น
 
ส่วนผสมมวลสารของพระวัดปากน้ำรุ่นแรกเท่าที่มีดังนี้
 
ปูนขาว จากเปลือกหอยทะเล
ดอกไม้บูชาพระ เมื่อแห้งนำมาบดให้ละเอียด
กล้วยน้ำว้า
เส้นเกศาของหลวงพ่อสดที่ปลงเก็บเอาไว้
ผงวิเศษที่หลวงพ่อสดจัดทำขึ้นเอง
น้ำมันตั้งอิ๊ว

        ตามประวัติพระรุ่นแรกใส่ผงวิเศษและเกษรดอกไม้มากเกินไป พระจึงเป็นเนื้อเปื่อยยุ่ยเมื่อโดนน้ำ ระบบการกดพิมพ์ยังใช้การกดแบบแรงมือมิใช่ใช้แบบกระเดื่องอย่างในปัจจุบันนี้

        เม็ดสีขาวขุ่น เข้าใจว่าเป็นเม็ดของปูนขาวที่มีขนาดเล็กๆ รอดหลุดลงไป ส่วนเม็ดสีขาวใสอมเหลือง คาดว่าคงจะเป็นเม็ดของข้าวสุกตากแห้งบดละเอียดผสมใส่ลงไป จุดสีดำเล็กๆ และสีน้ำตาลนั้นทั้งอ่อนและแก่ เข้าใจว่าคงจะเป็นดอกไม้แห้งบดละเอียดผสมลงไปซึ่งมีทั้งดอกและใบรวมถึงก้านช่อ

        ข้อสังเกตอีกประการในการดูพระวัดปากน้ำรุ่นแรกโดยทั่วไปคือการทรุดตัวที่มุมขอบด้านบน และบางองค์พบว่ามีรอยของมีคมสับลึกทั้งด้านซ้ายและขวา ลักษณะโดยทั่วไปเป็นพระปางสมาธิ “ปฐมเทศนา” หรือบางท่านเรียกกันว่า “ปางดีดน้ำมนต์” มีฐานบัวหงาย-คว่ำ 2 ชั้น ด้านหลังมีอักขระขอมกดลึกลงไปอ่านได้ความว่า “พระธรรมขันธ์” หมายถึง 1 องค์ เท่ากับ 1 พระธรรมขันธ์ มีจำนวน 84,000 องค์ ขนาดองค์พระกว้างประมาณ 1.5 ซม. ส่วนสูง 2.2 ซม. ความหนาอยู่ในระหว่าง 4-7 มม. เนื้อพระสีขาวที่เรียกกันว่า “เนื้อปูนปั้น” คือมีปูนขาวจากเปลือกหอยทะเล และส่วนผสมอื่นๆ อีก แต่น้อยกว่า “ปูนขาว”
 
พระรุ่น 1 นั้นทำไมแบ่งออกเป็นหลายๆ ใน 1 รุ่น ?
 
        ในยุคที่หลวงพ่อสดยังอยู่ท่านให้บูชาคนละองค์เดียว อย่างที่เรียนให้ทราบไปแล้ว หลังจากที่หลวงพ่อสดท่านมรณภาพไปนั้นก็ได้เปลี่ยนกติกาใหม่ โดยให้พระและชีนำพระของขวัญที่เหลือออกจำหน่าย โดยที่โยมๆ ต้องบริจาคทรัพย์ทอดกฐินหรือผ้าป่า ตามวงเงินที่กำหนดไว้

พระรุ่นลองพิมพ์

 
 
        การที่เกิดรุ่นนี้ก็เพราะในครั้งแรกๆ หลวงพ่อสดได้ให้ลงมือกดพระแล้วลองดูซิว่ามีความสวยงามขนาดไหน ผู้ที่จะมีพระรุ่นนี้ส่วนมากจะเป็นพระที่บวชอยู่ที่วัดปากน้ำนี้เป็นส่วนมาก

พระรุ่นตกค้าง

 
        พระรุ่นตกค้างนี้คือพระที่สร้างพร้อมๆ รุ่น 1 และ 2 ผ่านการทำพิธีแล้วแต่ไม่นำเอาออกมาทำพิธี เพราะลักษณะของพระนั้นไม่สวยงาม บิดเบี้ยว บิ่นเป็นกระเทาะบ้าง หลวงพ่อสดท่านสั่งให้แยกเก็บเอาไว้ แล้วเก็บเอาไว้ในกุฏิของท่าน ล้วนแต่เป็นพระที่ยังไม่ได้จุ่มแชแล๊คทั้งหมด จนกระทั่งหลวงพ่อสดมรณภาพไปแล้ว เมื่อทำการเก็บของท่าน จึงได้พบพระจำนวนนี้ หลังจากนั้นทางวัดจึงนำออกมาให้บูชาเพื่อนำเงินมาบูรณะวัด เพราะขณะนั้นพระรุ่น 1-2 หมดลงเสียแล้วหลายปี ดังนั้นจึงเรียกพระรุ่นนี้ว่า “พระวัดปากน้ำ รุ่นตกค้าง” แท้จริง ก็คือรุ่น 1-2 นั้นเอง ลักษณะก็คล้ายรุ่น 1-2 ไม่ผิดเพี้ยน
 
พระของขวัญวัดปากน้ำ รุ่นตกค้าง
พระของขวัญวัดปากน้ำ รุ่นตกค้าง

        หากจะถามว่าแล้วพระรุ่น 3 ไม่มีตกค้างบ้างเลยหรือ มีเหมือนกัน แต่ทางวัดได้นำเก็บเอามาผสมในรุ่น 4 หมดแล้ว โดยปฏิบัติเป็นลูกโซ่ อาทิเช่น นำพระรุ่น 1 ที่ชำรุดมาตำแล้วผสมกันเป็นรุ่น 2 ล้างพระรุ่น 2 ที่ชำรุดที่นำมารวมกับพระรุ่น 3 ปฏิบัติเช่นนี้ตลอด
 
 
จากหนังสือ “รวมพระวัดปากน้ำ”


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
หนังสือที่เกี่ยวข้อง กับพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายหนังสือที่เกี่ยวข้อง กับพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย

ชีวประวัติ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายชีวประวัติ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย

ประวัติคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูงประวัติคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

มหาปูชนียาจารย์