ชาวพุทธในยุคปัจจุบันของบังคลาเทศ


[ 4 พ.ค. 2550 ] - [ 18313 ] LINE it!

สาเหตุที่ทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมจากอินเดีย 
 
    ทั้งๆที่พระพุทธศาสนากำเนิดในอินเดีย และแผ่ขยายเจริญรุ่งเรืองไปในดินแดนต่างๆทั่วโลก พระพุทธศาสนาในอินเดียเองกลับเสื่อมลง จนในยุคหนึ่งกล่าวได้ว่า แทบไม่มีชาวพุทธหลงเหลืออยู่เลย ที่เป็นเช่นนี้มาจาก 2สาเหตุหลักดังต่อไปนี้
 
1. สาเหตุภายใน
 
    พระพุทธศาสนา มีพระสงฆ์เป็นผู้นำ โดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง ในระยะแรกพระสงฆ์ที่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์มีอยู่เป็นจำนวนมาก ปฏิบัติตนเป็นผู้นำเป็นแบบอย่างแก่พระภิกษุสงฆ์อื่นในการเผยแผ่พระศาสนา เป้าหมายการบวชในสมัยนั้นคือบวชเพื่อมุ่งพระนิพพานกันจริงๆ ให้ความสำคัญทั้งการศึกษาปริยัติและการปฏิบัติควบคู่กันไป นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เผยแผ่สั่งสอนประชาชน ให้ปฏิบัติตามต่อไป พระพุทธศาสนาจึงเจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็ว
 
    ต่อมาผู้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์มีจำนวนน้อยลง ในหมู่พระสงฆ์ก็มีทั้งผู้ที่มีใจรัก มีความเชี่ยวชาญทางด้านปริยัติและผู้ที่เชี่ยวชาญในด้านปฏิบัติ แต่เนื่องจากการศึกษาปริยัติเป็นสิ่งที่สามารถวัดความรู้ได้ ในขณะที่ธรรมปฏิบัตินั้นเป็นสิ่งที่รู้เฉพาะตน เป็นของละเอียด วัดได้ยาก และพระสงฆ์ผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมปฏิบัติ มักมีใจโน้มเอียงไปในทางแสวงหาความสงบสงัด มักไม่ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ เมื่อเป็นเช่นนี้ หลังจากเวลาผ่านไป พระภิกษุสงฆ์ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านปริยัติ จึงขึ้นมาเป็นผู้บริหารคณะสงฆ์ไปโดยปริยาย เมื่อพระภิกษุรุ่นใหม่ๆเกิดขึ้น จึงมักได้รับการฝึกอบรม ในด้านพระปริยัติธรรมเป็นหลัก ส่วนธรรมปฏิบัติก็ค่อยๆ ลดน้อยถอยลง
 
    ต่อมาเมื่อศึกษา มากขึ้นๆ ก็มีพระภิกษุที่เป็นนักคิด นักทฤษฎีจำนวนหนึ่ง ทนการท้าทายจากนักคิดนักปรัชญาของศาสนาอื่นๆไม่ได้ เมื่อถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องอภิปรัชญา เช่น โลกนี้โลกหน้า มีจริงหรือไม่, จิตมีการรับรู้ได้อย่างไร
 
    จึงได้เกิดแนวคิดของพระนักทฤษฎีสำนักต่างๆเพิ่มขึ้น ผลที่เกิดคือ เกิดความขัดแย้งในหมู่ชาวพุทธ และพระพุทธศาสนาได้กลายเป็นศาสนาที่มีหลักคำสอนสลับซับซ้อน จนชาวบ้านฟังไม่เข้าใจ ประหนึ่งว่าพระพุทธศาสนากลายเป็นศาสนาของพระภิกษุเท่านั้น ส่วนชาวพุทธทั่วไปกลายเป็นชาวพุทธแต่ในนาม ไปวัดทำบุญตามเทศกาลตามประเพณีเท่านั้น
 
    ขณะเดียวกัน ก็มีพระภิกษุอีกกลุ่มหนึ่ง ได้หันไปปฏิบัติตามใจชาวบ้าน ซึ่งต้องการพึ่งพาอำนาจลึกลับและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงมีการเล่นเครื่องราง, ของขลัง, เวทมนตร์, คาถาต่างๆ วัตรปฏิบัติย่อหย่อนลง
 
สรุป สาเหตุภายใน คือ
  • แนวคิดทฤษฎีของนักปริยัติ ที่ทะเลาะเบาะแว้งกันไม่จบสิ้น 
  • พระภิกษุตามใจชาวบ้าน หันมาใช้เครื่องรางของขลัง เวทมนตร์ คาถา ในขณะที่ธรรมปฏิบัติ อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา กลับถูกละเลยไป พระพุทธศาสนาในอินเดียจึงอ่อนแอลง 
2.สาเหตุภายนอก
 
    เมื่อพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง ศาสนาพราหมณ์ก็สูญเสียศาสนิก จึงโจมตีพระพุทธศาสนาบ้าง พยายามหยิบยกเอาคำสอนของพระพุทธศาสนาไปดัดแปลงเป็นคำสอนของตนบ้าง ปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมเทพเจ้าที่นับถืออยู่บ้าง จนกลายเป็นฮินดู
 
วิธีการกลืนศาสนาพุทธให้เป็นฮินดูสรุปได้ 4วิธี คือ
  1. แต่งเรื่องให้พระพุทธเจ้าเป็นอวตารปางหนึ่งของพระวิษณุ
  2. อธิบายหลักธรรมในพระพุทธศาสนาให้เหมือนกันกับในศาสนาฮินดู
  3. ลอกเลียนหลักธรรม ในพระพุทธศาสนา ไปไว้ในศาสนาฮินดู และอธิบายในแนวของฮินดู และเผยแผ่ว่า ศาสนาพราหมณ์ และศาสนาพุทธ มีลักษณะตรงกัน
  4. ยึดครองพุทธสถาน และดัดแปลงพุทธสถานนั้นให้เป็นศาสนสถานของฮินดู
    และเหตุกระทบครั้งใหญ่ คือ พ.ศ.1600 กองทัพมุสลิม บุกเข้ายึดอินเดีย ไล่มาจากทางตอนเหนือ และประกาศทำลายพระพุทธศาสนา เมื่อพบปูชนียสถานโบราณวัตถุของศาสนาอื่นในที่ใด ก็ใช้อาวุธเป็นเครื่องทำลายล้างวัตถุนั้นๆ รวมถึงโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ สังฆารามของพุทธศาสนา
 
    กองทัพมุสลิม มีอคติเป็นพิเศษต่อพระภิกษุ จึงพากันเผาวัดทุกวัดราบเป็นหน้ากลอง ฆ่าพระจนเลือดแดงฉานนองแผ่นดิน มีการให้รางวัลแก่ผู้ที่ตัดศีรษะพระภิกษุมาส่งให้ พระภิกษุสงฆ์จึงต้องสึก มิฉะนั้นก็ต้องอพยพหลบหนีไป
 
    สถูปเจดีย์จำนวนมหาศาลถูกทำลาย บ้างก็ถูกขโมยอิฐไปสร้างบ้าน ไปทำถนน พระพุทธรูปถูกไฟเผา และมิใช่การทำลายครั้งเดียว แต่เกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน พวกมุสลิมพากันเข้าใจผิดว่า มหาวิทยาลัยนาลันทา คือป้อมปราการของชาวพุทธจึงได้เข่นฆ่าพระภิกษุทุกรูปในวัด โดยคิดว่าพระภิกษุคือทหาร
 
    จากบทเรียนที่เกิดขึ้นสรุปได้ว่า ความมั่นคงของพระพุทธศาสนาจะต้องประกอบด้วยปัจจัยที่สำคัญคือ ชาวพุทธต้องเป็นชาวพุทธที่แท้จริง มีความรู้ความเข้าใจในคำสอนของพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง โดยต้องศึกษาทั้งปริยัติ และปฏิบัติ เพื่อให้เกิดปฏิเวธ และปัจจัยที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งก็คือ ชาวพุทธจะต้องมีความสามัคคีกัน เว้นจากการให้ร้ายกัน พระพุทธศาสนาจึงจะมั่นคงอยู่ได้อย่างแท้จริง
 
 
ชาวพุทธในยุคปัจจุบันของบังคลาเทศ
 
    เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศบังคลาเทศ มีเพื่อนต่างศาสนิก อยู่รวมกันเป็นส่วนใหญ่  กลุ่มชาวพุทธซึ่งมีเพียง 1% จึงพยายามรักษาวัฒนธรรมชาวพุทธอันดีจนสุดความสามารถ
 
    หากเรามีโอกาสเดินทางไป เมืองจิตตะกอง ดินแดนที่มีชุมชนชาวพุทธมากที่สุดในบังคลาเทศ เราจะเห็นวัดอยู่ในทุกๆหมู่บ้าน หากหมู่บ้านไหนมีคนจำนวนมาก 300-400หลังคาเรือน ก็จะมีวัดถึง 2-3วัด
 
 
    ทุกเช้าเย็น ผู้ใหญ่จะพาลูกหลานมาวัด รับศีล สวดมนต์ร่วมกัน และหากมาวัดก็มักนิยมใส่สีขาว
 
 
    เนื่องจาก พระ, เณร ส่วนใหญ่ไม่ได้บิณฑบาต เพราะจำนวนพระ และชาวพุทธมีน้อย ชาวบ้านก็จะ จัดตารางบุญ ว่าบ้านไหนจะรับบุญไปถวายภัตตาหาร หมุนเวียนกันไปจนครบทั้งหมู่บ้าน
 
    เมื่อวันสำคัญมาถึง เช่น วันพระ มาฆบูชา เข้าพรรษา ชาวพุทธแต่ละหมู่บ้านจะหลั่งไหลเข้ามาทำบุญที่วัดของตน หากเป็นชุมชนเล็กๆ ก็จะมีสาธุชน ประมาณ 30-40คน และแม้มีชาวพุทธจำนวนน้อย แต่ทางการก็ให้วันวิสาขบูชา เป็นวันหยุดทางราชการของประเทศ พิธีกรรมในวันสำคัญทางศาสนา ตอนเช้าจะมี พิธีสำคัญ โดยผู้คนจะนำอาหารต่างๆ อย่างดี จัดอย่างสวยงาม มาถวายเป็นพุทธบูชา โดยคนจะยืนเรียงแถว ส่งอาหารต่อๆกันไป จนถึงหน้าพระพุทธรูป
 
    หลังจากนั้นจะ สวดมนต์ รับศีล ฟังธรรม หลังไหว้พระเสร็จแล้วก็จะพากันนำน้ำไปรด ต้นโพธิ์ เพื่อเป็นการบูชา เพราะชาวบังคลาเทศ ให้ความสำคัญกับต้นโพธิ์มาก รองจากพระพุทธเจ้า
 
    วัดเป็นศูนย์รวมใจของชาวพุทธทุกคน  เวลามีงานประชุมของหมู่บ้าน หรือมีปัญหาอะไร ก็จะมาปรึกษาหารือกันที่วัด บังคลาเทศมีวัดทั้งหมดประมาณ 300-400วัด โดยอยู่ในจิตตะกองมากที่สุด ประมาณ 300กว่า (ในดั๊กก้าเมืองหลวงมีวัดเพียง 3-4วัดเท่านั้น)
 
    วัดใหญ่ จะมีไม่กี่วัด เช่น  วัดธรรมราชิกะ วัดกาบัลพูระ สุธัมมะนันทะพุทธวิหาร  ซึ่งมีเณรประมาณ 40รูป และสามารถจัดบวชสามเณร ภาคฤดูร้อนได้ทุกปี  แต่วัดส่วนใหญ่ จะมีพระภิกษุ และสามเณร เพียง 3-5 รูปเท่านั้น พระบางรูปบวช 2-3พรรษา พอเทศน์ สอนญาติโยม ทำพิธีกรรมต่างๆได้ ก็สามารถไปเป็นเจ้าอาวาสได้แล้ว
 
    โดยหน้าที่ของพระคือ การสอนศีลธรรมญาติโยม ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และ ศึกษาภาษาบาลี ซึ่งเปิดสอนในมหาวิทยาลัยของรัฐ (ซึ่งเป็นอิสลาม) เพราะไม่มีมหาวิทยาลัยของพุทธศาสนาโดยเฉพาะ
 
    วัดส่วนใหญ่ มีสิ่งปลูกสร้างไม่มากนัก จนแทบจะนับได้ ตั้งแต่ธรรมศาลาเล็กๆ กุฏิพระ ห้องพระ ซึ่งก่ออิฐถือปูนหลังเล็กๆ พอบรรจุพระพุทธรูป 1 องค์ และบรรจุคนได้อีกเล็กน้อย
 
    เวลาบวชพระ หรือทำกิจกรรมสงฆ์ วัดหลายแห่ง ไม่มีโบสถ์ แต่จะใช้ เสาสีมา 4ด้านเป็นอาณาเขตแทน ซึ่งบางแห่งจะมีหลังคา แต่บางแห่งก็ไม่มี
 
    แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากขนาดไหน แต่ชาวพุทธก็มิได้ย่อท้อ แต่เหตุการณ์ต่างๆกลับยิ่งทำให้พุทธบริษัทสี่ สามัคคีเหนียวแน่น และหวงแหนความเป็นชาวพุทธด้วยชีวิต
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
การหยัดสู้ของชาวพุทธในบังคลาเทศการหยัดสู้ของชาวพุทธในบังคลาเทศ

สามเณรแก้วแห่งบังคลาเทศสามเณรแก้วแห่งบังคลาเทศ

ความในใจของพระครูสุมณฑ์ธรรมวงศ์ความในใจของพระครูสุมณฑ์ธรรมวงศ์



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ช่วงเด่นฝันในฝัน