มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - บุญยังความปรารถนาให้สําเร็จ


[ 12 ก.ค. 2550 ] - [ 18264 ] LINE it!

 
มงคลที่ ๖

ตั้งตนชอบ - บุญยังความปรารถนาให้สําเร็จ
 
        พระสยัมภูผู้เป็นอัครบุคคล ประทับนั่งบนอาสนะทองแล้ว แวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า ผู้ใดได้ถวายอาสนะอันสำเร็จด้วยทองและแก้วนี้ เราจักพยากรณ์ผู้นั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว ผู้นั้นจักเป็นจอมแห่งเทวดาเสวยเทวรัชสมบัติอยู่ ๓๐ กัป จักมีรัศมีแผ่ไปโดยรอบตลอดร้อยโยชน์  ครั้นมาสู่มนุษยโลกแล้ว จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่า ปภัสสระ จักเป็นผู้มีเดชอันรุ่งเรือง จักได้เป็นกษัตริย์มีรัตนะ ๘ ประการ โชติช่วงอยู่โดยรอบ ทั้งกลางคืนกลางวัน ดังพระอาทิตย์อุทัยฉะนั้น

        การอยู่ร่วมกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย มีน้ำใจไมตรีต่อกัน จะทำให้สังคมน่าอยู่ เป็นสังคมในอุดมคติที่มีแต่ความสงบสุข ไม่มีการแก่งแย่งชิงดีรบราฆ่าฟันกัน อย่างที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ ความบริสุทธิ์ที่เกิดขึ้นในดวงใจของผู้ที่เต็มเปี่ยมด้วยเมตตาธรรม จะช่วยประสานรอยร้าวที่เกิดจากความไม่เข้าใจ  มวลมนุษยชาติ ก็จะมีความสามัคคี โลกก็เกิดความสงบสุข การจะทำให้กระแสแห่งความบริสุทธิ์แผ่ขยายออกไปทั่วโลก เกิดจากใจที่ผ่องใสบริสุทธิ์และหยุดนิ่ง  ความปรารถนาดีที่เต็มเปี่ยมจึงพรั่งพรูออกมา และแผ่ขยายไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อนั้นสันติภาพที่แท้จริงของโลกจะบังเกิดขึ้น

มีวาระแห่งภาษิตในมหากัจจายนเถราปทาน ความว่า

      "พระสยัมภูผู้เป็นอัครบุคคล ประทับนั่งบนอาสนะทองแล้ว แวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า ผู้ใด ได้ถวายอาสนะอันสำเร็จด้วยทองและแก้วนี้  เราจักพยากรณ์ ผู้นั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว ผู้นั้นจักเป็นจอมแห่งเทวดาเสวยเทวรัชสมบัติอยู่ ๓๐ กัป จักมีรัศมีแผ่ไปโดยรอบ ตลอดร้อยโยชน์ ครั้นมาสู่มนุษยโลกแล้ว จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่าปภัสสระ จักเป็นผู้มีเดช อันรุ่งเรือง จักได้เป็นกษัตริย์มีรัตนะ ๘ ประการ โชติช่วงอยู่โดยรอบ  ทั้งกลางคืนกลางวัน ดังพระอาทิตย์อุทัยฉะนั้น"

        การนำคำกล่าวของผู้รู้มาให้ศึกษาในเบื้องต้นนี้ เพื่อต้องการให้เห็นถึงผลบุญที่บังเกิดขึ้นจากการสร้างบารมีของบัณฑิตนักปราชญ์ในกาลก่อน เนื่องจากคำกล่าวนี้ เป็นถ้อยคำของพระอรหันต์รูปหนึ่ง เมื่อท่านบรรลุธรรมแล้ว ได้ย้อนไปดูบุพกรรมที่ได้กระทำในอดีต เกิดความปีติโสมนัส อัศจรรย์ใจในผลบุญที่ตามมาสนับสนุน จึงเปล่งวาจาบอกเล่า ถึงอานุภาพบุญที่ตัวท่านเองได้ประสบ เพื่อผู้มีบุญทั้งหลายเมื่อได้รับรู้แล้ว จะได้เกิดกำลังใจในการสร้างบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

        พระเถระท่านนี้มีนามว่า พระมหากัจจายนะ เป็นพระอรหันตเถระ ผู้มีผิวพรรณงดงามประดุจทองคำ  ท่านมีประวัติ การสร้างบารมีที่น่าสนใจมาก เมื่อครั้งที่ยังสร้างบารมีอยู่ ท่านได้บำเพ็ญบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ได้สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแก่พระนิพพาน ในภพนั้นๆ ตามวาระโอกาสที่เอื้ออำนวย

        *จนกระทั่งมาถึงกาลสมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านได้บังเกิดในตระกูลคฤหบดีมหาศาล  เมื่อเจริญวัยแล้วได้ฟังธรรมในสำนักของพระบรมศาสดา ทำให้เกิดความเข้าใจเรื่องราวการสร้างบารมีและชีวิตในสังสารวัฏ ในวันนั้น มาณพได้เห็นพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ‰าทรง  แต่งตั้งภิกษุรูปหนึ่ง ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุผู้จำแนกอรรถแห่งคำที่พระองค์ตรัสโดยย่อให้พิสดารได้ ทำให้เกิดความปรารถนาที่จะเป็นอย่างพระอรหันต์รูปนั้น จึงตั้งใจสร้างบารมีอย่างเต็มที่ ได้บำเพ็ญบุญมีทานบารมี เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้สร้างแผ่นศิลา เอาทองฉาบทาพระเจดีย์ชื่อ ปทุม ของพระผู้มีพระภาคเจ้าปทุมุตตระ และได้กั้นฉัตรอันสำเร็จด้วยแก้ว เอาพัดวาลวิชนีพัดถวายพระพุทธเจ้า ทำให้บังเกิดอยู่ในสองภพภูมิ ท่องเที่ยวในเทวโลกและมนุษยโลกเท่านั้น

        ต่อมาในสมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า สุเมธะ มีโอกาสได้พบพระสุเมธพุทธเจ้า ตอนนั้นท่านเกิดเป็นวิทยาธร กำลังเหาะท่องเที่ยวไปในป่าหิมพานต์ ได้เห็นพระพุทธองค์ประทับนั่ง ณ ไพรสณฑ์ เกิดความเลื่อมใสอย่างแรงกล้า และด้วยอำนาจบุญที่เคยพบเห็นพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ จึงเหาะลงมาบนพื้นดิน กระทำการสักการบูชาด้วยดอกกรรณิการ์อันมีกลิ่นหอม จากนั้นได้ยืนถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยความเลื่อมใส ในใจเต็มเปี่ยมด้วยมหาปีติ ด้วยบุญกรรมนั้น ทำให้ท่านท่องเที่ยวไปๆ มาๆ ในสุคตินั่นเอง

       จนมาถึงกาลแห่งพระทศพล พระนามว่า กัสสปะ เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ท่านได้บังเกิดในเรือนมีตระกูลในกรุงพาราณสี ได้สร้างบุญตามวาระ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว มหาชนได้ร่วมใจกันสร้างพระเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ท่านปรารถนาบุญพิเศษ จึงตัดสินใจกระทำการบูชาพระผู้มีพระภาคด้วยการถวายแผ่นอิฐทองคำมีค่าแสนหนึ่ง ทำเป็นฐานของพระสุวรรณเจดีย์ และตั้งความปรารถนาว่า

     "ด้วยอานุภาพแห่งบุญที่บังเกิดขึ้น จากการถวายแผ่นอิฐทองคำนี้ ทุกภพทุกชาติที่ได้เกิด ขอให้สรีระของข้าพเจ้าจงมีวรรณะเหมือนทองคำ"
 
        ตั้งแต่นั้นมา ท่านได้กระทำกุศลกรรมตลอดชีวิต ได้ท่องเที่ยวไปในสุคติภูมิสิ้นพุทธันดรหนึ่ง ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านได้มาบังเกิดในเรือนของปุโรหิตของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ในกรุงอุชเชนี ในวันตั้งชื่อของท่าน มารดาคิดว่า บุตรของเรามีวรรณะดั่งทอง จึงตั้งชื่อให้ว่า กาญจนมาณพ  เมื่อท่านเจริญวัย ได้ศึกษาเล่าเรียนจนสำเร็จไตรเพท ครั้นบิดาเสียชีวิต พระราชาทรงแต่งตั้งให้เป็นปุโรหิตสืบต่อไป ด้วยอำนาจโคตรท่านจึงปรากฏนามว่า กัจจานะ หรือกัจจายนะ

      เมื่อพระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงทราบการเสด็จอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า จึงทรงส่งสาสน์ไปว่า "ข้าแต่ท่านอาจารย์ ท่านจงไปในที่นั้น กราบเรียนให้พระศาสดาทรงทราบ" ท่านพร้อมกับเหล่าอำมาตย์อีก ๗ คน ได้เข้าไปเฝ้าพระศาสดาตามพระราชโองการ พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่กัจจายนมหาอำมาตย์ ในที่สุดแห่งเทศนา ด้วยอำนาจแห่งบุญที่ได้สั่งสมไว้ ท่านกับ   ผู้ติดตาม ๗ คน ได้ดำรงอยู่ในอรหัตตผลถึงพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา เมื่อบรรลุธรรมแล้วพระบรมศาสดาทรงเหยียดพระหัตถ์  ประทาน เอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่ท่านเหล่านั้นว่า "จงเป็นภิกษุมาเถิด" ทันทีที่สิ้นกระแสพระดำรัส ทั้ง ๘ คน มีผมและหนวดเพียงแค่สององคุลี เครื่องนุ่งห่มของฆราวาสหายไป ทรงไว้ซึ่งบาตรและจีวร อันสำเร็จด้วยฤทธิ์ ประหนึ่งพระเถระผู้มีพรรษาร้อยพรรษา

      พระเถระประนมมือกราบทูลพระบรมศาสดาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าจัณฑปัชโชตปรารภจะถวายบังคมพระบาทของพระองค์และฟังธรรม"
 
        พระบรมศาสดามองเห็นบุญที่พระเถระสร้างไว้ในอดีต ทรงทราบว่า กัจจายนะผู้นี้ ได้ตั้งความปรารถนาไว้ดีแล้ว เธอสามารถที่จะทำความสำเร็จให้บังเกิดขึ้น จึงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุ เธอเท่านั้นจงไปในที่นั้น  เมื่อเธอไปแล้ว พระราชาจักฟังธรรมจากเธอ แล้วจักเลื่อมใส" 
 
        พระเถระพร้อมกับภิกษุอีก ๗ รูป ได้เดินทางกลับไปพระนครของตนเอง ได้แสดงธรรมที่พระบรมศาสดากล่าวโดยย่อให้พิสดาร ไพเราะทั้งเบื้องต้น ท่ามกลางและเบื้องปลาย ยังพระราชาให้เลื่อมใส เมื่อประดิษฐานพระศาสนาในอวันตีชนบทได้แล้ว ก็กลับมาเฝ้าพระบรมศาสดา

       พระบรมศาสดาทรงทราบความปรารถนาที่พระมหากัจจายนะตั้งไว้ จึงแต่งตั้งพระเถระไว้ในตำแหน่งอันเลิศด้วยพระดำรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้เป็นสาวกของเรา ผู้จำแนกอรรถที่เรากล่าวโดยย่อให้พิสดารนี้ มหากัจจายนะเป็นเลิศ"
 
        เมื่อท่านได้รับตำแหน่งเอตทัคคะแล้ว ได้ระลึกถึงบุพกรรมของตนจึงกล่าวว่า "เราได้สร้างบุญใหญ่กับเนื้อนาบุญอันเลิศหลายภพ หลายชาติ ตั้งความปรารถนาไว้อย่างดีแล้ว ด้วยอานุภาพแห่งบุญที่เราได้สั่งสมไว้ ทำให้บรรลุในสิ่งที่เราตั้งใจ บุญที่สร้างเอาไว้สามารถยังความปรารถนาทุกประการ ให้สำเร็จได้อย่างแท้จริง"   
 
        เราจะเห็นว่า บุญส่งผลให้ความปรารถนา ที่เราได้ตั้งใจไว้อย่างดีแล้วสำเร็จได้อย่างอัศจรรย์ ความปรารถนาทุกอย่าง หากทำบุญไว้มาก ต้องสมความปรารถนาอย่างแน่นอน เพราะบุญเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและความสำเร็จในชีวิต เป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของชีวิตทั้งมวล
 
 
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. มหากัจจายนเถราปทาน เล่ม ๗๑ หน้า ๑๓๕


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - เปลี่ยนวิถีชีวิตด้วยบุญบารมีมงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - เปลี่ยนวิถีชีวิตด้วยบุญบารมี

มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - ปลอดภัยเพราะอาศัยผู้รู้มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - ปลอดภัยเพราะอาศัยผู้รู้

มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - แรงบันดาลใจ ( ๑ )มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ - แรงบันดาลใจ ( ๑ )



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน