หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๒๑)


[ 9 ก.ย. 2560 ] - [ 18264 ] LINE it!

หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๒๑)

เรื่อง : พระสุธรรมญาณวิเทศ วิ. (สุธรรม สุธมฺโม) และคณะนักวิจัย DIRI
จากวารสารอยู่ในบุญฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐
 
หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๒๑)

      วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ของทุกปี ถือเป็นวันสำคัญของลูกศิษย์หลานศิษย์ของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย เพราะไม่เพียงแต่เป็นวันคล้ายวันละสังขารของพระเดชพระคุณพระงคล-เทพมุนีเท่านั้น ยังเป็นวันคล้ายวันละสังขาร ของคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาทองสุขสำแดงปั้น และวันคล้ายวันสลายร่างของคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูงดว้ย ซึ่งทั้ง ๒ ท่านเป็นผู้สืบสานวิชชาธรรมกายที่สำคัญ

      มหาปูชนียาจารย์ทั้ง ๓ ท่าน ควรนับได้ว่าเป็นเพชรของพระพุทธศาสนา ที่เป็นต้นบุญต้นแบบ ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกาย เป็นทนายแก้ต่างให้พระพุทธศาสนามา จนตลอดชีวิตของท่าน ควรที่เราผู้เป็นลูกศิษย์หลานศิษย์ของท่าน จะต้องเดินตามรอยเท้าของท่าน สืบสานมโนปณิธานของท่าน อย่างเต็มที่เต็มกำลังโดยไม่หวั่นต่ออุปสรรคใด ๆทั้งนี้เพื่อให้พระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกาย ที่พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี ทุ่มเทค้นคว้ามาด้วยชีวิตคงอยู่ และสืบทอดต่อไปถึงลูกหลานในอนาคต

    ดังที่ทราบกันโดยทั่วไปอยู่แล้วว่า พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ตั้งใจศึกษาความรู้ในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะด้านวิปัสสนาธุระอย่างจริงจัง มาตั้งแต่บรรพชาอุปสมบทได้เพียงวันเดียว ในตลอดพรรษาแรกของการศึกษาที่ได้เรียนวิปัสสนากับพระอาจารย์โหน่ง อินฺทสุวณฺโณ แล้ว ท่านเพียรท่องหนังสือสวดมนต์จนจบ หมดทั้งพระปาฏิโมกข์ภายในพรรษานั้น ครั้นเมื่อเรียนคันถธุระ ท่านศึกษาจนไปพบกับคำว่า “อวิชฺชาปจฺจยา” จึงเกิดความสงสัยใคร่รู้ว่าหมายถึงอะไร จึงพยายามสอบถามเพื่อนพระภิกษุด้วยกัน สอบถามพระพี่ชายลูกพี่ลกูน้องของท่าน ตลอดจนพระอาจารย์อีกรูปหนึ่งก็กลับได้รับคำตอบว่า “เขาไม่แปลกันหรอกคุณ...อยากรู้ต้องไปเรียนที่บางกอก” ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ท่านตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวว่าจะเดินทางไปกรุงเทพฯ   

     เมื่อพระเดชพระคุณหลวงปู่เข้ามาศึกษาเล่าเรียนที่สำนักวัดพระเชตุพนฯ แล้วท่านตั้งใจศึกษาความรู้ทุกอย่างในภาคปริยัติ อย่างเต็มที่ โดยเริ่มเรียนตั้งแต่มูลกัจจายนะ ถึง ๓ จบ พระธรรมบท ๘ ภาค พระคัมภีร์ มังคลัตถทีปนี และอภิธรรมสังคหะ

      ซึ่งในยุคของท่านนั้น (พ.ศ. ๒๔๖๐-๒๕๐๒) การศึกษาเล่าเรียน พระบาลียังเป็นไปด้วยความยากลำบากการคมนาคมยังไม่คล่องตัว ขณะเดียวกันท่านไม่ได้เล่าเรียน จากพระอาจารย์เพียงรูปเดียว และไม่ได้เรียนแต่ความรู้ด้านปริยัติอย่างเดียว แต่ท่านศึกษาควบคู่ไปกับด้านวิปัสสนาธุระตลอดเวลา
 
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)
ภาพจาก : https://sites.google.com/site/thxngtheiywthiwadphothi

       สำนักใดวัดใดที่ทราบว่าเป็นที่นิยม หรือมีคณาจารย์ที่มีความรู้เชี่ยวชาญ พระเดชพระคุณหลวงปู่ก็มีวิริยอุตสาหะ เข้าไปศึกษาหาความรู้จนครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการไปศึกษา กับท่านเจ้าคุณสังวรานุวงศ์เถร (เอี่ยม) วัดราชสิทธาราม ท่านพระครูญาณวิรัติวัดพระเชตุพนฯ พระอาจารย์สิงห์ วัดละครทำ พระอาจารย์ปลื้ม วัดเขาใหญ่ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี หรือพระอาจารย์รูปอื่นๆจากอีกหลายวัด เช่นที่วัดอรุณราชวรารามฯ วัดสุทัศนเทพวรารามฯ วัดจักรวรรดิราชาวาสฯ
 
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
ภาพจาก wikimedia.org

      แต่ก็ไม่หมดเพียงเท่านั้น เมื่อกลับมายังวัดพระเชตุพนฯ ที่ท่านพำนักในเวลากลางคืนแล้ว ในแต่ละวันท่านก็ยังคงไป ขอศึกษาเพิ่มเติมกับอาจารย์ท่านอื่นอีกอย่างสม่ำเสมอ ความตั้งใจอย่างจริงจังของท่านดังกล่าวนี้ ทำให้เรารู้ว่า “ความรู้ในภาคปริยัติ”ของพระเดชพระคุณหลวงปู่จะต้องมีความสมบูรณ์บริบูรณ์ไม่น้อยก่อนที่ท่านจะก้าวเข้าสู่การศึกษาใน “ภาคปฏิบัติและปฏิเวธ” ในเวลาต่อมา
 
วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร
วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร
ภาพจาก : https://m.diariodelviajero.com/asia/guia-detemplos-de-bangkok-wat-suthat-y-el-columpio-gigante

วัดจักรวรรดิราชาวาส วรมหาวิหาร
วัดจักรวรรดิราชาวาส วรมหาวิหาร
ภาพจาก : http://www.gerryganttphotography.com/wat_chakkrawat_ratchawat.htm

    เช่นเดียวกับในหนังสือ “ชีวประวัติของพระมงคลเทพมุนี และ อานุภาพธรรมกาย”พระนิพนธ์ของสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๗ (ปุ่น ปุณฺณสิริ) (ขณะดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระวันรัต) นั้น ได้กล่าวไว้ตรงกันถึงคุณลักษณะของผู้มีความเพียรในการศึกษา ความตั้งใจทำตามเป้าหมายอย่างจริงจัง ของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ก่อนที่ท่านจะก้าวเข้ามาสู่การเป็น“ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย” ว่า (หลวงปู่) ท่านมิได้ใช้เวลาเพียงวันเดียว เดือนเดียวหรือปีเดียวเพื่อเรียนรู้ แต่ใช้เวลานับสิบ ๆ ปีในการศึกษาเล่าเรียน บ่มเพาะความรู้ความเข้าใจจากครูบาอาจารย์ เกือบจะทั่วแผ่นดินไทยแม้ภายหลังเมื่อท่านมุ่งศึกษาธรรมปฏิบัติแล้วการศึกษาก็ยังทำควบคู่ไปกับการตำรา (เช่นวิสุทธิมรรค) อยู่เสมอ

     จนกระทั่งเกิดผลที่ชัดเจนจากการปฏิบัติ จนท่านมีความเข้าใจขึ้นในตนว่า ธรรมะไม่ใช่เป็นของพอดีพอร้าย เป็นของที่ลึกซึ้งยากที่มนุษย์จะเข้าถึง2 ความรู้จากการปฏิบัติที่ท่านได้รับ จึงไม่ใช่ความรู้ที่ฉาบฉวยหรือเกิดจากการคิดพิจารณา วิเคราะห์วิจัย วิจารณ์ ภายนอก แต่เป็นผลรวมจากความเพียรอย่างจริงจัง เกือบตลอดทั้งชีวิตของท่านค้นพบมา และด้วยความเชื่อมั่นอันนี้เอง ที่ทำให้ท่านมุ่งมั่นที่จะขยายความรู้ ที่ท่านค้นพบออกไปให้กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะเป็นไป ได้เพียงแต่จุดที่สำคัญอยู่ที่ว่า การจะพิสูจน์ความรู้ที่ท่านสอนได้นั้นจะต้องเกิดจากการปฏิบัติ (แบบนักปฏิบัติธรรม) อย่างจริงจังเท่านั้นจึงจะพบได้ ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายประการหนึ่งที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายต้องเผชิญตลอดมาเช่นกัน
 

      ดังที่เราทราบกันมาว่า เมื่อท่านอุปสมบทมาจนล่วงเข้าในพรรษาที่ ๑๒  อายุของท่านอยู่ในราว ๓๓-๓๔ ปี ความรู้ในด้านการ แปลคัมภีร์ภาษามคธ และความมุ่งหมายเดิมในการแปลหนังสือ มหาสติปัฏฐานลานยาวสำเร็จริบูรณ์ลงแล้ว ท่านจึงหันไปเอาจริงเอาจังกับการศึกษาด้านวิปัสสนาธุระเพียงอย่างเดียว ในช่วงเวลานั้น พระเดชพระคุณหลวงปู่กำลังพิจารณาเลือกสถานที่ ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่เหมาะสม ในครั้งแรกท่านเห็นว่าบริเวณพระอุโบสถวัดพระเชตุพนฯ นั้นมีอาณาบริเวณกว้างขวาง ร่มรื่น สงบเงียบเหมาะแก่การปฏิบัติ แต่ด้วยความที่ท่านเป็นผู้มีกตัญญูกตเวทิตาธรรมสูง จึงได้ระลึกว่าเมื่อแรกบรรพชาอุปสมบทมา ท่านเจ้าอธิการชุ่มวัดโบสถ์บน บางคูเวียง คลองบางกอกน้อย เคยมีอุปการะแก่ท่านมาก ได้เคยถวายคัมภีร์มูลกัจจายนะและคัมภีร์พระรรมบทให้ได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรม ท่านคิดตอบแทน

     พระคุณของท่านเจ้าอธิการชุ่ม จึงเลือกไปจำพรรษาที่วัดโบสถ์บน บางคูเวียง ด้วยหวังว่าความรู้ที่ท่านมี จะได้ใช้แสดงธรรมเผยแผ่เป็นประโยชน์แก่พระภิกษุ สามเณร อุบาสกอุบาสิกาบ้าง

  จึงได้เดินทางไปยังวัดโบสถ์บนบางคูเวียง ในช่วงก่อนพรรษาที่ ๑๒ นั้น และในที่สุดแล้ว พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) จึงได้ปรารภความเพียรปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานโดย “เอาชีวิตเป็นเดิมพัน...ถ้าไม่ได้ตายเถิด” จนบรรลุธรรมในวันขึ้น ๑๕ คำ เดือน ๑๐ ในอุโบสถวัดโบสถ์บน บางคูเวียงเมื่อกลางพรรษาที่ ๑๒ นั้นเอง
  
     หลังจากการบรรลุธรรม สิ่งที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ทำต่อๆ มา พบว่าเป็น เรื่องของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกายเป็นหลัก และทำอย่างต่อเนื่อง ทั้ง ๆ ที่ท่านเองก็ตระหนักว่า “ธรรมที่ท่านเข้าถึงนี้เป็นของลึกซึ้ง ยากนักที่มนุษย์จะเข้าถึงได้” เนื่องจากจะต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการปฏิบัติอย่างแท้จริงก่อน แต่ด้วยความที่ท่านเห็นความสำคัญ ของการนำธรรมะให้เผยแผ่ออกไปสู่วงกว้าง ต้องการเป็นพยานยืนยันถึง “ความมีอยู่จริงของพระธรรมกายภายใน” ที่ท่านเข้าถึงท่านจึงไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรคหรือปัญหาใดๆตลอดระยะเวลาที่เริ่มขยายวิชชาธรรมปฏิบัติไปสู่สังคม

     แม้ว่าในระหว่างการเผยแผ่วิชชา การถูกวิพากษ์วิจารณ์มากมาย แต่ในขณะเดียวกันก็มีศิษยานุศิษย์ที่ “สำเร็จการศึกษา”คือ บรรลุธรรมตามท่านมามากมายเช่นกันจากวัดบางปลา จ.นครปฐม ซึ่งเป็นที่เผยแผ่ธรรมปฏิบัติครั้งแรก มีพระภิกษุที่เจริญรอยตามท่านได้ ๓ รูป คือ พระภิกษุสังวาลย์พระภิกษุแบน พระภิกษุอ่วม กับคฤหัสถ์ ๔ คนส่วนในพรรษาที่ ๑๓ พระภิกษุหมกได้บรรลุธรรมตามท่านเพิ่มอีก ๑ รูป

    การมีพระภิกษุและคฤหัสถ์บรรลุธรรม ตามท่านขึ้นมานี้จึงเท่ากับ ว่าธรรมที่ท่านค้นพบ และธรรมปฏิบัติที่ท่านสอนนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผิดเพี้ยนไม่ใช่สิ่งที่อยู่นอกพระพุทธศาสนา เพราะมีลักษณะที่เป็น “สันทิฏฐิโก” (ผู้ที่ปฏิบัติจึงจะรู้เห็นได้ด้วยตนเอง) “อกาลิโก” (ผู้ใดที่ปฏิบัติ ผลย่อมจะเกิดแก่ผ้นั้น เหมือนๆ กันโดยไม่จำกัดกาล) “เอหิปัสสิโก” (เป็นของมีจริงและดีจริง) “ปัตจัตตัง เวทิตตัพโพ วิญญูหิ” (ธรรมนั้นเป็นสิ่งที่รู้ได้เฉพาะตน ผู้อื่นจะพลอยรู้พลอยเห็น และสัมผัสตามด้วยมิได้เลย)3 ครบถ้วนตามที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวสอนไว้ และการที่มี“ทนายพระศาสนา” เพิ่มขึ้นโดยลำดับนี้ ย่อมมีส่วนให้การเผยแผ่ธรรมของพระเดชพระคุณหลวงปู่ค่อย ๆ เจริญรุดหน้าขึ้นได้อย่างมั่นคงโดยลำดับ
 
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

    นอกจากบุคคลกลุ่มแรกซึ่งได้ บรรลุธรรมตามพระเดชพระคุณหลวงปู่แล้ว ภายหลังธรรมกายในหลายปีต่อมาจะเต็มไปด้วยปัญหา ก็ยังมีศิษยานุศิษย์อีกเป็นจำนวนมาก ที่เข้ามาศึกษาและบรรลุธรรมต่อๆ มาอีกนับหมื่นคน (จากจำนวนผู้ที่สนใจเข้ามาฝึกปฏิบัติกับท่านนับแสนคน)4 การเผยแผ่ในยุคของท่านเป็น ไปอย่างกว้างขวางทั่วทุกจังหวัด ในประเทศไทยท่ามกลางกลุ่มชน ทั้งที่เข้าใจและไม่เข้าใจเช่นเดียวกับในยุคปัจจุบัน ความวิริยอุตสาหะในการศึกษา ตลอดจนการยืนหยัดเพื่อการเผยแผ่ “วิชชาธรรมกาย” ของพระเดชพระคุณหลวงปู่ดังที่กล่าวมานี้ เป็นเครื่องยืนยันให้เราเห็น ว่าพระเดชพระคุณหลวงปู่ “จริง” ต่อการเป็นทนายแก้ต่างให้แก่พระพุทธศาสนามากเพียงใด ในท่ามกลางกระแสทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมากมาย แต่ท่านมิได้หวั่นไหวหรือเปลี่ยนแปลงมโนปณิธานที่ตั้งไว้ ยังดำเนินตามเป้าหมายของท่านเรื่อยมาจนวันสุดท้ายแห่งชีวิต คือวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๐๒ หรือกว่า ๕๘ ปีล่วงมาแล้ว

    จากที่ผู้เขียนได้ย้อนรำลึก ไปถึงเส้นทางของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สดจนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ให้ท่านผู้อ่านได้เห็นเป็นเบื้องต้นนี้ โดยจุดประสงค์ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายซึ่ง เราเคารพรักยิ่งนี้ ท่านรักและให้ความสำคัญกับวิชชาธรรมกายเพียงใด ท่านเริ่มต้นฝึกหัดขัดเกลาตัวของท่านมาอย่างไร หรือสั่งสมคุณลักษณะของการเป็น “ครู” มาอย่างไร กว่าที่ท่านจะได้รับการยกย่องว่า เป็นมหาปูชนียาจารย์ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายเช่นในปัจจุบันนี้ การย้อนกลับไปศึกษาเรื่องราวที่สำคัญของท่าน โดยเฉพาะในด้านการศึกษาของท่านนั้นถือว่า เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในหลายๆ แง่มุม เช่น ทำให้เราเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้น เกี่ยวกับคำสอนและหลักการของท่านทั้งในภาคปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ เชื่อมั่นในความ “มีอยู่จริง” ของวิชชาธรรมกาย รวมทั้งทำให้เราทราบว่า เราควรดำเนินตามรอยท่านอย่างไรบ้าง

      ในฉบับหน้า ผู้เขียนจะขอโอกาสนำ  เรื่องราวที่ลึกซึ้งในปฏิปทาน ของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ อันเกี่ยวกับการประกาศคุณของวิชชาธรรมกายจากตัวท่านเอง เมื่อครั้งที่ท่านยังจำพรรษา ณ วัดปากน้ำ ตลอดจนเรื่องราวประวัติศาสตร์ของท่าน ในขณะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ มานำเสนอเพิ่มเติม เนื่องจากเห็นว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ต่อพุทธศาสนิกชนในวงกว้าง ซึ่งบางส่วน อาจไม่ทราบหรือหลงลืมไปในท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขอให้ผู้อ่านทุกท่านนักสร้างบารมีทุกท่านพุทธศาสนิกชนทุกท่าน จงมีความสุขสวัสดี มีความเข้มแข็ง องอาจกล้าหาญในการเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดไป

1 นักวิจัยสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัยสัมภาษณ์สอบทานข้อมูลครั้งล่าสุดจากกัลยาณมิตรองุ่น สุขเจริญ ประมาณต้นเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งสอดคล้องกับหนังสือหลายเล่มที่เรียบเรียงเกี่ยวกับพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ที่ระบุว่าท่านติดค้างความหมายของคำว่า “อวิชฺชาปจฺจยา” อยู่พักใหญ่ พยายามสืบค้นจากผู้รู้ต่าง ๆ แล้วยังไม่ได้คำตอบที่จะคลายข้อสงสัยได้ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะไขคำตอบของคำนี้ ในท้ายที่สุดพระพี่ชายผู้เป็นญาติของท่าน คือ หลวงปู่หอม เกสฺโร ได้กล่าวกับท่านว่า “ถ้าท่านติดใจสงสัยในคำนี้จริง ๆ ท่านควรลงไปหาคำตอบที่กรุงเทพฯ” จึงทำให้พระเดชพระคุณหลวงปู่ตัดสินใจเด็ดเดี่ยวที่จะหาทางไปกรุงเทพฯ
2 สิงหล, บุคคลยุคต้นวิชชา เจาะลึกภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ บุคคลยุคสมัยหลวงพ่อวัดปากน้ำ (พ.ศ. ๒๔๖๐-๒๕๐๒), กรุงเทพฯ : บริษัท มอนิ่งกราฟ จำกัด, ๒๕๕๓, หน้า ๒๗.
3 พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทตฺตชีโว), พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ บทขยายความพระธรรมเทศนาพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) (หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ), กรุงเทพฯ : บริษัท นฤมิต โซล (เพรส) จำกัด,๒๕๕๖.
4 สิงหล, บุคคลยุคต้นวิชชา เจาะลึกภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ บุคคลยุคสมัยหลวงพ่อวัดปากน้ำ (พ.ศ. ๒๔๖๐-๒๕๐๒), กรุงเทพฯ : บริษัท มอนิ่งกราฟ จำกัด, ๒๕๕๓, หน้า ๓๔-๓๕ และ ๔๙.



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
รางวัลสุนทรภู่กวีอาเซียน 2556รางวัลสุนทรภู่กวีอาเซียน 2556

หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๒๒)หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๒๒)

ผ้าห่อถักทอเชื่อมสายบุญผ้าห่อถักทอเชื่อมสายบุญ



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ความรู้รอบตัว