เรื่องของคนขี้อวด


[ 27 มิ.ย. 2561 ] - [ 18285 ] LINE it!

คนเราชอบอวดจริงไหม?

 

 เรื่อง : พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ)

จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC
 

 

 ในปัจจุบันโซเชียล หรือว่าโลกออนไลน์ มีการโพสต์รูปภาพคลิปต่างๆมากมาย บางคนโพสต์มากๆจนกระทั่งดูเหมือนเป็นการอวด 

          คนเราต้องการความภาคภูมิใจในตัวเอง บางคนอยู่คนเดียว ก็สามารถภูมิใจในตัวเองได้ แต่บางคนอยากให้คนอื่นรู้ด้วย เพื่อให้ภูมิใจมากขึ้น จึงออกมาเป็นลักษณะการอวด หากต้องการความภูมิใจในตัวเองก็อวด เลยเส้นไปนิดนึง มันจะกลายเป็นการไปข่ม ความภูมิใจในตัวเองของคนอื่น เช่น เวลามีใคร พูดคำนี้ขึ้นมาว่า “รู้หรือเปล่า พ่อฉันเป็นใคร” ฟังแล้วรู้สึกว่าพ่อเขาต้องเป็นคนยิ่งใหญ่ เขากำลังอวดพ่อ ซึ่งร้อยละ 99.99 ไม่มีใครชอบ แต่คนที่กำลังอยากอวด มีความรู้สึกภูมิใจอะไรบางอย่าง เช่น ครอบครัวตัวเอง ชาติตระกูลตัวเอง เมื่อไปเบ่งทับคนอื่นว่าด้วยอะไรก็ตาม ไม่มีใครชอบ เพราะฉะนั้นคนที่อวดหรือคิดจะอวด ต้องหยุดถามตัวเองก่อนว่า เราต้องการอะไร เราต้องการให้เขารู้สึกว่า  เราเป็นคนสำคัญ ให้เขายอมรับเรา หรือต้องการให้เขาเกลียดเรา หมั่นไส้เรา ถ้าต้องการให้เกลียด หมั่นไส้ จงอวดไปเถอะ แต่ถ้าต้องการให้เขายอมรับเรา วิธีการอวดเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ไม่ใช่เฉพาะในยุคโซเชียล ยุคไหนก็เหมือนกัน เพียงแต่ในยุคโซเชียล การสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว เรื่องนี้เลยเห็นผลค่อนข้างเร็ว 

 

คนขี้อวดนั้นเป็นการกลบปมด้อยของตนเองหรือเปล่า?

 

          คนขี้อวด บางครั้งอาจไม่ได้อวดมาตรงๆ แต่สร้างภาพว่าเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะคนที่ค่อนข้างจะเก่งหน่อย มีความสามารถเหนือกว่าคนอื่น พอสร้างภาพตัวเองเป็นคนสมบูรณ์แบบแล้ว จะเกิดภาวะ “ยอมรับไม่ได้ ที่จะมีข้อบกพร่อง” บางครั้งไปทำอะไรบกพร่องเอาไว้ พอคนอื่นพูด จะหาทางแก้ตัวทุกวิถีทางว่าไม่ใช่ความผิดตัวเอง เป็นเพราะคนอื่น เพราะใจเขารับไม่ได้ ที่ตัวเองจะมีข้อบกพร่อง ทั้งๆที่เก่งกลับใช้ประโยชน์ไม่ค่อยได้ เพราะจะมีปัญหากระทบกระทั่งกับคนอื่น ไปทำงานก็ชนคนนั้น ชนคนนี้ เพราะคิดว่า “ฉันเป็นคนสมบูรณ์แบบ”  เหมือนมีหนามแหลม แหลมออกมารอบตัว พอวางลงไปในถาดแล้ว จะเอาอะไรอย่างอื่นมาวางด้วย มันเกะกะไปหมดเพราะมีหนามแหลม ที่พร้อมจะทิ่มแทงคนอื่น ต่างกับคนที่ความสามารถน้อยกว่า แต่มนุษย์สัมพันธ์ดีเข้าได้กับทุกคน ที่ทำงานต้องการคนลักษณะอย่างนี้มากกว่า คนที่เก่งแล้วก็ไปอวดทับคนอื่น

 

เรามีวิธีปฏิบัติตัวอย่างไร และรับมืออย่างไร กับคนที่ขี้อวด?

 

          หากเราเองชนะใจตัวเองได้ อย่าเอาความรู้สึกหมั่นไส้นำหน้า จะพบว่าเราสามารถรับมือกับคนขี้อวดได้ง่ายมาก พอรู้ว่าเขาชอบอวด เราก็ชื่นชมในประเด็นที่เขาอวด  เขาจะรู้สึกว่า โอ้โห เราเนี่ย ช่างเป็นคนมีปัญญา เห็นถึงคุณความดีของเขา เห็นความเด่นของเขา รู้สึกว่าเราเป็นคนที่ใช้ได้ รู้สึกว่าคุยแล้วสบายใจ เราพูดแค่คำสองคำเท่านั้นเอง เขาจะใจเปิดกับเรา สำคัญคือเราอย่าไปเกิดอารมณ์หมั่นไส้ก่อน พอเขาอวดมา เราหมั่นไส้แล้ว รู้สึกว่าเซ็งยังไม่ทันพูดด้วย ก็เซ็งก่อนแล้ว อย่าไปรู้สึกอย่างนั้น เราต้องชนะใจเราเองให้ได้ก่อน ซึ่งมีตัวอย่างจริงดังนี้

          Professor มาเอด่ะ เอกะคึ เป็นหัวหน้าภาควิชา หัวหน้าห้องวิจัยพระพุทธศาสนาของมหาวิทยาลัยโตเกียว ภรรยาก็เป็นอาจารย์ผู้ใหญ่ เป็นด๊อกเตอร์ทางด้านพระพุทธศาสนาปรัชญาอินเดีย เมื่อไปเจอแขกทั้งในประเทศและต่างประเทศ พอแขกคนไหนมีอารมณ์ขี้อวด ทั้งสองท่านมีปฏิกิริยารับลูกกันระหว่างสามีภรรยา พอจับได้ว่าแขกคนนี้กำลังอวดเรื่องนี้ สามีพูดเสริมหันหน้ามองภรรยา ภรรยารับลูกเชียร์ต่อ หันหน้ามองสามีเพราะว่ามีประเด็นในการคุยแล้วคือประเด็นที่คู่สนทนาภูมิใจในตัวเองนั่นแหละ ถ้าเกิดยังไม่รู้เขายังอึดอัด ว่าจะคุยเรื่องอะไรดีแต่พอจับได้ว่าคู่สนทนาต้องการอวดเรื่องนี้ ทั้งสามีภรรยา เชียร์จนรู้สึกสบายใจ 

          หากเราละทิฐิมานะ ละความถือตัวของเราเองแล้วมุ่งไปที่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น เราสนทนากับใคร มีปฏิสัมพันธ์กับใครให้มองที่ว่า ทำอย่างไรจะให้สายสัมพันธ์แข็งแรงแล้วก็ยั่งยืน ถ้ารู้ว่าเขาภูมิใจอะไร ให้เชียร์เลย อย่าไปนึกหมั่นไส้ก่อน ถ้าเรานึกหมั่นไส้แสดงว่ามันกระทบอีโก้เรา ถ้าเราข้ามพ้นอีโก้ของตัวเองไป มองผลลัพธ์ เราจะพบว่าไม่มีปัญหา รับมือกับคนที่อวดได้อย่างสบาย เนื่องจากไม่มีใครสมบูรณ์พร้อม บางคนอาจขี้อวด แต่เป็นคนมีน้ำใจ เป็นคนดีในเรื่องอื่นๆ เแต่ละคนมีทั้งดีบ้างไม่ดีบ้าง อย่าเอาประเด็นเพียงประเด็นเดียว มาทำให้บั่นทอนสายสัมพันธ์ 

 

ในทางพระพุทธศาสนามีหลักธรรมข้อใดที่ช่วยลดนิสัยการขี้อวด?

 

          ในทางพระพุทธศาสacนามงคลสูตร ซึ่งเป็นมงคลแห่งชีวิตได้แก่ข้อปฏิบัติ 38 ประการ ในมงคลที่ 23 กล่าวว่า นิวาโต แปลว่า ไม่ถือตัว มีความอ่อนน้อมถ่อมตน เอาลมออก 

นิ แปลว่า ออก 

วาโต คือ ลม 

นิวาโต คือ เอาลมออกจากตัว 

          อย่าไปพองลม ถ้าพองมาก ตัวจะแตก เหมือนอึ่งอ่าง พองลมตัวเองเพื่อให้ตัวใหญ่หมือนวัว สุดท้ายท้องแตกตาย เมื่อไม่พองลม ชีวิตก็จะมีมงคล มีความสุขความเจริญ ก้าวหน้า  โบราณมีการเปรียบเทียบเป็นการสอนใจดังนี้ 

          สมัยก่อนพอถึงเวลาเพล พระท่านจะตีกลองเพล แต่ก่อนไม่มีนาฬิกา พอพระท่านตีกลองเพล ชาวบ้านจะรู้แล้วว่า พระท่านจะฉันเพลแล้ว ใครที่ตั้งใจมาถวายภัตตาหาร จะได้มาที่วัด ท่านเปรียบว่า กลองต้องมีคนตีแล้วจึงดัง อย่างนี้ถือเป็นกลองดี แต่ถ้าเกิดกลองไหน ไม่มีคนตี เป็นกลองที่ดังเอง คือกลองจัญไร ต้องไปทำลายทิ้งเพราะจะทำให้งานการคนอื่นเขาเสียหมด ยังไม่ถึงเวลาดัง เขายังไม่มาตี แต่มันดังเอง เหมือนกับคนเราจะดัง ต้องให้คนอื่นตีให้คนอื่นเขายกขึ้น ไม่ใช่มายกตัวเองมาตีตัวเองให้ดังไปอวดตัวจะกลายเป็นกลองจัญไร ต้องระวังให้ดี

          ดังคำกลอนของท่านหลวงวิจิตรวาทการที่ว่า 

                  อันที่จริงคนเขาอยากให้เราดี              แต่ถ้าเด่นทุกทีเขาหมั่นไส้

                  จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย               ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน

 


รับชมคลิปวิดีโออวดไปได้อะไร
ชมวิดีโออวดไปได้อะไร   Download ธรรมะอวดไปได้อะไร



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
“เหยียด” กายแตกต่างหรือใจตกต่ำ“เหยียด” กายแตกต่างหรือใจตกต่ำ

ชมจากใจใครก็รักชมจากใจใครก็รัก

สุขภาพกับธรรมชาติสุขภาพกับธรรมชาติ



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ข้อคิดรอบตัว