เรียนให้สมวัย


[ 19 ต.ค. 2561 ] - [ 18270 ] LINE it!

เรียนให้สมวัย
คุณเริ่มกวดวิชากันเมื่อไหร่ แล้วสมัยนี้ล่ะเริ่มเรียนกันตั้งแต่กี่ขวบ  

เรื่อง : พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ)
จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC


วัยเด็กถือเป็นวัยที่เริ่มต้นการเรียนรู้ เขาควรจะได้รับการเรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง?

          สิ่งที่เราเรียนรู้ มีทั้งความรู้และมีทั้งความคิดหรือเรียกว่าจินตนาการ ไอน์สไตน์กล่าวไว้ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” ในโลกยุคปัจจุบัน เราพบว่าความรู้มีเยอะมาก และเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แล้วก็มีอะไรใหม่ๆ มาให้เราเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ใครที่เรียนเอาความรู้ในโรงเรียนในมหาวิทยาลัย แล้วก็จบอยู่แค่นั้น สิ่งที่เขาเรียนมามันจะเชยไปอย่างรวดเร็ว และพบว่าจะคุยกับใครไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะว่าโลกเปลี่ยนเร็ว แต่จินตนาการคือความคิดสร้างสรรค์  จินตนาการ แล้วก็หาทางให้ความคิดนั้นเป็นจริงขึ้นมาในที่สุด สิ่งนี้มีความสำคัญมาก 



          หน่วยงานต่างๆ เวลาจะรับคนเข้าทำงานจะระบุวุฒิปริญญาตรี หรือปริญญาโท เพื่ออยากได้คนทำงานที่มีความคิดความอ่านจับประเด็นเป็น สรุปเป็น วิเคราะห์แก้ปัญหาเป็น โดยเขาคาดว่าคนที่จบปริญญาน่าจะมีสิ่งเหล่านี้ดีกว่าคนจบมัธยม หรือคนจบประถม นั้นคือการศึกษาให้น้ำหนักกับความรู้หรือให้น้ำหนักกับสิ่งที่เตรียมตัวจะลืมในอนาคต แต่สิ่งที่ได้ใช้จริง แล้วทุกหน่วยงานปรารถนาคือ ความคิดสร้างสรรค์ การวิเคราะห์ การจับประเด็น การเชื่อมโยง หาทางแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นได้ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีการสอนเป็นกิจลักษณะ ความรู้เปลี่ยนเร็ว อยากรู้อะไรเข้า Google ก็ได้ข้อมูลอยากรู้ที่อยากรู้ มีทั้งภาพมีคลิปวิดีโอ แต่สิ่งที่ Google ให้เราไม่ได้คือ การคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา จับประเด็นต่างๆ เหล่านี้ต้องอาศัยมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้คนๆ นั้นมีคุณค่า ปัญญาประดิษฐ์ก็ยังไม่สามารถทำถึงจุดนั้นได้ ทำได้แค่เป็นเรื่องๆไป
 


          ไอสไตน์ จึงได้กล่าวไว้ว่า จินตนาการสำคัญกว่าความรู้  เมื่อสังคมไปเน้นที่ความรู้ พ่อแม่อยากจะให้ลูกตัวเองได้รับการยอมรับ เมื่อกติกาสังคมเป็นอย่างนั้น จะเข้าอนุบาลต้องไปสอบเข้า ยังไม่ทันได้เรียนหนังสือ ไปสอบเข้า แล้วจะเอาอะไรไปสอบ ก็ต้องติว หากบอกว่าเด็กคนนี้เข้าอนุบาลอ่าน ก.ไก่ ฮ.นกฮูกได้หมดแล้ว A B C Dได้หมด สอบผ่าน กลายเป็นไปบีบคั้นเด็กมากเกินไปเพราะจินตนาการต่างๆจะมาจากการเล่น เด็กมีความคิดแบบจินตนาการเยอะ สิ่งเหล่านี้หากได้รับการปลูกฝัง เพาะบ่มที่ดี เด็กจะกลายเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ 

ระบบการศึกษาที่มีการแข่งขันแย่งชิงและเปรียบเทียบ ดีหรือไม่?



           คนเราชอบแข่งขัน ถ้าเรียนหนังสือไม่ค่อยมีสอบก็ไม่ค่อยขยัน แต่พอมีสอบก็ฟิตขึ้นมาเพียงแต่ว่าต้องดูให้พอดีๆ ถ้ามากเกินไปผลคือ ไปผลักเด็กให้ไปทุ่มเทกับสิ่งที่ไม่ได้เป็นคุณกับเขาจริงๆ และยังทำให้ขวางหลายสิ่งหลายอย่าง ที่จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเด็กในอนาคต เพราะเวลาจะสอบ ข้อสอบที่ออกง่ายคือข้อสอบความจำ ความรู้ เพราะสอบวัดจินตนาการ วัดยาก วัดความรู้วัดง่ายออกข้อสอบง่าย  ดังนั้นคุณครูต้องไม่เอาง่ายออกข้อสอบแบบปรนัย แต่ต้องออกข้อสอบอัตนัยให้เขียน คุณครูตรวจยากหน่อย เด็กจะได้ฝึกเขียน ฝึกคิด เมื่อต้องเขียนจึงต้องคิด และเรียบเรียงออกมา เพราะฉะนั้นการแข่งขันที่มากเกินไปจะทำให้การศึกษาไปผิดทาง 



          ตอนนี้ นักการศึกษาทั่วโลก กำลังให้ความสนใจกับประเทศฟินแลนด์ อยู่ทางตอนเหนือของยุโรป ซึ่งเป็นประเทศเล็กๆมีประชากร 5,000,000 คน เมื่อสอบวัดความรู้ของเด็กที่จบการศึกษาภาคบังคับประมาณมัธยมต้น เทียบกันทั่วโลก ผลคือฟินแลนด์แชมป์อันดับหนึ่งของโลก ทั้งที่เมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว ฟินแลนด์เองก็ไม่ได้ดีเด่นกว่าคนอื่น แต่มีการพัฒนาอย่างไร จนกระทั่งการศึกษาดีเลิศขึ้นมาอย่างรวดเร็ว โดยสิ่งที่ทำให้ฟินแลนด์มีชื่อเสียง เพราะเป็นการศึกษาที่เด็กเรียนหนังสือวันละ 4 -5 ชั่วโมง โดยปกติแล้วไม่มีการบ้าน หากมีการบ้านจะใช้เวลาทำประมาณ 10 นาที ต่างกับการเรียนในประเทศไทยหรือในอเมริกา ในยุโรป ประเทศอื่นๆ เป็นลักษณะใส่ความรู้ไปให้เด็ก ออกแบบหลักสูตรแล้วให้เด็กมาเรียน ซึ่งเด็กก็จะลืม แต่ฟินแลนด์มุ่งเน้นไปที่กระตุ้นให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์ แล้วเกิดจินตนาการ ให้เด็กเล่น ได้มาสนุก ไม่ค่อยได้นั่งโต๊ะ นั่งล้อมวงที่พื้น เด็กแต่ละคนก็สนุกสนานมีส่วนร่วมยกมือตอบครูก็คอยกระตุ้น 

          คำพูดที่ติดปากครูฟินแลนด์ทุกคำคือ Great, Good, Very Good, Excellent, Wonderful, Perfect, Corrcet  คอยเชียร์ให้เด็กกล้าแสดงออก ชื่นชม สมมุติว่าครูให้เด็กสะกด สีม่วงภาษาอังกฤษ เด็กมาเขียนกระดานเขียน  Pupple มันไม่ถูก ที่ถูกคือ Purple ครูฟินแลนด์บอกว่าดีมากเลยที่สะกดสีม่วงว่า Pupple  แต่พอดีคนจำนวนมากในโลกเขาสะกดว่า Purple คือเขาคิดไม่ค่อยเหมือนเธอ เพราะฉะนั้นเมื่อคนส่วนใหญ่ในโลกใช้ตัวนี้ เราก็ใช้ตัวนี้แล้วกัน Purple ครูไม่ได้ว่าเราผิด เพราะหากเกิดยุคใดยุคหนึ่ง ผ่านไปอีก 2-3 ปีเกิดมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น แล้วคนส่วนใหญ่ในโลกพร้อมใจกันจะสะกดสีม่วงว่า Pupple อะไรจะเกิดขึ้น Pupple ก็จะถูก เด็กกลายเป็นเรียนด้วยความสนุก ไม่ใช่เรียนเพราะเป็นหน้าที่ถูกบังคับให้เข้าเรียน แต่ครูกระตุ้นจนเกิดความรู้สึกว่าอยากรู้ เลิกเรียนเข้าห้องสมุดไปค้นในสิ่งที่ตัวเองอยากรู้ ในห้องครูก็แนะๆ ใครอยากจะรู้อะไรเพิ่มเติมไปหาข้อมูลที่นั่นที่นี่ได้ เด็กไปหาข้อมูลเพิ่มเติม แล้วบางทีก็จับกลุ่มกันทำกิจกรรม ทำเพราะว่าอยากทำ อยากรู้เขาอยากได้คำตอบ เลยกลายเป็น Active learning ไม่ใช่ Passive learning ที่ครูมายัดเยียด 


 
          เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้หลักว่า สิ่งที่เด็กๆ จะได้เพื่อเอาไปใช้ในชีวิตจริงๆ คืออะไร รู้ว่าคือจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ การจับประเด็นความรู้คิดวิเคราะห์เชื่อมโยงความรู้ แล้วนำในสิ่งเหล่านี้ มาฝึกเด็ก จะแข่งก็คือแข่งในประเด็นสิ่งเหล่านี้ เด็กไทยจะเก่งอย่างไม่น่าเชื่อ คนไทยฝีมือไม่ธรรมดา ขอให้ได้รับการสนับสนุนให้ดีๆ เด็กไทยเราไปได้เพราะเรามีพื้นฐานความรู้ในพระพุทธศาสนารองรับ ทำให้คนไทยมีความละเอียดประณีต เห็นได้มากศิลปะไทย วัดพระแก้วทั้งภาพวาดทั้งจิตรกรรมฝาผนัง ทั้งช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เจดีย์ต่างๆมีความละเอียดประณีตไม่ได้แพ้ประเทศใดเลย เพราะพระพุทธศาสนาทำให้ใจละเอียดและประณีต ถ้ากระตุ้นให้ถูกหลัก ดูแลให้การศึกษาให้ถูกหลักแล้วเด็กไทยจะสู้เด็กทุกชาติในโลกนี้ได้ 

 
          การที่เราส่งเสริมให้เด็กมีจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์นั้นสำคัญกว่าการเรียนเพื่อที่จะลืม สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองต้องตระหนักด้วยว่าควรจะให้น้องๆ ได้โตและเรียนรู้อย่างสมวัย อย่าเอาความคาดหวัง ความต้องการของเรา ความเครียดของเราไปใส่กับตัวเด็กเพราะการเรียนรู้อย่างมีความสุขจะทำให้เด็กได้ประโยชน์มากที่สุด


รับชมคลิปวิดีโอเรียนให้สมวัย : ข้อคิดรอบตัว
ชมวิดีโอเรียนให้สมวัย : ข้อคิดรอบตัว   Download ธรรมะเรียนให้สมวัย : ข้อคิดรอบตัว



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
 หุ่นยนต์ คน แรงงาน หุ่นยนต์ คน แรงงาน

สงสัยอย่างสร้างสรรค์สงสัยอย่างสร้างสรรค์

เข็นครกขึ้นป.โท-ป.เอกเข็นครกขึ้นป.โท-ป.เอก



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ข้อคิดรอบตัว