คำถามที่คนอยากรู้มากที่สุด เกี่ยวกับธรรมยาตรา


[ 23 ม.ค. 2562 ] - [ 18279 ] LINE it!

สาธุ
บุญ
คำถามที่คนอยากรู้มากที่สุด เกี่ยวกับ "ธรรมยาตรา"
 
 
ธรรมยาตรามีในสมัยพุทธกาลไหม ?

     มี และมีหลายครั้งด้วย ซึ่งธรรมยาตราในสมัยพุทธกาลก็ไม่ได้ ทำกันแบบเล็กๆ อย่างที่เราคิด อย่างในครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระประยูรญาติและชาวเมือง พระองค์ทรงนำขบวนธรรมยาตราของพระภิกษุมากถึง 20,000 รูป ออกจากกรุงราชคฤห์ไปกรุงกบิลพัสดุ์ โดยเดินทางไกลถึงวันละ 1 โยชน์ (16 กิโลเมตร) เป็นเวลานานถึง 2 เดือน ซึ่งผู้เขียนก็มาคิดเล่นๆ ว่า ถ้าสมัยนั้นมีกินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ด ก็คงมีบันทึกไว้ว่า.. เป็นขบวนธรรมยาตราที่ยาวที่สุดในโลก เพราะระยะทางที่เดินยาวถึง 992 กิโลเมตร เลยทีเดียว (ซึ่งมากว่าที่วัดพระธรรมกายเดินมาก) !!!

    ครั้งพอไปถึงแล้ว พระประยูรญาติและชาวเมืองทั้งหมดแห่กันออกมาทำการต้อนรับ พากันถือดอกไม้และของหอมออกไปรับเสด็จกันจำนวนมหาศาล ทำให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสามารถรวมคนจำนวนมากมาฟังพระธรรมเทศนาของพระองค์ได้ในคราวเดียว

    เท่านั้นยังไม่พอ พระพุทธองค์ยังทรงแสดงปาฏิหาริย์ครั้งยิ่งใหญ่คือเสด็จจงกรมเหนือรัตนจงกรมในอากาศ เพื่อสยบทิฐิพระประยูรญาติก่อนแล้วจึงเทศน์สอน.. ทำให้ทุกคนตื่นตาตื่นใจมาก (อ่านเพิ่มเติมได้ในอรรถกถา ขุททกนิกาย พุทะวงศ์ รัตนจงกรมกัณฑ์)
 
    ส่วนธรรมยาตราที่โด่งดังมากอีกครั้งก็คือ หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดชฎิล 3 พี่น้องและบริวารจนบรรลุอรหัตผลกันหมดแล้ว พระองค์ก็ทรงพาพระสาวกใหม่ทั้ง 1,003 รูปเดินทางเข้ากรุงราชคฤห์ เพื่อโปรดพระเจ้าพิมพิสารและเมื่อข่าวการเสด็จพร้อมด้วยพระสาวกจำนวนมากดังขจรขจายไปทั่วสารทิศ ก็ทำให้พระเจ้าพิมพิสารทรางทราบ จึงรีบเสด็จมาเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมพราหมณ์และคหบดีชาวมคธมากถึง 12 นหุต (1 นหุต = 10,000) จึงเป็นเหตุให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเทศน์โปรดคนได้คราวละจำนวนมากๆ ไม่ใช้ลำพังแค่พระเจ้าพิมพิสารเพียงพระองค์เดียว ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์การเผยแผ่พระศาสนาที่ได้ผลมากจริงๆ  (อ่านเพิ่มเติมได้ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 4 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 4 มหาวรรค ภาค 1 ทรงเทศนาโปรดพระเจ้าพิมพิสารเสด็จพระนครราชคฤห์ครั้งแรก)

 
 
มีการโปรยดอกไม้แบบเวอร์วังอลังการด้วยไหม ?

     มี และมียิ่งกว่าที่วัดพระธรรมกายทำอีก เพราะในครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนำเหล่าภิกษุสงฆ์ 500 รูป  ธรรมยาตราไปโปรดชาวเมืองเวสาลีช่วงที่ประสบภัยพิบัติร้ายแรง ครั้งนั้นพระเจ้าพิมพิสารก็ทรงมีรับสั่งให้ปรับพื้นที่เส้นทางเสด็จ และเตรียมการอย่างมโหฬารสั่งให้สร้างวิหารซึ่งใช้เป็นที่ประทับในทุกๆ 1 โยชน์   

     เมื่อถึงวันที่พระพุทธองค์เสด็จ พระเจ้าพิมพิสารก็ทรงตั้งขบวนรับเสด็จ โดยจัดให้มีการโปรยดอกไม้ 5 สีแบบจัดหนัก คือ โปรยสูงถึงหัวเข่ากันทีเดียว  ซึ่งถือว่าการต้อนรับพระพุทธองค์ในครั้งนั้น ได้ทำแบบจัดเต็ม จัดแบบอลังการงานสร้าง เพราะประชาชนทั้งเมืองต้องมาช่วยกัน เพื่อไม่ให้ขาดตกบกพร่องเลยทีเดียว… (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ รัตนสูตรในขุททกปาฐะ พรรณนารัตนสูตร ,อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปกิณณกวรรคที่ 21 ปกิณณกวรรควรรณนา 1. เรื่องบุรพกรรมของพระองค์ )

“ในครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงนำเหล่าภิกษุสงฆ์ 500 รูป 
ธรรมยาตราไปโปรดชาวเมืองเวสาลี
ช่วงที่ประสบภัยพิบัติร้ายแรง
ครั้งนั้นพระเจ้าพิมพิสารรับสั่ง
ให้ปรับพื้นที่เส้นทางเสด็จ
และเตรียมการอย่างมโหฬาร”
 

แล้วกล่าวสาธุกันตลอดทางล่ะ..อย่างนี้ก็ได้ด้วยหรือ ? 

    สมัยก่อนเขาจะเรียกการกล่าวสาธุแสดงความเคารพกันเป็นทอดๆ ตลอดทางอย่างนี้ว่า “สาธุกีฬา” ซึ่งเรื่องนี้มีปรากฏชัดเจนในสมัยของพระเจ้าอชาตศัตรู ครั้งที่พระองค์ได้จัดงานมหกรรมครั้งยิ่งใหญ่ โดยให้ทำการอัญเชิญพระบรมธาตุ แล้วกล่าวสาธุแสดงความเคารพเลื่อมใสกันเป็นทอดๆ ซึ่งเรียกกันว่า “สาธุกีฬา” และประชาชนผู้เลื่อมใสก็จะเก็บดอกไม้มาบูชาพระบรมธาตุ ตลอดระยะทางยาวถึง 25 โยชน์ คือ ตั้งแต่กรุงกุสินาราจนถึงกรุงราชคฤห์ โดยทำสาธุกีฬานี้ตลอดต่อเนื่องนานถึง 7 ปี 7 เดือน 7 วัน เลยทีเดียว… (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร) 

 
ทำไมถึงมีชื่อดอกไม้ที่เป็นคำเฉพาะ เช่น "ดอกเบญจทรัพย์" "ดอกทรัพย์บานชื่น"
ทำไมไม่เรียกแบบคนทั่วไปเขาเรียกกัน ?

    ก็คล้ายกับการตั้งชื่อไว้เพื่อเป็นปริศนาธรรม (Dharma Puzzle) ที่แฝงคำสอนที่เป็นธรรมะ เช่น “ดอกเบญจมาศ” ซึ่งเราจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ดอกเบญจทรัพย์” หมายถึง ทรัพย์ 5 ประการ คือ รูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ทิพยสมบัติ นิพพานสมบัติ

    แต่การที่เราจะมีทรัพย์ทั้ง 5 ประการนี้ได้นั้น ก็ต้องประพฤติธรรม โดยการรักษาศีล 5 (เบญจศีล = Five Basic Buddhist Precepts of Moral Practices) และประพฤติธรรม 5 อย่าง ที่เรียกว่า เบญจธรรม (Five Dharma) คือ เมตตา สัมมาอาชีวะ ความสำรวมในกาม สัจจะ สติ สัมปชัญญะ

    ส่วน "ดอกบานชื่น" ที่ปีนี้นำมาปลูกด้วย เราก็เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ดอกทรัพย์บานชื่น" โดยมีความหมายว่า การที่ชีวิตคนเราจะมีความชื่นอกชื่นใจ มีความเบ่งบาน มีความสุข และ ประสบความสำเร็จแบบนิรันดร์ได้นั้น ก็ต้องมีทั้งทรัพย์ภายนอกและภายใน ซึ่งทรัพย์ภายในนั้น ก็คือ “อริยทรัพย์” และการเข้าถึงธรรม หมดกิเลสนั่นเอง...
 
 

เอาเงินค่าปลูกดอกไม้เพื่อโปรยไปทำบุญอย่างอื่นไม่ดีกว่าหรือ..
จะดีกว่าเอาดอกไม้มาให้พระเหยียบไหม ?

     ผู้เขียนเองก็เคยคิดประเด็นนี้เหมือนกัน เพราะสมัยก่อนที่ผู้เขียนยังไม่ได้ศึกษาพระไตรปิฎก เวลาไปทำบุญวัดไหนก็ตาม ผู้เขียนไม่เคยทำบุญด้วยดอกไม้หรือพวงมาลัยเลย เพราะคิดว่าเป็นสิ่งไร้สาระ ไม่มีประโยชน์ แถมกินไม่ได้ เป็นสิ่งสิ้นเปลืองเงินโดยใช่เหตุ 

    แต่พอมาศึกษาธรรมะมากขึ้น มาค้นเจอว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้เราทำบุญด้วยวัตถุทาน 10 ประการ ซึ่งได้แก่ ข้าว น้ำ ผ้า ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อาศัยและประทีปโคมไฟ ซึ่งดอกไม้ก็เป็นหนึ่งในวัตถุทาน 10 ประการนั้น

    แต่ถ้าศึกษาให้ลึกไปกว่านั้น มีเรื่องราวในพระไตรปิฎกจำนวนมากที่กล่าวถึงอานิสงส์ผลบุญของการโปรยดอกไม้ว่า..ส่งผล ให้เกิดในตระกูลสูง ได้เป็นกษัตริย์ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดินับชาติไม่ถ้วน จนสุดท้ายก็บรรลุธรรมเลยทีเดียว จึงทำให้มีคนในยุคพุทธกาลจำนวนมากชอบทำบุญด้วยดอกไม้กัน

    อย่างใน มหาปรินิพพานสูตร ก็พบว่า ครั้งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใกล้จะปรินิพพานที่เมืองกุสินารา ก็มีเหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายพากันมาบูชาพระองค์ด้วยดอกไม้ของหอมกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

    พอผู้เขียนได้รู้ข้อมูลตรงนี้ ก็รู้สึกขึ้นมาทันทีเลยว่า ที่ผ่านมาการที่เราไม่ยอมทำบุญประเภทนี้ เราพลาดแล้ว อีกทั้งพอหันมาดูหน้าตาตัวเองในกระจกก็เลยเข้าใจแล้วว่า ทำไมชาตินี้ถึงเกิดมาไม่สวย ก็คงเป็นเพราะอัธยาศัยการทำบุญด้วยของสวยงาม เพื่อน้อมบูชาด้วยจิตประณีตเรามีมาน้อย

    ฉะนั้น เราต้องทำบุญให้ครบทุกอย่างถึงจะดีที่สุด คือ ทำทานด้วยวัตถุ 10 ประการ รักษาศีล และทำสมาธิ เพื่อให้บารมีทั้ง 10 ทัศเต็มบริบูรณ์ เราถึงจะมีบุญพอที่จะหมดกิเลสบรรลุธรรม


 
ทีนี้มาตอบคำถามประเด็นพระเดินเหยียบดอกไม้

    แท้จริงแล้วพระเดินเหยียบดอกไม้ไม่ใช่สิ่งผิดประการใดเลย ดังคำตอบที่ได้ตอบไปแล้วในข้อต้นๆ ว่าเรื่องนี้มี หลักฐานยืนยันชัดเจน ในอรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ รัตนสูตรในขุททกปาฐะ พรรณนารัตนสูตร, อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปกิณณกวรรคที่ 21 ปกิณณกวรรควรรณนา 1. เรื่องบุรพกรรมของพระองค์ ซึ่งเรื่องมีอยู่ว่า...

    ในครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนำเหล่าภิกษุสงฆ์ 500 รูป ธรรมยาตราไปโปรดชาวเมืองเวสาลีในช่วงที่ประสบภัยพิบัติร้ายแรง ครั้งนั้นพระเจ้าพิมพิสารก็มีรับสั่งให้ปรับพื้นที่เส้นทางเสด็จและเตรียมการอย่างมโหฬาร อีกทั้งยังรับสั่งให้สร้างวิหาร ซึ่งใช้เป็นที่ประทับในทุกๆ 1 โยชน์

    ครั้นถึงวันที่พระพุทธองค์เสด็จ พระเจ้าพิมพิสารก็ทรงตั้งขบวนรับเสด็จ โดยจัดให้มีการโปรยดอกไม้ 5 สี โดยโปรยสูงถึงหัวเข่ากันทีเดียว เพื่อให้คณะของพระพุทธองค์เสด็จผ่าน ซึ่งถือว่าการต้อนรับในครั้งนั้นทำแบบอลังการงานสร้าง เพราะประชาชนทั้งเมืองต้องมาช่วยกันเพื่อไม่ให้ขาดตกบกพร่องเลยทีเดียว…

 
ข้อมูลในพระไตรปิฎกมีแค่โปรยหรือถวายดอกไม้ใช่หรือไม่
ทำไมวัดพระธรรมกายถึงกับต้องลงทุนปลูกจริงจังเพื่อมาโปรยกันเลยหรือ มันเวอร์ไปไหม ?

    ในพระไตรปิฎกมีข้อมูลชัดเจนว่า การปลูกต้นไม้เป็นพุทธบูชามีจริง มากไปกว่านั้นยังทำกันจริงจังนานถึง 5 ปีเลยทีเดียว ซึ่ง นานกว่าการปลูกดอกไม้ที่วัดพระธรรมกายมาก ๆ เพราะวัดปลูกกันแค่เดือนกว่า ๆ เท่านั้น ดังเช่น เรื่องในอดีตชาติของ พระอสนโพธิยเถระ ที่ท่านเอาหน่ออ่อนต้นประดู่โพธิพฤกษ์มาปลูกเป็นพุทธบูชา เพื่อน้อมถวายพระติสสสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งท่านได้ ประคบประหงมดูแลต้นไม้นั้นเป็นอย่างดีด้วยจิตเลื่อมใสยาวนานถึง 5 ปี จนออกดอกบานสะพรั่ง

     ต่อมา พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์แก่ผู้ปลูกว่า จะเข้าถึงอานิสงส์ใหญ่อันไม่มีประมาณจักได้เสวยเทวสมบัติในเทวโลกตลอด 30 กัป และจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 64 ครั้ง เมื่อเคลื่อนจากดุสิตพิภพแล้ว จักรื่นรมยอยู่ในความเป็นมนุษย์ ผู้นั้นมีใจแน่วแน่เพื่อความเพียรสงบระงับ ไม่มีอุปธิ กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว จักไม่มีอาสวะ ได้บรรลุพระนิพพาน จะเป็นผู้สงบระงับในที่ทุกสถาน ด้วยบุญที่ปลูกต้นโพธิ์เป็นพุทธบูชา

    เมื่อผู้ปลูกได้ฟังอย่างนั้น ก็บังเกิดมหาปีติและตั้งใจทำบุญจนตลอดชีวิต หลังจากละโลกแล้วได้ท่องเที่ยวไปในสุคติโลกสวรรค์และมนุษย์ จนมาถึงสมัยพุทธกาล ก็ได้บังเกิดในตระกูลที่สมบูรณ์ด้วยสมบัติทุกสิ่งทุกอย่าง ถึงพร้อมด้วยศรัทธาแล้วบุญก็ส่งผลให้ออกบวชตอนอายุเพียง 7 ขวบเท่านั้น และได้บรรลุพระอรหัตผลขณะปลงผมนั่นเอง (อ่านเพิ่มได้ที่พระไตรปิฎก เล่มที่ 32 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 24 ขุททกนิกาย อปทาน ภาค 1 อสนโพธิยเถราปทานที่ 10 (60) ว่าด้วยผลแห่งการปลูกไม้โพธิ์)

 

 
การโปรยดอกไม้สำคัญอย่างไร ?

    คนยุคนี้ไม่คุ้นกับการโปรยดอกไม้ (Scattering Flowers) ต้อนรับคณะพระภิกษุสงฆ์ จึงเข้าใจไปว่า.. สิ่งที่วัดพระธรรมกายทำเป็นสิ่งแปลกประหลาด !!!

    แต่แท้จริงแล้ว..การโปรยดอกไม้เป็นประเพณีที่มีมายาวนานในทุกยุคทุกสมัย อีกทั้งในสมัยพุทธกาลก็มีหลักฐานชัดในพระไตรปิฎกว่า มีชาวเมืองแห่กันออกมาโปรยดอกไม้ต้อนรับขบวนเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจำนวนมหาศาล เพราะการทำอย่างนี้ตรงกับมงคลชีวิตข้อ 3 ที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ คือ "การบูชาบุคคลที่ควรบูชา"

    นอกเหนือจากนี้ ยังพบหลักฐานเรื่องการโปรยดอกไม้ในคัมภีร์พุทธโบราณ เรื่อง มหาวัสตุอวทานสูตร อีกทั้งตามความเชื่อของชาวอินเดีย การโปรยดอกไม้ถือเป็นการแสดงความเคารพ ศรัทธา เป็นการยกย่องให้เกียรติผู้สูงศักดิ์กว่า และที่สำคัญ...ยังเป็นการอวยพรให้พ้นจากภัยพิบัติ สิ่งเลวร้ายต่าง ๆ และให้ประสบแต่ความโชคดีตลอดไป
 
"การโปรยดอกไม้ถือเป็นการแสดงความเคารพ ศรัทธา
เป็นการยกย่องให้เกียรติผู้สูงศักดิ์กว่า"
 
 
จำเป็นด้วยหรือ..ที่เราจะต้องบูชาบุคคลที่ควรบูชา ?

    เหมือนเด็กสมัยนี้ เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบไอดอล (Idol) ถ้าได้ไอดอลดี ก็เลียนแบบพฤติกรรมที่ดีไป แต่ถ้าได้ไอดอลที่เลวล่ะ จะเป็นอย่างไร..ก็ลองคิดดูเอา

    เฉกเช่นกัน การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้บูชาบุคคลที่ควรบูชา ก็เพื่อให้เราหาบุคคลที่เป็นตัวอย่างการดำเนินชีวิตที่ถูก แล้วทำตามบุคคลเหล่านั้น ซึ่งได้แก่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสงฆ์ พ่อ แม่ เป็นต้น


การโปรยดอกไม้ถือเป็นการบูชาอย่างไร ?

     การโปรยดอกไม้ถือเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งที่ฝึกใจให้อ่อนโยนลง เพื่อน้อมรับ คุณความดีของบุคคลที่ควรบูชา เพราะถ้าเคยชินกับการบูชาแล้ว ในที่สุดเราก็จะตระหนักถึงคุณความดีของผู้ที่เราบูชา แล้วเกิดความเลื่อมใส อยากทำความดีตามอย่างท่านขึ้นมาจริงๆ

     มากไปกว่านั้น การที่เรานอบน้อมบูชาอยู่เนืองนิตย์ ย่อมทำให้เราได้อานิสงส์ คือ มีอายุยืน มีผิวพรรณวรรณะผ่องใส มีความสุข มีกำลัง ดังคำให้พรที่พระภิกษุให้เมื่อเราไปทำบุญว่า...

อะภิวาทะนะสีลิสสะ                นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน
จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ           อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง...

     ซึ่งแปลว่า..ธรรม 4 ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีปกติไหว้กราบ มีปกติอ่อนน้อมต่อท่านผู้เจริญเป็นนิจ...

 
 
อานิสงส์การโปรยหรือการบูชาด้วยดอกไม้มีอะไรบ้าง ?

    มีเรื่องราวจำนวนมากในพระสูตร ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ ที่ได้กล่าวถึงบุพกรรม ของนางเทพธิดา..ที่ตอนเป็นมนุษย์ได้ถวายดอกไม้ของหอมแด่ภิกษุทั้งหลาย แล้วทำให้ไปเกิดในเทวโลก เป็นเทพธิดาผู้งดงามในทิพยวิมานอันวิจิตรพิสดาร

    แม้ในขุททกนิกาย อปทาน ก็ได้กล่าวถึงบุพกรรมของพระเถระและพระเถรี หลายองค์ก่อนที่จะสิ้นอาสวกิเลสว่า ในอดีต..ท่านได้ถวายดอกไม้แด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเป็นผลทำให้ท่านเหล่านั้นไม่ไปทุคติเลย ตราบจนกระทั่งได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ดังมีหลายเรื่องด้วยกัน เช่น


1. เรื่องอโธปุปผิยเถราปทานที่ 4 (84) ว่าด้วยผลแห่งการโปรยดอกไม้บูชา

    เรื่องมีอยู่ว่า..พระอโธปุปผิยเถระ ได้เล่าถึงชาติที่เคยเอาดอกไม้ 7 ดอกโปรยบูชา พระอภิภู ผู้เป็นอัครสาวกของพระพุทธเจ้าสิขี ด้วยผลแห่งบุญนี้ ทําให้ท่านไม่ไปทุคติเลย และชาติสุดท้ายได้คุณวิเศษ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8 อภิญญา 6 บรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด


2. เรื่องติมิรปุปผิยเถราปทานที่ 1 (81) ว่าด้วยผลแห่งการโปรยดอกดีหมี

    เรื่องมีอยู่ว่า..พระติมิรปุปผิยเถระ ได้เล่าถึงชาติที่เคยถือดอกดีหมีมาโปรยบูชาพระสิทธัตถสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้ท่านไม่ไปทุคติเลย ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 7 ชาติ มีพระนามว่า “มหารหะ” สมบูรณ์ด้วยรัตนะ 7 ประการ มีพลานุภาพมาก ชาติสุดท้ายได้คุณวิเศษ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8 อภิญญา 6 บรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด

 
3. เรื่องปุปผฉทนิยเถราปทานที่ 4 (134) ว่าด้วยผลแห่งการโปรยดอกไม้เป็นหลังคา

    เรื่องมีอยู่ว่า..พระปุปผฉทนิยเถระ ได้เล่าถึงชาติที่เคยเกิดเป็นพราหมณ์แล้วได้ชวนลูกศิษย์ทั้งหมดโยนดอกไม้ขึ้นไป ในอากาศ เพื่อบูชาพระปทุมุตตรพุทธเจ้า แต่ด้วยพุทธานุภาพทำให้ดอกไม้ทั้งหมดลอยปกคลุมเป็นหลังคาทั่วพระนครตลอด 7 วัน และด้วยผลแห่งบุญนี้ ทำให้ท่านไม่ไปทุคติเลย ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่า “อัมพรังสะ” มีพลานุภาพมาก ชาติสุดท้ายได้คุณวิเศษ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8 อภิญญา 6 บรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด


4. เรื่องนาคปุปผิยเถราปทานที่ 8 (158) ว่าด้วยผลแห่งการโปรยดอกสารภีที่ทางเสด็จ

    เรื่องมีอยู่ว่า..พระนาคปุปผิยเถระ ได้เล่าถึงชาติที่เคยเป็นพราหมณ์มีนามว่า "สุวัจฉะ" ได้เอาดอกสารภีไปโปรยลงทางเสด็จ เพื่อบูชาพระปทุมุตตรพุทธเจ้า ด้วยผลแห่งบุญนี้ ทำให้ท่านไม่ไปทุคติเลย ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่า “มหารถะ” ด้วยรัตนะ 7 ประการ มีพลานุภาพมาก และชาติสุดท้ายได้คุณวิเศษ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8 อภิญญา 6 บรรลุ เป็นพระอรหันต์ในที่สุด

    จะเห็นว่า..จากที่ตั้งคำถามกันเข้ามามากมายจนเป็นเรื่องดราม่า (Drama) ในกรณีวัดพระธรรมกายโปรยดอกไม้ ก็เป็นเรื่องที่ล้วนมีคำตอบในพระไตรปิฎกทั้งนั้น

    ที่สำคัญพุทธประเพณีดังกล่าวก็มีหลักฐานยืนยันความถูกต้องว่า..การบูชาด้วยใจ ที่ศรัทธานั้น มีผล มีอานิสงส์ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติบูชาหรืออามิสบูชา

    ฉะนั้น...การบูชาด้วยการโปรยดอกไม้ต่าง ๆ ถือว่าเป็นอริยประเพณีที่สืบทอดมายาวนาน เป็นวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงภูมิปัญญาและความศรัทธาของชาวพุทธแท้ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม เพราะเป็นพุทธประเพณีที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาหลายพระองค์ ดังนั้นก็เป็นการควรมิใช่หรือที่ชาวพุทธในยุคเราจะสืบสานพุทธประเพณี เพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนาสืบไป

    จะดีกว่าไหม... หากเราเปิดใจให้กว้าง ก็จะสัมผัสได้ว่า.. การจัดธรรมยาตราทำให้เกิดสิ่งดีงามบนผืนแผ่นดินไทยมากมาย เพราะเป็นการกิจกรรมที่ให้ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน เพราะพระภิกษุก็ได้ฝึกสติและมีศีลาจารวัตรที่งดงาม

    ส่วนญาติโยมในพื้นที่ ก็ได้เข้าวัดมาฟังเทศน์ ฟังธรรม นั่งสมาธิ บำเพ็ญกิจกรรม ช่วยกันทำความสะอาดวัดวาอารามที่ปู่ย่าตายายเราร่วมสร้างกันมา เพื่อสืบสารพุทธประเพณีอันดีงามนี้ให้ดำรงอยู่คู่สั่งคมไทยต่อไป...
 
ที่มาจากหนังสือ : คำถาม.. ที่คนอยากรู้มากที่สุด เกี่ยวกับธรรมยาตรา (สำนักสื่อธรรมะ)
 
 
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ธรรมยาตรา มหากุศลธรรมยาตรา มหากุศล

ประมวลภาพธรรมยาตรา ปี 7 ประจำวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2562ประมวลภาพธรรมยาตรา ปี 7 ประจำวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2562

ประมวลภาพธรรมยาตรา ปี 7 ประจำวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2562ประมวลภาพธรรมยาตรา ปี 7 ประจำวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2562



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมยาตรา