บวชให้สุก


[ 20 มิ.ย. 2562 ] - [ 18273 ] LINE it!

บวชให้สุก
ผลไม้บางอย่างทานสุก บางอย่างทานดิบ ผลไม้ที่สุกแล้วมักจะส่งกลิ่นหอมและอร่อยกว่าเสมอ แล้วคนที่สุก จะเป็นอย่างไร 
เรื่อง : พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ)
จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง GBN
 
 
 
คนไทยจะมีความเชื่อและความเข้าใจว่าจะบวชในช่วงของเข้าพรรษาหรือทดแทนพระคุณพ่อแม่หรือว่าบวชให้สุก เป็นอย่างไร?
          โบราณเรามีธรรมเนียมบวชเข้าพรรษา เหตุที่เป็นอย่างนั้นเพราะ ช่วงเข้าพรรษาพระภิกษุท่านอยู่ประจำที่ ออกพรรษาท่านอาจจะออกไปเดินธุดงค์ ดังนั้นลูกหลานบวชในช่วงเข้าพรรษาพระอาจารย์ท่านจะได้มีเวลาอบรมได้เต็มที่ เมื่อทุกคนบวชช่วงเข้าพรรษาด้วยกัน ทำให้เกิดเป็นชั้นเรียนขึ้นมา เป็นระบบมีเวลาเริ่มและจบชั้นเรียนพร้อมกัน เพราะฉะนั้นช่วงเข้าพรรษาจึงเป็นจังหวะที่เหมาะสม แต่ปัจจุบันวิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไป จะลางาน 4 เดือนมาบวชก็เป็นไปได้ยาก แม้มีกฎหมายให้ราชการลาบวชได้ 4 เดือน หรือบริษัทห้างร้านก็ต้องอนุญาตให้ลาบวชได้ แต่โดยภาวะงานทำให้มาบวชลำบาก อาจมาได้ 1 เดือนบ้าง เป็นต้น หรือช่วงที่ว่าง ก็ไม่ใช่ช่วงเข้าพรรษา ถ้าเช่นนี้ก็อนุโลมว่าเอาช่วงไหนที่สะดวก แต่พยายามจัดเวลาให้ลงตัวให้ได้อย่างน้อย1 เดือน ถ้าประเภท 7 วัน 15 วัน มันสั้นไป อยากให้ได้อย่างน้อย 1 เดือน เพราะถ้าเกิดสั้นเกินไป ยังครองจีวรไม่คล่องเลย สวดมนต์ยังไม่ทันจะคล่องก็ลาสิกขาแล้ว ยิ่งถ้าเกิดไปบวชวัดที่ไม่มีการอบรมเพราะต่างคนต่างมามาไม่พร้อมกันท่านไม่สามารถมาสอนตัวต่อตัวก็ได้ จะเข้าใจผิดว่า บวชพระไม่เห็นมีอะไรเลย เช้ามาสวดมนต์หน่อย เย็นสวดมนต์อีกนิดนึง ก็หมดแล้วบิณฑบาตไม่มีอะไรแล้วว่างทั้งวัน รู้สึกสบาย แบบนี้ไม่ใช่ 

 
          ถึงแม้เรามีจังหวะช่วงว่างแค่ 1 เดือน ก็สามารถอบรมได้ หาวัดที่มีการอบรมเป็น เช่น ที่ศูนย์การศึกษาเขาแก้วเสด็จ มีการอบรมบวช 1 เดือน มีตลอดทั้งปี ปีละ 12 รุ่น จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สัปปายะคือสงบสงัด เหมือนอยู่ในป่าห่างไกลจากบรรยากาศแสงสีใครที่อยากจะบวช แล้วได้ใช้เวลาในการบำเพ็ญเพียรตามกิจของสมณ และจะได้รับการสอนธรรมะอีกด้วย เพราะฉะนั้นเราสามารถทำได้แต่ขอให้มีเป้าหมายที่ชัดเจนไม่ใช่ว่าบวชก็เพียงแต่ว่าได้ชื่อว่าบวช 

กฎหมายของบ้านเมืองต่างจากหลักในการบวชอย่างไร?
 

          กฎหมายบ้านเมืองเป็นกฎแบบแข็งคือถ้าไม่ทำจะถูกลงโทษ แต่กฎทางศีลธรรมเป็นความเต็มใจที่จะปฏิบัติไม่มีใครมาบังคับ เกิดจิตสำนึกที่อยากจะทำสิ่งที่ถูกต้องเป็นบุญกุศล ส่วนสิ่งที่ไม่ดี เป็นบาปไม่อยากทำ กฎแห่งศีลธรรม ที่หล่อหลอมมาจากคำสอนในพระพุทธศาสนา กฏนี้อ่อนโยนกว่านุ่มนวลกว่า มีความสุขมากกว่า ทำให้สังคมมีความสุขสงบร่มเย็นมากกว่า ไม่ได้ปฏิเสธว่ากฎหมายไม่ดี แต่ต้องประกอบด้วยกฎจากภายใน หากคนไม่มีศีลธรรม ก็พร้อมจะทำบาป พร้อมจะทำสิ่งที่ไม่ดี พร้อมจะรังแกคนอื่น แค่ยังไม่กล้าทำ กลัวถูกจับเหมือนเดินไปในท่ามกลางคน แล้วทุกคนพร้อมจะเป็นศัตรูแค่กลัวตำรวจจับ อยู่ไม่เป็นสุข แต่หากอยู่ในสังคมที่ทุกคนมีน้ำใจโอบอ้อมอารีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ด้วยกฎแห่งศีลธรรมจะสบายใจกว่า สุขใจมากกว่า   
 
 
          ประเทศไทยเป็นประเทศพระพุทธศาสนา ที่มีเอกลักษณ์พิเศษคือ มีประเพณีการบวชช่วงสั้น ประเทศอื่นแม้เป็นพุทธเถรวาท เช่น ลังกา พม่า ไม่มี ลาวกับกัมพูชา ได้รับอิทธิพลจากไทยพอมีบ้าง แต่ก็เป็นประเทศเล็ก แต่ที่เป็นประเทศพุทธเถรวาท และประเทศใหญ่ด้วยกันอย่างศรีลังกา พม่า ไม่มีธรรมเนียมการบวชชั่วคราว พอบวชก็บวชยาว ประเทศไทยแล้วแต่ความสมัครใจ บวชระยะยาวก็ได้ บวชช่วงสั้นก็ได้ แล้วความแตกต่างคือเมื่อชายไทยร้อยละ 99% เคยผ่านการบวช บวชเพียง 1 พรรษา รวมเตรียมตัวก่อนเข้าพรรษา ออกพรรษาแล้วอยู่รับกฐิน หรืออาจเดินธุดงค์ด้วย ก็ประมาณ 4 เดือน ได้ศึกษาธรรมะอย่างจริงจัง เรียกว่ารสของพระธรรมซึมซับไปในใจ คนสุกที่เขาเรียกว่าทิด ทิดแปลว่าคนสุก เมื่อลูกไปบวชพ่อแม่ก็ไปใส่บาตร หรือพี่น้องก็ไปทำบุญใส่บาตรเข้าวัดฟังธรรมเป็นต้น ผลคือทุกคนมีความรู้สึกว่าตัวเองกับพระสงฆ์และพระพุทธศาสนามีความใกล้ชิดผูกพันกันแน่นแฟ้น วิถีแห่งพระพุทธศาสนาซึมซับไปในสังคมไทย 
 
พระธรรมวินัยของพระมีหลายข้อ มีกฎเยอะไปหมด พอจะมีวิธีแนะนำการปฎิบัติเพื่อซ้อมก่อนบวชหรือไม่?
 

          ในครั้งพุทธกาล มีภิกษุรูปหนึ่ง บวชมาแล้วพอเริ่มศึกษาธรรมะเกิดความรู้สึกหนักใจ พระวินัยมีเป็น 100 ข้อ รักษาไม่ไหวเยอะเหลือเกิน รู้สึกกังวล คิดมากกลัวว่าจะทำผิด จึงเตรียมจะสึก พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์รู้ด้วยข่ายพระญาณ และรู้ว่าภิกษุรูปนี้มีบุญพอจะบรรลุธรรม พระองค์ได้เมตตาไปโปรด และให้รักษาใจอย่างเดียว รักษาดวงจิตให้ตั้งมั่นที่ศูนย์กลางกายอย่างเดียว 
          ใครที่กังวลว่าชีวิตพระ พระวินัยมี 227 ข้อ ยังจำไม่ไหว ให้ถือหลักพระพุทธเจ้าคือ “ใจ” เนื่องจากเจตนาดีอยู่แล้ว บวชเพราะต้องการศึกษาธรรมะในร่มผ้ากาสาวพัสตร์ บางท่านก็ตั้งใจจะอุทิศส่วนกุศลให้คุณพ่อคุณแม่ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือท่านยังอยู่ก็จะได้ให้บุญท่านอย่างเต็มที่ ให้ท่านปลื้มใจได้เห็นผ้าเหลืองลูก ที่เหลือจากนั้นคือการรักษาพระวินัย หากรักษาใจไว้ที่ศูนย์กลางกาย จะผ่านพระวินัยสิกขาบทได้ทุกข้อ ชีวิตการบวชจะบริสุทธิ์บริบูรณ์ หากว่าเกรงพลั้งเผลอ เผลอสติทุกวัน ก็ปลงอาบัติกัน เป็นธรรมเนียมสงฆ์ บิณฑบาต กวาดวัด ปลงอาบัติ ทำวัตร สวดมนต์ นี้เป็นกิจวัตรของสงฆ์กิจวัตร 10 ประการ แต่ละปีหาช่วงเวลาไปอยู่ปริวาสกรรม เป็นการออกจากอาบัติหนักอีกอย่างหนึ่ง เป็นต้น ฉะนั้นหัวใจคือรักษาใจให้ได้

คุณผู้ชายหลายท่านโชคดีที่ชีวิตนี้ได้บวชแน่นอน แล้วสำหรับคุณผู้หญิงจะบวชได้หรือไม่?

          บวชได้แบบที่เรียกว่า เนกขัมมาจาริณี หรือ ชีพราหมณ์ รักษาศีล 8 โดย อาจบวช 7 วัน 15 วัน หรือ 1 เดือน โดยไปถือศีล 8 ที่วัด สวดมนต์ นั่งสมาธิ ก็เป็นการประพฤติพรหมจรรย์ในช่วงเวลาหนึ่งได้เหมือนกัน หรือจะรักษาศีล 8 อยู่ที่บ้านได้ วันอาทิตย์ไปวัด วันพระไปวัด อย่างนี้เป็นต้น วันธรรมดารักษาศีล 8 คือ ไม่ทานข้าวเย็นไม่แต่งเนื้อแต่งตัว แต่งหน้าทาปาก หรือดูหนังฟังเพลง หากดูสารคดีไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นวิดีโอหรือภาพยนตร์ที่เป็นเรื่องรักๆใคร่ๆให้หลีกเลี่ยง ไม่นอนที่นอนที่สูงใหญ่ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศตรงข้าม เหล่านี้ถือเป็นการประพฤติพรหมจรรย์แบบหนึ่ง ฝ่ายหญิงให้หาเวลามาประพฤติปฏิบัติธรรม หากมีญาติพี่น้องมาบวช ก็ตั้งใจเข้าวัดเป็นพิเศษ ทำบุญตักบาตรอย่างนี้ร่มเย็นเป็นสุขสว่างไสวทั้งครอบครัว สังคมไทยก็จะสงบร่มเย็นพระพุทธศาสนาก็เจริญรุ่งเรือง
          การบวชนั้นก็มีประโยชน์ต่อทั้งตนเองสังคมรวมถึงประเทศชาติ โดยเฉพาะต่อตนเองเป็นการขัดเกลากิเลสภายในตัว เพื่อจะได้มีเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา คือไปสู่ฟังพระนิพพาน


รับชมคลิปวิดีโอบวชให้สุก : ข้อคิดรอบตัว
ชมวิดีโอบวชให้สุก : ข้อคิดรอบตัว   Download ธรรมะบวชให้สุก : ข้อคิดรอบตัว



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
พลังหญิงพลังหญิง

โซเดียม อันตรายใกล้ตัวโซเดียม อันตรายใกล้ตัว

Why do people have to pay homage? Ignorant!Why do people have to pay homage? Ignorant!



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ข้อคิดรอบตัว