คนที่ใช่ในเวลาที่ถูก


[ 26 ก.พ. 2562 ] - [ 18265 ] LINE it!

คนที่ใช่ในเวลาที่ถูก
 
เรื่อง : พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ)
จากรายการทันโลกทันธรรม ออกอากาศทางช่อง GBN

 
          ในสภาวะที่ธุรกิจมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงเข้มข้นนั้น แต่ละองค์กรจำเป็นที่จะต้องพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดยั้ง ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาและปัจจัยที่ทำให้สามารถเป็นต่อได้ในการแข่งขันคือคนและการบริหารทรัพยากรบุคคล ถ้าองค์กรใดมีการจัดกำลังการบริหารบุคลากรได้อย่างดี สามารถจัดวางกำลังคนเลือกคนที่มีอยู่และคนที่เข้ามาใหม่ให้กลายเป็นคนที่ใช่สำหรับองค์กร ทั้งในปัจจุบัน และในอนาคตจะยิ่งได้เปรียบ 
          การวางแผนกำลังคนเป็นความก้าวหน้าขององค์กร ซึ่งแผนกที่ดูแลนี้ เรียกว่าแผนกบุคลากร Human Resource หรือ HR คือการวางแผนบุคลากรมีความสำคัญกับองค์กรมากที่สุด เพราะบุคลากรทำให้องค์กรเจริญ ถ้าเราได้บุคลากรที่มีคุณสมบัติที่ใช่ในเวลาที่เหมาะสมในจุดที่ถูกต้องจะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ เป็นไปตามเป้าหมายที่องค์กรต้องการ การวางแผนกำลังคนเป็นกระบวนการต่อเนื่องที่ใช้กำหนดความต้องการและลำดับความสำคัญของกำลังคนในองค์กร เพื่อเป้าหมายขององค์กรที่จะได้บรรลุถึงตามเป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง ระยะปลาย นั่นเอง

HR จะต้องดูภาพรวมขององค์กรทั้งปัจจุบันและอนาคต วิธีวางแผนอัตรากำลังคนมีเรื่องอะไรบ้าง?
 

          Workforce Planning เป็นการวางแผนกำลังคนในภาพใหญ่ ทั้งในเรื่องของคุณภาพและปริมาณของคนทั้งหมดในองค์กร โดยใช้ข้อมูลจากทั้งในองค์กรและจากทั้งภายนอกองค์กร เพื่อวางแผน 3 สามระดับ คือ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยมองตั้งแต่โครงสร้างองค์กร ศักยภาพของคนตำแหน่งบทบาท จำนวนที่ใช่ รวมไปถึงต้นทุน และเวลา เวลาที่เหมาะสมจะเป็นช่วงไหน จะมีบุคลากรด้านไหน เข้ามาในช่วงเวลาใดจะสอดคล้องและสนับสนุนทิศทางที่กำหนดเอาไว้ โดยเป็นเรื่องของการกำหนดชนิด การกำหนดจำนวน และเป็นเรื่องความรู้ทักษะที่ต้องการ ซึ่งอาจจะแยกเป็น 2 ระดับ 2 ช่วงเวลา คือช่วงเวลาในระดับปฏิบัติการหรือ Workforce planning ในระดับ operastional หรือระดับปฏิบัติการจะอยู่ที่ประมาณ 12 -18 เดือน และในระดับยุทธศาสตร์ หรือที่ไกลออกไปประมาณ 3-5 ปีนั่นเอง
 
วิธีการเป็นขั้นเป็นตอน ต้องทำอย่างไรบ้าง?

 
          ทาง HRM หรือ Human Resource Management สามารถจะทำจุดนี้ได้ จะต้องมีความเข้าใจในเรื่องของแผนและกลยุทธ์ ขององค์กรทั้งหมด รู้ว่าเป้าหมายระยะสั้นขององค์กร เป้าหมายระยะกลาง และระยะยาว  แล้วมีความเข้าใจในธุรกิจ หรือเข้าใจในรูปแบบขององค์กร อย่างชัดเจนถ่องแท้ และวิเคราะห์ออกว่าจะเดินหน้าไปทางไหน การขยายตัวจะขยายตรงไหน และการลดธุรกิจบางอย่างออกไป หรือตัดธุรกิจบางอย่างออกไปจะเกิดขึ้นที่จุดไหน เพราะฉะนั้นหลายหลายองค์กร ทางฝ่ายบุคลากรไม่สามารถที่จะทำเรื่องนี้ได้ เพราะไม่เห็นภาพรวมของเป้าหมายนั่นเอง จึงไม่สามารถวิเคราะห์ออกมาได้ว่าต้องการคนแบบไหน ซึ่งเป็นหน้าที่ของ HRM ที่จะต้องมีเวลาในการพูดคุยกับฝ่ายบริหารและเจ้าของบริษัทรวมทั้งกรรมการบริหารบริษัท เพื่อที่จะได้ทราบว่าองค์กรจะไปในทิศไหน เพื่อจะได้วางแผนบุคลากรให้สอดคล้อง ซึ่งจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับองค์กร 
 
ขั้นที่ 2 ต่อจากการเข้าใจยุทธศาสตร์มีอะไรอีกบ้าง?
 

          ขั้นต่อมาคือวิเคราะห์กำลังคนในปัจจุบัน คือต้องมองให้เห็นว่า ปัจจุบันกำลังคนในการศึกษาประสบการณ์เป็นอย่างไร ทักษะแต่ละคน ใครโดดเด่นด้านไหน รวมไปถึงสถิติที่สำคัญ เช่น อัตราการลาออกของพนักงานแต่ละระดับ การเกษียณอายุใน 3 ปี 5 ปี 7 ปี 8 ปีข้างหน้าเป็นอย่างไรบ้าง คือวิเคราะห์ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพขององค์กรในปัจจุบัน
          ขั้นที่ 3 สำคัญมาก คือการวิเคราะห์กำลังคนในอนาคต เนื่องจากเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว ความก้าวหน้าต่างๆกำลังคนมันจะใช้น้อยลง หรือจะใช้เพิ่มขึ้นในบางจุด ถ้าไม่รีบหาไว้ก่อนจะส่งผลให้คู่แข่งเขาเอาไปหมดแล้ว ซึ่งใช้ได้กับทุกองค์กรไม่เฉพาะองค์กรธุรกิจ องค์กรไม่แสวงผลกำไรเอง หากว่าต้องการ การเจริญเติบโตอย่างก้าวหน้าก็ต้องมองจุดนี้ ด้วยเหมือนกันว่า องค์กรจะไปทิศต้องการบุคลากรที่มีความสามารถด้านไหน โลกที่เปลี่ยนไปในอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง ต้องวิเคราะห์ และนึกให้ออกว่าแล้วเราจะเพิ่มบุคลากรด้านไหน เพราะฉะนั้นการวางแผนด้านการสรรหา การคัดเลือกคุณสมบัติต่างๆการวิเคราะห์ความรู้ความสามารถตลอดจนการวางแผนฝึกอบรมไว้ในอนาคตเลย และผู้สืบทอด ตามผังลำดับโครงสร้างองค์กรได้เตรียมคนไว้ หรือยังถ้าเกิดคนๆนั้นไม่อยู่แล้วจะเกิดอะไรขึ้น จึงต้องมีการสร้างผู้สืบทอด เป็นขั้นเป็นตอนตามลำดับ คือการวางแผนในระดับยุทธศาสตร์
 
ขั้นตอนที่ 4 จะต้องทำอย่างไรบ้าง?

 
          ขั้นตอนที่ 4  เรียกว่า Gap Analysis คือการประเมินว่าช่วงห่างระหว่างปัจจุบันกับอนาคต จะเป็นอย่างไร หมายถึงมีบางหน่วยงาน จะต้องลดกำลังลง บางหน่วยงานจะต้องเพิ่มกำลังขึ้น คือการรู้อนาคตด้วยว่าทิศทางจะไปทางไหน รวมไปถึงการขยายตัวขององค์กรว่าหากประสบความสำเร็จตามเป้าหมายแล้วถึงเวลานั้นแล้วบุคลากรในอนาคตจะมีหน้าตาเป็นอย่างไง ทักษะอะไรที่ต้องใช้เพิ่มขึ้นหรือต้องลดลงด้านไหน  ก็จะมาวิเคราะห์ได้ว่า ปัจจุบันกับอนาคตแตกต่างกันอย่างไร เรียกว่า Gap Analysis จะได้วางแผนได้ว่า จะเอาคนเข้าได้อย่างเหมาะสม หรือเปลี่ยนแปลงโยกย้าย บางงานที่อาจจะเริ่ม เรียกว่าทยอยความสำคัญลดลงไปตามสภาพของโลกในยุคปัจจุบัน อาจต้องมีการฝึกอบรมพนักงานเพิ่มขึ้น เพื่อให้ทำงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นต้น
ขั้นตอนถัดไปคือการทำแผน (workforce plan) เป็นการทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าจะต้องสรรหาพนักงานจากตรงไหนบ้าง อาจเอาบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมตามคุณสมบัติที่ต้องการ คือการวางแผนในอนาคตว่าต้องการคนแบบไหนในเวลาไหนนั่นเอง
 
ปัจจุบันมีแนวโน้มใหม่ที่ว่า “ไม่ใช่คนเก่งอย่างเดียว แต่จะต้องเป็นคนที่ใช่ด้วย” แล้วคนที่ใช่ เป็นอย่างไร?
 

          บุคลากรที่เป็นที่ต้องการประกอบด้วยกัน 2 ส่วน ส่วนแรกคือมีคุณสมบัติเหมาะกับงาน หมายถึงสามารถที่มองเห็นความต้องการขององค์กร และสร้างสรรค์งานแล้วทำให้เกิดความเจริญเติบโตในองค์กร ในขณะเดียวกันก็ต้องการบุคลากรประเภทหนึ่งที่เป็นเหมือนผู้ที่สามารถรวบรวมคนเก่งคนดีเหล่านี้ไว้แล้วทำให้เกิดบรรยากาศในการทำงาน สอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า “มือประสาน 10 ทิศ” เป็นผู้ที่สามารถเชื่อมโยงบุคคลต่างๆได้ และสามารถบริหารจัดการคนเก่งได้ จึงต้องวางแผนว่า องค์กรต้องการบุคลากรแบบไหนนั่นเอง
 
ทันธรรม โดยพระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ 

 
          เมื่อใดก็ตามที่องค์กรต้องการคน เพื่อมารองรับงานจะมีคนที่เหมาะสมกับหน้าที่นั้นมาทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือได้คนที่ใช่มาในเวลาที่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งถ้าได้อย่างนี้ องค์กรจะเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งสภาวะแวดล้อมในการทำงานสำคัญมาก คนที่ขยันหากอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ไม่ดี กลายเป็นคนเฉื่อยได้ ส่วนคนที่เฉื่อย สภาวะแวดล้อมเอื้อทำให้กลายเป็นคนขยันขึ้นมาได้เหมือนกัน     

 
          บริษัทที่เจริญก้าวหน้า จะพยายามสร้างเงื่อนไขที่ดึงดูดให้คนมาทำงานให้แรงจูงใจคนเก่งอยากจะมาอยู่ด้วย ให้สภาวะแวดล้อมเอื้อให้ทำงานได้คล่องตัวที่สุดให้ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ปลดปล่อยมามากที่สุดเลย ซึ่งบริษัทไหนทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นมาได้บริษัทนั้นจะเจริญ ไม่ต้องไปคิดเอาคนใหม่เข้ามา เอาคนเก่าก่อนทำอย่างไรจะปลุกคนเดิมให้ตื่นขึ้นมาได้ ตัวอย่างประเทศจีนมีประชากร 1000 กว่าล้านคน เฉื่อยมาหลาย 10 ปี จนกลายเป็นคนขี้เกียจเฉื่อยชาทั้งประเทศ แต่เติ้งเสี่ยวผิง ปรับระบบเอาระบบการตลาดเข้ามาใช้ จึงทำให้ประเทศจีนโตขึ้นมาได้เพราะฉะนั้นจะเล็กจะใหญ่ ไม่เหลือวิสัยขอให้ตั้งใจปรับระบบให้คนอยากจะทำงานกระตือรือร้นมีไฟแล้ววิ่งไปข้างหน้า พัฒนาทั้งคนเก่า แล้วก็ดึงคนใหม่เข้ามาพอทั้งองค์กรเคลื่อนไป อาจมีบางคนที่ตามไม่ทัน ก็จะออกไปเองจะปรับตัวไปโดยธรรมชาติแต่ทิศทางในองค์กรก็จะได้คนที่กระตือรือร้นมีความสามารถทั้งคนเก่า แล้วก็ดูดเอาคนใหม่เข้ามาด้วยองค์กรก็จะพุ่งไปข้างหน้า อย่าไปตำหนิที่พนักงาน แต่ให้มองที่ผู้บริหารว่าจะวางทิศทางการทำงานอย่างไรให้รู้สึกว่าทุ่มลงไปแล้วผลลัพธ์ที่ได้กลับมามันคุ้มค่า 
         

 
          ในพระพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าพระพุทธองค์ไม่ได้จูงใจด้วยเงิน แต่จูงใจด้วยเป้าหมายชีวิตผู้ จะมาบวชพระองค์เปิดกว้างจากทุกชั้นวรรณะ แม้กระทั่ง ศูทร จัณฑาล ก็มาบวชได้ แต่บวชแล้ว จะต้องฝึกตัวเองอย่างเข้มข้น คัดกรองคนด้วยเป้าหมายชีวิต จะบวชต้องเปล่ง คำว่า สัพพะทุกขะนิสสะระณะ นิพพานนะ สัจฉิกะระณัตถายะ ข้าพเจ้าขอออกบวชเพื่อสลัดกองทุกข์ และทำพระนิพพานให้แจ้ง เปล่งว่าจาอย่างนี้ถึงหกรอบ ตอกย้ำว่าไม่ว่าจะเป็นเศรษฐี พระราชา คนธรรมดา หรือยาจกก็ตาม เมื่อมาบวชด้วยเป้าหมายนี้แล้วมาอยู่รวมกัน เป็นลูกพระพุทธเจ้าเหมือนกันแล้วก็ฝึกตัวอย่างเข้มข้น แรงจูงใจก็คือเป้าหมายชีวิตนี้ แล้วก็หนุนให้ฝึกตัวเองจริงๆพระพุทธศาสนาจึงเจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะเหตุนี้ เราสามารถเอาเรื่องนี้มาปรับได้ แต่ทางโลกอาจจะจูงใจด้วยผลตอบแทนที่เป็นธรรมสุดท้ายจะสำเร็จ


รับชมคลิปวิดีโอคนที่ใช่ในเวลาที่ถูก : ทันโลกทันธรรม
ชมวิดีโอคนที่ใช่ในเวลาที่ถูก : ทันโลกทันธรรม   Download ธรรมะคนที่ใช่ในเวลาที่ถูก : ทันโลกทันธรรม




Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
นวัตกรรมเปลี่ยนโลก นวัตกรรมเปลี่ยนโลก

ความสำเร็จถอดแบบได้ความสำเร็จถอดแบบได้

แกร่งอย่างหญิงแกร่งอย่างหญิง



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ทันโลกทันธรรม