วิธีขจัดความลังเลใจ


[ 9 เม.ย. 2562 ] - [ 18297 ] LINE it!

วิธีขจัดความลังเลใจ
ในชีวิตของคนเรานั้นต้องตัดสินใจอยู่ตลอดเวลา การตัดสินใจแต่ละครั้งก็อยากให้ได้ทางเลือกดีที่สุด ซึ่งบางครั้งทำให้ต้องกังวลใจว่าจะได้อย่างที่อยากได้หรือไม่ 
 
เรื่อง : พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ)
จากรายการทันโลกทันธรรม ออกอากาศทางช่อง GBN
 
 

เทคนิควิธีการที่จะตัดสินใจอย่างไรให้รู้สึกสบายใจไม่ต้องวิตกกังวล?
 
          1.ควรจะวิเคราะห์สถานการณ์ถามตัวเองว่าถ้าไม่ตัดสินใจแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง หรือชมีใครที่จะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม หลังจากวิเคราะห์สถานการณ์แล้วจะเป็นพลังกระตุ้นให้ว่าถ้ายังไม่ทำอะไรต่อไปจะมีผลดีผลเสียอะไรกับใครอย่างไรบ้าง จะทำให้อยากตัดสินใจมากขึ้น หลังจากที่มีความอยากหรือพร้อมที่จะตัดสินใจแล้วก็ควรศึกษาข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ 
 

          2.หาแนวทางในการแก้ปัญหา โดยอาจจะลิสต์ก่อนว่ามีแนวทางในการตัดสินใจ 1, 2, 3, 4, 5 อะไรบ้าง หลังจากนั้นก็ลดแนวทางให้เหลือ 2-3 แนวทาง เพราะหากเยอะเกินไปจะวิเคราะห์ยาก 


          3.วิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของแต่ละแนวทางว่ามีข้อดีอย่างไรข้อเสียอย่างไร ทั้งในระยะเวลาอันสั้นและระยะเวลาอันยาว บางอย่างอาจจะเกิดผลดีในระยะสั้นแต่เป็นผลเสียในระยะยาว ต้องวิเคราะห์ให้ถี่ถ้วนของแต่ละแนวทาง แล้วนำมาเปรียบเทียบ เช่น มีรถอยู่แล้ว 1 คัน กำลังตัดสินใจว่าจะซื้อรถคันใหม่ดีหรือไม่ ก็ลิสต์ข้อดีมา ข้อดีคือ ประหยัดน้ำมัน สมรรถนะดี และกำลังลดราคาอยู่แต่มีข้อเสียคือต้องจ่ายค่าประกันและค่าดูแลรักษาเพิ่มเติมจากรถคันแรก แล้วมาเปรียบเทียบว่าสิ่งไหนจะมีประโยชน์มากกว่ากัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานภาพทางการเงินของผู้ตัดสินใจ สภาวะของการคมนาคม และสภาวะของรถที่ใช้ในปัจจุบันด้วยว่าความเก่าใหม่มากน้อยแค่ไหน


 
          4.การถามความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องหรือสเต็กโฮเดอร์ หรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ว่าเขามีความคิดเห็นอย่างไรเพราะบางทีการตัดสินใจของเราจะมีผลกระทบกับคนอื่นตัว เช่น จะซื้อรถอาจจะมีผลกระทบกับครอบครัว เพราะต้องใช้เงินก้อนใหญ่ ไปซื้อรถจะมีผลกับค่าเทอมของลูกหรือไม่ จะมีผลกับกิจกรรมที่ครอบครัวต้องใช้จ่ายในแต่ละเดือนหรือไม่ อาจจะต้องตัดสินใจกันในครอบครัวปรึกษาคู่ครองว่า ถึงเวลาที่จะซื้อรถคันใหม่หรือยัง อีกตัวอย่างเช่น ในที่ทำงานบางครั้งจะต้องทำงานร่วมกันอาจจะต้องปรึกษาผู้ร่วมงานและหัวหน้าทีมว่ามีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ ถ้าทุกคนไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่จะทำก็อาจจะถอยหลังกลับมาก้าวหนึ่งก่อน มาศึกษาให้ละเอียดขึ้น แล้วค่อยนำไปเสนอว่า สิ่งที่อยากทำนั้นมันดีอย่างไรบ้าง 
 

          5.เลือกตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ใช่ในสิ่งที่ถูกใจและทันเวลาด้วย บางคนตัดสินใจเพื่อให้ถูกใจอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ไม่ถูกต้อง ไม่ถูกตามหลักศีลธรรม ไม่ถูกหลักจริยธรรม หรือความซื่อสัตย์ เพราะฉะนั้น หากต้องการให้ผลในระยะยาวออกมาดี ความถูกต้องเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ความถูกใจอาจจะดูเหมาะสมในปัจจุบัน แต่ระยะยาวไม่เหมาะสม เพราะสิ่งที่ทำไปถ้าผิดแล้วสักวันหนึ่งจะย้อนกลับมา เพราะฉะนั้นสิ่งที่ถูกต้องนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด นอกจากนั้นแล้วตัดสินใจควรตัดสินใจให้ทันเวลา บางครั้งตัดสินใจถูกต้องแต่ไม่ทันเวลาก็อาจจะสายไป โอกาสไม่ได้รออยู่เสมอ 
 

          6.การสร้างแผนการที่จะดำเนินการในการตัดสินใจ เริ่มต้นด้วยการลิสต์ขั้นตอนว่า ต้องทำอย่างไรบ้าง เพื่อให้ประสบความสำเร็จตามที่ต้องการ ในระหว่างลิสต์ควรจะเริ่มจากง่ายไปหายาก แล้วก็เริ่มทำในสิ่งที่ง่ายก่อน เมื่อเราประสบความสำเร็จในขั้นตอนง่ายแล้วจะเกิดความภูมิใจเกิดกำลังใจที่จะขยับไปในขั้นที่ 2 ขั้นที่ 3ต่อไป หลังจากนั้นก็ทำตามแผนการไปเรื่อยๆ ซึ่งบางครั้งอาจกล้าเสี่ยงเพื่อได้รับโอกาส ความกล้าเสียงไม่ใช่ความประมาท เพราะคนที่ประมาทคือคนที่ไม่ได้ประมวลความเสี่ยงเข้ามาใช้ในการตัดสินใจตั้งแต่แรกแล้ว คนที่กล้าเสี่ยงคือคนที่เอาความเสี่ยงต่างๆมาประมวลรวมกัน ประมวลว่ายอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน ถ้ามันออกมาไม่เป็นตามที่คิด จะยอมรับได้หรือไม่ นำผลกระทบในแง่มุมต่างๆมาประกอบการตัดสินใจว่าควรจะไปในทิศทางใด 



          7.ไม่ว่าตัดสินใจทำอะไรไปแล้ว ควรมีแผนสำรองด้วยเพราะมีโอกาสสูงที่จะไม่เป็นไปตามแผน เพราะเมื่อถึงเวลานั้นแล้วถ้าไม่มีแผนสำรอง จะไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที เอาไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน 
 
ทันธรรม...โดย พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ 
 

          ความเห็นของคนที่กล้าตัดสินใจ แล้วประสบความสำเร็จ เมื่อเขาทบทวนประสบการณ์ชีวิตแล้วมาเล่าย้อนให้ฟังว่าคิดอย่างไร มีคนหนึ่งที่น่าสนใจคือ Mark Zuckerberg เป็นซีอีโอก่อตั้ง Facebook ซึ่ง Mark Zuckerberg ลาออกจากฮาร์วาร์ดก่อนเรียนจบมาทำ Facebook เขากล้าตัดสินใจลาออกมาจนทำให้ Facebook กลายเป็นเครือข่ายสังคมที่คนทั้งโลกใช้มากที่สุด 
 

          เมื่อมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เชิญเขาไปพูดให้กับบัณฑิตจบใหม่ของฮาร์วาร์ดฟัง เขาบอกว่าให้ทุกคนรู้ไว้ว่า ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามตอนเริ่มต้นทำอะไรจะไม่รู้ชัด 100% หรือสิ่งที่จะทำมันต้องมี step 1,2,3,4,5 จะเกิดสิ่งนั้นๆ ไม่มีทาง แต่จะพอเห็นกว้างๆภาพรวมเท่านั้น พอทำไปจะค่อยๆ ชัดขึ้นๆ แล้วมีการปรับตลอดเวลา นี่คือประสบการณ์ที่ Mark Zuckerberg เจอ เพราะฉะนั้นอุปสรรคใหญ่หลวงที่ขวางกั้นในการตัดสินใจคือ ความไม่แน่ใจ ความลังเลใจ โอกาสจะผ่านไปเรื่อยๆการลังเลทำให้เรารู้ข้อมูลมากขึ้น แต่แลกกับเวลาดังนั้นรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุดไตร่ตรองให้ละเอียดที่สุดในเวลาที่เหมาะสมแล้วก็ตัดสินใจอย่าเป็นคนลังเล ครึ่งๆกลาง ๆ 


          เราเป็นคนชอบผัดวันประกันพรุ่งหรือไม่ อยากจะทำให้ดีให้สมบูรณ์ตอนนี้รู้สึกยังไม่ค่อยพร้อมรออีกสักพักแล้วจะทำให้ดี คิดอีกสักนิดแล้วก็เลื่อนไปเรื่อยๆ ในความเป็นจริงงานจะสำเร็จเมื่อเริ่มนับหนึ่ง คว้าปากกามาถ้าจะต้องเป็นงานเขียน คว้าปากกามาแล้วเริ่มจดตัวหนังสือตัวแรกแล้วมันจะจบ มีบางคนบอกว่า “เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” เป็นเพราะถ้ายิ่งคิดความคิดจะคิดวนไปวนมา แต่ทันทีที่เริ่มลงมือทำ เช่น งานวิชาการเริ่มลงมือเขียนเมื่อไหร่ ใจจะมาจดจ่อในสิ่งที่กำลังเขียน ใจจะเป็นสมาธิและเมื่อนั้นความคิดมันจะเริ่มแตกลูกแตกดอก ไอเดียจะพรั่งพรูออกมาแล้วก็จะไหลลื่นตอนนั้น 
 

          เวลาของชีวิตเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดเพราะฉะนั้นเลิกเป็นคนผัดวันประกันพรุ่ง เลิกเป็นคนสมบูรณ์แบบ ต้องทุกอย่างเนี๊ยบที่สุดพลาดนิดเดียวไม่ได้ หากยังไม่พร้อม 100 % ยังไม่ทำ สุดท้ายกว่าจะทำเสร็จปรากฏว่าช้าเกินไป เชยไปแล้วตกรุ่นตกยุคไปแล้ว ศิลปินเป็นอย่างนี้ไม่น้อย บางคนฝีมือดีแต่ผลงานไม่ออกเพราะอยากทำให้เนี๊ยบ 

 
         นวัตกรรมใหม่ๆหลายๆ อย่างเกิดขึ้นในช่วงสงครามเพราะในสงครามคนรู้ว่าผัดวันประกันพรุ่งไม่ได้ ข้าศึกกำลังบุกมา ขอคิดอีก 1 ปีไม่ได้ชิงช่วงกันอยู่อย่างนี้ เขากำลังยิงจรวดมาคิดจรวดไม่ได้ก็ไม่มีอะไรไปสู้กับเขา ทุกคนต้องทำทันทีเร็วที่สุด อเมริกาผลิตเครื่องบินในเวลาเพียง 2-3 ปีเท่านั้นเอง เพราะผลิตช้าไม่มีอะไรไปสู้ หากแพ้ทหารก็ตาย สำนึกนี้เกิดขึ้นมาร่วมกันทั้งชาติทุกคนลุยเต็มที่ นวัตกรรมใหม่ออกมาอย่างมหาศาล เหล่านี้คือตัวพิสูจน์ว่าการลังเล คือเครื่องถ่วงแต่การกล้าตัดสินใจจะนำไปสู่ความสำเร็จและความเจริญก้าวหน้า แต่ก็ไม่ใช่บ้าบิ่น ไม่ใช่ไม่คิดเลยลุยไปอย่างเดียว ก็คิดแต่ไม่ใช่คิดแล้วคิดอีกวนไปวนมา “คิดนานงานน้อย” 
 

          ให้ใช้สูตร “เล็งยิงปรับศูนย์” เหมือนยิงปืน เล็งแล้วกากบาทตรงเป้าแล้วยิงเลย มันอาจเคลื่อนไปข้างล่าง 2 เซนติเมตร ปรับศูนย์ใหม่ ยิงใหม่แล้วเหลือ 1 เซนติเมตร ปรับอีกนิดอีกไม่กี่นัดก็เข้าเป้า เล็งแล้วต้องยิง ดูผลแล้วก็มาปรับศูนย์ คิดงานอะไรคิดรวบรวมข้อมูลตัดสินใจเสร็จทำเลย แล้วก็ปรับให้มันดีขึ้นๆ เรื่อยๆ เพราะความสำเร็จทั้งหลายมาจากกระบวนการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คือการเล็งยิงปรับศูนย์ อย่างต่อเนื่องทั้งนั้น 

 
          ยิ่งเราตัดสินใจแต่ละขั้นตอน จดๆจ้องๆ ผัดวันประกันพรุ่งมากเท่าไหร่ กระบวนการของเราก็จะช้าเท่านั้น  คิดไตร่ตรองแล้วก็ตัดสินใจเดินหน้าผิดเป็นครูกล้าแก้ไขเพราะแม้แต่ในทางพระพุทธศาสนา ความลังเลลังเลสงสัยท่านเรียกว่าเป็น วิจิกิจฉา เป็นหนึ่งในนิวรณ์ 5 เป็นเครื่องขวางกั้นการเป็นสมาธิของใจ ขวางกั้นการบรรลุธรรมจะบรรลุธรรมได้ ต้องขจัดวิจิกิจฉาความลังเลสงสัยออกไปได้จึงจะประสบความสำเร็จในการปฏิบัติธรรม สรุปได้ว่าทั้งงานทางโลกและงานทางธรรม ต้องอาศัยการกล้าตัดสินใจไม่ลังเล 
 
 

รับชมคลิปวิดีโอวิธีขจัดความลังเลใจ : ทันโลกทันธรรม
ชมวิดีโอวิธีขจัดความลังเลใจ : ทันโลกทันธรรม   Download ธรรมะวิธีขจัดความลังเลใจ : ทันโลกทันธรรม



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
เมื่อลูกปลื้มนักร้องต่างชาติเมื่อลูกปลื้มนักร้องต่างชาติ

สติบำบัดสติบำบัด

ความอดทนซ่อนร้ายความอดทนซ่อนร้าย



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ทันโลกทันธรรม