เงาสะท้อนตัวตน


[ 20 ส.ค. 2562 ] - [ 18585 ] LINE it!

เงาสะท้อนตัวตน
คนเรามี 2 ด้านคู่กันเสมอ ด้านหนึ่งคือตัวของเราเอง อีกด้านหนึ่งคือเงาสะท้อนซึ่งใช้สะท้อนพฤติกรรมของคนอื่น แต่มักจะลืมใช้เป็นกระจกสะท้อนตัวเอง

เรื่อง : พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ)
จากรายการทันโลกทันธรรม ออกอากาศทางช่อง GBN
 
 
 
การที่เราใช้ตัวของเราสะท้อนพฤติกรรมของคนอื่นไม่ว่าจะด้านดีหรือไม่ดี สะท้อนตัวตนของเราได้อย่างไร?
 
          ชีวิตคนอื่นที่เรามองเห็นจริงๆ แล้วเหมือนจอฉายภาพยนตร์ที่ฉายสิ่งที่ตัวเรามีออกไป หากเราชอบอะไรบางอย่างในตัวคนอื่นคือเราชอบสิ่งนั้นที่มีอยู่ในตัวเรา ในขณะเดียวกันหากไปมองใครแล้วรู้สึกไม่ชอบ รู้สึกขัดหูขัดตาไปหมด เป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวเราแล้วเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบและซ่อนมันเอาไว้ กดมันเอาไว้ซ่อนไว้อยู่ลึกๆ มนุษย์เราจะมองเห็นคนอื่นได้เท่าที่ตัวเรามีเท่านั้น 
 
 
          เวลาจะมองใครมีนิสัยอย่างไรจะมองได้เฉพาะสิ่งตัวเราเคยมีเพราะเราเลือกมอง แปลว่าเมื่อเราเกลียดใครก็คือเราเกลียดสิ่งนั้นที่มีอยู่ในตัวเรา แล้วเราซ่อนเอาไว้จนลืม บางทีอาจไม่รู้สึก ไม่รู้ตัวเลยว่าเราเองก็มีสิ่งนั้นอยู่
 

 
          คนอื่นเป็นเหมือนกระจกเงาสะท้อนสิ่งที่มีอยู่ในตัวเรา จะทำ ให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น  และเป็นหนึ่งในความลับของการเยียวยา เช่น หากมองใครว่าคนนี้พูดมาก ก็จะต้องมาย้อนดูตัวเองว่าสงสัยลึกๆ แล้วเราก็พูดเยอะไปหรือเปล่า แล้วก็รู้สึกว่าเราไม่ชอบส่วนนี้ของเรา ก็เลยเปลี่ยนเป็นคนพูดมีสาระตลอดเวลาแต่บางครั้งเวลาเผลอ ก็พูดโดยไม่รู้ตัว เมื่อเจอใครก็ตาม ให้เอามาเป็นเครื่องพัฒนาตัวเอง เวลาเห็นอะไรถูกใจไม่ถูกใจก็ย้อนกลับมามองตัวเอง
 
ทำอย่างไรถึงจะเอาพฤติกรรมที่มองคนอื่น แล้วมาพัฒนาตัวเอง?

 
          การรู้จักตัวเอง มี 2 ประเภท คือ 
 
          1.การรู้จักตัวเองที่เป็นตัวตนของเรา การรู้จักตัวเองที่เป็นส่วนตัว (private Self-Awareness) คือ รู้ว่าเราเป็นคนอย่างไร เป็นการรู้จักตัวเองในมุมของตัวเอง
 
          2.การรู้จักตัวเองที่คนอื่นมองเราแล้วเราก็รู้ด้วยว่าคนอื่นมองอย่างไร การรู้จักตัวเองในมุมของ (Public- Self-Awareness) คือรับรู้เป็นการรับรู้เองว่าคนนี้มองเราว่าอย่างไร 
 

          มีนักจิตวิทยา 2 ท่าน คือ Joseph  Luft และ Harry Ingham ชาวอเมริกัน ได้สร้างทฤษฎีหน้าต่าง 4 บาน หรือโจแฮร์รี่วินโดว์ หรือหน้าต่างของโจเซฟกับ แฮร์รี่ หน้าต่างสี่บาน คือการที่รู้จักตัวเองในแต่ละด้าน ดังนี้
 

          1. Open self ตัวตนที่เราเปิดเผยให้คนอื่น เป็นตัวตนที่เรารู้ดีแล้วก็เปิดเผย เช่น เป็นคนใจกว้างก็เปิดเผยให้คนอื่นรับรู้ เราเป็นคนตรงไปตรงมา เราเป็นคนมีระเบียบ เราเป็นคนตรงเวลา เป็นด้านความดี ส่วนด้านที่กลางๆจะว่าดีก็ ไม่ใช่จะว่าไม่ดีก็ไม่เชิง เช่น เราเป็นคนกลัวความสูงอันนี้คือ Open self

 
          2.Blind self  เป็นตัวตนที่คนอื่นมองเห็น แต่เราไม่เห็น เหมือนเราใส่แว่นตาเอาไว้ เช่น จุดอ่อนบางจุดของเรา เรามองไม่เห็นเรื่องนี้เป็นข้อเสียของเราแต่คนอื่นรู้ เช่น บางคนเป็นคนชอบเอาชนะ เวลาเถียงอะไรตัวเองจะต้องชนะ แต่ก็ไม่รู้ตัว มีเหตุผลดีอาจจะไม่ข้างๆคูๆ แต่บางครั้งจำเป็นหรือไม่ที่เราจะต้องชนะไปทุกเรื่อง ดังนั้นคนอื่นจะมองเห็นว่า คนที่ชอบเอาชนะแต่ตัวเราไม่เคยเห็นเลยตรงนี้ที่เรียกว่า Blind self

 
          3.Hidden self  เป็นตัวตนที่หลบซ่อน คือเรารู้ แต่เราไม่แสดงออก คือคนอื่นไม่รู้เลย เช่น บางคนร้องเพลงเก่ง แต่ไม่เคยร้องให้ใครฟัง ก็ไม่มีใครรู้ เป็นต้น แต่บางเรื่อง เป็นเรื่องไม่ดีเราซ่อนเอาไว้ก็มี แต่ถามว่าตัวเรารู้ไหม รู้ การจะแก้ไขได้จะต้องสร้างความไว้วางใจ คือตัวเราต้องเป็นผู้ที่คนอื่นไว้ใจได้ แล้วตัวเราก็ไว้ใจได้ ต้องเป็นคนที่กล้าเปิดเผยตัวตนส่วนหนึ่งออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลามีความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด หากมี Hidden self  มากจะเกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน สุดท้ายความสัมพันธ์จะล้มเหลว แต่หากยอมเปิดเผยทุกอย่างมีอะไรก็แก้ไขกันไป มีอะไรก็สนับสนุนกันไป  ช่วยเหลือกันไป ก็จะเป็นทางออก

 
          4.Unknown self  คือตัวตนส่วนที่ตัวเรายังไม่รู้เลย คนอื่นก็ไม่รู้เลย เป็นส่วนที่ยังไม่มีใครเข้าไปค้นพบ  คือยังมีอยู่แต่ยังไม่เกิดการค้นพบ เช่น เป็นคนที่ชอบอยู่ในคอมฟอร์ทโซน ชอบสะกดจิตตัวเองโดยการบอกว่าทำไม่ได้ ซึ่งเราอาจมีความสามารถนั้น แต่ยังไม่กล้าที่จะทำหรือกล้าที่จะเปิดออกมา เช่น เวลาให้แสดงความคิดเห็นหน้าห้องไม่เคยยกมือ แต่พอถูกบังคับให้ออกไปปรากฏสะกดคนได้ ตรงนี้เรียกว่ามีความสามารถ ด้านการอธิบาย ด้านการโน้มน้าว แต่ไม่รู้ตัว อาจเคยเจอประสบการณ์ลบ ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจในตัวเองเลยประหม่าไปตลอด รู้สึกเราทำไม่ได้ เป็นต้น

 
          การที่จะเอา Unknown self ออกมา ต้องออกมาจากคอมฟอร์ทโซน แล้วต้องมั่นใจตัวเองว่าเราทำได้ทุกอย่าง เราทำได้แล้วก็ทำไปเลย ให้คิดง่ายๆ ว่ากว่าเราจะพูดได้ใช้เวลา 1 ปี เด็กอดทนฝึก 1 ปี ถึงจะพูดได้ อดทนฝึกกับปีหนึ่งเหมือนกันถึงจะลุกขึ้นมายืนได้ลุกขึ้นมาเดิน ได้ล้มไปก็ลุกขึ้นมาใหม่ เพราะฉะนั้นต้องฝึกซ้ำแล้วซ้ำอีกซ้ำแล้วซ้ำอีก Unknown self จะออกมา

ทันธรรม...โดย พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ 

 
          มนุษย์ปรารถนาให้ตัวเองดูดี แล้วก็อยากให้คนอื่นเขามองเห็นเราดี คนส่วนใหญ่มีธรรมชาติเป็นอย่างนั้น เราอยู่บ้านก็แต่งตัวสบายๆ แต่พอออกนอกบ้านก็ต้องแต่งตัวให้ดูเรียบร้อย ดูผมหน้าตาต่างๆให้เรียบร้อย เพราะคนอื่นจะเห็นเรา จะได้เห็นภาพลักษณ์ดีๆ นั่นคือธรรมชาติของมนุษย์ หล่อหลอมจนกระทั่งกลายเป็นมารยาทสังคมขึ้นมา แต่เมื่ออยู่ในสังคมมนุษย์ปฏิกิริยาและท่าทีคนอื่นที่เขามีต่อเราเป็นกระจกสะท้อนที่ดี ยิ่งกว่าตัวกระจกเสียอีก หากคนที่เรามีปฏิสัมพันธ์ด้วย สายตาที่เขามองว่าเป็นอย่างไร สนใจเอาใจใส่เราหลายคน จะรู้สึกเริ่มมั่นใจตัวเองมากขึ้น รู้สึกว่าเราดูดีแต่หาก เขามองเราอย่างเฉยเมยแบบเหมือนกับเราเป็นอากาศธาตุ เป็นเรื่องที่เจ็บปวดที่สุด 

 
          ในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าพระองค์ให้วิธีการลงทัณฑ์ที่ถือว่าหนักมากเรียกว่า ลงพรหมทัณฑ์ การลงทัณฑ์ในพระพุทธศาสนาไม่ได้ลงโทษเฆี่ยนตี แต่ให้ภิกษุทั้งหลายไม่สนใจใยดีคนนั้น เสมือนเป็นอากาศธาตุ นายฉันนะเป็นผู้ตามเสด็จเจ้าชายสิทธัตถะ วันที่เสด็จออกจากวังแล้วออกบวช ภายหลังนายฉันนะได้ออกบวชหลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้ว แต่เป็นคนที่มีทิฐิมานะ ใครเตือนก็ไม่ฟัง พระสารีบุตรอัครสาวกเบื้องขวาเตือน นายฉันนะบอกว่า ท่านไม่ต้องมาเตือนผม วันที่พระชินบุตรคือเจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกบรรพชามีแต่ผมคนเดียว คนอื่นอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ยึดตรงนี้ว่าตัวเองเก่าแก่ที่สุด เป็นคนเดียวที่ตามเสด็จเจ้าชายสิทธัตถะออกบวช ถือดีตรงนี้แล้วไม่ฟัง หัวดื้อใครสอนก็ไม่ฟัง ทำให้ไม่ได้บรรลุธรรมเพราะทิฐิมานะ

 
          ก่อนพระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน มีพระภิกษุถามพระพุทธเจ้าว่า จะทำอย่างไรกับนายฉันนะ พระพุทธเจ้าให้ลงพรหมทัณฑ์ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว สงฆ์จึงลงพรหมทัณฑ์นายฉันนะโดย ไม่พูดคุยด้วย ไม่สนใจนายฉันนะเสมือนเป็นอากาศธาตุ ปล่อยให้นายฉันนะ ทำทุกอย่างตามใจ ผ่านไป 2-3 วัน นายฉันนะพนมมือกับสงฆ์ขอโทษ ขออภัย อย่าทำอย่างนี้กับกระผมเลย ทนไม่ได้  เมื่อได้คิดทิฐิมานะจึงคลาย แล้วปรับปรุงตัวเองใหม่ สุดท้ายก็ได้บรรลุธรรม นี่คือพรหมทัณฑ์ จะเห็นว่าการที่ไม่มีใครสนใจใยดี เหมือนเป็นอากาศธาตุ เป็นการลงโทษทางสังคมที่เจ็บปวดยิ่งกว่าถูกดุด่าว่ากล่าว การดุด่าว่ากล่าวแสดงว่ายังมีความสนใจแต่เป็นทางลบ แต่การที่ไม่สนใจอะไรเราเลย เจ็บปวดยิ่งกว่าเขาดุเขาว่าเสียอีก เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ดังนั้นจะเห็นว่า ท่าทีของคนรอบข้างที่มีต่อเรา มีผลมากต่ออารมณ์และความรู้สึกของเรา ใครๆ ก็อยากให้คนรอบข้างดูเราดี แล้วมีท่าทีที่ดีกับเรา 

 
          หากทำอะไรแล้วคนไม่ค่อยสนใจเราเท่าไหร่ อย่าไปน้อยใจตัวเองว่า ทำไมเราดีขนาดนี้ ทำไมเขาถึงไม่สนใจ ให้ใจเย็นๆสั่งสมความดีไปเรื่อยๆ ถึงจุดที่ความดีเต็มเปี่ยม จนกระทั่งมีคนกล่าวขวัญถึง จะเหมือนกับจุดพลุ จุดประกายที่จากเดิมทำมา 3-5 ปี ไม่มีใครรู้จัก พอถึงจุดพีคแล้ว มีคนกล่าวขวัญถึง จะเหมือนไฟลามทุ่งจะดังแล้วก็มีใครมาสนใจใยดีมากมาย 

          เหล่านี้คือธรรมชาติมนุษย์ หากเข้าใจธรรมชาติมนุษย์แล้วอย่าท้อ เมื่อทำสิ่งดีๆ แล้วรู้สึกว่าที่ทำมันดีมาก ทำไมคนอื่นไม่เห็นความดีของเรา ขอเราให้ตั้งใจทำความดีต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง


รับชมคลิปวิดีโอเงาสะท้อนตัวตน : ทันโลกทันธรรม
ชมวิดีโอเงาสะท้อนตัวตน : ทันโลกทันธรรม   Download ธรรมะเงาสะท้อนตัวตน : ทันโลกทันธรรม




Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ความสัมพันธ์ลับแลความสัมพันธ์ลับแล

ประโยชน์จากน้ำตาประโยชน์จากน้ำตา

นิสัยสำเร็จยุค Gen Yนิสัยสำเร็จยุค Gen Y



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ทันโลกทันธรรม