มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - เลิกตรหนี่ชีวีสดใส


[ 8 ธ.ค. 2550 ] - [ 18270 ] LINE it!


 
มงคลที่ ๑๕

บำเพ็ญทาน
เลิกตระหนี่ชีวีสดใส


เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงครอบงำมลทิน
กำจัดความตระหนี่เสีย แล้วให้ทานเถิด
เพราะบุญ ย่อมเป็นที่พึ่งของสัตวโลกทั้งหลาย ในโลกหน้า

        ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ล้วนมีความทุกข์เป็นพื้นฐาน เพราะต่างเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น ตั้งแต่วันแรกเกิด จนกระทั่งถึงวันหลับตาลาโลก หากเราเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต เราจะได้แสวงหาหนทางแห่งความพ้นทุกข์ ด้วยการปฏิบัติธรรม ซึ่งจะทำให้เราหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ หลุดพ้นจากความโลภ ความโกรธ ความหลง ไปถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ว่า

"ตสฺมา วิเนยฺย มจฺเฉร        ทชฺชา ทานํ มลาภิภู
ปุญญํ หิ ปรโลกสฺมึ        ปติฏฺญา โหนฺติ ปาณินํ

        เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงครอบงำมลทิน กำจัดความตระหนี่เสีย แล้วให้ทานเถิด เพราะบุญ ย่อมเป็นที่พึ่งของสัตวโลกทั้งหลายในโลกหน้า"

        ความตระหนี่เป็นภัยในวัฏสงสาร เป็นมลทินของใจ ทำให้ใจมืดบอด คับแคบ สละไม่ออก หวงแหนทรัพย์ไว้เพราะกลัวทรัพย์จะหมดไป บางคนนอกจากตนเองจะตระหนี่แล้ว ยังชักชวนคนอื่นให้ตระหนี่ตามอีกด้วย คนตระหนี่ไปเทวโลกไม่ได้ แต่บุญจากการให้ทาน จะนำพาสัตวโลกไปสู่สุคติโลกสวรรค์ได้

        *พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเล่าให้แก่ภิกษุทั้งหลายฟังว่า สมัยที่พระองค์เป็นพระโพธิสัตว์ เกิดเป็นเศรษฐีมีทรัพย์ ๘๐ โกฏิ ตลอดชีวิตได้สร้างทานบารมีโดยตั้งโรงทานขึ้น ๖ แห่ง และบริจาคทรัพย์วันละ ๖๐๐,๐๐๐ กหาปณะ ทั้งยังสั่งสอนลูกหลานว่า
 
"ให้รักษาประเพณีการให้ทาน อย่าให้ใครมาทำลายประเพณีนี้ของตระกูล"
 
        ครั้นหมดอายุขัยก็ไปบังเกิดเป็นพระอินทร์อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ บุตรของท่านปฏิบัติตามคำสอนของบิดา เมื่อละโลกก็ไปเกิดเป็นจันทเทพบุตร บุตรของจันทเทพบุตรก็บำเพ็ญทานเช่นเดียวกัน ไปบังเกิดเป็นสุริยเทพบุตร บุตรของสุริยเทพบุตรได้ไปบังเกิดเป็นมาตลีเทพบุตร บุตรของมาตลีเทพบุตรไปบังเกิดเป็นปัญจสิขเทพบุตร

        ส่วนบุตรของปัญจสิขะชื่อว่า มัจฉริยโกสิยเศรษฐี เป็นคนตระหนี่ มีความเห็นผิดว่า "บรรพบุรุษของเราไม่รู้จักรักษาทรัพย์ เราจะเก็บทรัพย์ ๘๐ โกฏิไว้อย่างดี จะไม่ให้ทานแก่ใคร" เขาสั่งให้รื้อโรงทานทั้ง ๖ แห่ง ส่วนตนบริโภคข้าวปลายเกรียนปนกับรำ พลอยทำให้บุตรและภรรยาได้รับความลำบากไปด้วย

        วันหนึ่ง เขาไปบ้านของเพื่อนเศรษฐีด้วยกัน ขณะนั้นเพื่อนกำลังบริโภคข้าวปายาสรสเลิศมีกลิ่นหอม และเพื่อนได้เชื้อเชิญเขาให้ร่วมบริโภคด้วย เขาเห็นแล้วเกิดความอยาก แต่คิดว่าถ้าเราบริโภค เราก็ต้องเลี้ยงตอบแทนในเวลาที่เพื่อนไปเยี่ยมเราที่บ้าน  ดังนั้นด้วยเกรงว่าจะสิ้นเปลืองทรัพย์ในภายหลัง เขาจึงไม่บริโภค ได้แต่อดกลั้นความอยากด้วยความเสียดายทรัพย์

        เมื่อเขากลับถึงบ้านก็เป็นทุกข์หนัก เพราะอยากบริโภคข้าวปายาส แต่ไม่ยอมบอกใคร จนร่างกายซูบผอมเพราะกลัวจะเสียทรัพย์ ครั้นถูกภรรยารบเร้าถามบ่อยเข้า จึงยอมบอกความจริง

        ภรรยาจึงกล่าวว่า "โธ่เอ๋ย ท่านเป็นเศรษฐี มีทรัพย์ตั้ง ๘๐ โกฏิ แค่ข้าวปายาสแค่นี้มันเรื่องเล็ก จะหุงเลี้ยงคนทั้งเมืองยังได้เลย"
 
        เศรษฐีได้ยินภรรยาพูดเช่นนั้น ก็ตัวสั่นกลัวจะเสียทรัพย์รีบห้ามภรรยา นางจึงพูดว่า "ถ้าเช่นนั้นจะหุงข้าวปายาสให้ท่านกับชาวบ้านที่อยู่ในถนนเดียวกัน"
 
        เศรษฐีรีบห้ามว่า  "ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย"
 
        ภรรยาจึงบอกว่า "ถ้าอย่างนั้นจะหุงให้ท่านและเพื่อนบ้านที่อยู่ถัดไป ๗ หลังคาเรือน" เขาไม่ยอมอีก
 
        นางจึงเสนอว่า "ถ้าอย่างนั้นจะหุงให้เราสองคน"
 
        เศรษฐีบอกว่า  "เธอไม่สมควรจะบริโภค"
 
        นางได้แต่ถอนหายใจพลางกล่าวว่า  "ถ้าอย่างนั้น จะหุงให้ท่านเพียงคนเดียว"
 
        เศรษฐีจึงพอใจ จากนั้น เขารีบนำข้าวไปหุงเองในป่า เพราะกลัวคนอื่นจะเห็นแล้วมาขอแบ่งปันอาหาร

        ขณะนั้น พระอินทร์โพธิสัตว์ทรงตรวจดูว่า บุตรหลานผู้สืบสกุลได้ประพฤติตามประเพณีที่สั่งไว้หรือไม่ เมื่อเห็นเศรษฐีกำลังทำลายประเพณีการให้ทานของตระกูล จึงดำริที่จะให้สติแก่เศรษฐี ทรงรับสั่งให้เทพบุตรผู้เป็นลูกหลานไปช่วยกันตักเตือน โดยให้แปลงเป็นพราหมณ์ เข้าไปขอข้าวปายาสทีละคน

        พระอินทร์เข้าไปหาเศรษฐีก่อนและถามว่า "ท่านกำลังหุงข้าวปายาสอยู่หรือ คงจะนิมนต์พราหมณ์มาฉันที่นี่หลายรูป ท่านไม่นิมนต์เราบ้างหรือ"
 
        เศรษฐีปฏิเสธและไล่ให้ไปข้างหน้า พระอินทร์จึงกล่าวว่า "บุคคลควรแบ่งของน้อยทำทานเมื่อมีน้อย ควรแบ่งให้ปานกลางเมื่อมีปานกลาง ควรให้มากเมื่อมีมาก การไม่ให้เสียเลยหาควรไม่ ขอท่านจงให้เพื่อยกใจขึ้นสู่หนทางของพระอริยเจ้าเถิด"

        เศรษฐีฟังถ้อยคำอันไพเราะก็เกิดความพอใจ จึงบอกให้พราหมณ์นั่งลงก่อน เมื่อข้าวปายาสสุกแล้ว จะแบ่งให้หน่อยหนึ่ง สักครู่จันทเทพบุตรก็เข้าไปขอ เศรษฐีก็ปฏิเสธอีก เทพบุตรจึงกล่าวคำที่น่าฟังว่า "บุคคลเมื่อแขกนั่งรออยู่ จะบริโภคคนเดียวนั้นไม่ควร การบริโภคร่วมกันจึงจะมีความสุข" 
 
ท่านเศรษฐีต้องจำใจนิมนต์พราหมณ์ให้นั่งรอก่อน จากนั้นสุริยเทพบุตรก็มา พลางกล่าวว่า "ผู้ใดไม่บริโภคลำพังเพียงคนเดียว หากแบ่งปันกัน การให้ทานและการได้ทรัพย์มานั้น ย่อมเป็นประโยชน์โดยแท้"  เศรษฐีฟังก็พอใจ จึงให้นั่งคอยก่อน

       จากนั้นมาตลีเทพบุตรก็มา และกล่าวว่า "ผู้ใดทำการบูชาย่อมได้อานิสงส์ ดังนั้นควรให้ทานด้วยและบริโภคด้วย" 
 
        เศรษฐีพอใจจึงให้นั่งคอยก่อน จากนั้นปัญจสิขเทพบุตรก็มากล่าวในลักษณะเดียวกันว่า "การบริโภคคนเดียว เหมือนการกลืนเบ็ดพร้อมทั้งเหยื่อ ไม่สมควรเลย ควรจะแบ่งปันกัน"  เศรษฐีได้แต่ถอนใจ และนิมนต์ให้นั่งลงก่อน

        เมื่อข้าวสุก เศรษฐีจึงบอกให้พราหมณ์เอาใบไม้มาคนละใบ พราหมณ์ยื่นใบไม้ให้เศรษฐี ท่านเศรษฐีเห็นแล้วก็ตกใจ เพราะใบไม้ใหญ่ราวกับหลังคาบ้าน เศรษฐีจึงให้ไปเอาใบไม้ที่เล็กกว่านี้มา พราหมณ์ทั้งห้าจึงเอาใบไม้มาใหม่ แต่ละใบใหญ่เท่ากับกะละมัง เศรษฐีเห็นแล้วอ่อนใจ จึงตักข้าวให้พราหมณ์เพียงคนละทัพพี

        ก่อนจะลงมือบริโภค ปัญจสิขเทพบุตรได้แปลงเป็นสุนัข ไปยืนถ่ายปัสสาวะอยู่ใกล้ๆ น้ำปัสสาวะกระเซ็นถูกมือของเศรษฐี เศรษฐีขอร้องพราหมณ์ให้ช่วยเฝ้าดูหม้อข้าว  ส่วนตนไปล้างมือที่แม่น้ำ เมื่อกลับมาเห็นสุนัขกำลังถ่ายปัสสาวะลงในหม้อข้าว เขาจึงโกรธและคว้าท่อนไม้ไล่ตีสุนัข แต่สุนัขกลับตัวใหญ่ขึ้นขนาดเท่าม้าวิ่งไล่ท่านเศรษฐี เศรษฐีจึงวิ่งเข้าไปขอความช่วยเหลือจากพวกพราหมณ์

        พราหมณ์เหล่านั้นก็เหาะขึ้นไปบนอากาศ แปลงร่างกลับคืนเป็นเทพบุตร เศรษฐีเห็นอิทธิฤทธิ์ของพราหมณ์ จึงถามว่าพวกท่านเป็นใคร พระอินทร์และเหล่าเทพบุตรบอกความจริงว่า พวกตนเป็นบรรพบุรุษของเศรษฐี และเหตุที่ได้เป็นเทพบุตรก็เพราะการบำเพ็ญทาน ไม่ประมาทในการกุศล และให้โอวาทเศรษฐีว่า "จงรักษาประเพณีการให้ทานต่อไป อย่าได้ตระหนี่หวงแหนทรัพย์ เพราะคนตระหนี่ย่อมตกนรก"

        เศรษฐีฟังดังนั้น จึงได้สติ มีใจร่าเริงยินดีในการให้ทาน ตั้งใจมั่นที่จะเลิกตระหนี่ตลอดไป เมื่อกลับถึงบ้าน จึงสละทรัพย์สมบัติทั้งหมดออกแจกจ่ายเป็นทาน ออกบรรพชาเป็นดาบส ได้พบสุขอันเกิดจากวิเวก ซึ่งเป็นสุขยิ่งกว่าการเป็นมหาเศรษฐี ท่านบำเพ็ญภาวนาอยู่ในป่า จนกระทั่งหมดอายุขัย ไปบังเกิดเป็นโกสิยเทพบุตรในสุคติโลกสวรรค์

        เราจะเห็นว่า นักสร้างบารมีในกาลก่อน ท่านทุ่มเทสร้าง บารมีด้วยกาย วาจา ใจ ไม่ยอมให้ความตระหนี่ ซึ่งเป็นมลทินของใจเกิดขึ้น ในใจมีแต่บุญบริสุทธิ์ล้วนๆ ดังนั้นเราควรประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อให้ชีวิตเข้าถึงความสุขอันสมบูรณ์ที่สุด ชีวิตของเราจะได้เป็นชีวิตที่ปลอดภัยทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ได้เวียนวนสร้างบารมีใน ๒ ภพภูมิ คือได้สวรรค์สมบัติและมนุษย์สมบัติ จนกว่าชาติสุดท้าย เราจะได้นิพพานสมบัติกันทุกคน
 
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. สุธาโภชนชาดก เล่ม ๖๒ หน้า ๔๖๒


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - เนื้อนาบุญอันเลิศมงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - เนื้อนาบุญอันเลิศ

มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - เศรษฐีผู้มีใจตระหนี่มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - เศรษฐีผู้มีใจตระหนี่

มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - ผลของการให้ด้วยความเคารพมงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - ผลของการให้ด้วยความเคารพ



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน