ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 201


[ 18 ม.ค. 2553 ] - [ 18272 ] LINE it!

ทศชาติชาดก
เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี
ตอนที่ 201


    จากตอนที่แล้ว ที่พระแม่เภรีทูลถามพระเจ้าจุลนีดังนี้ ก็ด้วยปรารถนาจะให้ท้าวเธอทรงอนุสรณ์ถึงเหตุการณ์ในอดีต เมื่อครั้งที่พระอนุชาติขิณราชกุมารสามารถประหารฉัพภิพราหมณ์ผู้ทรยศ ด้วยการใช้พระขรรค์ตัดศีรษะฉัพภิพราหมณ์ ในที่สุดทรราชย์แห่งปัญจาลนครก็ถึงกาลอวสานด้วยคมพระขรรค์ของตนเองที่เคยมอบให้แด่พระติขิณราชกุมาร

    ภายหลังประหารฉัพภิพราหมณ์สำเร็จแล้ว ติขิณราชกุมารทรงสั่งให้ราชบุรุษนำร่างของฉัพภิพราหมณ์ออกไปให้พ้นท้องพระโรง แล้วชำระท้องพระโรงให้สะอาดดังเดิม ตลอดทั้งพระนครก็ให้ประดับประดาอย่างงดงาม เพื่อประกาศข่าวดีว่า บัดนี้จอมทรราชย์ผู้ล้มล้างบัลลังก์ของพระราชบิดามหาจุลนีได้ถูกล้างชีพแล้ว

    เวลานั้น อำมาตย์ทั้งหลายต่างลงความเห็นว่า จะถวายพระราชบัลลังก์แห่งปัญจาลนครคืนให้แก่พระติขิณกุมาร แต่ความเห็นนี้ได้ถูกคัดค้านโดยพระนางสลากเทวี พระนางทรงแย้งว่า “จุลนีกุมาร ผู้เป็นเชษฐาของพระติขิณมนตรีก็ยังมีชีวิตอยู่ และดำรงอยู่ในฐานะราชบุตรเขยของพระเจ้ากรุงมัททราชอีกด้วย ฉะนั้นจึงไม่ควรให้ลูกติขิณกุมารขึ้นครองราชย์ก่อน เพราะถือว่าผิดโบราณราชประเพณี”
 
    ที่ประชุมต่างรับรองความเห็นของพระนาง แล้วเริ่มปรึกษาหารือกันถึงเรื่องที่จะอัญเชิญพระจุลนีราชกุมารกลับมาครองราชบัลลังก์ เพื่อเป็นมิ่งขวัญของชาวอุตตรปัญจาลนครสืบไป

    ภายหลังจากที่พระจุลนีราชกุมาร ทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระเจ้าจุลนีพรหมทัตแล้ว พระติขิณกุมารก็ทรงมีความจงรักภักดีในพระเชษฐาธิราช คอยส่งเสริมและสนับสนุนราชกิจของพระเชษฐาอย่างดียิ่ง แม้ภารกิจในการสร้างกองทัพอันเกรียงไกรเพื่อความเป็นอธิราชเหนือชมพูทวีปของพระเจ้าจุลนี ก็ได้อาศัยพระติขิณมนตรีนี่เองเป็นกำลังสำคัญ

    จากเรื่องราวเหตุการณ์ในครั้งนั้น จึงเป็นที่มาของคำถามที่พระแม่เภรีได้ทูลถามพระเจ้าจุลนีว่า “พระอนุชาของมหาบพิตรทรงมีโทษอันใด ไฉนพระองค์จึงทรงดำริว่าจักส่งให้แก่ผีเสื้อน้ำเป็นลำดับที่สาม”

    พระเจ้าจุลนีมีพระดำรัสตอบพระแม่เภรีว่า “พระแม่เจ้า คุณงามความดีของติขิณมนตรีนั้นมีมาก ฉันซาบซึ้งแก่ใจดีไม่เคยลืมเลย แต่เธอก็มีข้อเสียอยู่มากทีเดียว และข้อหนึ่งที่สร้างความลำบากใจให้แก่ฉันอย่างยิ่งก็คือเธอมักคุยอยู่เรื่อยๆว่า “พระราชาพระองค์นี้ข้าพเจ้าเป็นผู้สถาปนาขึ้นสู่ราชบัลลังก์เอง พระราชาทรงอิสริยยศอันยิ่งใหญ่และได้รับความสุขในบัดนี้ก็เพราะข้าพเจ้านี่แหละ”
 
    แม้ในคราวที่ต้องเข้าเฝ้า เธอก็สำคัญว่าฉันเป็นเด็กไป เธอใคร่จะมาก็มา ไม่พอใจจะมาก็ไม่มา เพราะโทษเหล่านี้แหละพระแม่เจ้า ฉันจึงตัดสินใจที่จะส่งเธอให้ผีเสื้อน้ำ”

    ต่อจากนั้น พระแม่เภรีก็ทูลถามถึงโทษของธนูเสกข์ผู้เป็นบุตรพ่อครัว ซึ่งเป็นพระสหายร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพระเจ้าจุลนีว่า “ขอถวายพระพร ธนูเสกข์กับมหาบพิตรต่างก็เกิดในวันเดียวกัน เธอมีคุณอันน่าสรรเสริญหลายประการ แม้ในยามยากก็เป็นสหายร่วมเป็นร่วมตายไม่ทิ้งกัน คอยติดตามมหาบพิตรไปทุกหนแห่ง จงรักภักดีต่อมหาบพิตรอย่างสูงสุด คอยถวายการปรนนิบัติทั้งกลางวันและกลางคืน ก็แล้วธนูเสกข์มีข้อเสียหายประการใด เหตุใดมหาบพิตรจึงคิดจะส่งธนูเสกข์ให้ผีเสื้อน้ำกินเป็นคนที่สี่ ขอถวายพระพร”

    พระเจ้าจุลนีตรัสตอบว่า “พระแม่เจ้า ครั้งกระโน้นธนูเสกข์คือเพื่อนร่วมเป็นร่วมตายกับฉันก็จริงอยู่ แต่ในบัดนี้เขามิได้มีความเคารพฉันเหมือนแต่ก่อน เขาประพฤติตีเสมอ โดยไม่มีความยำเกรงเหมือนฉันเป็นเพื่อนเล่นของเขา เขาหัวเราะเล่น ตบมือ และมองดูฉันเหมือนในคราวที่ตกยากด้วยกัน ในฐานะที่เป็นมิตรร่วมยาก เขาจึงได้รับพรจากฉันให้เข้าหาได้ทุกโอกาสและทุกสถานที่ แต่เขากลับไม่เอื้อเฟื้อต่อฉันเสียเลย บางคราวฉันอยู่ในที่รโหฐานกับเหล่าสนม หรือแม้ในเวลาที่กำลังสนทนาปราศรัยกับนันทาฉันสามีภรรยา เขาก็ดันพรวดพราดเข้าไปหาฉันโดยไม่บอกไม่กล่าว นี่แหละคือโทษของธนูเสกข์ ขอพระแม่เจ้าโปรดพิจารณาด้วยเถิด”

    พระแม่เภรีได้ฟังเหตุผลนั้นแล้ว จึงทูลถามถึงโทษของพราหมณ์เกวัฏเป็นลำดับต่อไป “ขอถวายพระพร ท่านปุโรหิตเกวัฏมีอุปการะแก่พระองค์มากทีเดียว ท่านเป็นผู้ฉลาดสามารถ เชี่ยวชาญในคัมภีร์พระเวท รอบรู้ในการทำนายทายทัก เรื่องสุบินนิมิต เรื่องฤกษ์ยาม โดยเฉพาะฤกษ์ยามในการยกทัพและในการเข้ารบ รู้แม้กระทั่งเสียงร้องของสัตว์ทั้งหลาย บุคคลเช่นท่านเกวัฏนี้หาไม่ได้ง่ายเลย ปุโรหิตเกวัฏมีโทษอะไร มหาบพิตรจึงทรงดำริที่จะทรงส่งให้แก่ผีเสื้อน้ำเป็นคนที่ห้า ขอถวายพระพร”

    พระเจ้าจุลนีตรัสตอบว่า “แน่ล่ะ พระแม่เจ้า ท่านเกวัฏปุโรหิตมีความรู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ต่างๆและถือว่าเป็นบุคคลสำคัญของปัญจาละทีเดียว ตลอดเวลาที่ปฏิบัติราชการในราชสำนักของฉัน ท่านเกวัฏก็มุ่งสนองงานของฉันได้รอบด้านอย่างเต็มกำลังความสามารถ ดูเหมือนจะไม่มีใครเกิน แต่ก็นั่นแหละ ท่านเกวัฏก็มีข้อเสียหายอยู่เช่นกัน คือ ในท่ามกลางมหาชน ท่านเกวัฏมักเลิกคิ้วมองดูฉันด้วยสายตาที่แสดงอำนาจและความเป็นผู้รอบรู้อยู่เสมอ แล้วก็เหมือนโกรธฉันอยู่เรื่อยๆ นี้แหละโทษของท่านเกวัฏที่ฉันเล็งเห็น”

    พระเจ้าจุลนีทรงมีพระดำรัสตอบพระแม่เภรีอย่างถี่ถ้วน ตามที่พระองค์ทรงพิจารณาเห็น ซึ่งนับว่าเป็นการประกาศถึงพระราชอัธยาศัยอันละเอียดอ่อนและซื่อตรงของพระองค์ คือ มิได้ทรงละเว้นในเมื่อทรงเห็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมของบุคคลผู้ใกล้ชิด และมิได้ทรงปิดบังอำพรางความไม่ดีไม่งามของผู้ใดเลย

    ลำดับนั้น พระแม่เภรีจึงทูลถามว่า “ขอถวายพระพร ข้อที่มหาบพิตรตรัสว่า เมื่อส่งคนทั้งห้าให้กับผีเสื้อน้ำแล้ว คนที่หกที่มหาบพิตรจะส่งให้เป็นคนสุดท้ายก็คือมหาบพิตรเอง ซึ่งนั่นก็หมายความว่ามหาบพิตรจะทรงสละพระชนม์ชีพของพระองค์เพื่อปกป้องชีวิตของมโหสถไว้ โดยไม่ทรงคำนึงถึงความทุกข์ยากใดๆเลย อาตมาภาพจึงใคร่จะทราบว่า มหาบพิตรทรงเห็นคุณของมโหสถบัณฑิตอย่างไร จึงทรงตัดสินพระทัยกระทำสิ่งที่ทำได้ยากถึงเพียงนั้น ขอถวายพระพร”

    พระเจ้าจุลนีทรงสดับคำถามของพระแม่เภรีแล้ว ก็ทรงมีพระราชประสงค์จะประกาศคุณความดีของท่านมหาบัณฑิตให้ปรากฏ จึงมีพระดำรัสตอบว่า “ข้าแต่พระแม่เจ้า มโหสถบัณฑิตแม้จะมาจากบ้านเมืองอื่น แต่ก็มาด้วยมุ่งประโยชน์และความเจริญแก่ฉันเป็นสำคัญ และนับแต่เธอเข้ามารับราชการในราชสำนักของฉัน ฉันยังไม่เคยเห็นมโหสถทำความชั่วเลยแม้แต่น้อย แม้ความประมาทพลั้งเผลอใดๆก็หามีไม่...

    ฉันมั่นใจเหลือเกินว่า แม้ฉันจะต้องตายไปเสียก่อนในวันนี้ก็ตามทีเถิด แต่หากว่ามโหสถบัณฑิตยังคงมีชีวิตอยู่ เธอย่อมจะคอยคุ้มครองปกป้องลูกหลานของฉันให้อยู่เป็นสุขไปอีกนาน ตราบเท่าที่เธอยังมีลมหายใจ เว้นมโหสถบัณฑิตแล้ว ในมหาปฐพีนี้จะหาใครที่เป็นผู้รู้แจ่มแจ้งถึงเหตุแห่งความเจริญทั้งในปัจจุบันและอนาคตนั้น หามิได้ง่ายเลย ด้วยเหตุนี้แหละ ฉันจึงไม่ยอมส่งมโหสถบัณฑิตผู้ไร้โทษให้แก่ผีเสื้อน้ำเป็นอัน ขาด”

    พระเจ้าจุลนีทรงประกาศเกียรติคุณของมโหสถบัณฑิตในที่ประชุมของเหล่าข้าราชบริพารอย่างสูงเด่น ประหนึ่งทรงยกดวงจันทร์ขึ้นเหนือหมู่เมฆฉะนั้น

    เมื่อเกียรติคุณของมโหสถบัณฑิต ได้เป็นที่ยกย่องในท่ามกลางเหล่าข้าราชบริพารแล้ว ความกังวลใจของมโหสถบัณฑิตที่มีอยู่ก็พลันมลายหายสูญไป ส่วนว่าเกียรติคุณของมโหสถบัณฑิตจะขจรขจายไปกว้างไกลขนาดไหน แล้วบั้นปลายชีวิตของมโหสถจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป 

พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 202ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 202

ทศชาติชาดก เรื่อง ภูริทัต ตอนที่ 1 การสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์ทศชาติชาดก เรื่อง ภูริทัต ตอนที่ 1 การสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์

ทศชาติชาดก เรื่อง ภูริทัต ตอนที่ 2 ต้นเหตุแห่งเภทภัยทศชาติชาดก เรื่อง ภูริทัต ตอนที่ 2 ต้นเหตุแห่งเภทภัย



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ทศชาติชาดก