กิเลส 3 ตระกูล


[ 1 ก.ค. 2553 ] - [ 18303 ] LINE it!

กิเลส 3 ตระกูล
 
เมื่องานสำคัญของชีวิต คือ งานถางกิเลสออกจากใจให้หมดสิ้นไป
คำถามที่ต้องมาก็คือ กิเลส คือ อะไร ?
กิเลสนี้ มีอยู่ในใจเราตั้งแต่เมื่อไหร่ ?
 
 
       ในทางการแพทย์ มีการค้าพบว่า ร่างกายของแต่ละคน ล้วนมีโรคฝังติดตัวกันมาแต่กำเนิด หลังจากคลอดแล้วโรคเหล่านี้ก็รอวันที่จะปะทุขึ้นมา มีทั้งโรคเกิดจากตับ จากไต จากไส้ จากพุง และจาก อีกสารพัดอวัยวะ ยิ่งการแพทย์ก้าวหน้าไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งค้นพบว่าโรคร้ายเหล่านั้นมันฝังตัวอยู่ลึกในรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ ที่เรียกว่า ดีเอ็นเอ (DNA) , อาร์เอ็นเอ  (RNA) ถ้าจัดตัวไม่ระมัดระวัง โรคร้ายที่ฝังตัวอยู่ก็จะปะทุขึ้นมาได้ง่าย อาจทำให้ร่างกายพิการ หรือถึงแก่ชีวิตได้
 
          ในพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบว่าโรคทางกายที่ว่าหนักหนาสาหัสแล้ว ยังร้ายกาจไม่จริง ยังมีโรคอีกชนิดหนึ่งที่ฝังอยู่ในใจ แต่แพทย์ทั่งไปมองไม่เห็นเรียกว่า กิเลส
 
 
          กิเลส เป็นโรคร้ายฝังอยู่ในใจที่คอยบีบคั้นให้มนุษย์คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว แล้วผลของความชั่วทำไว้ก็ไม่หายไปไหน มันได้กลายเป็นมารร้ายย้อนกลับมา ตามจองล้างจองผลาญเราข้ามภพข้ามชาติ ให้เดือดร้อนอย่างแสนสาหัสในอนาคต เด็กเมื่อแรกเกิดดูเหมือนบริสุทธิ์ไร้เดียงสา แต่จริง ๆ แล้วมีเชื้อกิเลสอยู่ในใจ รอเวลากำเริบเมื่อพบเหยื่อล่อ กลายเป็นว่าทันทีที่เราทำความชั่ว มันก็ฉุดให้เราตกเข้าไปสู่วงจรกฎแห่งกรรมที่มีอยู่ประจำโลกนี้ทันที คือต้องเป็นทุกข์ตลอดชาตินี้ ตายไปก็ทุกข์ต่อไปอีกเพราะตกนรก พ้นโทษจากนรกกลับมาเกิดเป็นคน ก็จะเป็นคนมีทุกข์มาก
 
          นี่คือวงจรของกฎแห่งกรรมที่มันมีอยู่ประจำโลก โดยมีกิเลสในใจแต่ละคนเป็นตัวบีบคั้นให้ผู้นั้นเข้าไปติดอยู่ในวงจร
 
          พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นทรงรู้อย่างลึกซึ้งอีกด้วยว่า ถ้าแต่ละคนยังปราบกิเลสในใจได้ไม่หมด ความทุกข์มันจะไม่จบลงง่ายๆ เพราะในขณะที่วิบาก คือผลแห่งกรรมชั่วเก่า กำลังส่งผลให้เป็นทุกข์อยู่นั้น กิเลสในใจก็ยังคอยบีบคั้นให้คนสร้างกรรมชั่วใหม่เพิ่มขึ้นต่อไปอีก
 
          มนุษย์จึงต้องตกอยู่ในสภาพ วิบากกรรมเก่ายังไม่ทันหมดไป วิบากกรรมใหม่ก็กระโจนเข้ามาขย้ำซ้ำอีกอยู่ตลอดเวลา ชีวิตของมนุษย์จึงประสบแต่ความทุกข์เดือดร้อนสารพัดอย่างไรมีที่สิ้นสุดเพราะตกอยู่ในอำนาจกิเลส สมกับคำที่ว่า ชีวิตนี้มีแต่ทุกข์
 
          การที่ใครจะให้ตัวเองหลุดพ้นจากวงจรแห่งทุกข์ได้ จึงมีทางเดียวคือ ต้องกำจัดกิเลสออกไปจากให้หมดโดยสิ้นเชิง
 
          กิเลสจึงเป็นเหมือนโรคร้ายทางใจที่อันตรายว่าโรคร้ายทางกายอย่างนับเท่าไม่ถ้วน
 
 
          พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบถึงความร้ายกาจของกิเลสเป็นอย่างดี ตั้งแต่ครั้งยังเป็นพระโพธิ์สัตว์ ตลอดภพชาติอันยาวนานที่พระองค์ยังทรงเวียนว่ายในวัฏสงสาร  พระองค์ทรงรู้ดีว่าที่ต้องเป็นทุกข์อยู่ตลอดมา เพราะถูกกิเลสในใจบีบคั้นให้คิด พูด ทำ ในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร  แต่จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อพระองค์ยังมองไม่เห็นกิเลสว่ามันมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ซุกซ่อนอยู่ตรงส่วนไหนของใจเพราะแม้แต่ใจเป็นอย่างไร  พระองค์ไม่เคยมองเห็น จนกระทั่งมาถึงพระชาติสุดท้าย เมื่อคืนวันเพ็ญวิสาขบูชา พระองค์ทรงได้เค้ามูลมากพอแล้วว่า การจะเห็นใจเห็น เห็นกิเลส กำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไปได้นั้นมีทางเดียว คือต้องทำใจให้หยุดนิ่งอย่างถาวรให้ได้ ทำอย่างไรใจจึงจะหยุด ? ทรงตัดสินพระทัยทุ่มชีวิตเป็นเดิมพันเจริญภาวนา
 
          ทันทีที่ทรงลดพระวรกายลงประทับนั่งขัดสมาธิเจริญภาวนาพระองค์ทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า “แม้เลือดเนื้อในร่างกายต้องแห้งเหือดอันเป็นเครื่องดับทุกข์ทั่วปวงแล้ว ก็จะไม่ขอลุกขึ้นจากที่นี้ ”
 
          นั่นคือพระองค์ทรงเอาชีวิตเป็นเดิมพันเพื่อกำจัดกิเลสให้สิ้นซาก ในที่สุดพระองค์ก็ทรงสามารถปราบกิเลสให้หมดสิ้น และตรัสรู้ธรรมเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าได้สำเร็จด้วยพระองค์เองพร้อมกันนั้นก็เป็นการกำจัดสรรพทุกข์ไปด้วยโดยเด็ดขาด
 
          เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้วก็ไม่ได้ทรงหวงแหนความรู้ในการกำจัดกิเลสแม้แต่น้อย พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาต่อชาวโลกยิ่งนัก ใครที่พอมีแววว่าจะสามารถกำจัดกิเลสตามพระองค์ไปได้ แม้อยู่ไกลแสนไกลแค่ไหน พระองค์ทรงทุ่มเทชีวิตตลอดวันตลอดคือ เพื่อช่วยเหลือชาวโลกให้พ้นทุกข์อย่างแท้จริง ดังนั้น ในสมัยพุทธกาล จึงมีชาวโลกที่สามารถกำจัดกิเลสได้หมดสิ้น บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ติดตามพระองค์เข้าพระนิพพานไปจำนวนมาก อาทิเช่น พระปัญจวัคคีย์ พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ เป็น
 
          พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้ชาวโลกรู้ความจริงว่ากิเลสที่มีอยู่ในใจของมนุษย์ มีอยู่ 3 ตระกูลใหญ่
 
          กิเลสตระกูลที่ 1 เรียกว่า โลภะ
          กิเลสตระกูลที่ 2 เรียกว่า โทสะ
          กิเลสตระกูลที่ 3 เรียกว่า โมหะ
 
          โลภะ คือ กิเลสที่หากกำเริบขึ้นแล้ว ย่อมทำให้ใจของผู้นั้นคิดอยากได้ของคนอื่นในทางผิด เช่นคิดลักขโมย หลอกลวง ฉ้อโกง เขาเป็นต้น
 
          โทสะ คือ กิเลสที่หากกำเริบขึ้นมาแล้ว ย่อมทำให้ใจของผู้นั้น คิดทำลายคนอื่นให้เสียหายย่อยยับ เช่น เมื่อไม่ชอบใครขึ้นมา ก็คิดต่อยตีเขาให้ยับเยิน จนกระทั่งอาจถึงกับคิดฆ่า คิดเผาทำลายทรัพย์สิ่งของของเขา เป็นต้น
 
          โมหะ คือ กิเลสที่หากกำเริบขึ้นมาแล้ว ย่อมทำให้ใจของผู้นั้นลุ่มหลงในสิ่งผิดว่าเป็นถูก คิดอะไรก็คิดอย่างโง่ๆ ไม่มีความรอบคอบ เช่น คิดอิจฉาตาร้อนเขาบ้าง คิดลุ่มหลงว่าตัวเองเป็นผู้วิเศษกว่าคนอื่นบ้าง เป็นต้น
 
          กิเลสทั้ง 3 ตระกูลนี้ล้วน หมักดอง – ห่อหุ้ม- เอิบอาบ-แช่อิ่ม-บีบคั้น-บังคับ-กัดกร่อนใจของมนุษย์ให้คิดพูดทำแต่ในสิ่งที่ชั่วช้าต่างๆ จนกระทั่งผู้นั้นคุ้นเคยต่อความชั่วทั้งหลาย ในที่สุดก็กลายเป็นนิสัยไม่ดีติดตัวแต่ละคน ทำความชั่วซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเป็นสันดาน เป็นเหตุให้ต้องจมอยู่ในห้วงทุกข์มานับชาติไม่ถ้วน
 
ที่มา : หนังสือ “บวชไม่เสียผ้าเหลือง สึกไม่เปลืองผ้าหลาย” พิมพ์ครั้งที่ ๒ ๒๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐
พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทตฺตชีโว)
 
สนใจบวช หรือต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม คลิกที่นี่
 
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
รูปการ์ตูนวันสงกรานต์ รวมการ์ตูนน่ารักสำหรับส่งในวันสงกรานต์รูปการ์ตูนวันสงกรานต์ รวมการ์ตูนน่ารักสำหรับส่งในวันสงกรานต์

ขอเชิญรับชมการถ่ายทอดสด พิธีถวายสังฆทาน 266 วัด ครั้งที่ 62ขอเชิญรับชมการถ่ายทอดสด พิธีถวายสังฆทาน 266 วัด ครั้งที่ 62

สักครั้ง 'มากประโยชน์' 'อุปสมบท' 'บวช' มีดีมากกว่าบุญสักครั้ง 'มากประโยชน์' 'อุปสมบท' 'บวช' มีดีมากกว่าบุญ



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

เรื่องเด่นทันเหตุการณ์