ประวัติความเป็นมาของวันมหาปวารณา


[ 15 ต.ค. 2559 ] - [ 18283 ] LINE it!
View this page in:

กำเนิดวันมหาปวารณา ประวัติความเป็นมาของวันมหาปวารณา
คัดลอกจากหนังสือชีวิตสมณะ (ฉบับวันมหาปวารณา)

วันมหาปวารณา
วันมหาปวารณา


     วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เพราะถือเป็นวันมหาปวารณา โดยพระภิกษุสงฆ์ผู้ได้อธิษฐานจำพรรษาในอารามต่าง ๆ จะพร้อมเพรียงกันกระทำสังฆกรรม ดำเนินตามแบบอย่างแห่งอริยประเพณี อันพระภิกษุผู้อยู่ร่วมกันครบพรรษากาลเหล่านี้ จะได้กล่าวปวารณา หรือเปิดโอกาสให้กันและกัน บอกกล่าว ตักเตือน ในสิ่งที่บกพร่องพึงปรับปรุงแก้ไข พิธีอันสำคัญนี้เป็นพระพุทธานุญาต เพื่อพระภิกษุสงฆ์จะได้เป็นผู้งดงามเรียบร้อยด้วยพระธรรมวินัย เป็นศาสนทายาทผู้เจริญยิ่งด้วยสามัคคีธรรม มีความบริสุทธิ์บริบูรณ์ สมฐานะแห่งทักขิไณยบุคคล

กำเนิดวันมหาปวารณา

     ครั้งหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี มีภิกษุหลายรูปซึ่งรู้จักและคุ้นเคยกันมาก่อน ได้มาอยู่จำพรรษาร่วมกันในอาวาสแห่งหนึ่งในโกศลชนบท ภิกษุเหล่านั้นได้ปรึกษากันว่า ด้วยวิธีการอย่างไรหนอ พวกเราจึงจะอยู่จำพรรษาร่วมกันด้วยความผาสุก มีความสามัคคีปรองดอง ไม่ทะเลาะวิวาทกัน และไม่ต้องลำบากเรื่องอาหารบิณฑบาต

     ครั้นแล้วได้ปรึกษากันต่อไปว่า หากพวกเราจะไม่ทักทายปราศรัย พูดคุยซึ่งกันและกัน รูปใดบิณฑบาตกลับมาถึงก่อน ให้รูปนั้นปูอาสนะ จัดหาน้ำล้างเท้า ตั่งวางรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ ล้างภาชนะสำหรับถ่ายบิณฑบาตเตรียมตั้งไว้ จัดตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้ ส่วนรูปใดบิณฑบาตกลับมาทีหลัง หากอาหารที่รูปก่อนฉันแล้ว ยังมีเหลือ ถ้าต้องการฉันก็พึงฉัน ถ้าไม่ต้องการก็ให้เททิ้งหรือล้างเสียให้เรียบร้อย แล้วจึงเก็บอาสนะ เก็บน้ำล้างเท้า ตั่งวางรองเท้ากระเบื้องเช็ดเท้า ล้างภาชนะสำหรับถ่ายบิณฑบาตเก็บไว้ เก็บน้ำฉันน้ำใช้ กวาดหอฉัน รูปใดเห็นหม้อน้ำฉัน หม้อน้ำใช้ หม้อน้ำชำระว่างเปล่า ก็ให้จัดหาไว้ หากเกินกำลังที่จะทำได้เพียงลำพัง ให้กวักมือเรียกเพื่อนมาช่วยเหลือกัน แต่อย่าเปล่งเสียงเรียกให้เพื่อนมาช่วยเลย ด้วยวิธีการอย่างนี้แหละ พวกเราจึงจะอยู่จำพรรษาร่วมกันด้วยความผาสุก มีความสามัคคีปรองดอง ไม่ทะเลาะวิวาทกัน และไม่ต้องลำบากเรื่องภัตตาหาร ครั้นแล้วภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นจึงได้อยู่จำพรรษาร่วมกันตามวิธีนี้จนตลอด ๓ เดือน

ธรรมเนียมเข้าเฝ้า

     ภายหลังออกพรรษาแล้ว เป็นธรรมเนียมว่า ภิกษุจะต้องเดินทางไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นภิกษุเหล่านั้นจำพรรษาครบไตรมาสแล้ว จึงเดินทางไปสู่พระเชตวันเพื่อเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อถวายบังคม และได้นั่งในที่อันสมควรแก่ตนแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า อยู่จำพรรษาร่วมกันด้วยความผาสุกหรือไม่ ภิกษุเหล่านั้น แม้จำพรรษาร่วมกันอย่างไม่มีความสุขก็ยังกราบทูลว่า พวกตนอยู่จำพรรษาร่วมกันด้วยความผาสุก

     พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสถามถึงวิธีการที่ใช้ในการอยู่ร่วมกันนั้น ภิกษุเหล่านั้นจึงกราบทูลเรื่องทั้งหมดให้ทรงทราบ ทรงติเตียน และห้ามประพฤติตามอย่างเดียรถีย์ ครั้นทรงทราบแล้ว จึงรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า

     “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าโมฆบุรุษ พวกนี้แม้อยู่จำพรรษาอย่างไม่มีความผาสุกเลย ก็ยังยืนยันว่าอยู่กันด้วยความผาสุก ทราบว่าโมฆบุรุษพวกนี้อยู่จำพรรษากันอย่างกับพวกสัตว์เลี้ยงอยู่ร่วมกัน (อยู่โดยไม่มีการถามสุขทุกข์ของกันและกัน ) อย่างแพะอยู่ร่วมกัน อย่างคนประมาทอยู่ร่วมกันแท้ ๆ ยังยืนยันอีกว่า อยู่จำพรรษาด้วยความผาสุก

     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุไฉนโมฆบุรุษพวกนี้จึงได้ถือมูควัตร (ข้อปฏิบัติอย่างคนใบ้) ซึ่งพวกเดียรถีย์ถือกัน การกระทำของโมฆบุรุษเหล่านั้น ไม่เป็นที่น่าเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใสฯ”

     ครั้นแล้วทรงแสดงธรรมิกถา รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า

      “ภิกษุไม่พึงสมาทานมูควัตรที่พวกเดียรถีย์สมาทานกัน รูปใดสมาทาน ต้องอาบัติทุกกฎ”

ทรงอนุญาตการปวารณา

      ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้จำพรรษาแล้ว ปวารณาต่อกันด้วยเหตุ ๓ สถาน คือ ด้วยได้เห็น ด้วยได้ฟัง หรือด้วยนึกสงสัย (ว่าได้ทำความผิดทางกาย ทางวาจา) อันเป็นวิธีที่เหมาะสมเพื่อการว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกัน ทั้งเป็นวิธีออกจากอาบัติ และเป็นวิธีเคารพในพระวินัยของภิกษุทั้งหลายสืบไป

ปวารณาคืออะไร

     “ปวารณา” โดยรูปศัพท์ แปลว่า ยอมให้ขอ เปิดโอกาสให้ขอหรือ ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน

     ส่วนคำว่า “ปวารณา” ที่มุ่งหมายในที่นี้ หมายถึง การที่ภิกษุเปิดโอกาสให้ภิกษุอื่นว่ากล่าวตักเตือนตนเองได้ ซึ่งจัดเป็นสังฆกรรมอย่างหนึ่ง ที่พระภิกษุสงฆ์จะต้องทำร่วมกันในวันสุดท้ายของการอยู่จำพรรษา คือ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (สำหรับผู้เข้าจำพรรษาในพรรษาหลัง)

วิธีปวารณา

     ผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุ ตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไปทำปวารณาร่วมกัน โดยเมื่อถึงวันมหาปวารณา ให้ภิกษุเหล่านั้นมาประชุมกัน แสดงอาบัติต่อกันแล้ว ให้ภิกษุรูปหนึ่งสวดประกาศตั้งญัตติ(การประกาศให้สงฆ์ทราบเพื่อทำกิจร่วมกัน) ให้สงฆ์ทำปวารณาโดยเริ่มต้นจากภิกษุผู้มีพรรษามาก ไปจนถึงภิกษุผู้มีพรรษาน้อยที่สุดตามลำดับ

    ภิกษุผู้เถระมีพรรษามากกว่าทั้งหมดนั่งกระหย่ง1 ประนมมือกล่าวปวารณาก่อน ๓ ครั้ง (โดยให้ภิกษุที่มีพรรษาอ่อนกว่าปวารณาทีหลัง) ว่า

    “ท่านทั้งหลาย (“ท่านผู้เจริญ” ใช้สำหรับภิกษุผู้มีพรรษาอ่อนกว่ากล่าวกับพระภิกษุผู้มีพรรษามากกว่า) กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ยินก็ดี ด้วยนึกสงสัย (ว่ากระผมทำผิด) ก็ดี ขอท่านทั้งหลายได้ช่วยอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือนกระผม เมื่อกระผมทราบจักได้แก้ไขต่อไป”

     ในระหว่างการปวารณา ทุกรูปต้องนั่งกระหย่ง รูปไหนปวารณาเสร็จแล้วจึงจะนั่งบนอาสนะได้

วันมหาปวารณา เปิดโอกาสให้เพื่อนพระภิกษุว่ากล่าวตักเตือน
วันมหาปวารณา เปิดโอกาสให้เพื่อนพระภิกษุว่ากล่าวตักเตือน

วันทำปวารณา

     ต่อมา ภิกษุทั้งหลายสงสัยว่า วันปวารณามีกี่วัน จึงนำเรื่องไปกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงรับสั่งว่า ภิกษุทั้งหลายวันปวารณานี้มี ๒ วัน คือ วันขึ้น ๑๔ ค่ำ และวันขึ้น ๑๕ ค่ำ

อาการในการทำปวารณา

     ต่อมา ภิกษุทั้งหลายเกิดสงสัยอีกว่า อาการทำปวารณามีเท่าไร จึงนำเรื่องไปกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงรับสั่งว่า การทำปวารณามี ๔ อย่าง คือ แยกพวกกันทำปวารณาโดยไม่ชอบธรรม พร้อมเพรียงกันทำปวารณาโดยไม่ชอบธรรม แยกพวกกันทำปวารณาโดยชอบธรรม และพร้อมเพรียงกันทำปวารณาโดยชอบธรรม ซึ่งพระองค์ทรงอนุญาตให้ทำปวารณาเฉพาะที่พร้อมเพรียงกันทำโดยชอบธรรมเท่านั้น

พุทธานุญาตอื่นๆ

      ภายหลังมีภิกษุบางรูปไม่สบาย ไม่สามารถมาร่วมทำปวารณาได้ จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้ไม่สบายนั้น ใช้ให้ภิกษุอื่นทำปวารณาแทนตนได้

      ต่อมาภิกษุเกิดสงสัยอีกว่า หากมีภิกษุไม่ถึง ๕ รูป ควรทำปวารณากันอย่างไร พระพุทธองค์จึงมีพระบรมพุทธานุญาต ให้อาวาสที่มีภิกษุอยู่เพียง ๔ รูป ๓ รูป หรือ ๒ รูป ทำปวารณากันเองเป็นคณะ และหากมีเพียงรูปเดียว ให้อธิษฐานเป็นส่วนบุคคล คือ ตั้งใจว่า วันนี้เป็นวันมหาปวารณาของเราและหากมีเหตุจำเป็นบางประการ ที่จะทำปวารณา ๓ ครั้งไม่ได้เช่น เมื่อมีเหตุอันตรายหรือความไม่สะดวกอย่างใดอย่างหนึ่งใน  ๑๐ อย่างเกิดขึ้น คือ

๑. พระราชาเสด็จมา
๒. โจรมาปล้น
๓. ไฟไหม้
๔. น้ำหลากมา
๕. คนมามาก
๖. ผีเข้าสิงภิกษุ
๗. สัตว์ร้ายเข้ามา
๘. งูร้ายเลื้อยเข้ามา
๙. ภิกษุจะถึงแก่ชีวิต
๑๐. มีอันตรายต่อพรหมจรรย์

     เมื่อประสบเหตุประการใดประการหนึ่งดังกล่าว ทรงผ่อนผันให้ปวารณาเพียง ๒ ครั้ง ครั้งเดียว หรือให้ภิกษุที่มีพรรษาเท่ากันปวารณาพร้อมกันได้ นอกจากนี้ หากภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาร่วมกันด้วยความผาสุก แต่เกรงว่าเมื่อเสร็จจากปวารณาแล้ว อาจมีภิกษุบางรูปต้องเดินทางจากไป จนเป็นเหตุให้ไม่ได้รับความผาสุกในธรรมเหมือนเช่นเคย เพื่ออนุเคราะห์แก่ภิกษุเหล่านั้น จึงทรงอนุญาตให้เลื่อนวันปวารณาออกไปได้อีก ๑ เดือน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับการปวารณา

     แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าเอง ยังทรงให้ความสำคัญกับการปวารณาเป็นอย่างมาก ดังเช่นในสมัยที่พระองค์ประทับอยู่ท่ามกลางพระอรหันตสาวกหมู่ใหญ่ ๕๐ รูป ณ พระวิหารบุพพาราม

     วันนั้น เป็นวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ ทรงรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “บัดนี้เราขอปวารณาต่อเธอทั้งหลาย พวกเธอจะไม่ติเตียน กรรมอะไร ๆ ที่เป็นไปทางกายหรือทางวาจาของเราบ้างหรือ”

     เมื่อตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรประนมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายติเตียนกรรมใดๆ อันเป็นไปทางพระกายหรือทางพระวาจาของพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้เลย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะว่าพระองค์ทรงยังทางที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ทรงยังทางที่ยังไม่เกิดขึ้นพร้อม ให้เกิดขึ้นพร้อม ทรงบอกทางที่ยังไม่มีผู้บอก เป็นผู้ทรงรู้ทาง ทรงรู้แจ้งทาง ทรงฉลาดในทาง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สาวกทั้งหลายในบัดนี้เป็นผู้เดินตามทาง”

     ครั้นแล้ว ท่านพระสารีบุตร พร้อมทั้งภิกษุทั้ง ๕๐ รูป จึงได้ปวารณาต่อพระผู้มีพระภาคเช่นเดียวกัน ซึ่งพระองค์ก็ไม่ทรงเห็นการกระทำใดๆ ทั้งทางกายวาจาของพระอรหันต์เหล่านั้น ที่จะทรงติเตียนได้เช่นกันสาวก สันนิบาต สำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์อื่นๆ ก็ยังทรงอาศัยโอกาสแห่งวันปวารณานี้ เพื่อประชุมพระสาวก (สาวกสันนิบาต) อีกด้วย ดังเช่น พระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปวารณาพรรษาพร้อมด้วยภิกษุ ๙๐,๐๐๐ โกฏิ ณ ภูเขาสุทัสสนะ ในการประชุมพระสาวก ครั้งที่ ๓

    พระสุมนพุทธเจ้า ก็ทรงปวารณาพรรษา พร้อมด้วยภิกษุอรหันต์ขีณาสพ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ ในการประชุมพระสาวก ครั้งที่ ๑

    พระโสภิตะพุทธเจ้า ก็ทรงปวารณาพรรษา พร้อมด้วยพระอรหันต์ ๘๐ โกฏิ ในการประชุมพระสาวก ครั้งที่ ๓

     พระปทุมพุทธเจ้า ทรงปวารณาเป็นวิสุทธิปวารณากับผู้บวชใหม่ และภิกษุอื่น ๆ จำนวน ๓๐๐,๐๐๐ โกฏิ ในการประชุมพระสาวก ครั้งที่ ๒ และทรงปวารณาออกพรรษา พร้อมกับภิกษุผู้บวชด้วยเอหิภิกขุ จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ โกฏิ ในการประชุมพระสาวก ครั้งที่ ๓

    พระธัมมทัสสีพุทธเจ้า ทรงทำวิสุทธิปวารณาท่ามกลางภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ ซึ่งบวชภายในพรรษานั้น ณ กรุงสรณะ ในการประชุมพระสาวก ครั้งที่ ๑

วันมหาปวารณา
วันมหาปวารณา

ธรรมที่ทำให้เป็นคนว่าง่าย

     ในทางปฏิบัติ แม้ภิกษุบางรูปจะได้ปวารณาให้สหธรรมิกว่ากล่าวตักเตือนตนเองได้แล้วก็ตาม แต่หากภิกษุนั้นเป็นผู้ว่ายาก ไม่อดทนต่อคำพร่ำสอน ก็คงไม่มีใครกล้าแนะนำ หรือตักเตือนอยู่นั่นเอง ทำให้ภิกษุนั้นเสียโอกาสที่จะได้แก้ไขพัฒนาตนเอง ให้ก้าวหน้าในพระธรรมวินัยไปอย่างน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

      ในทางกลับกัน หากภิกษุใดเป็นผู้ว่าง่าย อดทนต่อคำสั่งสอน แม้จะไม่ได้ปวารณาไว้ แต่เพราะความว่าง่าย ย่อมทำให้ เพื่อนภิกษุทั้งหลายอยากแนะนำพร่ำสอนในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ดังนั้น ภิกษุผู้หวังความเจริญในพระพุทธศาสนานี้ จึงควรประกอบด้วยธรรมที่ทำให้เป็นคนว่าง่ายเหล่านี้ คือ

๑. ไม่มีความปรารถนาลามก ไม่ลุแก่อำนาจแห่งความปรารถนาลามก
๒. ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น
๓. ไม่เป็นคนมักโกรธ ไม่ถูกครอบงำด้วยความโกรธ
๔. ไม่ผูกโกรธ เพราะความโกรธเป็นเหตุ
๕. ไม่มักระแวงจัด เพราะความโกรธเป็นเหตุ
๖. ไม่เปล่งวาจาใกล้ต่อความโกรธ
๗. เมื่อถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง ก็ไม่โต้เถียงโจทก์
๘. เมื่อถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง ก็ไม่รุกรานโจทก์
๙. เมื่อถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง ก็ไม่ปรักปรำโจทก์
๑๐. เมื่อถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง ก็ไม่เอาเรื่องอื่นมากลบเกลื่อน
ไม่พูดนอกเรื่อง ไม่แสดงความโกรธ ความมุ่งร้าย และความไม่เชื่อฟัง
ให้ปรากฏ
๑๑. เมื่อถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง ก็พอใจตอบในความประพฤติ
ของตน
๑๒. ไม่เป็นคนลบหลู่ ไม่ตีเสมอ
๑๓. ไม่เป็นคนริษยา ไม่เป็นคนตระหนี่
๑๔. ไม่เป็นคนโอ้อวด ไม่เจ้ามายา
๑๕. ไม่เป็นคนกระด้าง ไม่ดูหมิ่นผู้อื่น
๑๖. ไม่เป็นคนถือแต่ความเห็นของตน ไม่ถือรั้น เมื่อรู้ว่าตนกระทำผิดก็ยอมรับได้ง่าย

      พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายทรงให้ความสำคัญกับ “การปวารณา” เป็นอย่างมาก เนื่องจากทรงเห็นว่า “การปวารณา” จะเป็นประโยชน์ และเป็นโอกาสแก่ภิกษุที่อยู่จำพรรษาร่วมกัน จะได้ชี้ขุมทรัพย์ คือ การว่ากล่าวแนะนำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณธรรมความดีงามให้แก่กัน ทั้งนี้เพื่อความสะอาดหมดจดแห่งพรหมจรรย์ และเพื่อความสำรวมระวังทั้งกายวาจาใจ สืบไป

      ขุมทรัพย์จากการปวารณา จึงเป็นเหตุเกื้อกูลให้พระภิกษุสามารถฝึกฝนอบรมตนเองให้เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าในพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างรวดเร็ว สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นอายุของพระพุทธศาสนา และเป็นนาบุญอันประเสริฐของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ๏

ที่มา:
มหามกุฏราชวิทยาลัย. (๒๕๒๕ ). พระวินัยปิฎกและอรรถกถาแปล เล่มที่ ๖. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย.
มหามกุฏราชวิทยาลัย. (๒๕๒๕ ). พระสูตรและอรรถกถาแปล เล่มที่ ๑๘, ๒๕ , ๗๓ , กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย.
ราชบัณฑิตยสถาน. (๒๕ ๔๒). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๖. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ: บริษัทนานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่น จำกัด.

บทความที่น่าสนใจอื่นๆ

วันมหาปวารณา วันที่พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้
มงคลที่ ๒๘ เป็นคนว่าง่าย - โทษของการเป็นผู้ว่ายาก
มงคลที่ ๒๘ เป็นคนว่าง่าย - มหาสมุทรแห่งคุณธรรม
มงคลที่ ๒๘ เป็นคนว่าง่าย - การฝึกตน บนเส้นทางอริยะ
มงคลที่ ๒๘ เป็นคนว่าง่าย - ทางมาแห่งคุณธรรม


วันมหาปวารณา


วันสำคัญอื่นๆ ใกล้เคียงกัน

วันออกพรรษา ประวัติความเป็นมาวันออกพรรษา
บั้งไฟพญานาค
15 ค่ำ เดือน 11



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ประวัติความเป็นมาของวันมหาปวารณาประวัติความเป็นมาของวันมหาปวารณา

คำสอนหลวงพ่อธัมมชโย โอวาทในวันมหาปวารณาคำสอนหลวงพ่อธัมมชโย โอวาทในวันมหาปวารณา



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ชีวิตสมณะ ฉบับมหาปวารณา