ธรรมกาย ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทยุคต้น


[ 11 ก.ค. 2556 ] - [ 18271 ] LINE it!

ธรรมกาย
ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทยุคต้น

เรื่อง : ดร.ชนิดา จันทราศรีไศล
 
ธรรมกาย ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทยุคต้น


     พระไตรปิฎกเป็นแหล่งความรู้สำคัญในพระพุทธศาสนา พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีได้รับการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในประเทศศรีลังการาวพุทธศตวรรษที่ 5 จากนั้นก็คัดลอกกันเรื่อยมาในดินแดนอุษาคเนย์
 
       เมื่อมีประเด็นถกเถียงในวงวิชาการว่าธรรมกายนั้นหมายถึงกายแห่งการตรัสรู้ธรรมหรือหมวดหมู่แห่งคำสอนของพระพุทธองค์กันแน่ ดร.ชนิดา จันทราศรีไศล จึงได้ค้นคว้าหาคำตอบจากพระไตรปิฎกบาลี จากการวิเคราะห์อย่างลุ่มลึกในเชิงภาษา ได้คำตอบที่ยืนยันว่า ธรรมกายนั้น น่าจะหมายถึง “กายแห่งธรรม” หรือกายแห่งการตรัสรู้ธรรมมากกว่าอย่างอื่น เนื่องจากในอัคคัญญสูตรพระพุทธองค์ทรงใช้คำว่า “ธรรม” ในความหมายว่าเป็นสิ่งสูงสุด คำว่า “ธรรม” จึงควรหมายถึง “โลกุตตรธรรม” ส่วนความหมายของ “กาย” มีเหตุผลที่ยืนยันได้ชัดเจนว่าเป็น องค์รวมที่ทำหน้าที่ได้ อันเป็นความหมายแบบเดียวกับร่างกาย

ดร.ชนิดา จันทราศรีไศล บ.ศ.9 จบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านศาสนศึกษาจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลียปัจจุบันกำลังทำการวิจัยเรื่องธรรมกายจากคัมภีร์โบราณภาษาคานธารีและสันสกฤตที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา

       “ธรรมกาย” เป็นคำที่คุ้นเคยกันดีในหมู่ชาวพุทธ แต่ความหมายของธรรมกายในใจของชาวพุทธแต่ละกลุ่มอาจไม่เหมือนกัน ในขณะที่ชาวพุทธในบางประเทศรู้จักธรรมกายเพียงในฐานะที่เป็น “คำสอนของพระพุทธองค์” ชาวพุทธในบางท้องที่กลับรู้จักธรรมกายมาช้านานในฐานะที่เป็นกายแห่งการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือกายอันเป็นที่รวมคุณธรรมและคุณวิเศษของพระองค์ หรือในฐานะที่เป็นกายที่แท้หรือตัวตนที่แท้จริงของพระพุทธองค์
 
      เมื่อความเข้าใจเรื่องธรรมกายในหมู่ชาวพุทธแตกต่างกันอย่างนี้ จึงน่าศึกษาว่า คำว่า “ธรรมกาย” ในคำสอนเก่าแก่ที่เก็บรักษาไว้โดยชาวพุทธในแต่ละท้องถิ่นนั้นเป็นอย่างไร
 
      เริ่มต้นจากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว คือความหมายของธรรมกายในพระพุทธศาสนาเถรวาทยุคต้นโดยศึกษาที่ตัวหลักฐาน คือข้อความที่ปรากฏคำว่า “ธรรมกาย” ใน พระไตรปิฎกบาลี อันเป็นตัวแทนคำสอนที่เก่าแก่ที่สุดในพระพุทธศาสนาเถรวาท

     ในพระไตรปิฎกบาลี พบคำว่า ธรรมกาย 4 แห่ง คือ 1 แห่งใน อัคคัญญสูตร และอีก 3 แห่ง ใน อปทาน ซึ่งบทความนี้ จะนำเสนอในเชิงวิเคราะห์อย่างง่าย เพื่อพิจารณาความน่าจะเป็นในเชิงวิชาการ สำหรับความหมายของธรรมกายในพระไตรปิฎกบาลี

1. อัคคัญญสูตร: คำว่า ธรรมกายเป็นชื่อของพระตถาคต

     หลักฐานชิ้นแรกในพระไตรปิฎกบาลี ที่ปรากฏคำว่า ธรรมกาย อยู่ในอัคคัญญสูตรปาฏิกวรรคในทีฆนิกาย เป็นข้อความที่พระพุทธองค์ตรัสกับสามเณรสองรูป นามว่า วาเสฏฐะและภารทวาชะ ผู้ออกบวชจากตระกูลพราหมณ์เนื้อหากล่าวถึงคุณสมบัติของผู้ที่ได้ชื่อว่า เป็นบุตรของพระพุทธองค์ ดังนี้

      “วาเสฏฐะและภารทวาชะ ใครก็ตามที่มีศรัทธาตั้งมั่นในพระตถาคต หยั่งรากลึก มั่นคงโดยที่สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลกไม่อาจทำให้กลับกลายได้ ควรเรียกผู้นั้นว่า เป็นบุตรเกิดแต่พระอุระ เกิดแต่พระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้เกิดจากธรรม เป็นผู้ที่ธรรมเนรมิตขึ้น เป็นทายาทแห่งธรรม ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะคำว่า ธรรมกาย พรหมกายธรรมภูต หรือ พรหมภูต ก็ตาม ล้วน เป็นชื่อของตถาคต” (แปลอย่างง่าย จากพระไตรปิฎกบาลี สยามรัฐ เล่มที่ 11 ข้อ 55 หน้า 92)

      ข้อความเกี่ยวกับ “ธรรมกาย” ในอัคคัญญสูตรนี้ เป็นหลักฐานเพียงชิ้นเดียวในพระไตรปิฎกบาลี ที่นักวิชาการผู้ศึกษาเรื่องธรรมกายในพระพุทธศาสนายุคดั้งเดิมทุกคนอ้างอิงถึง แต่ก็ตีความต่างกันไป

       บางท่านว่า “ธรรมกาย” เป็นคำนาม แปลว่า หมวดหมู่แห่งคำสอนของพระพุทธองค์ บางท่านว่า เป็นคำคุณศัพท์ ที่ขยายความว่ากายที่แท้จริงของพระพุทธองค์ ก็คือ คำสอนที่ทรงมอบให้กับพุทธบริษัท และบางท่านตีความว่า กายของพระองค์ คือ อริยมรรคมีองค์ 8 ส่วนธรรมชาติที่แท้ของพระองค์นั้น ก็คือ นิพพาน

      ยังมีบางท่านแสดงความเห็นเพียงว่า คำว่า “ธรรมกาย” มีมานานแล้ว ส่วนการตีความ ธรรมกายว่าหมายถึงคำสอนของพระพุทธองค์นั้นเกิดขึ้นในภายหลัง ...

      เนื่องจากธรรมกายเป็นคำสมาส เกิดจากคำว่า ธรรม + กาย ดังนั้นการที่ตีความธรรมกายแตกต่างกันไป ก็เป็นเพราะความหมายที่หลากหลายของคำศัพท์ทั้ง 2 นี้เอง

      กาย อาจหมายถึง ตัว ตน ร่างกาย หรือจะหมายถึง ที่ประชุมรวม กลุ่ม หมวดหมู่ พวก ฝูง กอง ก็ได้
ธรรม อาจหมายถึง ธรรมชาติที่มีอยู่จริงและเข้าถึงได้ และอาจหมายถึง คำสอน หรือถ้อยคำที่กล่าวถึงธรรมชาติที่มีอยู่จริงนั้น ก็ได้เช่นเดียวกัน

      เมื่อองค์ประกอบทั้งสองมีนัยหลากหลายอย่างนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่การศึกษาด้วยสุตมยปัญญา และ จินตมยปัญญา คือด้วยการเรียนรู้และด้วยการตรึกตรอง จะทำให้เข้าใจความหมายของธรรมกายในนัยที่แตกต่างกันได้ จนกว่าจะได้เข้าถึงธรรมแท้ที่มีอยู่ภายในตนด้วยตนเองอันเป็นความเข้าใจโดยภาวนามยปัญญา คือปัญญาอันเกิดจากการเจริญภาวนา

(โปรดติดตามตอนต่อไป)
 

บทความที่เกี่ยวข้องความหมายของ "ธรรม" ในคำว่า "ธรรมกาย"



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ธรรมกาย กายแห่งการตรัสรู้ธรรมธรรมกาย กายแห่งการตรัสรู้ธรรม

วิชชาธรรมกาย ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายของพระพุทธองค์วิชชาธรรมกาย ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายของพระพุทธองค์

ผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกายผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกาย



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมกาย