ปรากฏการณ์สำแดงอานุภาพของพระบรมธาตุ (1)


[ 20 ก.พ. 2557 ] - [ 18272 ] LINE it!

พระบรมธาตุ

ปรากฏการณ์สำแดงอานุภาพของพระบรมธาตุ
 
ปรากฏการณ์สำแดงอานุภาพของพระบรมธาตุ (1)
 
 
การเพิ่มหรือลดจำนวน

     เปล่งแสงสว่างเป็นฉัพพรรณรังสีและดวงรัศมี : มีหลายลักษณะและมีบันทึกไว้มากมายหลายยุคหลายสมัย จะขอยกตัวอย่างไว้พอสังเขปดังต่อไปนี้...
 
พระบรมธาตุที่บรรจุในเจดีย์ภูเขาทอง
 
      เปล่งรัศมี สว่างไสวในห้องเคบินในเรือ ต่อหน้าเจ้าพระยายมราช และข้าราชการหลายคน ขณะที่อัญเชิญมาจากอินเดีย

ในลังกา


     พระบรมธาตุส่วนหน้าผาก (นลาฏ) ในสมัยพระเจ้ามหานาคได้มีฉัพพรรณรังสีพุ่งขึ้นในวันอุโบสถ ได้โปรดให้สร้างสถูปประดิษฐานไว้ใกล้พระราชวัง ณ ตำบลหนองหมูชื่อ วรภัสปลายสระเสรุ ด้านขวาแม่น้ำมหาวาลุกคงคา

      พระเขี้ยวแก้วข้างซ้าย : สมัยพระเจ้าพรหมฑัต กรุงทันตปุระ แค้วนกลิงค์ ได้ประดิษฐานพระบรมธาตุไว้ในมณฑปและทำนุบำรุงเป้นอย่างดี ต่อมาสมัยพระเจ้าคุหสีวะ พวกนิครนถ์ยุยงพระเจ้าปัณฑุราช กรุงปาฎลีบุตร ว่าพระเจ้าคุหสีวะตำหนิติเตียนพระศิวะและพระพรหมที่พระเจ้าปัณฑุราชนับถือ พระเจ้าปัณฑุราชเชื่อคำยุยงจึงให้เจ้าจิตตยาน เจ้าประเทศราชไปเอาตัวพระเจ้าคุหสีวะพร้อมทั้งพระทันตธาตุนั้นมา สั่งให้พวกนิครน์เผาพระธาตุ ก็ปรากฏดอกบัวโตเท่าล้อรถผุดขึ้นมารองรับพระธาตุไว้ไม่ให้ไหม้ไฟ สั่งให้ตีด้วยค้อนเหล็กโดยวางพระธาตุไว้บนทั่ง พระธาตุจมลงไปครึ่งองค์ พวกนิครนถ์ทูลว่า เป้นพระธาตุพระนารายณ์จึงมีอานุภาพอย่างนี้ ครั้นพระเจ้าปัณฑุราชสั่งให้ดึงออกมาด้วยอานุภาพพระนารายณ์ ก็ไม่สามารถดึงออกมาได้ บุตรชายเศรษฐีคนหนึ่งชื่อสุภัทร นับถือพุทธ ได้อาสาดึงออกด้วยสัตยาธิษฐานพระทันตาตุก้ออกมาโดยง่าย พระราชายังไม่เชื่อให้เอาไปทิ้งคูสกปรก ก็มีดอกไม้หอมต่างๆ ขึ้นมารองรับ พระราชาจึงเชื่อถือ และนำไปประดิษฐานยังราชมณเฑียรภายหลังมีเรื่องปาฏิหาริย์ผจญภัยอีกนับครั้งไม่ถ้วน ในที่สุดพระธาตุองค์นี้ไปอยู่กับพระเจ้ากิตติสิริเมฆ กรุงลังกา ได้แสดงปาฏิหาริย์ต่างๆ พระราชาทรงปีติปราโมทย์ โปรดให้จัดกระบวนแห่พระทันตาตุไปสู่กรุงอนุราธปุระ สักการบูชา แล้วสร้างมณฑปประดิษฐานไว้จนทุกวันนี้

กรุงสุโขทัย


     ราว พ.ศ. 1900 สมัยพระยาลือไท ครั้งทรงผนวชอยู่ได้ทรงมนัสการพระธาตุ พระคีวธาตุ พระทันตาตุ พระเกศธาตุในลังกา ทรงได้พบปาฏิหาริย์ต่างๆ คือเปล่ง ฉัพพรรณรังสี สีเหลือง เหลือบแดง เขียว ขาว เสด็จไปในอากาศเหมือนสายฟ้า แลบบ้าง ล่องลอยเหนือดวงดาวบ้าง พระองค์ได้ทรงเที่ยวแสดงหาพระธาตุ และโพธิ์ตรัสรู้ นำกลับมายังกรุงสุโขทัย (ในศิลาจารึกกล่าวว่า...ยังเอาพระศรีรัตนมหาธาตุสองลูกแต่สิงหลมาประดิษฐานที่นั้นโสต..)

     ในสมัยพระเจ้าเลอไท พบพระธาตุในวิหารเกาแก่ แสดงปาฏิหาริย์แสงสว่างรุ่งโรจน์ ได้ทรงส่งพระสุมนเถระไปช่วยบำรุงศาสนาในเชียงใหม่ พระสุมนเถระนำพระบรมธาตุไปด้วย ระหว่างเดินทาง ไม่ว่าจะนอนที่ใดพระบรมธาตุก็เปล่งรัศมีแสดงปาฏิหาริย์ต่างๆ น่าอัศจรรย์ยิ่ง บางคราวเป็นพายุบางคราวเหมือนสีทอง เหมือนแสงดาวบางคราวแผ่เป็นรัศมีกว้างขวางงดงามประเสริฐยิ่ง ยังความปลาบปลื้มแก่สาธุชน กระทำปาฏิหาริย์ทุกวัน (ปัจจุบันอยู่ที่วัดสวนดอก เชียงใหม่)
 
วัดสวนดอก (พระอารามหลวง)

หริภุญชัย


    ราว พ.ศ. 1590 สมัยพระเจ้าอาทิตยราช ถูกกา (เทพ) รักษาพระธาตุถ่าย มูลรดพระเศียรขณะจะทรงถ่ายพระบังคนหนัก ณ จุดที่ตั้งพระธาตุหริภุญไชยปัจจุบัน ทรงรับสั่งให้จับกา ให้เณรเรียนภาษากา จนในที่สุดก็รู้ว่ามีพระธาตุอยู่ ณ ที่นั้น ทรงอธิษฐานว่าถ้ามีพระธาตุอยู่จริง ขอจงแสดงปาฏิหาริย์ให้ประจักษ์ ขณะนั้น ผอบพระธาตุที่พระเจ้าอโศกได้ทรงทำไว้ (พันกว่าปีก่อนหน้านั้น) ก็ผุดขึ้นมาสูง 3 ศอก เปล่งฉัพพรรณรังสีลอยอยู่ ณ ที่นั้น ยังให้ปีติปราโมทย์โดยทั่วกัน ครั้นจะย้ายไปที่อื่นก็จมลงอีก เมื่อพระราชาอธิษฐานว่าจะสร้างเจดีย์ไว้ที่เดิมจึงผุดขึ้นมาเปล่งรังสีอีกครั้งหนึ่ง จึงทรงสร้างสถูปทรงปราสาทสูง 12 ศอก มี 4 เสา 4 ประตู เมื่อ พ.ศ. 1607 (คือพระธาตุหริภุญชัยในปัจจุบัน)

กรุงศรีอยุธยา


     พ.ศ. 1927 พระราเมศวรเสด็จออกทรงศีลยังพระที่นั่งมังคลาภิเษกเพลา 10 ทุ่มทอดพระเนตรโดยฝ่ายทิศบูรพา เห็นพระบรมสารีริกธาตุเสด็จปาฏิหาริย์ เรียกปลัดวังให้เอาพระราชยานทรงเสด็จออกไป ให้เอาครุยปักษ์ขึ้นไว้ สถาปนาพระมหาธาตุนั้นสูง 19 วา ยอดนภศูลสูง 3 วา ชื่อวัดมหาธาตุ แล้วให้ทำพิธีประเวศพระนครแล้วเฉลิมพระราชมณเฑียร

     พระนเรศวรมหาราช พ.ศ. 2117 วันอาทิตย์เดือน 3 แรม 6 ค่ำ ปีฉลู เพลา 11 ทุ่ม 9 บาท ได้เสด็จทรงพระคชาธารพร้อมด้วยพยุหะแสนยากร ทอดพระเนตรเห็นพระบรมธาตุเสด็จปาฏิหาริย์แต่บูรพาทิศผ่านพระคชาธารไปในประจิมทิศเท่าผลมะพร้าวปอก แล้วเสด็จยาตราทัพออกไปโดยประตูชัยเสน

      ปี 2127 วันศุกร์เดือน 6 แรม 3 ค่ำ เพลา 11 ทุ่ม ให้เอาพระคชาธารเข้าเทียบเกย ทอดพระเนตรเห็นพระบรมธาตุเสด็จปาฏิหาริย์มาแต่ประจิมทิศ ผ่านคชาธารไปข้างบูรพาทิศ

      พ.ศ. 2135 ที่เมืองป่าโมก วันอาทิตย์เดือนยี่ ขึ้น 11 ค่ำ ปี เถาะ เอกศก จ.ศ. 951 เวลา 11 ทุ่ม 3 บาท พระนเรศวรเสด็จยังเกย (ช้าง) คอบฤกษ์ ทอดพระเนตรเห็นพระบรมธาตุเสด็จปาฏิหาริย์ขนาดเท่าผลส้มเกลี้ยงมาแต่ทักษิณทิศ เวียนเป็นทักษิณาวัตรแล้วเสด็จไปอุดรทิศ ทรงพระปีติซ่าน ไปทั่วพระวรกาย ยกพระหัตถ์ถวายทัศนัข (พนมมือ 10 นิ้ว) สโมธานอธิษฐานสวัสดีมีชัย ให้ชนะปรปักษ์ พระโหราธิบดีก็ให้ประโคมแตรสังข์ดุริยางคดนตรีพร้อมกัน

     สมเด็จพระเอกาทศรถทอดพระเนตรพร้อมพระเชษฐา (พระนเรศวรฯ) 4 ครั้ง และทอดพระเนตรต่างหากอีก 1 ครั้ง เมื่อเสด็จไปปราบพระยาศรีไสยณรงค์เป็นขบถ ที่เมืองตะนาวศรี พ.ศ. 2137 เมื่อเพลา 3 ยาม 3 บาท พระบรมสารีริกธาตุใหญ่เท่าผลส้มเกลี้ยงเสด็จผ่านด้านตะนาวศรีมาแต่ทิศอุดรไปเฉียงอาคเนย์ พระรัศมีสว่างวาบไปทั่วอากาศและปฐพี ทรงปีติโสมนัส ถวายทัศนัขสโมทานเหนือพระศิโรดมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วปุโรหิตตาจารย์ทั้งหลายให้ประโคมแตรสังค์ดุริยางคดนตรีปี่พาทย์ฆ้องชัยในทันที

     พระเจ้าปราสาททอง พ.ศ. 2173 เมื่อครั้งยังเป็นเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ตรงกับวันเสาร์ เสด็จมาหน้าพระกาฬจึงลงจากม้า ตั้งสัจจาอธิษฐานว่า ตัวเรา ปรารถนาพระโพธิญาณ ถ้าจะสำเร็จแก่พระพุทธสมบัติเป็นแท้ จะยกเข้าไปล้างผู้อสัตย์ ขอให้สำเร็จสมดังปรารถนา เสร็จอธิษฐานแล้วเพลาพลบค่ำ จึงมาตั้งซุ่ม พลอยู่ ณ วัดสุทธาวาส ครั้นเพลา 8 ทุ่ม นั่งคอยฤกษ์พร้อมกัน เห็นพระสารีริกธาตุ เสด็จมาแต่ปัจจิมทิศผ่านไปปราจีนทิศ ได้นิมิตเป็นมหามงคลฤกษ์อันประเสริฐ  ก็ยกพลเข้าประตูมงคลสุนทร

      พ.ศ. 2225 พระเทพราชา และขุนหลวงสรศักดิ์เห็นพระธาตุปาฏิหาริย์ขณะเชิญพระบรมศพสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจากพระราชวังลพบุรีลงมานครศรีอยุธยาโดยชลมารค มีข้อความในพงศาวดารว่า แล้วพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการสั่งให้เชิญพระโกศขึ้นบนมหาปฤษฎาธารพระที่นั่งสุวรรณหงษ์ กำนันแสงถวายเครื่องต้น เจ้าพนักงานเอาเรือพระที่นั่งสีสักหลาดสองลำเข้ามาประทับ เสด็จลงเรือพระที่นั่งสีสักหลาดองค์ละลำลอยลงมาท้ายพระที่นั่งสุวรรณหงส์ เสด็จลงมาถึงบ้านตลุง เพลาประมาณ 2 ทุ่มเศษ พระบรมสารีริกธาตุเสด็จปาฏิหาริย์ผ่านหน้าเรือพระที่นั่งสุวรรณหงส์ วนเวียนรอบเรือพระที่นั่งนั่น
 
อ่านบทความอื่นๆ



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
พระเทพสุวรรณโมลี (สอิ้ง สิรินันโท)พระเทพสุวรรณโมลี (สอิ้ง สิรินันโท)

พระราชภัทรธาดา (ประเทือง กิตฺติสทฺโท) เจ้าคณะจังหวัดปราจีนบุรีพระราชภัทรธาดา (ประเทือง กิตฺติสทฺโท) เจ้าคณะจังหวัดปราจีนบุรี

พระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม) รองสมเด็จพระราชาคณะพระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม) รองสมเด็จพระราชาคณะ



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

พระพุทธศาสนา