การประเคนของแด่พระภิกษุสงฆ์


[ 28 ก.ค. 2554 ] - [ 18449 ] LINE it!

ศาสนพิธีของศาสนาพุทธ
ศาสนพิธีทางพระพุทธศาสนาและหน้าที่ชาวพุทธ
 
การประเคนของแด่พระภิกษุสงฆ์
 
การประเคนภัตตาหารแด่คณะสงฆ์
 
พระวินัยบัญญัติห้ามพระภิกษุสงฆ์รับหรือหยิบสิ่งของมาขบฉันเองโดยไม่มีผู้ประเคนให้ถูกต้องเสียก่อน 
  
     การประเคนหมายถึงการมอบให้ด้วยความเคารพ ใช้ปฎิบัติต่อพระภิกษุสงฆ์เท่านั้น มีวินัยบัญญัติห้ามพระภิกษุสงฆ์รับ หรือหยิบสิ่งของมาขบฉันเอง โดยไม่มีผู้ประเคนให้ถูกต้องเสียก่อน เพื่อตัดปัญหาเรื่องการถวายแล้วหรือยังไม่ได้ถวาย จึงให้พระภิกษุสงฆ์รับของประเคนเท่านั้น  ยกเว้นน้ำเปล่าที่ไม่ผสมสี  เช่น  น้ำฝน  น้ำประปา เป็นต้น เพื่อเป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนว่า สิ่งของนั้นๆ เป็นของจัดถวายพระภิกษุสงฆ์แน่นอน  โดยมีผู้ประเคนเป็นพยานรู้เห็นด้วยผู้หนึ่ง การประเคนของจึงเป็นการสนับสนุนให้พระภิกษุสงฆ์ปฎิบัติตามพระวินัยได้ถูกต้อง
 
การประเคนที่ถูกต้องตามหลักพระวินัยมีลักษณะที่กำหนดไว้ 5 ประการ ดังนี้
 
1.  สิ่งของที่จะประเคนต้องไม่ใหญ่จนเกินไปหรือหนักเกินไป ขนาดคนพอมีกำลังปานกลางยกขึ้นได้ ถ้าหนักหรือใหญ่เกินไปไม่ต้องประเคน
 
2.  ผู้ประเคนต้องอยู่ในหัตถบาส คือเอามือประสานกันแล้วยื่นไปข้างหน้า ห่างจากพระภิกษุสงฆ์ผู้รับประมาณ 1 ศอก
 
3.  ผู้ประเคนน้อมสิ่งนั้นส่งให้พระภิกษุสงฆ์ด้วยกริยาอ่อนน้อม แสดงความเคารพ
 
4.  การน้อมสิ่งของเข้ามาให้นั้นจะส่งให้ด้วยมือก็ได้หรือใช้ขิงเนื่องด้วยกายก็ได้ เช่น ใช้ทัพพี หรือช้อนตักอาหารใส่บาตรที่ท่านถือ หรือสะพายอยู่ก็ได้
 
5.  ในกรณีผู้ประเคนเป็นชาย พระภิกษุสงฆ์ผู้รับจะรับด้วยมือ ในกรณีผู้ประเคนเป็นผู้หญิง จะรับด้วยของเนื่องด้วยกาย เช่น ผ้าทอดรับ ใช้บาตรรับ ใช้จานรับ
 
การประเคนของแด่คณะสงฆ์
      
การประเคนที่ถูกต้องตามหลักพระวินัยมีลักษณะที่กำหนดไว้ 5 ประการ
 
    เมื่อการประเคนได้ลักษณะครบทั้ง 5 ประการนี้ จึงเป็นอันประเคนถูกต้อง ถ้าไม่ได้ลักษณะนี้เช่นของนั้นใหญ่และหนักจนยกไม่ขึ้น ผู้ประเคนอยู่นอกหัตถบาส หรือผู้ประเคนเสือกของส่งให้ เป็นต้น แม้จะส่งให้พระภิกษุสงฆ์แล้วก็ตาม  ก็ได้ชื่อว่ายังไม่ได้ประเคนนั่นเอง
 
1.  ถ้าเป็นชาย ให้คุกเข่าหน้าพระภิกษุสงฆ์ ห่างจากท่านประมาณ 1 ศอก  ยกของที่จะประเคนส่งให้ท่านไปเลย
 
2.  ถ้าเป็นหญิง  ให้วางของที่จะประเคน  ลงบนผ้ารับประเคนที่ท่านทอดออกมารับ  แล้วปล่อยมือเพื่อพระภิกษุสงฆ์จะได้หยิบของนั้น
 
3.  เมื่อประเคนเสร็จแล้ว  ให้กราบ 3 ครั้ง  หรือไหว้ 1 ครั้งก็ได้  ถ้าของที่จะประเคนมีมากให้ประเคนของให้หมดเสียก่อน  แล้วจึงกราบหรือไหว้  ไม่นิยมกราบหรือไหว้ทุกครั้งที่ประเคน
 
4.  ถ้าพระภิกษุสงฆ์รับประเคนนั่งเก้าอี้หรืออยู่บนอาสนะสูง  ผู้ประเคนไม่อาจนั่งประเคนได้ให้ถอดรองเท้าเสียก่อนแล้วยืนประเคนตามวิธีที่กล่าวแล้ว
 
5.  ของที่ประเคนแล้ว ห้ามคฤหัสถ์แตะต้องอีก เป็นเรื่องพระภิกษุท่านจะหยิบส่งกันเอง หากไปแตะต้องเข้าโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม  ของนั้นถือว่าขาดประเคน  จะต้องประเคนใหม่
 
6.  สิ่งของที่ไม่ใช่ของเคี้ยวของฉัน เช่น กระโถน จาน ช้อน แก้วเปล่า กระดาษ เป็นต้น  ไม่นิยมประเคน
 
การถวายภัตตาหารแด่คณะสงฆ์
         
การถวายภัตตาหารแด่คณะสงฆ์อย่างถูกวิธี
 
     สิ่งของที่ไม่สมควรประเคนถวายแด่พระภิกษุสงฆ์  คือ เงิน และวัตถุที่ใช้แทนเงิน  เช่น ธนบัตร  ไม่สมควรประเคนพระภิกษุสงฆ์โดยตรง แต่นิยมใช้ใบปวารณาดังตัวอย่างแทนตัวเงิน ส่วนตัวเงินนิยมมอบไว้กับไวยาวัจกรของพระภิกษุสงฆ์รูปนั้น
 
    ใบปวารณานี้ นิยมใส่ซองร่วมถวายไปกับเครื่องไทยธรรม ส่วนเงินค่าจตุปัจจัยนั้นมอบไปกับศิษย์หรือไวยาวัจกรของพระภิกษุสงฆ์นั้นๆ
 
สิ่งของที่ต้องห้ามและสิ่งของที่ประเคนได้สำหรับพระภิกษุสงฆ์
 
1. อาหารที่ไม่สมควรแก่สมณบริโภค  ได้แก่  เนื้อ 10 ชนิด และอาหารที่ปรุงด้วยเนื้อ 10 ชนิด ดังนี้ 

      1.  เนื้อมนุษย์รวมถึงเลือดมนุษย์ด้วย
      2.  เนื้อช้าง
      3.  เนื้อม้า
      4.  เนื้อสุนัข
      5.  เนื้องู
      6.  เนื้อราชสีห์
      7.  เนื้อเสือโคร่ง
      8.  เนื้อเสือเหลือง
      9.  เนื้อหมี
      10. เนื้อเสือดาว
 
       ส่วนเนื้อสัตว์นอกเหนือจากนี้ถ้าเป็นเนื้อที่ยังดิบอยู่  ยังไม่สุกด้วยความร้อนจากไฟ  ทรงห้ามฉันถ้าสุกแล้วอนุญาตให้ฉันได้  และเนื้อสัตว์ที่ฆ่าเจาะจงทำถวายพระภิกษุสงฆ์สามเณร  ถ้าพระภิกษุสงฆ์ไม่ได้เห็นการฆ่านั้น ไม่ได้ยินมาก่อนว่าฆ่าเจาะจง ไม่ได้สงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อเป็นของเฉพาะเจาะจงแก่ตนก็ขบฉันได้ไม่มีโทษ
 
2.  สิ่งของที่ประเคนพระภิกษุสงฆ์ได้ในเวลาก่อนเที่ยง
  
เครื่องไทยธรรมประเภทอาหารคาวหวานทุกชนิด  ได้แก่
 
     1.  อาหารสด เช่น อาหารคาว หวาน รวมทั้งผลไม้ทุกชนิด
     2.  อาหารแห้ง เช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็ม ข้าวสาร ฯลฯ
     3.  อาหารเครื่องกระป๋องทุกประเภท เช่น นม โอวัลติน ปลากระป๋อง
 
     สิ่งของดังกล่าวนิยมถวายพระภิกษุสงฆ์ได้ในช่วงเวลาก่อนเที่ยงเท่านั้น  ถ้าจะนำไปถวายหลังเที่ยงวันไปแล้ว  นิยมเพียงแต่แจ้งให้พระภิกษุสงฆ์ทราบ แล้วมอบสิ่งของดังกล่าวให้ลูกศิษย์ของท่านเก็บรักษาไว้ถวายท่านในวันต่อไป
 
3. สิ่งที่ประเคนได้ตลอดเวลา เครื่องดื่มทุกชนิด  ประเภทเครื่องยาบำบัดป่วยไข้ หรือประเภทเภสัชที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย
 
4.  วัตถุอนามาส  สิ่งของที่พระพุทธองค์ทรงห้ามพระภิกษุสงฆ์จับต้องเรียกว่า  วัตถุอนามาส ห้ามนำมาประเคนถวายพระภิกษุสงฆ์  เพราะผิดวินัยบัญญัติ ได้แก่
 
     1.  ผู้หญิง ทั้งที่เป็นเด็กทารกแรกเกิดและผู้ใหญ่  รวมทั้งเครื่องแต่งกาย รูปภาพ รูปปั้นทุกชนิดของผู้หญิง
     2.  รัตนะ 10 ประการ คือ ทอง เงิน  แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วประพาฬ ทับทิม บุษราคัม สังข์เลี่ยมทอง ศิลา เช่นหยก และโมรา ฯลฯ
     3.  เครื่องศัตราวุธทุกชนิด อันเป็นเครื่องทำลายชีวิต
     4.  เครื่องดักสัตว์ทุกชนิด
     5.  เครื่องดนตรีทุกชนิด
     6.  ข้าวเปลือก และผลไม้อันเกิดอยู่กับที่
 
การกรวดน้ำและการรับพรพระ
       
     การกรวดน้ำในงานบุญ  เป็นการอุทิศแผ่ส่วนกุศลที่ตนบำเพ็ญแล้วนั้นส่งไปให้บุรพชนตลอดจนสรรพสัตว์  และตั้งจิตอธิษฐานเพื่อความดีต่อไป  หรืออธิษฐานในสิ่งประสงค์ที่ดีงามให้สำเร็จตามความปรารถนา 
 
การกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญ ส่วนกุศล
 
การกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
 
     การกรวดน้ำ คือ การรินน้ำหลั่งลงให้เป็นสาย  อันเป็นเครื่องหมายแห่งสายน้ำใจอันบริสุทธิ์  ตั้งใจอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลที่ตนได้ทำมาในวันนั้นให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ถ้าผู้ล่วงลับเป็นผู้อาวุโสมากกว่า เช่น เป็นบิดามารดา ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นพี่ เป็นครูอาจารย์ เป็นต้น  ก็ชื่อว่าได้แสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อท่านเหล่านั้น
        
     การรับพรพระ คือ อาการที่เจ้าภาพนอบน้อมทั้งกายและใจ รับความปรารถนาดี ที่พระภิกษุสงฆ์ตั้งกัลยาณจิต สวดประสิทธิ์ประสาทให้เจ้าภาพรอดพ้นจากอันตรายภัยพิบัติทั้งหลาย และเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ เป็นต้น
         
     ก่อนจะทราบถึงวิธีปฎิบัติในการกรวดน้ำ  เราลองมาศึกษาถึงประวัติความเป็นมาของการกรวดน้ำก่อน  การกรวดน้ำมีมาตั้งแต่อดีตกาลครั้งสมัยพระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงพระชนมชีพอยู่  ดังเรื่องราวที่ปรากฎในพระไตรปิฏก ในอรรถกถามงคลสูตร ว่า
        
     ในอดีตกาล เมื่อครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปุสส ทรงอุบัติขึ้น  พระราชบุตร 3 พระองค์ของพระเจ้าชัยเสนแห่งกาสิกนคร  มีศรัทธาที่จะถวายภัตตาหารแด่พระปุสสพุทธเจ้า  และพระภิกษุสงฆ์สาวกติดต่อกันหลายวัน  จึงประทานทรัพย์เป็นค่าใช้จ่ายเป็นอันมาก  และขอความร่วมมือจากพระประยูรญาติและข้าทาสบริวาณรับใช้  ทั้งเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงให้ช่วยเหลือในกิจนั้นๆ ด้วยบุคคลเหล่านั้น  บางพวกก็เต็มใจช่วยเหลือ  จัดทำกิจต่างๆด้วยความต็มใจ  ด้วยหวังบุญกุศล  แต่บางพวกถูกความโลภเข้าครอบงำ  เห็นเงินทองที่เขาให้นำมาทำอาหารและซื้อของเข้าก็เกิดความโลภอยากได้  จึงยักยอกเอาไว้ใช้ส่วนตัวเสียบ้าง  ทำแต่ของเลวๆ  ถวายพระแต่ไปแจ้งว่าซื้อแต่ของดีๆ บ้าง  นำอาหารที่ทำไว้สำหรับพระไปกินเองเสียบ้าง  นำไปให้ลูกหลานตัวเองกินบ้าง  ทำให้การเลี้ยงพระคราวนั้นผ่านไปด้วยความไม่เรียบร้อยเท่าที่ควร  แต่ราชบุตรทั้งสามก็ไม่ว่ากล่าวอย่างไร  ตั้งใจเป็นบุญเป็นกุศลแล้ว  ใครจะยักยอกอย่างไรก็รักษาใจศรัทธาไว้ได้  ไม่ให้ขุ่นมัว  บุคคลทั้งหมดนี้เมื่อสิ้นชีวิตไปแล้ว  พวกราชบุตรและผู้ที่เต็มใจช่วยเหลือในงานนั้นได้ไปสุคติภูมิ  เมื่อจุติจากสุคติภูมินั้นแล้วกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกในสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันนี้  ราชบุตรองค์โตได้มาเป็นพระเจ้าพิมพิสารพระราชาแห่งเมืองราชคฤห์เมืองหลวงแคว้นมคธ  ที่เหลือก็เกิดเป็นพระประยูรญาติ  และบริวาณประชาชนในเมืองราชคฤห์นั้น ส่วนพวกที่ยักยอกเงินทำบุญ  และกินของก่อนถวายพระ  ครั้นสิ้นชีพแล้วได้ไปเกิดเป็นเปรตรูปต่างๆ มีรูปร่างผ่ายผอม  หิวโหยอดอยาก  เฝ้ารอยคอยส่วนบุญที่ญาติๆ ของตนอุทิศไปให้จากโลกนี้  แต่รอคอยมาหลายพุทธันดร  ก็ไม่มีวี่แววจะได้รับ
 
     ต่อมาเมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงอุบัติขึ้นในโลกแล้วความหวังของเปรตเหล่านั้นก็เรืองรองขึ้นมาบ้าง  แต่พระเจ้าพิมพิสารครั้นทรงบำเพ็ญบุญในพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก เช่น ทรงถวายอุทยานสวนไผ่ให้เป็นพระอารามที่ประทับของพระพุทธอค์พร้อมพระภิกษุสงฆ์สาวกทั้งหลายเป็นแห่งแรกชื่อว่า  วัดเวฬุวัน และได้ถวายปัจจัย 4 เสมอมา  พระองค์ก็ไม่เคยได้อุทิศส่วนบุญนั้นๆ ให้กับผู้ใดเลย พวกเปรตที่เป็นญาติของพระองค์เหล่านั้นผู้รอคอยส่วนบุญอยู่จึงผิดหวังทุกครั้ง  มาคืนหนึ่งจึงได้แสดงตัวส่งเสียงร้องครวญครางและให้พระเจ้าพิมพิสารเห็นรูปร่างของตน  พระเจ้าพิมพิสารทรงสะดุ้งตกพระทัยเป็นอันมาก
 
     พอรุ่งเช้าจึงรีบไปทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระพุทธองค์ทรงเล่าเรื่องอดีตชาติให้ทรงทราบพระเจ้าพิมพิสารทูลถามว่า  ถ้าพระองค์ถวายทานแล้วอุทิศในตอนนี้  พวกญาติเหล่านั้นจะได้รับส่วนบุญหรือไม่  เมื่อพระพุทธองค์ตรัสว่าได้รับ พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงเตรียมการถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุข  ครั้นพระภิกษุสงฆ์ฉันเสร็จแล้ว  พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงหลั่งทักษิโณทกอุทิศส่วนกุศลว่า  “อิทัง เม ญาตินัง โหตุ  ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าด้วยเถิด”  ทันใดนั้น เปรตผู้เป็นญาติทั้งหลายเหล่านั้นต่างก็อิ่มหนาสำราญด้วยอาหารทิพย์ วันต่อมาพระเจ้าพิมพิสารได้ถวายไตรจีวร  เสนาสนะ  และเภสัช เป็นต้น แด่พระภิกษุสงฆ์อีก  แล้วทรงกรวดน้ำอุทิศไปให้เปรตเหล่านั้นทุกครั้ง  เปรตเหล่านั้นก็ได้รับส่วนบุญเหล่านั้นทุกครั้ง  และไปเกิดตามกรรมของตน  ไม่มารบกวนพระเจ้าพิมพิสารอีกเลย
        
     ฉะนั้น การกรวดน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานกว่าสองพันปี  และยังเป็นสิ่งที่ควรกระทำทุกครั้งหลังบำเพ็ญบุญในพระพุทธศาสนา  เพื่ออุทิศส่วนบุญให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว  ไม่ว่าจะเป็นบรรพบุรุษบุพการี  ญาติสนิทมิตรสหาย  หรือลูกหลานก็ตาม  ท่านควรศึกษาขั้นตอนวิธีการปฎิบัติในการกรวดน้ำ  และปฎิบัติให้เป็นนิสัยติดตัวของเราไป
 
การกรวดน้ำอย่างถูกวิธี
  
การกรวดน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานกว่าสองพันปี
 
วิธีปฎิบัติในการกรวดน้ำ
 
1.  น้ำที่ใช้กรวดน้ำ  นิยมใช้น้ำที่สะอาดบริสุทธิ์  ไม่มีสิ่งอื่นเจือปน เช่น น้ำประปา น้ำฝน น้ำบ่อ เป็นต้น
 
2.  ภาชนะที่ใช้กรวดน้ำ  ต้องเตรียมล่วงหน้าไว้ให้พร้อม ใส่น้ำให้เต็ม และมีที่รอง หากไม่มีภาชนะสำหรับกรวดน้ำเฉพาะ จะใช้ขันหรือแก้วน้ำแทนก็ได้  ในกรณีนี้ควรหาจานหรือถาดไว้รองกันน้ำหก
 
3.  เมื่อถวายไทยธรรมแด่พระภิกษุสงฆ์เสร็จแล้ว เจ้าภาพหรือประธานในพิธีนิยมนั่งกับพื้น ห่างจากพระภิกษุสงฆ์พอสมควร  ประคองภาชนะที่ใส่น้ำสำหรับกรวดน้ำด้วยมือทั้งสองเตรียมกรวดน้ำ
 
4.  เมื่อพระภิกษุสงฆ์ผู้เป็นหัวหน้าเริ่มอนุโมทนาว่า “ ยะถา  วาริวะหา...”  พึงรินน้ำให้ไหลลงเป็นสายโดยไม่ให้สายน้ำขาดตอนเป็นหยดๆ  พร้อมทั้งตั้งใจสำรวมจิต  อุทิศส่วนบุญกุศลไปให้แก่ผู้ล่วงลับเป็นแล้ว  โดยนึกในใจว่า
 
อิทัง  เม  ญาตินัง  โหตุ  สขิตา  โหนตุ  ญาตะโย
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า
ขอญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าจงมีความสุขเถิด
  
5.  คำกรวดน้ำนี้ใช้แบบอื่นก็ได้ หรือนึกเป็นภาษาไทยให้มีความหมายว่า  อุทิศส่วนบุญไปให้แก่ผู้นั้นผู้นี้  โดยระบุชื่อลงไปก็ได้
 
6.  ถ้าภาชนะที่กรวดน้ำมีปากกว้าง เช่น ขัน หรือแก้วน้ำ  นิยมใช้นิ้วชี้มือขวารองรับสายน้ำให้ไหลไปตามนิ้วชี้นั้น  เพื่อป้องกันมิให้น้ำไหลลงเปรอะเปื้อนพื้นหรืออาสนะ  ถ้าภาชนะปากแคบ เช่น คนโท หรือที่กรวดน้ำโดยเฉพาะ  ก็ไม่ต้องรอง  เพียงใช้มือทั้งสองประคองภาชนะน้ำนั้นรินลง
 
7.  เมื่อตั้งใจอุทิศเป็นการส่วนรวมแล้ว จะอุทิศส่วนบุญเฉพาะเจาะจงผู้ใดผู้หนึ่งต่อก็ได้  โดยระบุชื่อบุคคลนั้นลงไปให้ชัดเจน
 
8.  เมื่อพระสงฆ์รูปที่ 2 รับว่า “สัพพีติโย...” แล้ว  พระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดจะอนุโมทนา  ผู้กรวดน้ำจะหยุดกรวดน้ำ  เทน้ำลงหมด  แล้วประนมมือ  ตั้งใจรับพรซึ่งพระภิกษุสงฆ์กำลังให้ต่อไป
 
9. ขณะที่พระภิกษุสงฆ์กำลังสวดอนุโมทนาอยู่นั้น เจ้าภาพหรือประธานในพิธี  ไม่ควรลุกไปทำภารกิจอย่างอื่นกลางคัน 
 
10.  ขณะที่พระภิกษุสงฆ์กำลังสวดอนุโมทนาจบ  จึงกราบหรือไหว้พระภิกษุสงฆ์อีกครั้ง  แล้วนำน้ำที่กรวดนั้นไปเทที่พื้นดิน  รดต้นไม้  หรือเทที่พื้นหญ้าภายนอกตัวอาคาร  บ้านเรือน เพื่อฝากไว้กับแม่พระธรณีตามคติโบราณ
 
11.  การกรวดน้ำพึงกระทำเมื่อได้บำเพ็ญบุญกุศลหรือความดีอย่างใดอย่างหนึ่ง  เช่นทำบุญใส่บาตร  ถวายสิ่งของแด่พระภิกษุสงฆ์  หรือให้ทานแก่คนยากจน  หรือสละปัจจัยก่อสร้างสาธาณะประโยชน์
 
12.  การกล่าวคำกรวดน้ำที่เป็นภาษาบาลี  พึงศึกษาความหมายให้เข้าใจก่อนย่อมเป็นสิ่งที่ดี  ไม่ใช่ว่ากันมาอย่างไรก็ว่ากันไปอย่างนั้น  โดยไม่รู้ความหมายที่แท้จริง  จึงต้องถามผู้รู้หรือศึกษาวิธีการก่อน  ทั้งนี้เป็นผลดีแก่ตัว  ผู้กระทำเอง คือ นอกจากจะได้ชื่อว่าทำถูกทำเป็นแล้ว  ยังจะเกิดประโยชน์ที่ต้องการด้วย
 
13.  ข้อควรจำเวลากรวดน้ำ คือ ต้องตั้งใจทำจริงๆ ไม่ใช่ทำเล่นๆ หรือทำเป็นเล่น หากว่าภาชนะใส่น้ำสำหรับกรวดไม่มี  หรือมีไม่พอ  ก็พึงนั่งกรวดในใจนิ่งๆ โดยน้ำใจ กรวดอุทิศเลย ไม่ควรไปนั่งรวมกลุ่มกัน  แล้วจับแขนจับขาจับชายผ้า  จับข้อศอกกันแล้วกรวดน้ำ  มองดูชุลมุนไปหมดไม่งามตา  ทั้งไม่เกิดประโยชน์  เพราะจิตใจของผู้กรวดไม่สงบเป็นสมาธิ  ซ้ำบางครั้งก็หัวเราะกันคิกคักไปก็มี  ต้องกรวดเป็นและตั้งใจกรวดจริงๆ  จึงจะมีผลจริง
 
  หากหลั่งงบนพื้นดิน ควรเลือกที่สะอาดหมดจดถ้าอยู่ในอาคารสถานที่ควรมีภาชนะรองรับอันเหมาะสม  ไม่ใช้กระโถนหรือภาชนะสกปรกรองรับ  ควรหลั่งน้ำที่กรวดให้หมด  เมื่อเสร็จพิธีแล้ว  จึงนำน้ำที่กรวดนั้นไปเทลงในดินที่สะอาด  การกรวดน้ำเป็นหน้าที่ของเจ้าของงานโดยตรงถือเป็นเจ้าของบุญกุศล  เมื่อจะให้แก่ใคร
 
 

รายการวิดีโอที่เกี่ยวข้อง

คำวัด
 
บทความที่เกี่ยวข้องกับศาสนพิธีของศาสนาพุทธ ตอนการประเคนของแด่พระภิกษุสงฆ์
 
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
วันวิสาขบูชา Vesak Day ตอน วันปรินิพพานวันวิสาขบูชา Vesak Day ตอน วันปรินิพพาน

วันวิสาขบูชา  ตอน วันตรัสรู้วันวิสาขบูชา ตอน วันตรัสรู้

วันวิสาขบูชา ตอน วันประสูติวันวิสาขบูชา ตอน วันประสูติ



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

พุทธประวัติ - วันสำคัญในพระพุทธศาสนา