วันฉัตรมงคล


[ 1 พ.ค. 2565 ] - [ 18285 ] LINE it!

วันฉัตรมงคล

 
วันฉัตรมงคล 2566
วันพฤหัสดยที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2566
 

 
      วันฉัตรมงคล เป็นวันที่ระลึกในการครบรอบปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับพระบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทยโดยสมบูรณ์ กล่าวคือ พระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489   แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาอยู่ ณ ทวีปยุโรป  จนกระทั่งทรงบรรลุนิติภาวะ แล้วจึงได้เสด็จนิวัติประเทศไทย และรัฐบาลไทย ได้น้อมเกล้าฯ จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกถวาย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 เหล่าพสกนิกรชาวไทย ได้ถือเอาวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันฉัตรมงคลรำลึก

      วันฉัตรมงคล หมายถึง พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตรสิริราชกกุธภัณฑ์ พระแสงประจำรัชกาล ทำในวันซึ่งตรงกับวันบรมราชาภิเษกเสวยราชสมบัติตามราชประเพณี (ความหมาย ตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525) และ เป็นวันระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 รัฐบาลและพสกนิกรชาวไทย จึงได้ถือเอาวันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันฉัตรมงคล และในวันฉัตรมงคลนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการ ในพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"

      พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกนั้น มีมาตั้งแต่สมัยโบราณดังที่ปรากฏหลักฐานในหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชว่า “ในสมัยสุโขทัยมีพิธีต้อนรับประมุขของแผ่นดินอย่างมโหฬารตั้งแต่ที่พ่อขุนผาเมืองอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวขึ้นเป็นผู้ปกครองเมืองสุโขทัย”

      สำหรับในสมัยอยุธยาก็ปรากฏหลักฐานตามพงศาวดารว่า “พระมหากษัตริย์ในแผ่นดินอยุธยา เมื่อมีการเปลี่ยนองค์พระมหากษัตริย์ ทั่วทั้งเมืองจัดให้มีพิธีเฉลิมฉลองอย่างเอิกเกริกใหญ่โตไปทั่วทั้งพระนคร”

      ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็มิได้ทรงละทิ้งพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะกรรมการสอบพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก ให้มีความถูกต้องตามระเบียบแบบแผนและทรงต้องการให้ยึดถือเป็นระเบียบแบบแผนในรัชกาลต่อไป ซึ่งประกอบด้วย

      1. ขั้นเตรียมงานพระราชพิธี เริ่มตั้งแต่พิธีตักน้ำ และทำพิธีเสกน้ำ ณ เจดียสถานสำคัญจากสถานที่ตักน้ำ ก่อนที่จะส่งเข้ามาทำพิธีต่อในพระนคร น้ำที่เสกนี้ใช้สำหรับถวายอภิเษก และสรงมุรธาภิเษก (น้ำรดพระเศียรในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก) โดยมีระเบียบกำหนดให้ใช้น้ำจากแม่น้ำ 5 สาย ได้แก่ แม่น้ำคงคา ยมนา อิรวดี มหิ และสรภู ในชมพูทวีป หรือที่เรียกว่า “ปัญจมหานที” แต่เนื่องจากประเทศไทยอยู่ห่างจากชมพูทวีป ไม่สะดวกในการเดินทาง จึงเปลี่ยนมาใช้น้ำจากแม่น้ำ 18 แห่ง จากภายในประเทศไทยแทน นอกจากนี้ยังมีพิธีจารึกดวงพระราชสมภพในพระสุพรรณบัฏ และแกะพระราชลัญจกร (ตราประจำรัชกาล)

      2. พิธีเบื้องต้น
เริ่มตั้งแต่ตั้งนำวงด้าย จุดเทียนชัย และเจริญพระพุทธมนต์

      3. พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก เริ่มจากสรงมุรธาภิเษก ต่อจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปประทับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ (เป็นพระราชอาสน์ 8 เหลี่ยม ภายใต้เศวตฉัตร 7 ชั้น) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ในสมัยโบราณเป็นราชบัณฑิต) และพราหมณ์นั่งประจำทิศทั้ง 8 กล่าวคำถวายพระพรชัยมงคล และถวายดินแดนให้อยู่ในความคุ้มครองของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อจากนั้นทรงรับน้ำอภิเษก ขึ้นสู่พระที่นั่งภัทรบิฐพระราชอาสน์องค์ใหม่ พระมหาราชครูเริ่มร่ายเวทย์พิธีพราหมณ์ เมื่อร่ายเวทย์เสร็จแล้วจึงกราบทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลงพระปรมาภิไธย ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ คือ เครื่องหมายแสดงความเป็นพระมหากษัตริย์ ได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร วาลวิชนี ฉลองพระบาท เมื่อทรงรับพระมหาพิชัยมงกุฎมาสวมพระเศียร เจ้าพนักงานจะประโคมดนตรี ทหารยิงปืนใหญ่ พระสงฆ์เคาะระฆัง และสวดชัยมงคลคาถาทั่วพระราชอาณาจักร หลังจากนั้นพราหมณ์ถวายพระแสงศาสตราวุธ เป็นอันเสร็จพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก

      4. พิธีเบื้องปลาย เมื่อเสร็จพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกแล้ว จะเสด็จออก ณ มหาสมาคม เพื่อให้เหล่าข้าราชการ และประชาชนได้ถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในวโรกาสทรงเข้าพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก

      5. เสด็จเยี่ยมราษฎร เมื่อทรงเสด็จพระราชพิธีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนิน ให้ราษฎรได้มีโอกาสชื่นชมพระบารมี
 



      การจัดพระราชพิธีเฉลิมฉลองเนื่องในวันฉัตรมงคล ในอดีตยังไม่มีพิธีนี้ จะมีแต่พนักงานฝ่ายหน้าฝ่ายในพระบรมมหาราชวังจัดงานสมโภชเครื่องราชูปโภคที่ตนรักษาทุกปีในเดือนหก จนกระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงกระทำพิธีพระบรมราชาภิเษก ด้วยทรงมีพระราชดำริว่า “วันบรมราชาภิเษกเป็นมหามงคลสมัย ประเทศทั้งหลายที่มีพระเจ้าแผ่นดินครองประเทศย่อมนับถือว่าวันนั้นเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาลต่างก็จัดงานขึ้นเป็นอนุสรณ์ ส่วนในประเทศของเรายังไม่มี ควรจะจัดขึ้น แต่จะประกาศแก่คนทั้งหลายว่าจะจัดงานวันบรมราชาภิเษกหรืองานฉัตรมงคล” ผู้คนในขณะนั้นยังไม่คุ้นเคย และไม่เข้าใจจึงต้องทรงอธิบายชี้แจงและทรงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกชื่อไปตามเก่าว่างานสมโภชเครื่องราชูปโภค แต่ทำในวันคล้ายวันราชาภิเษก นิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 รุ่งขึ้นพระสงฆ์ฉันที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ด้วยเหตุนี้จึงถือว่า พระราชพิธีฉัตรมงคลเริ่มมีขึ้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรก

      ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) วันราชาภิเษกตรงกับเดือน 12 ด้วยทรงมีความเข้าใจในเรื่องราวของพระราชพิธีฉัตรมงคลเป็นอย่างดี ดังนั้น วันฉัตรมงคลก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปด้วย แต่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากไม่เข้าใจในเรื่องราวพระราชพิธีฉัตรมงคล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขและออกเป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยจุลจอมเกล้าสำหรับตระกูลขึ้น ให้พระราชทานตรานี้ตรงกับวันบรมราชาภิเษก ข้าราชการผู้ใหญ่จึงยินยอมให้จัดงานวันฉัตรมงคลในวันที่ตรงกับพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกได้ ส่วนประเพณีสมโภชเครื่องราชูปโภคก็มิได้ทรงละทิ้งไป

      การจัดพระราชพิธีฉัตรมงคลในปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชกุศลในวันฉัตรมงคลรวม 3 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม เป็นพิธีสงฆ์ งานพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ แล้วพระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนา พระสงฆ์สดับปกรณ์พระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุรพการี อุทิศถวายแด่พระบรมราชบุรพการี ในวันที่ 4 พฤษภาคม เริ่มพระราชพิธีฉัตรมงคล เจ้าพนักงานอัญเชิญเครื่องมงคลสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์ขึ้นประดิษฐานบนพระแท่นใต้พระมหาปฎลเศวตฉัตร จากนั้นพระราชครูหัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีฉัตรมงคล พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์เย็น
      ในวันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันฉัตรมงคล ในตอนเช้าทรงพระราชทานภัตตาหารแด่พระสงฆ์ พราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภชพระมหาเศวตฉัตร และเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เมื่อถึงเวลาเที่ยงตรงทหารเรือ และทหารบกยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติ พร้อมกัน 2 กอง รวม 42 นัด นอกจากนี้ ยังมีพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราจุลจอมเกล้า ให้แก่ผู้ที่ได้รับพระราชทานด้วย หลังจากนั้น ทรงเสด็จนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) และถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ณ ปราสาทเทพบิดร ในพระบรมมหาราชวัง เป็นอันเสร็จพิธี

      สำหรับเครื่องมงคลสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์ หรือเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์นั้น เป็นเครื่องแสดงพระราชอิสริยศักดิ์แห่งความเป็นสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราช พระมหาราชครูผู้ใหญ่นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายขณะประทับพระที่นั่งภัทรบิฐในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประกอบด้วย

      1. พระมหาพิชัยมงกุฎ เป็นเครื่องราชศิราภรณ์ พระมหาราชครูเป็นผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระมหากษัตริยาราชในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อทรงรับพระปรมาภิไธยและทรงรับที่จะดำรงราชสมบัติ เพื่อเกื้อกูลประโยชน์สุขแห่งมหาชนแล้ว พระมหาพิชัยมงกุฎนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สร้างขึ้น ทำด้วยทองคำจำหลักลาย ลงยาราชาวดี ประดับด้วยรัตนชาติ โดยเฉพาะเพชรดวงใหญ่ประดับยอดพระมหาพิชัยมงกุฎ มีชื่อว่า พระมหาวิเชียรมณี

      2. พระแสงขรรค์ชัยศรี เป็นเครื่องราชศัสตรา พระมหาราชครูเป็นผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระมหากษัตริยาราชในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ต่อจากพระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรีองค์นี้ ส่วนองค์พระแสงขรรค์เป็นเหล็กกล้า ตรงโคนพระแสงทั้งสองข้าง จำหลักเป็นภาพพญาสุบรรณ สมเด็จพระ อมรินทราธิราชทรงช้างเอราวัณ พระนารายณ์เป็นเจ้า และพระพรหมธาดา ลำดับกันขึ้นไปในซุ้มเรือนแก้ว ส่วนด้ามและฝักพระแสงขรรค์ชัยศรี หุ้มทองคำจำหลักลาย ลงยาราชาวดี ประดับด้วยรัตนชาติ

      3. ธารพระกรชัยพฤกษ์ พระมหาราชครูเป็นผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระมหากษัตริยาราชในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นลำดับที่สามต่อจากพระแสงขรรค์ชัยศรี ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์หุ้มด้วยทองคำเกลี้ยง ส่วนศรีษะทำเป็นหัวเม็ดทรงบัวอ่อน เถลิงคอทำด้วยเหล็กคร่ำทองเป็นลายก้านแย่งดอกใน ประกอบแม่ลายกระหนาบทั้งล่างและบน ส่วนส้นทำเป็นส้อมสามขาด้วยเหล็กกล้าคร่ำทอง และรัดด้วยเถลิงส้นคร่ำทองลายเดียวกับเถลิงคอ

      4. พัดวาลวิชนีและพระแส้จามรี พระมหาราชครูเป็นผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระมหากษัตริยาราชในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นลำดับที่สี่ถัดจากธารพระกรชัยพฤกษ์ พัดวาลวิชนี จะทำด้วยใบตาลขลิบทองหุ้มขอบ ด้ามและนมพัดทำด้วยทองคำเพลาลาย ลงยาราชาวดี ประดับด้วยรัตนชาติ ส่วนพระแส้จามรี ด้ามเป็นแก้ว จงกลรัดโคนแส้และส้นทำด้วยทองคำเพลาลาย ลงยาราชาวดี ประดับด้วยรัตนชาติ

      5. ฉลองพระบาทเชิงงอน พระมหาราชครูเป็นผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระมหากษัตริยาราชในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นลำดับที่สุดในส่วนเครื่องมงคลสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์ ทำด้วยทองคำจำหลักลาย ลงยาราชาวดี ประดับด้วยรัตนชาติ ด้านในทั้งสององค์บุด้วยสักหลาดสีแดง

      เห็นได้ว่าพระราชพิธีฉัตรมงคล เป็นพระราชพิธีหลวงของพระมหากษัตริย์ ที่ทุกพระองค์ทรงยึดถือปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนราชประเพณีมาแต่โบราณกาล ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงดำเนินพระราชกรณียกิจด้วยพระราชวิริยะอุตสาหะ เสียสละ เพื่อพสกนิกชาวไทยของพระองค์ได้อยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข จึงขอเชิญชวนหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และพสกนิกรชาวไทย ร่วมกันถวายพระพรชัยมงคลให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระเกษมสำราญ ทรงเจริญพระชนมายุยิ่งยืนนานเป็นมหามิ่งขวัญแก่พสกนิกรชาวไทยสืบไป

ข้อเสนอแนะการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมในวันฉัตรมงคล

      1. จัดสัมมนา/เสวนาทางวิชาการ ให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชพิธีฉัตรมงคลและความสำคัญ
      2.รณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชพิธีฉัตรมงคลและความสำคัญ
      3. ประดับธงชาติตามสถานที่ราชการและอาคารบ้านเรือน
      4. กิจกรรมอื่นๆ ที่เหมาะสม
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ปฏิทินวันพระ 2567 ปฏิทินจันทรคติปฏิทินวันพระ 2567 ปฏิทินจันทรคติ

รูปการ์ตูนวันสงกรานต์ รวมการ์ตูนน่ารักสำหรับส่งในวันสงกรานต์รูปการ์ตูนวันสงกรานต์ รวมการ์ตูนน่ารักสำหรับส่งในวันสงกรานต์

ข่าวจากปรโลก - สึนามิ (Tsunami)ข่าวจากปรโลก - สึนามิ (Tsunami)



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

เรื่องเด่นทันเหตุการณ์