การสื่อสารภายในองค์กรเพื่อป้องกันข่าวลือ


[ 11 มิ.ย. 2556 ] - [ 18278 ] LINE it!

การสื่อสาร


 


การสื่อสารภายในองค์กรเพื่อป้องกันข่าวลือ
เรียบเรียงจากรายการ ทันโลกทันธรรม ที่ออกอากาศทางช่อง DMC


โดยพระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ
 
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

 

ความหมายของการสื่อสารข้อมูลจากสุภาษิตจีน


     เจริญพร ท่านสาธุชนทุกท่าน วันนี้เรามาศึกษากันเรื่องข่าวลือ(การสื่อสาร)นะ ฟังดูเหมือนเรื่องลอยๆ แต่เป็นเรื่องลอยๆ ที่ส่งผลอิทธิพลต่อตัวของเราและสังคมอย่างมากมายมหาศาล มีข้อคิดที่น่าสนใจเป็นสุภาษิตจีนที่คนจีนรู้จักกันทั้งประเทศมีอยู่เรื่องหนึ่ง คือเรื่อง เจิงซานฆ่าคน        
 
      เจิงซาน  เป็นลูกศิษย์ขงจื๊อ เป็นคนที่กตัญญูต่อพ่อแม่มากเลย แล้วก็เป็นคนสุขุมรอบคอบมาก จะพูดจะทำอะไรเรียกว่าไตร่ตรองแล้วอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพราะฉะนั้นคุณแม่ของเจิงซานจึงเชื่อใจลูกชายของตนเองมาก
 
     คราวนี้มีอยู่วันหนึ่งเจิงซานเค้าก็ไปธุระนอกบ้าน สักพักมีเพื่อนบ้านวิ่งหน้าตาตื่นมาบอก คุณแม่เจิงซานนั่งทอผ้าอยู่ "เจิงซานไปฆ่าคนแล้ว" แม่เจิงซานฟังแล้วก็ยิ้มบอกไม่มีทาง ลูกฉันไม่มีทางไปฆ่าใคร พวกนั้นเห็นคุณแม่ของเจิงซานไม่เชื่อโดยสิ้นเชิง ก็เดินคอตกกลับไป ไม่รู้จะทำยังไง
 
     พออีกสักพักนึงมีเพื่อนอีกคนหนึ่งมา เพื่อนบ้านคนนี้เป็นคนสนิทกับแม่เจิงซานด้วย แล้วมีฐานะทางสังคมที่น่าเชื่อถือมาก มาถึงก็มาบอกว่าเจิงซานไปฆ่าคนแล้วคุณแม่เจิงซานฟังแล้วก็ยังเฉยๆ นั่งทอผ้าต่อไปตามปกติ ไม่เชื่อ คนนั้นก็กลับไป เดี๋ยวอีกสักพักมาอีกคนหนึ่ง คราวนี้วิ่งหน้าตาตื่นมาบอก คุณเจิงซานถูกจับได้แล้ว ขอให้แม่เจิงซานรีบหนีไปให้เร็วที่สุด คุณแม่เจิงซานฟังปุ๊บหน้าซีดเผือดตกใจมาก ลุกขึ้นมายืนเลย ความเชื่อมั่นต่อลูกชายสั่นคลอนแล้ว เพื่อนบ้านแนะนำให้รีบหนี เพราะว่ากฎหมายสมัยนั้น ถ้าใครไปฆ่าคน พ่อแม่ต้องถูกประหารด้วย ถูกลงโทษด้วย เขาเลยแนะนำให้รีบหนีไปเร็ว เดี๋ยวตำรวจจะมาจับไปด้วย
 
วิดีโอ ตอน เจิงซางฆ่าคน
 
       ระหว่างที่กำลังละล้าละลังไม่รู้จะทำไงดี เจิงซานก็กลับมาบ้านพอดี แล้วบอกคุณแม่ว่า วันนี้มีผู้ร้ายฆ่าคน ชื่อเจิงซาน ชื่อเดียว นามสกุลเดียวกับผมเลย ผมยังนึกอยู่ว่าอาจมีคนเข้าใจผิดว่าเป็นตัวผมก็ได้ แม่เจิงซานฟังแล้วก็ยิ้มออกมาได้ บอกว่า แม่รู้อยู่แล้วว่าลูกของแม่ไม่มีทางไปฆ่าใคร แต่ใครๆ ก็ว่าอย่างนั้น ทำเอาแม่พลอยหวั่นไหวกับเขาไปด้วย เราลองคิดดูนะ.. ขนาดแม่ลูก อยู่ด้วยกันมาทั้งชีวิต เลี้ยงมาตั้งแต่เกิด แล้วก็เป็นคนดีมาตลอดเลย เจอคน 3 คน พูดเท่านั้นเอง ความเชื่อมั่นเนี่ยยังสั่นคลอนเลย
 

การสื่อสารภายในองค์กรเพื่อป้องกันข่าวลือ

 
       ข่าวลือเนี่ยน่ากลัวมั้ยเอ่ย แล้วเราลองคิดดูว่ารอบตัวเรามีข้อมูลข่าวสารเยอะแยะมากมาย เรารับเอาข่าวที่ไม่จริง ทำให้เข้าใจผิดคนทั้งหลายไปขนาดไหน มีโอกาสเกิดขึ้นมาได้เลย จะเห็นได้ว่าการกลั่นกรอง การวิเคราะห์ ก่อนจะรับฟังเชื่อถือข้อมูลข่าวสารใดจึงมีความสำคัญมากๆ มาดูนะ..ว่าข่าวลืออิทธิพลขนาดไหน แม้ไม่เป็นข่าวแบบสื่อมวลชนก็ตาม แค่ปากต่อปาก ถ้าเราฟังเรื่องอะไรมาแล้วเราก็ เฮอะ จริงเหรอ จริงเหรอ แล้วแค่ไปคุยกับคนอื่น แค่ถามต่อ บอกต่อ การไปถามเขาก็เป็นการไปบอกเขาเหมือนกันนะ ให้เขารู้แล้วเขาก็สงสัยไปถามต่อ บอกต่อไปอีก      
 
       10 นาที ไปบอกสัก 2 คน ซึ่งมันไม่ได้เยอะเลยนะ 10 นาทีไปถามสัก 2 คน คนที่รู้จักเราอีก 10 นาทีไปถามอีก 2 คน ภายในไม่เกิน 6 ชั่วโมง คนทั้งโลก 6,000 กว่าล้านคนจะรู้เรื่องนี้หมดเลย แค่ 6 ชั่วโมง 
 
การสื่อสารภายในองค์กรเพื่อป้องกันข่าวลือ 
การสื่อสารภายในองค์กรเพื่อป้องกันข่าวลือ
 

การสื่อสารข้อมูล

 
      แล้วถ้าเกิดว่า ในชุมชนของเรา ในองค์กรของเรามีคนสักพันคนหมื่นคนเป็นอย่างไรเอ่ย แค่ 2-3 ชั่วโมง ไปทั่วหมดแล้ว นั่นคืออิทธิพลของข่าวลือ แล้วยังมีอีกนะ เขาพบอย่างนี้จากการศึกษา พบว่าคนบางคนที่เป็นคนปล่อยข่าวลือเอง ตอนปล่อยก็รู้ว่าตัวเองสร้างข่าวเทียมขึ้นไม่ใช่เรื่องจริง Make เรื่องขึ้น สร้างเรื่องขึ้นแล้วปล่อยข่าวลือออกไป เสร็จแล้วข่าวลือนั้นก็แพร่ออกไป แล้วมันก็วนกลับมาถึงคนปล่อยข่าว เพราะคนก็ไม่รู้ว่าใครเป็นคนปล่อยข่าว ถามกันมาถามกันไป กลับมาถึงหูคนปล่อยข่าว ถามมาหลายๆ เสียงเข้า คนปล่อยข่าวหลงเชื่อข่าวลือของตัวเองก็มี เลยสงสัยว่า เออ เราสร้างเรื่อง เผอิญจริง เผอิญถูกขึ้นมา ทั้งคนปล่อยข่าวลือแบบปากต่อปากก็ตาม
 
      หรือแม้ยิ่งกว่าขนาดเป็นสื่อมวลชน เขาก็พบทฤษฎีทางสื่อมวลชน นักวิชาการทางนิเทศศาสตร์ มาเล่าให้อาตมาฟัง เขามีทฤษฎีนี้เลยว่า สื่อมวลชนบางทีก็อาจจะจินตนาการขึ้น เดาสุ่มหรือบางทีก็อาจจะเจตนาไม่ดีแล้วก็สร้างเรื่องขึ้น แล้วพอแพร่ออกไป มันก็จะเป็นข่าวลือแบบค่อนข้างจะกว้างขวางแบบหนึ่ง เพราะผลึบเดียวมันก็ไปกว้างแล้วคนก็ไปคุยกันต่อต่อต่อ ปรากฏว่ามีสื่อฉบับอื่นมารับเรื่องนี้ปั๊บก็เลยไปจินตนาการต่อ เขียนต่อ พูดต่อ พอไปมากเข้า ๆ ปรากฏว่าคนที่เป็นต้นเรื่อง สร้างเรื่องนี้ขึ้นมาเนี่ย พอรับฟังสื่อจากแขนงอื่นๆ เข้ามาเนี่ย มาถึงปั๊บก็เลยคิดหลงเชื่อข่าวนั้นขึ้นมาว่า เออ สงสัยท่าทางจะจริง สงสัยเราจะเดาถูก จินตนาการถูก กลายเป็นคนสร้างข่าวลือก็มาหลงเชื่อข่าวลือเองอย่างนี้ก็มี เลยเป็นตุเป็นตะไปกันใหญ่เลยเนี่ย
 

หลักการสื่อสารภายในองค์กรเพื่อป้องกันข่าวลือ

 
       นี่คือเรื่องของกระแสข่าว เรื่องข่าวลือว่า มีผลกระทบเยอะ ก็เลยมาถึงว่า แล้วตัวของเราควรจะทำยังไง อยากจะฝากเอาไว้สั้นๆ 2 ข้อพอ ถ้าจะขยายมันก็เยอะ เอาประเด็นหลักๆ 2 ข้อพอ คือ
 
     1.ให้เราเองมีข้อมูลสะสมในตัวเพียงพอ ในเรื่องราวต่างๆ ที่ตัวเราเองต้องเกี่ยวข้อง เช่น ถ้าคนที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐศาสตร์ เรื่องธุรกิจก็ต้องมีข้อมูลในตัวเพียงพอ เช่นว่า GDP เมืองไทยทั้งประเทศ ประมาณเท่าไหร่ พื้นฐานเศรษฐกิจของไทยเป็นอย่างไร ส่งออกนำเข้าเป็นอย่างไร หรือประเทศต่างๆ ในโลกที่เกี่ยวข้องกับเรา เช่น อเมริกา หรือว่าทางยุโรป ญี่ปุ่น จีน อาเซียน เกาหลี เหล่านี้เป็นต้น แต่ละประเทศเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ขนาดประชากรเท่าไหร่ พื้นที่เท่าไหร่ อัตราการเติบโตเป็นยังไง ปัญหาหลักของเขาคืออะไรบ้าง
 
     เราต้องมีข้อมูลพื้นฐานในตัวอยู่ระดับหนึ่งทีเดียว ถึงคราวพอจะรับข้อมูลอะไรใหม่เข้ามา เราสามารถเอาข้อมูลใหม่ปเทียบ วิเคราะห์กับข้อมูลเก่าที่เรามีอยู่ได้ว่า ข่าวสารใหม่ น่าเชื่อถือหรือไม่ มันเว่อร์ไหม มันเป็นไปได้หรือไม่ เพราะเจออยู่บ่อยๆ ว่าบางทีข่าวมาในสื่อมวลชนเนี่ย ตัวเลขศูนย์เกินไปตัวบ้าง ตกไปตัวหนึ่งบ้าง คำนวณผิดจากเงินดอลล์ไม่ได้เปลี่ยนเป็นเงินบาทบ้าง บิลเลี่ยนซึ่งมันคือพันล้าน บางทีก็คิดเป็นล้านบ้าง ต่างไปพันเท่าศูนย์เกินไปตัวก็ผิดไป 10 เท่า น้อยเกินไปตัวหนึ่งก็ผิดไป 10 เท่า บิลเลี่ยนเป็นมิลเลี่ยน ก็ต่างเป็นพันเท่า พอเห็นแล้วถ้าเราเอาไปจำ เอาไปใช้ทันที ข้อมูลในตัวเราจะคลาดเคลื่อนเป็น 10 เป็น 100 เป็น 1,000 เท่า กลายเป็นว่าเราเองเป็นคนกระจายข่าวที่ไม่ตรงออกไป ซึ่งเป็นข่าวลือไม่เจตนาอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน
 
        ดังนั้น เราเองจะต้องมีข้อมูลในตัวเองเพียงพอ ทั้งตัวเลข ทั้งการเคลื่อนไหว การเป็นไป ถึงคราวรับข่าวสารใหม่สามารถเทียบเคียง วิเคราะห์ ดูความน่าเชื่อถือได้ นี่เป็นอย่างนี้ ถ้าหากเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้คน ก็ต้องเห็น Background ความเป็นไปเป็นมาของคนจนกระทั่งว่า ดูออกว่าเออ คน ๆนั้น องค์กรๆ นั้นเป็นอย่างไร มีใครมาพูดอะไร เราสามารถดูได้ว่าที่ว่านั้น มันน่าจะจริง ไม่น่าจะจริง ไม่ได้เชื่อในสิ่งที่เขาพูด แต่ดูคนดูยาวๆ เหมือนคุณแม่เจิงซานจะตัดสินด้วยการที่คนมาพูด 3 คนเนี่ยไม่ได้ ต้องดูคนทั้งชีวิตเลยเนี่ยว่าเป็นยังไงบ้าง เราจะได้ไม่พลาด
 
     ประการที่ 2 คือ ถ้าหากมีข่าวอะไรที่เกิดขึ้นมาแล้วว่ามันแปลกๆ ต้องหาแหล่งข่าวหรือแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้ เพื่อยืนยัน (confirm) ว่าข่าวนั้น มันน่าจะจริงหรือไม่น่าจริง อย่าใช้วิธีการไปถามคนที่ไม่รู้เรื่องเหมือนกัน เช่น ฟังข่าวอะไรมาถึงปุ๊บเลยไปถามเพื่อน ได้ยินข่าวนี้รึเปล่า มันเลยเป็นกึ่งถามกึ่งเม้าส์ต่อๆ กันไปนะ ซึ่งเมื่อเป็นอย่างนั้นเมื่อไหร่จะกลายเป็นว่าเราเองตกไปอยู่ในวังวนเป็นตัวกระจาย ข่าวลือต่อไปด้วย
 
      ถ้าจะพูดจะถามให้ไปถามจากคนที่สามารถให้คำตอบที่กระจ่างกับเราได้ว่า จริงหรือไม่จริง อย่าไปถามคนที่ไม่รู้เรื่องด้วยกัน กลายเป็นการแพร่ข่าว คนฟังจากเราเสร็จก็ไปถามคนอื่นต่อที่ไม่รู้เรื่องเหมือนกัน ว่าเธอรู้เรื่องนี้ไหม จริงไหมอะไรอย่างนี้ กระจายไปทั่วหมดเลย เกิดความเสียหายในองค์กรเกิดขึ้น เกิดความเสียหายในชุมชน ในสังคมเกิดขึ้น
 
การสื่อสาร 

ทักษะการสื่อสาร หลักปฏิบัติในการสื่อสาร

 
        นี่คือสิ่งที่เราควรทำ คราวนี้เรามาดูว่า ถ้าในแง่ของเป็นผู้บริหารองค์กร เราควรจะป้องกันข่าวลือไม่ให้เกิดขึ้นในองค์กรของเราอย่างไร ก็ขอฝากเอาไว้ 3 ข้อ อันที่หนึ่งคือ จะสอดคล้องกับเรื่องหลักปฏิบัติของแต่ละคนว่า
 
    ข้อที่ 1.ให้สร้างแหล่งข่าวหรือแหล่งอ้างอิงในองค์กร เช่นว่า อย่างรัฐบาลต้องมีโฆษกรัฐบาล มีอะไรขึ้นมาต้องให้โฆษกแถลง คนอื่นไม่ต้องพูด แต่ละส่วนก็มีหน่วยว่ากระทรวง ทบวง กรม ว่าใครจะเป็นโฆษกของหน่วยงานนั้น มีอะไรขึ้นมาให้ฟังโฆษก จะได้รู้ว่าพูดเมื่อไหร่จะได้เป็นทางการแล้วก็เชื่อถือได้ ในองค์กรต่างๆ เหมือนกัน อาจจะมีโฆษกทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น ในองค์กรถ้ามีหลายหน่วยหลายแผนก แต่ละหน่วยแต่ละแผนกก็มีการให้ข้อมูลของตัวเองที่เชื่อถือได้ ให้สมาชิกในองค์กรรู้ว่าถ้าสงสัยเรื่องอะไรแล้วก็อย่าไปคุยต่อๆ กันไป
 
     เราอย่าไปหลงตกในวังวนเป็นตัวการแพร่ข่าวซะเอง แต่ต้องไปถามกับผู้ที่จะให้ความจริงกับเราได้ว่า ข่าวนั้นน่าเชื่อถือหรือไม่ เป็นข่าวลือหรือว่าเป็นข่าวจริง พอรู้มันจะได้จบ เป็นการตัดกระแสข่าวลือในองค์กรอย่างยอดเยี่ยมเลย หรือแหล่งอ้างอิงเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีมากเช่น เป็นเว็บไซต์ มีอะไรขึ้นมาไปเช็คข่าวเว็บไซต์ ข่าวแผนกได้ จะได้รู้ว่า อันที่จริงเป็นอย่างไร ยังไม่ทราบเพราะข่าวอาจจะเพิ่งมา ยังไม่ชัวร์ ถามผู้รับผิดชอบเลย ถามแล้วก็จะได้กระจายไป ข่าวกำลังจะลือไฟกำลังจะมอดจะได้ดับรวดเดียวจบ ไม่ไปกระพือต่อ
 
     ข้อที่ 2. ผู้บริหารจะต้องฝึกให้สมาชิกในองค์กรของตนเองมีลักษณะอย่างที่กล่าวไปข้างต้นนี้ว่า เออ รู้จักไตร่ตรอง วิเคราะห์ มีข้อมูลสะสมในตัวเองเพียงพอ ไม่เป็นคนถือมงคลตื่นข่าว นี่ความจริงถือเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของอุบาสก อุบาสิกาเลยนะที่พระพุทธเจ้ากำหนดไว้ อุบาสก อุบาสิกาจะต้องไม่ตกเป็นคนถือมงคลตื่นข่าว ฟังอะไรฮือลือมาต่อๆ กันไป ผิดหลักอุบาสก อุบาสิกา ผิดหลักชาวพุทธ
 
     ชาวพุทธต้องยึดหลักกาลามสูตรคือ ไม่หลงเชื่อข่าวว่าๆ กันมา รู้จักไตร่ตรอง วิเคราะห์ด้วยเหตุด้วยผล ผู้บริหารต้องตอกย้ำ ฝึกฝนให้สมาชิกตัวเองเป็นอย่างนี้ สงสัยอะไรรู้จักถามผู้รับผิดชอบ ถามแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ แหล่งข่าวที่ให้ความจริงได้ อย่าไปถามคนที่ไม่รู้แล้วกระพือข่าวต่อกันไป
 
    ข้อที่ 3. คือ ผู้บริหารองค์กรเนี่ยจะต้องสร้างเครดิตความน่าเชื่อถือขององค์กรตัวเอง ให้เพิ่มขึ้นๆ ทีหลังพูดอะไร คนจะเชื่อ ถ้าเครดิตไม่ดีเคยไปหลอกเขาไว้ กลายเป็นว่าองค์กรพูดจริง คนก็ไม่ค่อยอยากจะเชื่อแล้ว มันก็จะเสียหาย ซึ่งเรื่องนี้มีตัวอย่าง
 
       ตอนช่วงประมาณสัก พ.ศ.2480 กว่าเนี่ย ตอนนั้นประเทศอิสราเอลยังไม่เกิดขึ้นในโลกเลย อยู่ในช่วงกำลังหาทางจัดตั้งประเทศ คนที่เคยปกครองประเทศทางตะวันออกกลางแถบนั้นคือ   อังกฤษ
 
     ส่วนในของอิสราเอลอยู่ในสถานภาพเป็นคล้ายๆ กองโจรแล้วก็กำลังสู้รบอยู่เพื่อหาทางสร้างประเทศตัวเอง ให้ยืนขึ้นมาได้ ปรากฏว่าอะไรเกิดขึ้นรู้ไหม ทั้งๆ ที่อังกฤษเป็นมหาอำนาจ พอสู้กัน จะเรียกว่ากองทหารก็ได้ กองโจรก็ได้ ของหน่วยใต้ดินอิสราเอล ก็มีสถานีวิทยุใต้ดินเหมือนกัน ยุคนั้นสถานีโทรทัศน์ยังไม่แพร่หลาย มีแต่สถานีวิทยุ เป็นสถานีใต้ดินด้วยซึ่งผิดกฎหมาย แต่ว่ายึดหลักการให้ข้อมูลที่จริงมากเลย ถ้ามีการปะทะกับทหารอังกฤษ  2 ฝ่ายจะบาดเจ็บล้มตายเท่าไหร่ สภาพความเป็นไปอย่างไร ให้ข่าวจริงหมด ไม่ใช่ให้ข่าวบิดเบือนเพื่อเสริมกำลังใจ ฝ่ายตัวเองตายร้อยหนึ่งบอกตายสองคน ฝ่ายข้าศึกตายสิบคนบอกตายร้อยหนึ่ง เพื่อจะเสริมสร้างกำลังใจแบบนี้ ไม่มี จริงยังไงพูดยังงั้น
 
     ผลคืออะไรเกิดขึ้นรู้ไหมเอ่ย แม้แต่สื่อมวลชนของตะวันตก แม้แต่ของอังกฤษเอง จะเอาข่าวไปลงหนังสือพิมพ์ หันมาอ้างอิงข่าวของสถานีวิทยุใต้ดิน ของกองโจรอิสราเอล  เพราะว่าพอผ่านเวลาหลายเดือนหลายปีเข้า รู้สึกว่าคราวนี้ออกมาพิสูจน์ว่าข่าวนี้น่าเชื่อถือจริงมากกว่า เครดิตขององค์กร เพิ่มพรวดขึ้นมาเลย เห็นไหม เวลามองต้องมองยาวๆ ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย แม้จะมีคนพูดตลกๆ ว่า แต่คนพูดความจริงตายไปเยอะแล้วก็ตาม แต่ความจริงก็คือว่าถ้าใครให้ข้อมูลที่เป็นจริงและเชื่อถือได้ ระยะยาวเครดิตจะดี แล้วก็จะเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยดับเรื่องข่าวลือด้วย พอเอ่ยปากให้ข่าวเมื่อไหร่ ทุกคนเชื่อถือกระแสอื่นๆ มอดทีเดียวจบเลย
 
การสื่อสารภายในองค์กรเพื่อป้องกันข่าวลือ 
ได้ฟังข่าวอะไรขึ้นมาอย่าไปลือต่อ อย่าไปถามต่อกับคนที่ไม่รู้เรื่อง
 
       เพราะฉะนั้น ถ้าในแง่ตัวเราแต่ละคนแล้ว ก็ต้องสั่งสมข้อมูลให้เพียงพอในเรื่องที่ตัวเราเองสนใจ แล้วรู้จักวิเคราะห์ มีข่าวใหม่รู้จักวิเคราะห์กับข้อมูลเดิมว่าน่าเชื่อถือไหม อันที่สองคือ ได้ฟังข่าวอะไรขึ้นมาที่มันค่อนข้างจะลือๆ อย่าไปลือต่อ อย่าไปถามต่อกับคนที่ไม่รู้เรื่อง แต่ให้ตรวจสอบกับแหล่งข่าวที่ให้ความจริง กับแหล่งข่าวที่ให้ความจริงความกระจ่างกับเราได้
 
     ส่วนผู้บริหารองค์กรก็ 3 ข้อนะ หนึ่ง คือ สร้างแหล่งข่าว แหล่งอ้างอิง ให้สมาชิกในองค์กรรู้ว่าอยากรู้เรื่องอะไร ถามจากใคร ดูเช็คข่าวจากที่ไหนได้ สองคือฝึกสมาชิกในองค์กรตัวเองให้มีอัธยาศัยไม่ถือมงคลตื่นข่าว แล้วสามสร้างเครดิตความน่าเชื่อถือขององค์กรให้เกิดขึ้นแล้วเราจะป้องกันข่าวลือไม่ให้เกิดขึ้นในองค์กรของเรา เจริญพร
 
รับชมวิดีโอ
 
 

บทความน่าอ่านเกี่ยวกับการสื่อสาร

สัตว์สื่อสารกันอย่างไร-ที่นี่มีคำตอบ


บทความน่าอ่านวันสำคัญอื่นๆ

 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ข้อคิดรอบตัว เรื่อง วัดพระธรรมกายตอนที่ 1ข้อคิดรอบตัว เรื่อง วัดพระธรรมกายตอนที่ 1

ทุกวันอาทิตย์ เสา E6 รวมพลัง dmc.tvทุกวันอาทิตย์ เสา E6 รวมพลัง dmc.tv

ทบทวนบุญวันมาฆบูชา วันที่ 28 ก.พ. 2553ทบทวนบุญวันมาฆบูชา วันที่ 28 ก.พ. 2553



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

Review รายการ