พระศรีอริยเมตไตรย์สัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนที่ 90 อุเบกขาบารมี


[ 24 มี.ค. 2554 ] - [ 18283 ] LINE it!

ทบทวนฝันในฝัน วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2554

ตอน พระศรีอริยเมตไตรย์ ตอนที่ 90 อุเบกขาบารมี

พระศรีอริยเมตไตรย์สัมมาสัมพุทธเจ้า
ตอนที่ 90 "อุเบกขาบารมี"
เรียบเรียงจากรายการโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา
 
สำหรับบารมีข้อสุดท้ายที่พระโพธิสัตว์จะได้บำเพ็ญต่อไปนั้น คือ อุเบกขาบารมี
 
10.อุเบกขา มีความหมายอยู่ทั้งหมดสามนัยยะด้วยกัน ดังนี้
 
นัยยะที่หนึ่ง หมายถึง ความเป็นผู้ที่มีใจเที่ยงธรรม ไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือหมายถึง การให้ความเป็นธรรมกับทุกคนอย่างเสมอภาคกัน โดยไม่มีอคติหรือลำเอียงต่อผู้ใดผู้หนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นความลำเอียงเพราะรัก ความลำเอียงเพราะชัง ความลำเอียงเพราะหลง หรือความลำเอียงเพราะกลัว
 
พระโพธิสัตว์จะเป็นผู้ที่มีความเที่ยงธรรมไม่ลำเอียง
 
นัยยะที่สอง หมายถึง การปล่อยวาง หรือการวางเฉยเมื่อเห็นว่าไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้แล้ว สำหรับในกรณีที่ยังสามารถช่วยเหลือกันได้ ก็ให้ช่วยเหลือกันไป แต่ถ้าหากไม่สามารถช่วยเหลือสิ่งใดได้แล้ว พระโพธิสัตว์ก็จะปล่อยวาง โดยพิจารณาว่า สรรพสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน ใครทำกรรมใดไว้ ก็ย่อมได้รับผลของกรรม (ที่ตัวเขาได้ทำ)-นั้น เป็นต้น
 
 พระโพธิสัตว์จะเป็นผู้ที่ปล่อยวางเมื่อเห็นว่า ไม่สามารถช่วยอะไรได้
 
นัยยะที่สาม หมายถึง การวางเฉยในอารมณ์ต่างๆที่เข้ามากระทบ ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะเป็นอารมณ์ที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจก็ตาม พระโพธิสัตว์ก็จะต้องมีใจที่สงบนิ่ง (ใสเย็น แจ่มกระจ่าง)-คือ มีอารมณ์ที่ไม่สุขไม่ทุกข์ (เป็นสภาวะกลางๆเฉยๆ อย่างผู้ที่มองโลกไปตามความเป็นจริง)
 
 พระโพธิสัตว์จะเป็นผู้ที่มองโลกไปตามความเป็นจริง
 
        ดังนั้น อุเบกขาบารมี จึงหมายถึง การฝึกใจของพระโพธิสัตว์ให้หยุดนิ่ง โดยไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์หรือสิ่งต่างๆที่มากระทบอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ไม่ว่าอารมณ์หรือสิ่งต่างๆที่มากระทบใจของพระโพธิสัตว์นั้น จะเป็นสิ่งที่น่าชอบใจหรือไม่ชอบใจก็ตาม
 
 พระโพธิสัตว์จะฝึกใจให้หยุดนิ่งโดยไม่หวั่นไหว ต่ออารมณ์หรือสิ่งต่างๆที่มากระทบ
 
        อีกทั้ง ยังเป็นการฝึกให้พระโพธิสัตว์มีใจที่บริสุทธิ์ยิ่งๆขึ้นไป จะได้ไม่เอนเอียงไปตามความยินดียินร้ายอันเกิดจากความอคติลำเอียงต่างๆนานา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคน สัตว์ สิ่งของ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้เอง พระโพธิสัตว์จึงจำเป็นจะต้องฝึกวางใจให้เป็นกลางๆในธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าสิ่งต่างๆที่ท่านจะต้องพบเจอในหนทางการสร้างบารมีนั้น จะเป็นความสุขหรือจะเป็นความทุกข์ก็ตาม
 
 พระโพธิสัตว์จะวางใจให้เป็นกลางในธรรมทั้งหลายทั้งปวง
 
        ดังนั้น อุเบกขาบารมี จึงถือเป็นบารมีอันดับสุดท้ายในบารมีสิบทัศที่สำคัญมาก ซึ่งพระโพธิสัตว์จะต้องกระทำอย่างยิ่งยวด เพราะพระโพธิสัตว์ได้เล็งเห็นแล้วว่า อุปสรรคสำคัญที่จะมาบั่นทอนการสร้างบารมีของท่านนั้น คือ ความมีใจเอนเอียงต่อสิ่งต่างๆที่มากระทบ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะมาในรูปของความสุขหรือความทุกข์ก็ตาม อันเป็นเหตุทำให้ใจของพระโพธิสัตว์อาจจะกระเพื่อมขึ้นๆลงๆด้วยความดีใจหรือเสียใจขึ้นมาได้
 
 พระโพธิสัตว์ต้องบำเพ็ญอุเบกขาบารมีอย่างยิ่งยวด
 
        ด้วยเหตุที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ พระโพธิสัตว์จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบำเพ็ญอุเบกขาบารมี โดยการฝึกใจให้วางเฉย ไม่ยินดียินร้ายในโลกธรรมทั้งแปดประการ อันได้แก่ ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ มีสรรเสริญ มีนินทา มีสุข มีทุกข์ นั่นเอง
 
 พระโพธิสัตว์ต้องวางเฉยต่อโลกธรรมทั้งแปดประการ
 
        ดังนั้น การบำเพ็ญอุเบกขาบารมีของพระโพธิสัตว์ จึงอุปมาเหมือนกับแผ่นดินที่คนทิ้งสิ่งของที่สะอาดบ้างไม่สะอาดบ้าง แผ่นดินย่อมไม่แสดงอาการใดๆ มีแต่นิ่งเฉยไม่หวั่นไหว ฉันใด พระโพธิสัตว์ก็วางใจเป็นกลาง ไม่หวั่นไหวในโลกธรรมทั้งหลายได้ ฉันนั้น
 
 พระโพธิสัตว์บำเพ็ญอุเบกขาบารมีประดุจดั่งแผ่นดินที่นิ่งเฉย ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งทั้งหลายที่ผู้คนทิ้งลงมาไม่ว่าดีหรือไม่ดี
 
        จากเรื่องราวของบารมีทั้งสิบทัศที่ได้กล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่ากว่าบารมีของพระโพธิสัตว์แต่ละท่านจะเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ จนได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระโพธิสัตว์ทุกๆท่านจะต้องทุ่มเทในการสั่งสมบ่มบารมีทั้งสิบทัศให้แก่รอบ ให้เข้มข้น ให้บริบูรณ์อย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันกันเลยทีเดียว ชนิดที่เรียกว่า ต่อให้ต้องบุกน้ำลุยไฟ หรือต้องแลกมาด้วยชีวิต เพื่อให้ได้มาซึ่งบารมีนั้น...ท่านก็ยอม ซึ่งทั้งหมดที่พระโพธิสัตว์ได้ทุ่มเททำไปนี้ ก็เป็นไปเพื่อมวลมนุษย์ชาติและสรรพสัตว์ทั้งหลายอย่างแท้จริง
 
 พระโพธิสัตว์จะบำเพ็ญบารมีทั้งสิบทัศอย่างยิ่งยวด เพื่อการตรัสรู้ธรรม
 
        เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่บารมีของพระโพธิสัตว์เต็มเปี่ยมบริบูรณ์แล้ว เมื่อนั้นพระโพธิสัตว์ก็จะเสด็จมาบังเกิดบนโลกมนุษย์ พร้อมกับตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อจะนำพาสรรพสัตว์ทั้งหลายให้หลุดพ้นจากห้วงแห่งวัฏสงสารได้ในที่สุด นอกจากนี้ บารมียังสามารถแบ่งระดับตามความเข้มข้นของการสร้างบารมีได้อีกสามระดับ ส่วนแต่ละระดับจะมีความแตกต่างและความเข้มข้นต่างกันอย่างไรนั้น เราคงต้องติดตามกันในตอนต่อไป
 
เมื่อพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีทั้งสิบทัศจนเต็มเปี่ยม ก็จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 
 
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
มูลกรรมฐานเรื่อง “นขา” ตอนที่ 2มูลกรรมฐานเรื่อง “นขา” ตอนที่ 2

สยบเซียนพนันขั้นเทพสยบเซียนพนันขั้นเทพ

ความสุขแท้จริงที่ยิ่งกว่ามีเงินล้านความสุขแท้จริงที่ยิ่งกว่ามีเงินล้าน



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ช่วงเด่นฝันในฝัน