นิพพาน บทสรุปของชีวิตในสังสารวัฏ ตอนที่ 2


[ 21 มิ.ย. 2554 ] - [ 18260 ] LINE it!

ตายแล้วไปไหน
ชีวิตหลังความตายเป็นอย่างไร
 
นิพพาน บทสรุปของชีวิตในสังสารวัฏ ตอนที่ 2
 
นิพพานบทสรุปของชีวิตในสังสารวัฏ
 
นิพพาน หมายถึง ความสงบ ความว่างเปล่า
จากขันธ์ห้าและกิเลสอาสวะอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง
 
แนวคิดของคนฉลาดเกี่ยวกับนิพพาน
 
     ธรรมดาคนส่วนมากมักเชื่อเฉพาะในสิ่งที่ตนเองสัมผัสทางทวารห้าคือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กายเท่านั้นว่า มีอยู่จริง สิ่งอื่นที่พ้นวิสัยการสัมผัสแห่งทวารห้าแล้วไม่มีจริง ความเชื่อเช่นนั้นเป็นการปิดกั้นความรู้ความเห็นของตน เท่ากับเป็นการประกาศความไม่ฉลาดของตนเองออกมา โดยลืมไปว่า ตนเองยังมีทวารที่ 6 คือ ใจ ที่เมื่อได้รับการฝึกฝนแล้ว สามารถรู้เห็นสิ่งที่นอกเหนือจากทวารทั้งห้าได้ ดังนั้นเพื่อความฉลาดของเรา ควรหันมาศึกษาแนวคิดและข้อปฏิบัติอันไม่ผิดในสิ่งที่ผู้รู้สมัยก่อนใช้ ตัดสินใจ ดังที่ท่านกล่าวไว้ใน อปัณณกสูตร1) โดยสรุปความว่า
 
     1. ถ้ามีสมณพราหมณ์สองพวก พวกหนึ่งบอกว่า การทำทานไม่มีผล บุญบาปไม่มี โลกนี้โลกหน้า เป็นต้น ไม่มี อีกพวกหนึ่งบอกว่า มี เราจะมีหลักคิดพิจารณาอย่างไร นักปราชญ์สมัยนั้นเขาคิดว่า ในคำพูดของสมณพราหมณ์ทั้งสองนั้น เราก็ยังไม่รู้ไม่เห็น จึงไม่ควรปักใจเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เราคิดว่า ถ้าการทำทาน บุญบาป โลกนี้โลกหน้าไม่มีจริง คนที่ประพฤติทุจริตก็ยังถูกติเตียนว่าเป็นผู้ทุศีล และไม่เป็นที่ยกย่องของบัณฑิต แต่ถ้าโลกหน้ามีจริงคนที่ประพฤติทุจริตนอกจากถูกติเตียนในโลกนี้แล้ว ยังต้องพลัดไปสู่อบาย ทุคติ วินิบาต ส่วนคนที่ประพฤติสุจริตแม้ถ้าโลกหน้าไม่มีอยู่จริงเขาย่อมได้รับคำสรรเสริญในโลกนี้ ถ้าโลกหน้ามีจริง เขาย่อมได้ไปสู่สุคติโลกสวรรค์
 
     2. ถ้ามีสมณพราหมณ์สองพวก พวกหนึ่งบอกว่า อรูปพรหมไม่มีอยู่โดยประการทั้งปวง อีกพวกหนึ่งบอกว่า อรูปพรหมมีอยู่โดยประการทั้งปวง นักปราชญ์สมัยนั้นคิดว่า เราไม่รู้ไม่เห็นในวาทะ(คำพูด) ทั้งสองอย่าง การที่เราจะเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งว่าจริง เป็นการไม่สมควร แต่เราคิดว่า ถ้าเราทำฌานให้เกิดขึ้น ถ้าอรูปพรหมไม่มีจริง อย่างน้อยเราก็ได้ไปเกิดเป็นรูปพรหม แต่ถ้าอรูปพรหมมีจริง เราจะได้ไปเกิดเป็นอรูปพรหม
 
      3. ถ้ามีสมณพราหมณ์สองพวก พวกหนึ่งบอกว่า ความดับสนิทแห่งภพ (นิพพาน) ไม่มีโดยอาการทั้งปวง อีกพวกหนึ่งบอกว่า ความดับสนิทแห่งภพมีอยู่โดยอาการทั้งปวง นักปราชญ์สมัยนั้นคิดว่า เราไม่รู้ ไม่เห็น การจะยึดถือคำพูดคนใดคนหนึ่งเป็นการไม่สมควร แต่เราควรทำอรูปฌานให้เกิดขึ้น อาศัย อรูปฌานเป็นบาทเจริญวิปัสสนา ถ้าคำพูดของคนแรกเป็นจริง (ที่ว่านิพพานไม่มี) ข้อที่ เราจักเกิดขึ้นในเหล่าเทวดาที่ไม่มีรูป (อรูปพรหม) สำเร็จด้วยสัญญา ซึ่งไม่เป็นความผิด นี้เป็นฐานะที่มีได้
 
เหล่าเทวดา
 
แม้ไปเกิดเป็นเทวดาก็ยังไม่สามารถหยุดการเวียนว่ายตายเกิดได้
 
     อนึ่ง ถ้าคำของท่านสมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้มีความเห็นอย่างนี้ว่า ความดับสนิทแห่งภพ (นิพพาน) มีอยู่ด้วยอาการทั้งปวง ดังนี้ เป็นคำจริง ข้อที่เราจักปรินิพพานในปัจจุบัน เป็นฐานะที่จะมีได้
 
     ความเห็นของท่านสมณพราหมณ์ที่มีวาทะว่า ความดับสนิทแห่งภพ (นิพพาน) ไม่มีอย่างนี้ ใกล้ต่อธรรมเป็นไปกับด้วยความกำหนัด ใกล้ต่อธรรมเครื่องประกอบสัตว์ไว้ ใกล้ต่อธรรมเครื่องเพลิดเพลิน ใกล้ต่อธรรมเครื่องสยบ ใกล้ต่อธรรมเครื่องถือมั่น
 
     ส่วนความเห็นของท่านสมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้ว่า ความดับสนิทแห่งภพมีอยู่ด้วยอาการทั้งปวงนี้ ใกล้ต่อธรรมอันไม่เป็นไปกับด้วยราคะ ใกล้ต่อธรรมอันมิใช่ธรรมประกอบสัตว์ไว้ ใกล้ต่อธรรมอันมิใช่เครื่องเพลิดเพลิน ใกล้ต่อธรรมอันมิใช่เครื่องสยบ ใกล้ต่อธรรมอันไม่เป็นเครื่องยึดมั่น บุรุษผู้เป็นวิญญูนั้น ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมปฏิบัติเพื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับสนิทแห่งภพเท่านั้น
 
     จากเนื้อหาในพระสูตรข้างต้น ทำให้เราได้ข้อสรุปว่า ผู้ที่เป็นบัณฑิตนักปราชญ์สมัยนั้น ท่านคิดและปฏิบัติแบบนี้ คือ ไม่เชื่อแต่ไม่ปฏิเสธในสิ่งที่ตนเองยังไม่รู้ไม่เห็นทันที แต่จะลงมือศึกษาและปฏิบัติสุจริตธรรมจนรู้แจ้งเห็นจริงได้ด้วยตนเอง ดังนั้นนักศึกษาก็จะต้องปฏิบัติตามบัณฑิตนักปราชญ์ในกาลก่อน ด้วยการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เพื่อให้ได้ผลที่แจ่มแจ้งด้วยตัวของเราเอง แม้ยังไม่สำเร็จในชาตินี้ ก็จะเป็นอุปนิสัยติดไปในชาติเบื้องหน้า ไม่มีอะไรเสียเปล่าเลย
 
 
     ถ้อยคำที่เกี่ยวข้องกับนิพพานมีอยู่หลายคำ อาจจะเกิดข้อกังขาที่ทำให้เข้าใจสับสนได้ โดยเฉพาะในพระไตรปิฎกมีความหมายที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้หลายนัยด้วยกัน และอรรถถาจารย์ได้ให้ความหมายเพิ่มเติม ซึ่งจะขอยกตัวอย่างประกอบเพื่อให้ท่านเข้าใจความหมายของนิพพานได้ในหลาย แง่มุมมากขึ้น
ก. ความหมายตามพระบาลีในพระไตรปิฎก คือ
 
ความหมายที่ 1 ความกำจัดราคะ ความกำจัดโทสะ ความกำจัดโมหะ นี้เป็นชื่อแห่งนิพพานธาตุ เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่า ธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ2)
 
ความหมายที่ 2 เพราะละตัณหาเสียได้ขาด จึงเรียกว่า นิพพาน3)
 
ความหมายที่ 3 ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ นี้เรียกว่า นิพพาน4)
 
ความหมายที่ 4 อนุปาทาปรินิพพาน แปลว่า ความดับสนิทสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ คือ ความพ้นพิเศษแห่งจิต เพราะไม่ถือมั่น5)
 
ความหมายที่ 5 ยากที่จะเห็นได้ซึ่งฐานะแม้นี้ คือ พระนิพพาน ซึ่งเป็นที่ระงับแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา คลายความกำหนัด ดับทุกข์ 6)
 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อเข้าถึงพระนิพพาน
 
พระนิพพาน ซึ่งเป็นที่ระงับแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดอุปธิทั้งปวง
เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา คลายความกำหนัด ดับทุกข์
 
ความหมายตามอรรถกถา
 
ความหมายที่ 1 พระนิพพาน ท่านเรียกว่า โพธิ7)
 
ความหมายที่ 2 นิพพาน ชื่อว่า วิมุตติ เพราะพ้นแล้วจากสังขตธรรมทั้งปวง8)
 
ความหมายที่ 3 พระนิพพาน ชื่อว่า สุญญตะ อนิมิตตะ และอัปปณิหิตะ เพราะว่างเปล่าจากราคะ เป็นต้น และเพราะไม่มีราคะเป็นต้น เป็นเครื่องหมาย และเป็นที่ตั้งอาศัย9)
 
จากความหมายทั้งในพระบาลีและในอรรถกถา สามารถสรุปความหมายของนิพพานได้ดังนี้
 
     นิพพาน หมายถึง ความสงบ ว่างเปล่าจากขันธ์ห้าและกิเลสอาสวะอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง จากความหมายนี้ บ่งบอกความว่า ธรรมชาติใดที่ไม่มีขันธ์ห้า และไม่มีกิเลสอาสวะตัณหา ธรรมชาตินั้น จัดเป็นนิพพานได้ จะโดยปริยาย (เทียบเคียง) หรือโดยนิปปริยาย (โดยแท้จริง) ก็ตาม เพราะเป็นสภาวะที่เข้ากันได้โดยเหตุที่ไม่มีกิเลสอาสวะ เป็นต้น
 
     ธรรมชาติที่หมายถึงนิพพานดังกล่าวนี้ เมื่อประมวลรวมตามพระบาลีที่ยกมาแสดงและของท่านผู้รู้เห็นในปัจจุบันนี้ พอจะแบ่งได้เป็น 3 ประการ คือ
 
1. จิตที่หลุดพ้น คือ จิตที่รับรู้สภาวะนิพพานได้
 
2. ผู้หลุดพ้น คือ ผู้เข้าถึงนิพพาน ได้แก่ พระโสดาบันจนถึงพระอรหันต์
 
3. สภาวะที่หลุดพ้น คือ สภาพของพระนิพพานโดยแท้จริง
 
     เมื่อท่านได้อ่านพระไตรปิฎก หรือคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนา หากพบคำที่มีลักษณะทั้ง 3 ดังที่กล่าว ให้ได้ทราบว่า นั่นคือความหมายของนิพพานเช่นเดียวกัน
 
1) อปัณณกสูตร, มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์, มก. เล่ม 20 ข้อที่ 103-124 หน้า 223-253.
2) ทุติยภิกขุสูตร, สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค, มก. เล่ม 30 ข้อ 31 หน้า 22.
3) สัญโญชนสูตร, สังยุตตนิกาย สคาถวรรค, มก. เล่ม 24 ข้อ 185 หน้า 288.
4) นิพพานปัญหาสูตร, สังยุตตนิกาย สฬายตนมรรค, มก. เล่ม 29 ข้อ 497 หน้า 88.
5) จูฬสงคราม, พระวินัยปิฎก ปริวาร, มก. เล่ม 10 ข้อ 1084 หน้า 689-690.
6) โพธิราชกุมารสูตร, มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์, มก. เล่ม 21 ข้อ 509 หน้า 119.
7) เวรัญชกัณฑวรรณนา, ปฐมสมันตปาสาทิกาแปล พระวินัยปิฎก, มก. เล่ม 1 หน้า 240.
8) สัจฉิกาตัพพนิทเทส, อรรถกถาขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค, มก. เล่ม 68 หน้า 396.
9) อรรถกถาสังคีติสูตร, ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค, มก. เล่ม 16 หน้า 321.
 
รับชมวิดีโอ
 
 

รายการวิดีโอที่เกี่ยวข้อง

ธรรมะเพื่อประชาชน
 
บทความที่เกี่ยวข้องกับนิพพาน บทสรุปของชีวิตในสังสารวัฏ ตอนที่ 2
 
 
 
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
นิพพาน บทสรุปของชีวิตในสังสารวัฏ ตอนที่ 3นิพพาน บทสรุปของชีวิตในสังสารวัฏ ตอนที่ 3

นิพพาน บทสรุปของชีวิตในสังสารวัฏ ตอนที่ 4นิพพาน บทสรุปของชีวิตในสังสารวัฏ ตอนที่ 4

วิธีเตรียมความพร้อมก่อนไปนิพพานวิธีเตรียมความพร้อมก่อนไปนิพพาน



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ตายแล้วไปไหน