พิธีแต่งงาน ขั้นตอนพิธีแต่งงาน พิธีกรรมต่างๆ ในงานมงคล


[ 26 ก.ค. 2554 ] - [ 18313 ] LINE it!

ศาสนพิธีของศาสนาพุทธ
ศาสนพิธีทางพระพุทธศาสนาและหน้าที่ชาวพุทธ
 
พิธีกรรมในงานมงคล
 
งานมงคล
 
พิธีกรรมในงานมงคล
 
ขั้นตอนพิธีกรรมเนื่องในงานมงคล
 
     งานมงคล  ได้แก่  การทำบุญ  เพื่อความสุขความเจริญ  โดยปรารภเหตุดี  เช่น  ทำบุญวันเกิด  ทำบุญฉลองอายุครบ  ทำบุญขึ้นบ้านใหม่  ทำบุญเนื่องในงานมงคลสมรส  ทำบุญฉลองเกียรติยศ  เหล่านี้เป็นต้น  ในงานมงคลมีวิธีปฎิบัติดังนี้
 
1. อาราธนาพระสงฆ์  เมื่อกำหนดวันงานที่แน่นอนแล้ว  ไปอาราธนาพระตามจำนวนที่ต้องการก่อนถึงวันงานอย่างน้อย 3 ถึง 7 วัน  การอาราธนานั้น  ถ้าสามารถเขียนหรือพิมพ์เป็นฎีกานิมนต์ได้  เป็นการดีที่สุด  โดยบอกกำหนด  วัน เดือน ปี เวลา และงานให้ละเอียด
 
2. จำนวนพระที่นิมนต์  ตามปกติจำนวนนี้คือ 5 รูป 7 รูป 9 รูป  แต่ส่วนมากนิยมนิมนต์ 9 รูป  ถือกันว่าเลข 9 เป็นเลขมงคลขลังดี  งานนั้นจะได้เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป  ถ้าเป็นงานมงคลสมรสนิยมนิมนต์จำนวนคู่คือ 6 รูป 8 รูป 10 รูป  ส่วนมากงานมงคลสมรสนิยม 8 รูป  ถ้าเป็นพระราชพิธีนิยม 10 รูป  เป็นอย่างน้อย
 
งานบุญพิธี
 
งานบุญพิธี ณ วัดพระธรรมกาย
 
3. ตั้งโต๊ะหมู่บูชา  นิยมจัดไว้ทางด้านขวามือของพระสงฆ์  โดยให้พระพุทธผินพระพักตร์ไปด้านเดียวกับพระสงฆ์  ถ้าสถานที่อำนวยให้ผินพระพุทธรูปไปทางด้านทิศตะวันออก  หรือทิศเหนือ  ได้ยิ่งดี  ถ้าสถานที่ไม่พอก็ให้จัดตามความเหมาะสมกับสถานที่  พระพุทธรูปที่จะนำมาตั้งโต๊ะบูชานั้นไม่ให้มีครอบหรือขนาดเล็กจนเกินไป  หรือใหญ่จนเกินไป  โต๊ะหมู่บูชาขนาดใหญ่  หรือเล็ก  ก็ให้จัดพระบูชาเหมาะสมตามส่วน  มีแจกันดอกไม้  พานดอกไม้จัด 3 พาน  หรือ 5 พาน  แจกันจะใช้ 1-2 คู่ก็ได้  แล้วแต่ขนาดของโต๊ะ  กระถางธูปให้ปักไว้ 3 ดอก  เชิงเทียน 1 คู่  พร้อมเทียน
 
4. ขันน้ำมนต์  จะใช้ขัน หรือบาตรหม้อน้ำมนต์มีเชิงก็ได้  ใส่น้ำสะอาดพอควร  มีเทียนน้ำมนต์ควรเป็นเทียนขี้ผึ้งอย่างดี 1-2 เล่ม  ใบเงินทองอย่างละ 5 ใบ มัดหญ้าคาหรือก้านมะยมสำหรับประพรมน้ำพระพุทธมนต์ 1 มัด  ถ้าใช้ใบมะยมใช้ก้านสด 9 ก้าน  ถ้ามีการเจิม  ก็เตรียมแป้งกระแจะ  ใส่น้ำหอมในผอบเจิมด้วย  ถ้ามีการปิดทองด้วย  ก็เตรียมทองคำเปลว  ไว้ตามต้องการวางใส่พาน  ตั้งไว้ข้างบาตรน้ำมนต์
 
5. ด้ายสายสิญจน์  ใช้ด้ายดิบจับ 9 เส้น 1 ม้วน โยงรอบบ้านหรือบริเวณพิธี  เวียนจากซ้ายไปขวา  โยงเข้าหาพระประธานที่โต๊ะหมู่บูชา  เวียนซ้ายไปขวาเช่นเดียวกัน  ไม่ควรเอาพันไว้ที่องค์พระประธานควรเวียนรอบฐานพระโยงมาที่ขันหรือบาตรน้ำมนต์เวียนขวา  แล้วนำด้ายสายสิญจน์วางไว้บนพานรองตั้งไว้ข้างโต๊ะบูชาใกล้กับพระเถระองค์ประธานในสงฆ์
 
     เรื่องด้ายสายสิญจน์นี้มีข้อควรระวังเป็นพิเศษคือ  ห้ามข้ามกรายเป็นเด็ดขาด  แม้ที่สุด จะหยิบของข้าม  หรือบ้วนน้ำลาย  ก็ไม่ควรข้ามด้ายสายสิญจน์อย่างยิ่ง  เพราะนอกจากเป็นการแสดงความไม่เคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  หรือถ้าเป็นงานศพก็ไม่เป็นการเคารพในผู้ตาย  และยังเป็นผู้ที่ถูกติเตียนด้วย  หากมีความจำเป็นจริงๆ  ก็ควรสอดมือไปทางใต้สายสิญจน์
 
การวางอาสนะในงานบุญ
 
วิธีการปูอาสนะสงฆ์
 
6. การปูอาสนะสำหรับสงฆ์  ควรใช้เสื่อหรือพรมปูเสียชั้นหนึ่งก่อน  นิยมใช้กัน 2 วิธี  คือยกพื้นอาสนะสงฆ์ให้สูงขึ้น  โดยใช้เตียงหรือแคร่ม้ายาววางต่อกันให้พอจำนวนแก่สงฆ์  และอีกวิธีหนึ่งปูลาดอาสนะบนพื้นธรรมดา  อาสนะสงฆ์นิยมใช้ผ้าขาวปูลาด  จะมีผ้านิสีทนะ  ปูอีกชั้นหนึ่งหรือไม่ก็ได้โดยอาสน์สงฆ์ยกพื้นนี้  มักจัดในสถานที่ที่ฝ่ายเจ้าภาพนั่งเก้าอี้กัน  ส่วนอาสนะชนิดที่ปูลาดบนพื้นธรรมดาจะใช้เสื่อหรือพรมผ้าที่สมควรก็สุดแท้แต่ที่จะหาได้
 
     ข้อสำคัญควรระวัง  อย่าให้อาสนะพระสงฆ์หรืออาสนะของคฤหัสถ์ฝ่ายเจ้าภาพเป็นอันเดียวกัน  ควรปูลาดให้แยกจากัน  ถ้าจำเป็นแยกกันไม่ได้  เพราะปูเสื่อหรือพรมไว้เต็มห้อง  เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วสำหรับอาสนะสงฆ์  ควรปูทับด้วยเสื่อหรือพรมอีกชั้นหนึ่งจึงจะเหมาะสม  โดยใช้ผ้าขาวหรือผ้าสีทนะก็ได้  ปูเรียงรูปเป็นระยะให้ห่างกันพอสมควร  อย่าให้ชิดกันเกินไป  มีหมอนอิงข้างหลังเรียงเท่าจำนวนที่นิมนต์มาในงานนั้นๆ
 
7. เครื่องรับรองพระภิกษุสงฆ์  ประกอบด้วย  กระโถน  ภาชนะน้ำเย็น  วางไว้ทางด้านขวามือของพระภิกษุสงฆ์เป็นรายรูป  ถ้าของมีจำกัดจะวาง 2 รูป ต่อ 1 ที่ก็ได้  วางเรียงจากด้านในมาหาข้างนอกตามลำดับ  คือกระโถนไว้ในที่สุด  ถัดมาภาชนะน้ำเย็น  ส่วนน้ำชาและเครื่องดื่ม  เมื่อพระภิกษุสงฆ์เข้านั่งเรียบร้อยแล้ว  ค่อยถวายก็ได้
 
8. ล้างเท้า – เช็ดเท้าพระภิกษุสงฆ์  เมื่อพระภิกษุสงฆ์เข้าประจำที่เรียบร้อยแล้ว  พึงเข้าประเคนของรับรองที่เตรียมไว้แล้ว  คือภาชนะน้ำเย็น  ประเคนของที่อยู่ด้านในก่อน  ตามด้วยน้ำชาหรือน้ำหวานต่างๆ  ถวายทีละรูปจนครบ
 
9. ประเคนเครื่องรับรองแด่พระภิกษุสงฆ์  เมื่อพระภิกษุสงฆ์เข้าประจำที่เรียบร้อยแล้ว  พึงเข้าประเคนของรับรองที่เตรียมไว้แล้ว  คือภาชนะน้ำเย็น  ประเคนของที่อยู่ด้านในก่อน  ตามด้วยน้ำชาหรือน้ำหวานต่างๆ  ถวายทีละรูปจนครบ
 
จุดเทียนธูปในงานมงคลสมรส
 
การจุดเทียนธูปให้จุดเทียนด้านซ้ายก่อนแล้วจึงจุดเล่มขวา
 
10. จุดเทียนธูปและเครื่องสักการะ  เมื่อได้เวลาแล้วเจ้าภาพเริ่มต้นจุดเทียน  ธูป ที่โต๊ะบูชาด้วยตัวเอง  ไม่ควรให้คนอื่นจุดแทน  ให้ถือว่าเราทำเพื่อสิริมงคลของผู้ทำของเจ้าของงานนั้นๆ  และควรจุดเทียนเล่มที่อยู่ทางซ้ายมือของเราก่อน  แล้วจึงจุดเทียนเล่มขวามือ  เทียนไม่ควรให้เล่มเล็กเกินไป  เสร็จแล้วจุดธูป  ธูปควรปักไว้ในกระถางธูป  ให้ตั้งตรง  ถ้าเป็นงานมงคลสมรสคู่บ่าวสาวจุดเทียนกันคนละเล่ม  ธูปคนละ 3 ดอก  ผู้หญิงให้นั่งทางซ้าย  ผู้ชายนั่งทางขวา  แล้วกราบลงพร้อมกัน 3 ครั้ง  ประเคนด้ายสายสิญจน์แก่พระเถระผู้เป็นประธานสงฆ์ในพิธี
 
11. อาราธนาศีล  ถ้าเจ้าภาพสามารถอาราธนาศีลได้ด้วยตนเองยิ่งดี  ถ้าอาสนะสงฆ์สูง  ยืนอาราธนาก็ได้  ถ้าพระภิกษุสงฆ์นั่งกับพื้น  ควรคุกเข้าประนมมืออาราธนา  จบแล้วพึงตั้งใจรับศีลด้วยการเปล่งวาจาตามไป  การเปล่งวาจานี้ควรให้พระเถระผู้ให้ศีลได้ยินด้วย  ไม่ใช่รับศีลในใจ  เมื่อท่านให้ศีลจบพึงรับด้วยคำว่า “อามะ ภันเต”  หรือว่า  “สาธุ  ภันเต”
 
12.  อาราธนาพระปริตร  เมื่อรับศีลจบแล้ว  พึงกราบลง 3 ครั้ง  หรือยืนไหว้แล้วแต่กรณี  อาราธนาพระปริตรต่อไป
 
13.  จุดเทียนน้ำมนต์  เมื่อพระภิกษุสงฆ์สวดมนต์ถึงบทมงคลสูตร  ขึ้นบทว่า “อะเสวะนา  จะพาลานัง”  ให้เจ้าภาพจุดเทียนน้ำมนต์ติดกับบาตรหรือขันน้ำมนต์  ยกขันน้ำมนต์ถวายแด่ประธานสงฆ์  เหตุที่จุดเทียนน้ำมนต์ตอนนี้เพราะเทียนน้ำมนต์ใช้แทนเทียนมงคลจึงต้องจุด  เมื่อพระท่านสวดถึงบทมงคลสูตร  ก็เพื่อให้เป็นสิริมงคลในงานนั้น
 
14. ถวายสำรับบูชาพระพุทธ  ถ้ามีการฉันเช้าหรือฉันเพลหลังจากพระเจริญพุทธมนต์เสร็จแล้ว  เมื่อพระท่านสวดถึงบท  “พาหุงสะหัสสะมะ  ภินิมมิตะสาวุธันตัง”  ถ้าเป็นงานมงคลสมรส  ให้คู่บ่าวสาวออกไปตักบาตร  โดยจับด้ามทัพพีเดียวกัน  มีคนคอยส่งข้าวของใส่บาตรแล้ว  ก็ควรนำสำรับบูชาพระพุทธมาถวายในขณะนั้น  คำว่าบูชาว่าดังนี้
 
อิมัง สูปะพยัญชนะสัมปันนัง  สาลีนัง
โภชะนัญจะ  อุทะกัง  วะรัง  สัมพุทธัสสะ  ปูเชมิฯ
ข้าพเจ้าขอบูชาพระพุทธ  ด้วยโภชนาหารอันประณีต  ด้วยน้ำสะอาด
ประเสริฐแด่พระพุทธเจ้า (จบแล้วกราบ 3 ครั้ง)
 
การประเคนของแก่คณะสงฆ์
 
ขณะประเคนอาหารควรเข้าใกล้พระสงฆ์ประมาณ 1 ศอก 
 
15.  ประเคนอาหารพระภิกษุสงฆ์  ขณะประเคนอาหาร  ควรเข้าใกล้พระสงฆ์ประมาณ 1 ศอก  ยกของที่ประเคนให้สูงขึ้นจากพื้น  ไม่ควรกระทบต่อสิ่งกีดขวางอย่างอื่นสูงพอประมาณ  ของที่ประเคนแล้ว  ห้ามมิให้ถูกต้องอีก  ถ้าถูกด้วยความพลาดพลั้งต้องรีบยกประเคนใหม่  ประเคนของทีละอย่างๆ  ถ้าเป็นของเล็กๆ  จะประเคนด้วยมือเดียวก็ได้  แต่ต้องประเคนด้วยมือขวา  ถ้าเป็นงานมงคลสมรส  คู่สมรสประเคนวางบนผ้าที่พระท่านปูรับ
 
     ขณะพระกำลังฉัน  เจ้าภาพควรนั่งปฎิบัติด้วยการดูแลให้ทั่วถึง  และควรปวารณาว่า  สิ่งใดขาดตกบกพร่องขอให้เรียกได้ตามประสงค์  เมื่อพระฉันอาหารเสร็จแล้ว  ถอนสำรับคาวออกก่อน  นำของหวานประเคนต่อไป  ถ้ามีน้ำชาก็ควรรีบถวายตอนนี้ด้วย  ช้อนส้อมของหวานไม่ควรลืม
 
16. การถวายเครื่องไทยธรรม เมื่อพระฉันเสร็จเรียบร้อยแล้ว  กรุณานำเครื่องไทยธรรมที่จะถวายมา เช่น  ดอกไม้ธูปเทียน  ห่อของถวายที่จัดเตรียมไว้  ถวายตามลำดับ  เริ่มตั้งแต่ประธานสงฆ์ลงไป  หากมีคนคอยช่วย  ก็นำสิ่งของไทยธรรมนั้นวางไว้ข้างหน้าพระภิกษุสงฆ์เป็นชุดๆ ไป  เจ้าภาพก็ค่อยประเคนตาม  บางแห่งจะกล่าวคำถวายก่อน  พอจบแล้วก็นำถวายเลย  ส่วนปัจจัย(เงิน)  ควรแยกไว้ต่างหาก  ไม่สมควรประเคนพระถึงแม้ว่าจะใส่ย่ามก็ไม่ควร  ทางที่ควรประเคนใบปวารณาแทนปัจจัย (เงินควรมอบให้กับไวยาวัจกร)
 
การกรวดน้ำในงานมงคล
 
การกรวดน้ำหลังประเคนของเรียบร้อยแล้ว
 
17.  กรวดน้ำ  เมื่อประเคนของเรียบร้อยแล้วพึงตั้งใจกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลที่เราทำบุญครั้งนี้  ให้แก่บุพการีชน  แก่เทวดา  แก่คู่กรรมคู่เวร  ขอให้กุศลผลบุญที่กระทำในวันนี้  จงเป็นผลสำเร็จแก่ตนเองและครอบครัว  ตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลายด้วยความปรารถนานั้นๆ  น้ำที่กรวดนั้นต้องเป็นน้ำสะอาดไม่มีสิ่งเจือปน  ควรเตรียมไว้ล่วงหน้าซึ่งมีคนโทสำหรับกรวดน้ำโดยเฉพาะ  หรือภาชนะที่สมควรอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้  เป็นการดีที่สุด  เพราะเป็นสิ่งจำเป็นต้องใช้ในทุกๆ งาน  ในขณะพระเถระผู้เป็นประธานสงฆ์เริ่มสวดอนุโมทนากถาว่า  “ยะถา  วาริวะหา”  เป็นต้นไป  ก็เริ่มกรวดน้ำให้ไหลลงโดยไม่ขาดระยะ  ไม่ควรเอานิ้วมือรองน้ำ ควรให้น้ำไหลลงภาชนะโดยตรง  เมื่อพระสงฆ์รับสวดว่า  สัพพีติโย  พร้อมกัน  พึงเทน้ำลงให้หมดแล้วประนมมือรับพรต่อไปด้วยใจเป็นสมาธิ  น้ำที่กรวดแล้วควรนำไปเทลงบนพื้นดินที่สะอาดหมดจด  หรือใบเสมา  และกล่าวคำอธิษฐานอีกครั้งว่า  ขออุทิศส่วนบุญที่ทำในวันนี้จงไปถึงแก่ดวงวิญญาณผู้มีพระคุณทั้งหลาย  ด้วยความถนัดใจ  ไม่ควรเทหรือสาดทิ้งทางหน้าต่างประตู  หรือในสถานที่ที่ไม่ควร  เช่น  กระโถน  ใต้ถุนบ้านเหล่านี้  เป็นต้น
 
การประพรมน้ำพระพุทธมนต์
 
การประพรมน้ำพระพุทธมนต์  งานมงคลสมรสคู่บ่าวสาวควรหมอบให้น้ำมนต์
 
18.  การประพรมน้ำพระพุทธมนต์  ก่อนพระภิกษุท่านจะกลับวัด  เจ้าภาพที่มีความประสงค์จะให้พรมน้ำพระพุทธมนต์ให้  ก็พึงเรียนท่านและบอกญาติพี่น้องให้เข้ามารวมกัน  นั่งประนมมือ  หรือหมอบลงรับน้ำพระพุทธมนต์พร้อมกัน  ในโอกาสเช่นนี้พระภิกษุท่านจะสวด  ชะยันโต  เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่เจ้าภาพและแขกที่มาร่วมงาน  ฉะนั้นผู้เป็นเจ้าภาพพึงคอยรับความเคารพ  โดยหมอบลงตรงพระเถระถ้ามีคนมาก  ผู้ที่ประพรมแล้วก็ควรให้โอกาสแก่คนอื่นบ้าง  เจ้าภาพประสงค์ให้พระท่านประพรม ณ ที่ใด ก็พึงอุ้มบาตรหรือขันน้ำมนต์นั้น  นำท่านไป  ถ้าต้องการจะให้ท่านเจิม  หรือปิดทอง  ก็เตรียมในช่วงนั้น  สิ่งที่ควรเตรียมก็มี  แป้งเจิมแผ่นทองคำเปลว
 
     ถ้าเป็นงานมงคลสมรส  คู่บ่าวสาวควรหมอบให้น้ำมนต์  ตั้งแต่พระเถระหัวแถวถึงพระภิกษุรูปสุดท้าย  มากน้อยตามความเหมาะสม  หลังจากคู่บ่าวสาวแล้วจึงพรมให้แขกอื่นที่มาร่วมงาน  ส่วนเจ้าสาวต้องให้ญาติผู้ใหญ่  หรือบิดามารดาเจิมหน้าให้
 
19.  ส่งพระภิกษุสงฆ์กลับวัด  เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว  พระภิกษุสงฆ์ลากลับวัด  เจ้าภาพพึงตามส่งถึงรถ  หรือประตูบ้านซึ่งเตรียมไว้แล้ว
 
20.  นำของที่ยืมมาคืนวัดให้เรียบร้อย  เสื่อ หมอน  หรือพรม  โต๊ะบูชาเครื่องใช้ที่ยืมมาจากวัดก็พยายามอย่างยิ่งอย่าให้แปดเปื้อน  หรือแตกหักเสียหาย  เพราะเป็นสมบัติของสงฆ์  ถ้าเกิดเสียหายไปด้วยประการใดก็ดี  เจ้าภาพพึงสำนึก  ของเหล่านี้เป็นของสาธารณสมบัติ  ไม่ควรดูดายต้องหามาชดใช้แทนและทำความสะอาดให้เรียบร้อย  นำส่งตรวจสอบให้ถูกต้อง  เท่าที่ยืมมาใช้  เพื่อเป็นตัวอย่างต่อไป
 
ด้ายสายสิญจน์
 
ด้ายสายสิญจน์มีความสำคัญกับการประกอบพิธีทั้งงานมงคลและงานอวมงคล
 
     ในงานมงคลที่กล่าวถึงข้างต้นหรืองานอวมงคลที่จะได้กล่าวถึงในหัวข้อต่อไปนั้นจะมีอุปกรณ์อยู่ชิ้นหนึ่งที่ใช้บ่อย  และมีความสำคัญกับการประกอบพิธีกรรมอย่างมาก  นั่นคือ  “ด้ายสายสิญจน์”  ซึ่งส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ทราบถึงความเป็นมาของด้ายสายสิญจน์นี้  เพื่อเป็นความรู้ประดับสติปัญญาของเราเอง  และเพื่อเป็นข้อมูลในการอธิบายให้คนอื่นได้ทราบถึงความเป็นมา  จะได้นำประวัติของด้ายสายสิญจน์ที่ปรากฎอยู่ในพระไตรปิฎกมากล่าวถึงในบทนี้  ดังนี้
 
      ในอดีตกาล  พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นพระราชโอรสสุดท้องของพระเจ้าพรหมทัตแห่งเมืองพาราณสี  ทรงศรัทธาบำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นประจำ  วันหนึ่งได้ทูลถามพระปัจเจกพุทธเจ้าว่าต่อภายหน้าพระองค์จะได้เสวยราชสมบัติในเมืองพาราณสีหรือไม่พระปัจเจกพุทธเจ้าพิจารณาดูแล้วก็ทราบว่าจะไม่ได้เป็นกษตริย์ในเมืองนี้  แต่จะได้ครองเมืองตักสิลา  ทว่าการไปตักสิลานั้นมีอันตรายมากจากนางยักษิณีระหว่างทาง  จึงถวายพระพรเรื่องนี้ให้ทรงทราบพร้อมกำชับว่าให้ระวังตัวในเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส  ที่นางยักษิณีจะปลอมแปลงมาหลอกลวง  ถ้าหลงใหลจะเป็นอันตรายถึงชีวิต  พระโพธิสัตว์ก็รับคำเป็นอันดี  แล้วได้อาราธนาพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายสวดพระปริตร  แล้วรับเอาปริตตวาลิกะ (ทรายเสกด้วยพระปริตร) และปริตต-สุตตะ (ด้ายเสก-สายสิญจน์)  ที่พระปัจเจกพุทธเจ้ามอบให้  ทูลลาพระราชบิดาออกเดินทางไปเมืองตักสิลาพร้อมด้วยคนสนิท 5 คน ซึ่งขอติดตามไปด้วยโดยมิฟังคำทัดทาน  หลังจากกำชับกำชาให้ระวังตัวให้ดีเหมือนคำพระปัจเจกพุทธเจ้า  และทุกคนรับคำเป็นอันดีแล้วก็เดินทางไปตามลำดับ
 
     ครั้นถึงกลางดงใหญ่อันเป็นถิ่นที่อยู่ของนางยักษิณี  นางยักษิณีเห็นบุรุษเหล่านั้นพักอยู่จึงจำแลงเพศมาเป็นหญิงสาวรุ่นงดงาม  น่าพึงใจด้วย  รูป เสียง กลิ่น รส  และสัมผัส  พวกคนสนิทของพระโพธิสัตว์เห็เข้าก็เกิดความลุ่มหลง  ลืมสัญญาเสียสิ้น  คนที่ชอบรูปร่าง  ก็ถูกนางยักษิณีลวงรูปสวยแล้วจับกินเสีย  คนที่ชอบเสียงก็ลวงด้วยเสียง  แล้วถูกจับกิน  คนทั้งห้าถูกลวงด้วยกามคุณทั้ง 5 อย่างนี้แล้วถูกจับกินจนหมดเหลือพระโพธิสัตว์เพียงคนเดียวเท่านั้น  แม้ยักษิณีจะลวงด้วยอาการอย่างไรก็ไม่ประมาท  ไม่ยอมติดใจยินดีด้วยอำนาจบุญบารมีที่เคยสั่งสมอบรมมา  นางยักษิณีก็ทำอะไรไม่ได้  ได้แต่ติดตามไปห่างๆ  จะเข้าก็ไม่ได้เพราะอานุภาพแห่งทรายเสก  และด้ายเสกที่ติดตัวพระโพธิสัตว์อยู่
 
     พอถึงเมืองตักสิลา  พระโพธิสัตว์ก็เข้าพัก ณ ศาลาแห่งหนึ่ง  เอาทรายเสกโรยบนศรีษะ  แล้วเอาด้ายเสกวนรอบที่พัก  นางยักษิณีก็เข้าศาลาไม่ได้จึงพักอยู่ข้างนอกจนกระทั่งรุ่งเช้า  พระราชาเมืองตักสิลาเสด็จผ่านมาเห็นนางเข้าจึงเกิดความสิเน่หา  นำนางเข้าไปเป็นสนมในวัง  ภายหลังถูกนางยักษิณีหลอกจับกินเสียอีก  เมื่อขาดพระราชาประชาชนจึงพร้อมใจกันเลือกพระราชาองค์ใหม่  เห็นพระโพธิสัตว์มีรูปร่างงดงาม  มีสง่าน่าเลื่อมใส  จึงอัญเชิญให้เป็นพระราชาเมืองนั้นสืบต่อไป
 
     ด้วยเหตุนี้  ด้ายสาญสิญจน์จึงนิยมใช้วงสถานที่อยู่  และสถานที่ทำพิธี  ตลอดจนสวมศรีษะ  สวมคอ  ผูกข้อมือในงานมงคลทั้งปวง  โดยนับถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ประดุจข่าย  หรือเกราะเพชรป้องกันสรรพอันตราย  เป็นประเพณีสืบมาจนทุกวันนี้
 
การใช้ด้ายสายสิญจน์ในงานมงคล
 
ด้ายสาญสิญจน์นิยมใช้วงสถานที่อยู่ และสถานที่ทำพิธี 
ตลอดจนสวมศรีษะ  สวมคอ  ผูกข้อมือในงานมงคลทั้งปวง 
 
     อีกอย่างหนึ่งที่ต้องมีเวลางานมงคลคือน้ำมนต์  ซึ่งถือว่าเป็นมงคล  ดังนั้นเมื่อรับพรจากพระภิกษุสงฆ์แล้ว  จึงนิยมมีการพรมน้ำมนต์เพื่อเป็นสิริมงคลแก่เจ้าภาพและผู้มาร่วมงาน  เนื่องจากเป็นการขับไล่สิ่งไม่ดีออกไป  โดยถือคติตามในพระไตรปิฎกที่กล่าวถึงประวัติของน้ำมนต์ดังจะกล่าวต่อไปนี้
 
     ในสมัยที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระนครราชคฤห์  ขณะนั้นที่เมืองเวสาลีซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นวัชชี  เกิดทุกขภัยข้าวยากหมากแพง ฝนแล้ง ข้าวกล้าเสียหายเหลือคณานับ  ผู้คนจึงอดอยากล้มตายลงเป็นอันมาก  ที่เหลือก็นำศพเหล่านั้นไปทิ้งนอกเมืองเพราะเผาหรือฝังไม่ไหว  นอกเมืองจึงเหม็นคลุ้งด้วยซากศพ  ฝูงนกกาและสุนัยก็มาลากกินศพเหล่านั้น  แล้วลงกินน้ำในแม่น้ำ  ทำให้อหิวาตกโรคระบาดซ้ำอีก  ผู้คนยิ่งล้มตายเป็นทวีคูณ  พวกอมนุษย์และภูตผีปีศาจทั้งหลายก็พากันเข้าเมืองก่อความเดือดร้อนให้ชาวบ้านทั้งกลางวันและกลางคืน
 
     ชาวเมืองจึงพากันทูลให้เจ้าผู้ครองนคร  คือเจ้าลิจฉวีทั้งหลายนิมนต์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาประทับที่เมืองเวสาลีบ้าง  ภัยทั้งหลายก็จะสงบเอง  เจ้าลิจฉวีทั้งหลายก็เห็นพ้องด้วย  จึงนิมนต์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาเมืองเวสาลี  โดยผ่านทางพระเจ้าพิมพิสารกษัตริย์เมืองราชคฤห์  พระเจ้าพิมพิสารจึงทูลนิมนต์พระพุทธองค์ตามนั้น  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับนิมนต์แล้วเสด็จไป เมืองเวสาลีพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก  โดยเสด็จทางเรือที่พระเจ้าพิมพิสาร  และเจ้าลิจฉวีทั้งหลายถวายความสะดวกฝ่ายละครึ่งทาง  เมื่อเรือเทียบท่าแล้ว  พระพุทธองค์เสด็จด้วยพระบาทเปล่าเข้าแคว้นวัชชีต่อไป  พอพระพุทธองค์และพระภิกษุสงฆ์เข้าเขตแคว้นวัชชีเท่านั้น  ได้เกิดฝนตกลงมาห่าใหญ่  น้ำฝนได้ไหลพัดพาเอาซากศพ  และสิ่งปฏิกูลทั้งหลายลงแม่น้ำคงคาจนหมด  ถนนหนทางก็สะอาดสะอ้านขึ้นเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก
 
     และเมื่อเสด็จถึงประตูเมืองเวสาลี  ทรงรับสั่งให้พระอานนท์เรียนเอาพระพุทธมนต์ชื่อ “รตนสูตร”  แล้วเดินสวดพระปริตร  รตนสูตรจนรอบพระนคร  บรรดาอมนุษย์และภูตผีทั้งหลายพอถูกน้ำพระพุทธมนต์เข้าก็พากันกลัว  หนีไปสิ้น  โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ก็พอหมดสิ้นไปด้วย  เมื่อปะพรมน้ำพระพุทธมนต์แล้วพระอานนท์ก็กลับมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าต่อไป  เมืองเวสาลีก็ปลอดภัยจากความพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้น  ชาวเมืองก็อยู่เย็นเป็นสุข  ทำมาหากินได้สะดวกเหมือนเดิม  ด้วยประการฉะนี้  ดังนั้นจึงได้ถือปฏิบัติต่อกันมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ประเพณีการพรมน้ำมนต์ก็ยังอยู่คู่กับชาวพุทธตลอดมา
 
รับชมวิดีโอ
 
 

รายการวิดีโอที่เกี่ยวข้อง

ธรรมะศึกษา
 
บทความที่เกี่ยวข้องกับศาสนพิธี ตอนพิธีกรรมในงานมงคล


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
การประเคนของแด่พระภิกษุสงฆ์การประเคนของแด่พระภิกษุสงฆ์

การจัดโต๊ะหมู่บูชาพระ 3 4 5 7 9 โต๊ะหมู่เฉลิมพระเกียรติการจัดโต๊ะหมู่บูชาพระ 3 4 5 7 9 โต๊ะหมู่เฉลิมพระเกียรติ

พิธีกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาพิธีกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

พุทธประวัติ - วันสำคัญในพระพุทธศาสนา