เชื่อไม่เชื่อ..กับศาสตร์ลับในธรรมะ..ช่วยสร้างเสน่ห์ให้คนรักคนชอบ..มาบอก


[ 29 ก.ค. 2549 ] - [ 18266 ] LINE it!

 
 
คนเราเกิดมาทุกคน ก็อยากมีรูปร่างหน้าตาสวยงาม หล่อเหลาเป็นที่ต้องตาต้องใจแก่ผู้พบเห็นทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ สถานเสริมความงาม และเครื่องสำอางค์ต่างๆ จึงขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่การมีหน้าตาดีอย่างเดียว ก็ใช่ว่าจะทำให้ผู้อื่นชื่นชอบเราได้  อีกทั้งรูปกายภายนอกก็เป็นสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืน ดังนั้น จึงมีผู้ค้นคิดวิธีการต่างๆ นานาที่จะปรับปรุง แก้ไข และสร้างเสริมให้เราเป็นที่ชื่นชม และยอมรับของผู้อื่น  ซึ่งสิ่งนี้จะเรียกว่า  “ความมีเสน่ห์”  ก็ได้   “เสน่ห์” ก็คือ ลักษณะที่ชวนให้รัก ให้ชอบ เชื่อว่าคนเราทุกคนไม่ว่าหญิง หรือชาย หรือผู้อยู่ในวัยไหนๆ  ต่างก็อยากให้ตนเป็นที่รักที่ชอบของคนอื่นทั้งนั้น

“การสร้างเสน่ห์” เป็นเรื่องของการประพฤติปฏิบัติ ที่จะทำให้คนนิยมชมชอบเรา ซึ่งต่างจากการ “ทำเสน่ห์” อันเป็นเรื่องของไสยาศาสตร์  ที่อิงอยู่กับความเชื่อ และเครื่องลางของขลัง ดังนั้น คนเราแม้จะไม่สวยไม่หล่อ ก็สามารถเป็น “คนมีเสน่ห์” ได้ ส่วนวิธีการจะสร้างเสน่ห์ให้กับตัวเอง จะทำได้อย่างไร กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ  กระทรวงวัฒนธรรม  ขอนำเสนอหลักธรรม บางประการที่ทุกคนสามารถนำไปประยุกต์ใช้  เพื่อให้กลายเป็น “คนมีเสน่ห์ น่ารัก” เพิ่มขึ้นได้ ดังจะได้กล่าวต่อไป

เมื่อพูดถึง “หลักธรรม” หรือ “ธรรมะ” คนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะวัยรุ่นจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องเชย ไกลตัว ใกล้วัด บางคนก็คิดว่าเป็นเรื่องของคนสูงอายุ  ใกล้หมดไฟ ดูคร่ำครึ  ไม่ทันโลก  แต่โดยแท้จริง วิธีการสร้างเสน่ห์ หรือผูกใจคนในหนังสือ How  to หรือจิตวิทยาของต่างประเทศ ที่คนทั้งหลายคิดว่าเป็นเรื่องใหม่  ทันสมัย ถ้าอ่านจริงๆ แล้ว ก็จะพบว่าไม่ได้ต่างจากหลักธรรมคำสั่งสอน ของพระพุทธองค์เมื่อ 2500 กว่าปีก่อนเลย จะไม่เหมือนกันก็เพียงการสื่อสารและภาษาที่ใช้เท่านั้น  อีกทั้งหลักธรรมที่ว่าก็ยังมีอย่างหลากหลาย สามารถเลือกใช้กับบุคคลตามระดับสติปัญญา  และสถานการณ์ต่างๆได้ด้วย   แต่ในที่นี้ เราจะเลือกมาแต่ในส่วนที่จะช่วยเสริมสร้าง “เสน่ห์” ให้เกิดขึ้นกับตัวเราเท่านั้น  คือ

ข้อแรก คนที่จะมีเสน่ห์ได้นั้น ท่านว่าต้องมี พรหมวิหารสี่ อันเป็นธรรมประจำใจของผู้ประเสริฐหรือผู้มีจิตใจดี  ซึ่งประกอบด้วย เมตตา คือ ความรักและปรารถนาดีต่อผู้อื่น  กรุณา คือ ความสงสาร อยากจะช่วยเหลือผู้อื่น เห็นใครเดือดร้อนก็อยากบำบัดทุกข์ยากให้แก่เขา มุทิตา คือความเบิกบานพลอยยินดีเมื่อเห็นคนอื่นได้ดีมีสุข พร้อมที่จะสนับสนุนส่งเสริมเขา ไม่อิจฉาริษยาเขา  อุเบกขา  คือ ความมีใจเป็นกลาง มองโลกตามความเป็นจริง ว่าใครทำดี ทำชั่วก็ได้รับผลกรรมตามนั้น  พร้อมวางตนและปฏิบัติตามหลักการ เหตุผลและความเที่ยงธรรม หลักธรรมเรื่องนี้ จะทำให้เราเป็นคนยิ้มแย้มแจ่มใสกับทุกคนอย่างจริงใจ  และยังมีจิตใจดีพร้อมจะช่วยเหลือผู้อื่นอย่างจริงจัง  ทำให้ใครก็อยากมาใกล้ มารู้จัก เพราะอยู่ใกล้แล้วรู้สึกร่มเย็น สบายใจ ดูอย่างท่านท้าวมหาพรหม ด้วยเมตตาของท่าน ใครขออะไรท่านก็ให้  ทำให้คนจากทั่วสารทิศไปกราบไปไหว้ท่านมิได้ขาด แต่คนอย่างเราๆ คงไม่ต้องถึงกับใครมาขออะไรก็ให้ เพราะเช่นนั้นเราคงเดือดร้อนเอง เพียงแค่มีความรัก ความเมตตากับคนรอบข้าง แค่นี้ก็เป็นเสน่ห์เหลือเฟือแล้ว

ข้อต่อไป คือ สังคหวัตถุ 4 หมายถึง ธรรมอันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจคน และประสานให้คนเกิดความรักความสามัคคีต่อกัน ได้แก่ ทาน คือ การให้ปัน การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  การช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้อื่น ปิยวาจาคือ พูดจาสุภาพ ไพเราะน่าฟัง แนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์  มีเหตุมีผล  พูดจาให้กำลังใจแก่ผู้อื่น พูดให้เกิดความรักความสามัคคีต่อกัน พูดให้ถูกกาละเทศะฯลฯ อัตถจริยา  คือทำประโยชน์แก่ผู้อื่น  อาจจะเป็นการช่วยเหลือด้วยแรงกาย หรือช่วยบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ต่างๆ รวมถึงช่วยคนอื่นแก้ปัญหา  สมานัตตตา คือ วางตัวเสมอต้นเสมอปลาย ปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างสม่ำเสมอ ไม่เอารัดเอาเปรียบใคร ธรรมข้อนี้ แค่เรื่องพูดดี มีประโยชน์เรื่องเดียว ก็ช่วยให้คนปฏิบัติ เป็นที่ชื่นชอบของคนอื่นอยู่แล้ว เมื่อรวมกับการทำตัวให้มีค่า ไม่นิ่งดูดายต่อความทุกข์ยากหรือปัญหาของคนอื่น และยังทำตัวเสมอต้นเสมอปลาย นั่นคือ ไม่ยกตนข่มท่าน รวมถึงการรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตนด้วยแล้ว  ก็ยิ่งจะเป็นเสน่ห์ให้คนรักเรามากยิ่งขึ้น 

ต่อไปคือ อิทธิบาท 4 คือ หลักธรรมที่จะนำไปสู่ความสำเร็จแห่งกิจการทั้งปวง ได้แก่
ฉันทะ คือ การมีใจรักและพอใจในการทำสิ่งนั้นๆ  คือ ทำอะไรก็ให้ทำด้วยใจรัก 
วิริยะ คือ ความพากเพียร ที่จะหมั่นกระทำสิ่งนั้นๆ ด้วยความพยายาม อดทน เอาธุระ ไม่ทอดทิ้ง  ไม่ท้อถอย แต่จะทำจนประสบความสำเร็จ 
จิตตะ คือ การเอาใจฝักใฝ่ รู้ในสิ่งที่กระทำ ทำด้วยความคิด ไม่ฟุ้งซ่านเลื่อนลอย ทำงานนั้นๆ อย่างอุทิศให้ทั้งกายและใจ
วิมังสา คือ การใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญ หาเหตุผล และข้อบกพร่องต่างๆ เพื่อหาวิธีแก้ไขปรับปรุง 

ที่นำหลักธรรมข้อนี้ มาเป็นการสร้างเสน่ห์อีกข้อก็เพราะว่า คนเราไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใด หากแต่ละคนทำหน้าที่ของตนด้วยหลักอิทธิบาท 4 ก็จะทำให้กิจการนั้นๆเกิดผลสำเร็จเป็นที่ภาคภูมิใจแก่ตนเองและผู้เกี่ยวข้อง  เช่น  เมื่อเป็นนักเรียน ก็ย่อมจะเป็นนักเรียนที่ขยันหมั่นเพียร และเรียนดี  ทำให้พ่อแม่และครูชื่นชม เพื่อนฝูงก็พึ่งพาอาศัยได้  เช่นเดียวกับครู  ถ้ามีอิทธิบาท 4 ก็ย่อมจะทำการสอนได้ดี  เป็นที่รักของนักเรียน หรือหากเป็นลูกน้องทำแล้ว ผู้บังคับบัญชา ก็ย่อมยินดีว่า มีลูกน้องที่ดี ขยันทำงาน  ไปอยู่ไหนๆใครๆก็ชอบ เพราะทำงานไม่เหลาะแหละ หากเป็นนายงาน  ลูกน้องก็ชื่นชม ว่าเก่ง ว่าดี  เป็นตัวอย่างให้ทำตาม  เป็นต้น ธรรมข้อนี้จึงเป็นธรรมที่ทั้งสร้างเสน่ห์ และยังผลสำเร็จต่อการทำงานทุกเรื่องของผู้ปฏิบัติ

ธรรมอีกข้อที่จะช่วยเสริมสร้างเสน่ห์คือ ธรรมที่เรียกว่า ฆราวาสธรรม 4  อันเป็นหลักธรรมสำหรับการครองชีวิตของคนโดยทั่วไป  ประกอบด้วย  สัจจะ คือ การดำรงตนตั้งมั่นในความซื่อตรง จริงใจ พูดจริงทำจริง ทำอะไรก็ให้เป็นที่เชื่อถือได้  ทมะ คือ การฝึกตน หมายถึง รู้จักบังคับควบคุมตนเองได้  รู้จักปรับตัว แก้ไขตนให้ก้าวหน้าดีขึ้นอยู่เสมอ ขันติ คือ ความอดทน หมายถึง มุ่งทำหน้าที่การงานด้วยความขยันหมั่นเพียร อดทน ไม่หวั่นไหว ไม่ท้อถอยในจุดมุ่งหมาย  และจาคะ คือ การเสียสละ หมายถึง ความมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อ ละโลภ  และละทิฐิมานะ ทำงานร่วมกับคนอื่นได้  ไม่ใจแคบ เห็นแก่ตัว  การที่ธรรมข้อนี้สร้างเสน่ห์ให้เรา ก็เพราะว่าใครๆก็ย่อมชอบและชื่นชมคนที่มีสัจจะ พูดคำไหนคำนั้น ไม่โกหก หลอกลวง  คนที่รู้จักควบคุมตนเองได้ ก็ย่อมจะไม่ปล่อยให้โทสะจริต หรือกิริยาวาจาที่ไม่ดีมาทำร้ายผู้อื่น และยิ่งรู้จักปรับตัวให้ก้าวหน้าอยู่เสมอ ก็ย่อมทำให้คนอยากรู้จักมากขึ้น เพราะเป็นคนมีความรู้ความสามารถ  และคนที่ไม่เห็นแก่ตัว อีกทั้งยังมีความอดทน ก็จะทำให้คนรอบข้างมีความสุข และมีกำลังใจเพราะเห็นคนนั้นๆเป็นแบบอย่างที่ดี

นอกจากนี้ธรรมที่ชื่อว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ หรือประโยชน์ปัจจุบัน 4 อย่าง ได้แก่ อุฏฐานสัมปทา คือ การถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียรในการเลี้ยงชีวิต และทำหน้าที่การงาน อารักขสัมปทา คือ ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือ รักษาทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความหมั่นมิให้เป็นอันตราย หรือรักษาการงานของตนมิให้เสื่อมเสีย  กัลยาณมิตตตา คือ ความมีเพื่อนเป็นคนดี ไม่คบคนชั่ว สมชีวิตา คือ การลี้ยงชีวิตตามกำลังทรัพย์ ไม่ให้ฝืดเคืองหรือฟุ่มเฟือยเกินไป ธรรมข้อนี้อ่านแล้ว ดูเหมือนไม่เกี่ยวกับการสร้างเสน่ห์ให้ตัวเราเอง แต่จริงๆ เป็นธรรมที่มีผลให้ผู้อื่นอยากคบหาสมาคมกับเราหรือไม่ด้วย  กล่าวคือ หากเราประกอบอาชีพหรือทำงานใดที่ดี  รู้จักใช้เงินทองที่หามาได้  และคบเพื่อนฝูงดี ย่อมจะทำให้เราอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี เกื้อกูลให้เราพบแต่สิ่งดีๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อเรา เช่น ทำให้เรารู้จักมารยาทสังคม รู้อะไรควรปฏิบัติหรือละเว้น สิ่งนี้ก็จะเป็นการเพิ่มพูนเสน่ห์ให้เกิดขึ้นได้ด้วย แต่หากเราไม่รู้จักทำมาหากิน คบเพื่อนชั่ว ใช้เงินไม่เป็น ก็คงไม่มีใครอยากคบ อยากเข้าใกล้เรา เพราะกลัวเราจะไปขอกู้หนี้ยืมสิน หรือชักพาเขาไปในทางที่เสื่อมเสีย  ดังนั้น ธรรมข้อนี้จึงเป็นธรรมที่สร้างเสน่ห์ให้เราอีกข้อหนึ่ง จะเห็นได้ว่าธรรมทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นเป็นหลักธรรม  ธรรมดาๆ ที่เป็นสิ่งที่ใกล้ตัว ทำได้ไม่ยาก หลายๆ เรื่องก็เป็นสิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติอยู่แล้ว เพียงแต่ถ้าเราจะปฏิบัติให้เข้มข้นขึ้น และมีความตั้งใจมากขึ้น  สิ่งเหล่านี้ก็คือ วิธีการสร้าง “เสน่ห์” ดึงดูดให้เพื่อนฝูง คนรู้จัก และคนรอบข้างนิยมชมชอบเราเพิ่มขึ้นนั่นเอง
 
 


ขอขอบคุณข้อมูลข่าว : อมรรัตน์ เทพกำปนาท กลุ่มประชาสัมพันธ์  สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ค่ายมือถือขานรับ 1 กันยายนใช้เลขหมาย 10 หลักค่ายมือถือขานรับ 1 กันยายนใช้เลขหมาย 10 หลัก

โพลล์ชี้เยาวชนกทม. 4% เฟ้อ!! ใช้จ่ายวันละ 500 บาทโพลล์ชี้เยาวชนกทม. 4% เฟ้อ!! ใช้จ่ายวันละ 500 บาท

ฮือฮา! ลูกหมูประหลาดฮือฮา! ลูกหมูประหลาด



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

DMC NEWS