จะรูั้ได้อย่างไรว่าสำนักปฏิบัติธรรมที่ไหนดีจริง


[ 7 พ.ย. 2554 ] - [ 18260 ] LINE it!

หลวงพ่อตอบปัญหา
 
 
โดย พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทัตตชีโว)
เรียบเรียงจากรายการหลวงพ่อตอบปัญหา ทาง DMC
 

คำถาม: หลวงพ่อครับ เดี๋ยวนี้มีสำนักปฏิบัติธรรมมากมาย แต่ละแห่งก็ว่าของตัวเองดีทั้งนั้น จะรู้ได้อย่างไรละครับว่าสำนักไหนดีจริง?

 
คำตอบ: ก่อนที่คุณจะเลือกสำนักปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าจะให้ดีควรจะหาความรู้จากพระไตรปิฎกเสียก่อน เพื่อเป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติต่อไปในวันข้างหน้า และเป็นหลักในการเลือกสำนักด้วย เพราะว่าพระไตรปิฎกนั้น ได้รวบรวมคำสอนภาคทฤษฎีเอาไว้อย่างเรียบร้อยบริบูรณ์ เมื่อคุณมีความรู้ขั้นพื้นฐานจากพระไตรปิฎกแล้ว จากนั้นคุณจึงค่อยไปเลือกสำนักปฏิบัติ
 
สำนักปฏิบัติธรรมมีมากมาย
สำนักปฏิบัติธรรมมีมากมาย
 
        คราวนี้ ในการเลือกสำนักปฏิบัตินั้น ก็มีวิธีเลือกง่ายๆ ให้ดูเจ้าสำนักเป็นเกณฑ์ว่าเจ้าสำนักนั้นมีความประพฤติ มีข้อปฏิบัติถูกต้องตามพระไตรปิฎกที่คุณเรียนมาหรือไม่ 
 
        ถ้าท่านมีความประพฤติ มีการปฏิบัติเรียบร้อยบริบูรณ์ดีงามสมกับที่คุณได้อ่านมาจากพระไตรปิฎกแล้ว ก็เลือกสำนักนั้นแหละเป็นสำนักที่คุณควรจะมอบกายถวายชีวิต ให้ท่านอบรมเคี่ยวเข็ญกันต่อไป
 
        อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วโอกาสที่เราจะได้เข้าไปสนทนา ได้เข้าไปใกล้ชิดกับเจ้าสำนักต่างๆ บางทีก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน เพราะยิ่งเป็นสำนักใหญ่ เจ้าสำนักท่านก็มีงานมีภาระรับผิดชอบมาก
 
        หลวงพ่อขอแนะนำวิธีเลือกสำนักอีกวิธีหนึ่งคือ ลองศึกษาความประพฤติการปฏิบัติจากลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดของท่าน จะเป็นฆราวาสก็ตาม หรือจะเป็นพระภิกษุก็ตามที สังเกตรวมๆ ๖ เรื่องต่อไปนี้ ถ้าเห็นว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ๖ ประการนี้แล้ว ก็มอบกายถวายชีวิตเข้าไปเป็นลูกศิษย์ได้เลย
 
        คุณสมบัติ ๖ ประการ ซึ่งสำนักที่ได้มาตรฐานจริงๆ จะต้องมีคือ
 
        ๑. เจ้าสำนักเอง รวมทั้งลูกศิษย์ในสำนักนั้น ไม่มีนิสัยขอบว่าร้ายหรือโจมตีการปฏิบัติธรรมของสำนักอื่น ถ้าท่านยังมีนิสัยชอบว่าร้ายอยู่ แสดงว่าคุณธรรมของท่านก็ยังไม่พอ แล้วท่านจะมาสอนให้เราได้อย่างไร
 
        ๒. ท่านจะต้องไม่มีนิสัยชอบในลักษณะที่เรียกว่า นักเลง หรือชอบข่มขู่คนอื่น อะไรทำนองนั้น ท่านควรจะมีวิธีการสอนประเภทที่เรียกว่าให้เหตุ ให้ผล ได้ลุ่มลึกไปตามลำดับ ไม่ใช่บังคับให้เชื่อหรือขู่ให้เชื่อ
 
        ๓. สังเกตดูด้วยว่า ศีลของท่าน มารยาทของท่าน งามดีไหม สมกับที่จะมาเป็นพระอาจารย์สอนเราได้หรือยัง การจะดูว่ามารยาทงามหรือไม่งาม ศีลงามหรือไม่งามนั้น เราเทียบจากพระวินัยในพระไตรปิฎกที่เราเรียนมานั่นแหล่ะ อย่าไปถือเอาความถูกใจเราเป็นเกณฑ์ ต้องเอาความถูกต้องเป็นเกณฑ์จึงจะใช้ได้
 
        ๔. อาจจะเจาะลึกไปถึงเรื่องอาหารการขบฉันของท่าน คือ ต้องดูว่าวัดนี้ สำนักนี้ จุกจิกจู้จี้ในเรื่องอาหารบ้างหรือเปล่า หรือบริโภคกันฟุ่มเฟือย สุดโต่งเลย เช่น ต้องสั่งจากภัตตาคารมาประเคน ถ้าอย่างนั้นละ ถอยๆ ออกมาดีกว่า
 
        ๕. ไปดูถึงสถานที่การปฏิบัติธรรมของเขาจริงๆ ว่าออกในลักษณะไหน ถ้าออกในลักษณะโอ่อ่าเกินไป เดี๋ยวจะเกิดนิสัยฟุ้งเฟ้อกลับมา แต่ว่าถ้าซอมซ่อเกินไป ปล่อยให้สกปรกรกรุงรัง อย่างนั้นก็ไม่สมควร เพราะในพระศาสนานี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเคร่งครัดในเรื่องของความสะอาด ความมีระเบียบ ตลอดจนกระทั่งความร่มรื่นของสถานที่ปฏิบัติธรรมด้วย เราจึงต้องดู
 
        ๖. เจ้าสำนักเอง ท่านรักการฝึกสมาธิมากแค่ไหน ถ้าฝึกสมาธิกันแค่วันละชั่วโมงสองชั่วโมง หรือว่าฝึกกันไปตามมีตามเกิด คุณอย่าไปฝากตัวเป็นศิษย์ท่านเลย
 
        ถ้าเป็นสำนักที่ตั้งใจฝึกสมาธิกันอย่างจริงๆ จังๆ ก็ใช้ได้เลยนะ เพราะว่าคนที่ยังไม่ฝึกสมาธิอย่างจริงจัง ย่อมไม่สามารถที่จะรักษาคุณธรรมที่กล่าวไว้แล้วข้างต้นทั้ง ๕ ประการ
 
        คุณสมบัติประการที่ ๖ นี้จึงเป็นประการสำคัญมากที่สุดเลยที่จะยืนยันว่า สำนักที่เราจะไปปฏิบัตินั้น ต้องมีการฝึกมีการสอน มีการอบรมสมาธิอย่างจริงจัง เจ้าสำนักเองก็ทุ่มเทฝึกสมาธิด้วย เป็นผู้นำในการฝึกเลย แล้วสมาธินั้นก็เป็นสมาธิในพระพุทธศาสนา
 
        ถ้าคุณไปพบสำนักใดมีคุณธรรม ๖ ประการนี้อยู่ครบบริบูรณ์แล้วละก็ คุณเข้าไปเป็นลูกศิษย์ในสำนักนั้นได้เลย รับรองไม่ผิดหวังแน่นอนนะ
 

คำถาม: วิธีนั่งสมาธิที่หลวงปู่่ หลวงตา แต่ละองค์สอน ทำไมไม่ค่อยเหมือนกันเลยครับ?

 
คำตอบ: เรื่องนี้มันขึ้นอยู่กับพื้นฐานการฝึกอบรมของเรา กับของหลวงปู่่ หลวงตาท่าน บางทีเราไปถาม “หลวงปู่ นั่งสมาธิทำอย่างไร “ ท่านตอบสั้นๆ ว่า “ก็ปล่อยวางให้หมดซิ” ท่านพูดเหมือนง่ายๆ แต่เราปล่อยวางอย่างท่านว่าได้ไหม ไม่ง่ายนะ จริงๆ ท่านว่าของท่านถูกต้องแล้ว แต่พื้นฐานการฝึกอบรม และประการณ์ของเรามาคนละเส้นทาง เราเลยตามท่านไม่ทัน
 
การนั่งสมาธิมีหลายวิธี
การนั่งสมาธิมีหลายวิธี
 
        เหมือนหลวงพ่อก่อนบวชพบคุณยายอาจารย์ (อุบาสิกาจันทร์ ชนนกยูง) ใหม่ๆ ไปถามวิธีนั่งสมาธิกับท่าน ท่านบอกให้เอาใจไปเก็บไว้กลางท้อง เก็บไว้ตรงศูนย์กลางท้องได้เมื่อไรพระนิพพานอยู่ตรงนั้น
 
        ถามท่านว่าทำไมต้องเอาใจไว้กลางท้องท่านตอบว่า ก็ตรงนั้นเป็นปากทางไปนิพพาน  ประตูพระนิพพานอยู่ตรงนั้น ฟังแล้วยิ่งงงใหญ่ ก็เลยไปถามรุ่นน้องคนหนึ่ง คือท่านเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) องค์นี้แหละ ตอนนั้นท่านยังไม่ได้บวชเป็นนิสิตรุ่นน้อง กำลังเรียนอยู่สถาบันเดียวกัน ถามว่า ทำไมคุณยายบอกอย่างนั้น
 
        ท่านก็ขยายความให้ฟังว่า “พี่เด็จ ลืมหลักฟิสิกส์ที่เรียนมาแล้วหรือ ก็กลางท้องน่ะมันเป็น  CENTER OF GRAVITY” พอได้ยินคำว่า CENTER OF GRAVITY หลวงพ่อก็เข้าใจคำสอนของคุณยายทันที เพราะโดยพื้นฐานการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ถ้าใครใช้คำนี้เราจะนึกภาพออก แล้วท่านก็ขยายความต่อว่า ถ้าเอาใจเข้า CENTER OF GRAVITY ได้เมื่อไร ทางโลกกับทางธรรมจะตรงกัน MOMENTUM หรือแรงเหวี่ยงจะไม่มี ท่านพูดเรื่องของจิตในในเชิงฟิสิกส์ว่า ถ้าใจอยู่ในตำแหน่งนี้แล้ว อะไรก็ไม่สามารถมาเป็นเครื่องหน่วงเหนี่ยว มาเป็นเครื่องกังวลแก่เราได้
 
        เมื่อพิจารณาแล้วก็เห็นจริงอย่างท่านว่า เพราะนึกทบทวนดูแล้วก็พบว่าทุกครั้งที่เราโกรธใคร ตอนนั้นใจของเราไม่ได้อยู่กับตัวเลยมันไปอยู่ที่หน้าเจ้าคนที่เราโกรธ อยากจะเหยียบหน้ามันให้เละ ใจเราแล่นไปยังคนที่เราโกรธ ในขณะที่ตัวเรายังไม่ได้ขยับเขยื้อนสักนิด
 
        ทุกครั้งที่ใจหลุดออกจากตัว หลุดจากศูนย์กลางกาย ก็เหมือนทหารถูกลวงให้หลุดออกจากบังเกอร์ในสนามรบ ศัตรูมันล่อเอาไปขย้ำสำเร็จแล้ว ความชั่ว ความไม่ได้เรื่องทั้งหลายก็ล่อเราเอาไปขย้ำในทำนองเดียวกันนี้แหล่ะ ใจมันไปเกาะอยู่ที่รูปสวยๆ เขาจะลากไปย่ำยีอย่างไรก็ได้ แม้ที่สุดทุกครั้งที่เรากลุ้มใจ กลังจะถูกโยกย้าย ใจเราก็ไปเกาะอยู่ที่ผู้บังคับบัญชา แล้วก็คิดไปสารพัด ท่าจะเอาอย่างไรกับเราหนอ ใจเราตามท่านไปทุกฝีก้าวทีเดียวแหล่ะ
 
        ใจของพวกเราหลุดออกจากตัวจนคุ้น พอถูกสั่งให้เอาใจกลับเข้ามาเก็บไว้ในตัว มันจึงรู้สึกว่ายากแสนยาก หลวงปู่หลวงตาเวลาสอนสมาธิ ท่านก็ใช้วิธีที่ท่านคุ้นเคย แล้วก็สังเกตดูเถอะ จะพบว่าวิธีของแต่ละท่านจะแตกต่างจากครูบาอาจารย์ของท่านเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตาม สุดท้ายทุกคนก็จะไปถึงที่เดียวกัน คือพระนิพพาน ต่างแต่ว่าใครจะถึงช้างถึงเร็วต่างกัน เพราะเส้นทางของแต่ละคน คดเคี้ยวมากน้อยต่างๆ กันไป


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
สมาธิช่วยทำให้ความจำดีได้จริงหรือสมาธิช่วยทำให้ความจำดีได้จริงหรือ

ถ้าสวดมนต์ไม่จบบทแล้วนั่งสมาธิทำแบบนี้ผิดหลักหรือไม่ถ้าสวดมนต์ไม่จบบทแล้วนั่งสมาธิทำแบบนี้ผิดหลักหรือไม่

ทำอย่างไรจึงจะเข้าถึงพระธรรมกายได้โดยเร็วทำอย่างไรจึงจะเข้าถึงพระธรรมกายได้โดยเร็ว



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

หลวงพ่อตอบปัญหา