ทำไมคำนำหน้าที่ใช้เรียกเจ้าอาวาสแต่ละวัดจึงไม่เหมือนกัน


[ 9 ก.พ. 2555 ] - [ 18369 ] LINE it!

หลวงพ่อตอบปัญหา
 
 
 

คำถาม: ทำไมเจ้าอาวาสบางวัดจึงใช้คำนำหน้าว่าพระอธิการ ทำไมจึงไม่ใช้ว่าเจ้าคุณ หรือสมเด็จเหมือนบางวัด?

 
คำตอบ: พระภิกษุโดยทั่วไปที่ไม่มีสมณศักดิ์ ถ้าเป็นเจ้าอาวาสท่านให้เรียกว่าพระอธิการ ทุกวัด ถ้ามีสมณศักดิ์ คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานสมณศักดิ์ให้แล้วจึงจะมีคำนำหน้า เช่น เป็นพระครู เป็นพระปลัด จนกระทั่งเป็นพระราชาคณะ ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า ท่านเจ้าคุณ
 
สมณศักดิ์
สมณศักดิ์
 
        พระราชาคณะหรือเจ้าคุณก็มีระดับอีก เริ่มตั้งแต่เจ้าคุณชั้นต้นหรือ พระราชาคณะชั้นสามัญ ซึ่งท่านเหล่านี้เมื่อตั้งใจทำงานเกี่ยวกับคณะสงฆ์มากขึ้นๆ ก็ได้เลื่อนเป็นพระราชาคณะระดับสูงขึ้นไปอีก ท่านเรียกเจ้าคุณชั้นราช หรือพระราชาคณะชั้นราช เช่น พระราชวรมุนี ทั้งประโยคนี่เป็นชื่อตำแหน่งแบบสมณศักดิ์นะ ฉายาจริงของท่านมักเขียนต่อท้ายใส่วงเล็บไว้
 
        เจ้าคุณชั้นราช องค์ไหนที่ตั้งใจทำงาน มีผลงานในการช่วยกิจการสงฆ์มากเป็นพิเศษ จากชั้นราชก็เลื่อนเป้นพระราชาคณะชั้นเทพ เช่น พระเทพโมลี ยกตำแหน่งเดิมให้องค์อื่นเลื่อนขึ้นมาแทน ถ้าเจ้าคุณชั้นเทพตั้งใจช่วยงานของสงฆ์มาอย่างดีเยี่ยมเลย ก็จะได้เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม เช่นพระธรรมกิตติวงศ์ จากชั้นธรรมนี่ ถ้ามีความรู้ความสามารถทำงานของคณะสงฆ์มาอย่างดีตลอดก็ได้เป็น พระราชาคณะชั้นหิรัญบัฏ หรือเรียกอีกอย่างว่า รองสมเด็จฯ และจากชั้นรองสมเด็จฯ ในที่สุดก็จะได้เลื่อนเป็นสมเด็จ พระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ หรือสมเด็จพระราชาคณะพระที่ดำรงสมณศักดิ์ถึงชั้นสมเด็จฯ นี้ ในปัจจุบันเหลือไม่กี่องค์แล้ว จากสมเด็จพระราชาคณะ ถ้าองค์ไหนมีความรู้ความสามารถมากที่สุด ก็ได้รับเลือกขึ้นมาสถาปนาเป็น สมเด็จพระสังฆราช
 
        เพราะฉะนั้นตำแหน่งเจ้าอาวาสกับสมณศักดิ์ จึงเป็นคนละเรื่องกัน เจ้าอาวาสที่มีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะตั้งแต่ชั้นสามัญไป จนถึงชั้นธรรม เราเรียกรวมๆ กันว่า “เจ้าคุณ” ถ้าท่านมีสมณศักดิ์ถึงชั้นสมเด็จ เราก็เรียกท่านว่า เจ้าประคุณสมเด็จ อธิบายคร่าวๆ เพียงแค่นี้คงพอเข้าใจนะ
 

คำถาม: สมัยพุทธกาล มีการสวดมนต์ตามบ้านอย่างสมัยนี้หรือเปล่าครับ?

 
คำตอบ: จริงๆ แล้วสมัยพุทธกาลเท่าที่รู้มา ไม่มี แต่ว่ามีเทศน์หรือการกล่าวอนุโมทนาตามบ้านที่นิมนต์พระไปฉันภัตตาหาร มีหลักฐานปรากฎว่ามีกรณีที่ต้องปฏิบัติอย่างนี้อยู่ 2 กรณี คือ
 
การสวดมนต์
การสวดมนต์
 
        กรณีที่ 1 เมื่อมีใครนิมนต์พระพุทธเจ้ากับพระภิกษุ 500 รูป ไปฉันภัตตาหารที่บ้าน พอฉันเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะมีการให้พร พระที่จะให้พรก็ขึ้นอยู่ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำหนดให้พระภิกษุรูปใดให้พร สมมติว่าทรงให้พระ ก. ให้พร พระรูปอื่นนอกนั้นก็กลับวัดหมดแม้แต่พระองค์ก็เสด็จกลับ ให้พระรูปนั้นให้พรแก่ญาติโยมในบ้าน เพียงรูปเดียว หรือบางทีญาติโยมขอให้พระรูปไหนให้พรก็ระบุไปเลย เช่น หลวงพ่อ ก. เดี๋ยวให้พรพวกกระผมด้วยนะ พอโยมระบุชื่อพระที่จะให้พรแล้ว พระนอกนั้นก็กลับวัด
 
        แต่ภายหลัง ต่อมามีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง เพราะพระภิกษุบางรูปที่เพิ่งบวช อาจถูกญาติโยมระบุชื่อขึ้นมา จะให้ท่านให้พรทันที ท่านให้ไม่ได้หรอก แล้วจะแก้ไขอย่างไร ท่านก็แก้โดยแทนที่จะอยู่ให้พรเพียงองค์เดียว ท่านเปลี่ยนใหม่เป็นว่า ที่มาฉันกี่องค์ๆ นิมนต์ให้พรพร้อมๆ กันเลย เพราะฉะนั้นก็ต้องใช้บทให้พรบทเดียวกัน จึงเกิดธรรมเนียมอย่างนี้ขึ้นมาในภายหลัง
 
        กรณีที่ 2 การสวดมนต์ตามบ้าน อย่างเช่นสวดพระปริตร สวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นต้น ที่เราเคยไปฟังกัน เมื่อก่อนนี้เวลาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปไหน ไปพบใคร พระองค์ก็เทศน์ให้เขาฟังตามเหตุการณ์ตามจริตของบุคคล ต่อมาภายหลัง เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ญาติโยมอยากฟังเทศน์บทที่เคยทรงเทศน์ ก็นิมนต์พระไป
 
        พระท่านก็เลยเอาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์สมัยก่อนโน้นมาเรียบเรียง ท่องกันให้ได้ แล้วมาสวดให้โยมฟัง แม้จะได้สาระไม่มากเท่าที่พระพุทธองค์เคยเทศน์ไว้ อย่างน้อยก็ได้ประโยชน์เป็นการฟื้นความจำ ถ้าโยมไม่เคยฟังมาเลย ก็ถือว่าแทนการเทศน์ก็แล้วกัน แน่นอนว่าการเทศน์ ย่อมจะต้องได้ผลดีกว่าการสวดมนต์
 
        อย่างไรก็ตามในบางครั้งในบางวาระ ถ้าการสวดมนต์ทำได้ง่ายกว่า และเหมาะสมกับสถานที่กว่า ก็เลือกการสวดมนต์แทนการเทศน์ แม้ในสมัยพุทธกาลก็จัดให้เหมาะสมกับกาลเทศะกันไปอย่างนี้


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
การสวดมนต์สวดเฉพาะคำแปลภาษาไทยได้หรือไม่การสวดมนต์สวดเฉพาะคำแปลภาษาไทยได้หรือไม่

สภาธรรมกายสากลของวัดพระธรรมกายทำไมหลังคามุงด้วยใบจากสภาธรรมกายสากลของวัดพระธรรมกายทำไมหลังคามุงด้วยใบจาก

หัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนาคืออะไรหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนาคืออะไร



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

หลวงพ่อตอบปัญหา