ทำอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าเป็นคนพูดเป็น


[ 29 ก.พ. 2555 ] - [ 18272 ] LINE it!

หลวงพ่อตอบปัญหา
 
 
โดย พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทัตตชีโว)
เรียบเรียงจากรายการหลวงพ่อตอบปัญหา ทาง DMC
 
 

คำถาม: หลวงพ่อครับ ทำอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าพูดเป็นครับ?

 
คำตอบ: คนพูดเป็น คือ คนที่คิดให้รอบคอบ มีสติก่อนที่จะพูด หรือกลั่นกรองคำพูดให้ละเอียดอ่อนเสียก่อน แล้วค่อยพูด เพราะคำพูดยิ่งละเอียดอ่อนลึกซึ้งเท่าไร ก็ยิ่งสามารถเจาะใจคนฟังได้ลึก และประทับใจได้นานเท่านั้น ตรงกันข้ามคำพูดยิ่งหยาบเท่าไร ก็ยิ่งระคายทั้งหู ระคายทั้งใจมากเท่านั้น
 
คนพูดเป็น คือ คนที่คิดให้รอบคอบ มีสติก่อนที่จะพูด หรือกลั่นกรองคำพูดให้ละเอียดก่อนพูด
คนพูดเป็น คือ คนที่คิดให้รอบคอบ มีสติก่อนที่จะพูด หรือกลั่นกรองคำพูดให้ละเอียดก่อนพูด
 
        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้หลักในการพูดไว้ถึง 5 ประการด้วยกัน คือ
 
        1) พูดด้วยจิตเมตตา ทุกครั้งที่จะพูดกับใครก็ตาม ให้ถามตัวเองเสียก่อนว่า ที่เราจะพูดต่อไปนี้มีความปรารถนาดีต่อเขาหรือเปล่า ถ้ามีความปรารถนาร้ายก็อย่าพูด หรือถ้าคิดว่าพูดแล้วจะระคายหู ระคายใจ ทั้งคนฟังคนพูด ก็อย่าพูด
 
        2) พูดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ถามตัวเองเสียก่อนว่า ถึงแม้เรามีความปรารถนาดี แต่พูดไปแล้วจะเป็นประโยชน์กับเขาบ้างหรือไม่ ถ้าไม่เป็นประโยชน์ สู้ไม่พูดดีกว่า เสียเวลาเปล่า ดีไม่ดีจะกลายเป็นพูดเพ้อเจ้อ
 
        3) พูดถ้อยคำที่ไพเราะ อย่างน้อยที่สุดภาษาพูดต้องไม่ระคายหูใคร แม้จะพูดหลานๆ ไม่เป็นก็ตาม คำพูดที่เป็นประโยชน์แต่ระคายหูนั้นไม่มีใครอยากฟัง ไม่อยากทำตาม ดีไม่ดีอาจเกิดปฏิกิริยาต่อต้าน เพราะไม่มีใครในโลกนี้ชอบให้ใครมาพูดข่มขู่ กระโชกโฮกฮาก คนพูดหยาบคาย ถึงแม้จะมีประโยชน์แต่ก็เหมือนกับเอาลวดหนามมาทะลวงหู มันยากที่ใครจะทนทานได้
 
        4) พูดถ้อยคำที่เป็นจริง แม้คำพูดของเราจะไพเราะ มีประโยชน์ เต็มไปด้วยความปรารถนาดี แต่ถ้าไม่เป็นจริงแล้ว สู้ไม่พูดเสียดีกว่า เพราะเอาเองจะกลายเป็นคนโกหก เป็นคนขาดศีล ซึ่งไม่คุ้มกันเลย พูดให้คนอื่นได้ประโยชน์ไป แต่เราเสียประโยชน์ แบกนรกโดยใช่เหตุ หรืออย่างน้อยที่สุดก็เพราะนิสัยพูดไม่จริงขึ้นมา และเมื่อพูดไม่จริงจนเคยชินมากเข้า ก็จะกลายเป็นคนที่ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง เป็นคนหลงๆ ลืมๆ กะป้ำกระเป๋อไปในที่สุด
 
        5) พูดถูกกาลเทศะ คือ ก่อนพูดต้องดูกาลเทศะให้ดี คนที่พูดไม่ถูกเวลา ไม่ถูกสถานที่ อาจทำให้ตัวเองถึงตายได้ หรืออย่างน้อยก็เป็นที่เกลียดชัง เช่น เตือนผู้ใหญ่ต่อหน้าธารกำนัล แม้จะพูดไพเราะแค่ไหน ก็ถือว่าพูดผิดที่ แทนที่จะเป็นผลดีกลับกลายเป็นการฉีกหน้าหรือเตือนคนที่กำลังมีโทสะพลุ่งพล่าน มีอาวุธอยู่ในมือ เตือนคนผิดจังหวะอย่างนี้ จะกลายเป็นยื่นคอให้เขาเชือด
 
        การพูดจึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ถ้าไม่รู้ว่าอะไรควรพูด อะไรไม่ควรพูด สู้นิ่งไว้ดีกว่า เหมือนโบราณว่า พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทองนะ
 

คำถาม: คนเราต้องทำอย่างไร ถึงจะเอาดีได้ครับ?

 
คำตอบ: จุดเริ่มต้นของคนเราที่จะเอาดีให้ได้ คนๆ นั้นต้องมีเป้าหมายชีวิตที่ถูกต้องเสียก่อน ถ้าไม่มีเป้าหมายชีวิตก็เอาดีไม่ได้ มันจะลอยๆ เหมือนเรือเดินสมุทรไม่มีเข็มทิศ แต่ถ้าตั้งเป้าหมายผิดที่ก็ยิ่งหนักเข้าไปอีกจริงๆ แล้วคนเราที่เกิดมานั้นมีเป้าหมายชีวิตอยู่ 3 ระดับคือ
 
        1. เป้าหมายชีวิตบนดิน คือเป้าหมายชีวิตในชาติปัจจุบัน
 
        2. เป้าหมายชีวิตบนฟ้า คือชีวิตในชาติหน้า
 
        3. เป้าหมายชีวิตเหนือฟ้าขึ้นไป คือการเข้านิพพาน
 
        1. เป้าหมายบนดิน หมายถึงความหวังเกี่ยวกับสถานภาพของชีวิตในชาติปัจจุบัน เช่น ชาตินี้เราต้องมีบ้านของตัวเอง มีที่ทำกินของตัวเอง ต้องสร้างยศถาบรรดาศักดิ์ สร้างเศรษฐกิจให้ดี ซึ่งทุกคนจำเป็นต้องมี ถ้าต้องไปพึ่งคนอื่นก็จะเป็นที่รังเกียจของคนทั่วไป
 
        เป้าหมายบนดินนี้ ถ้าเป็นเรื่องของประชาชน ก็คือช่วยกันตั้งประเทศ ประเทศนั้นก็จะแข็งแกร่ง ครั้งหนึ่งประเทศญี่ปุ่นได้ตั้งเป้าหมายบนดินไว้อย่างชัดเจนว่า จะเป็นมหาอำนาจทางทหาร แล้วเขาก็เป็นได้จริงๆ ตอนก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่แล้วไม่นานก็ล้มไม่เป็นท่า เพราะคิดผิด คิดว่าฉันเป็นมหาอำนาจจะรุกรานชาวบ้านอย่างไรก็ได้ เลยแพ้สงคราม เยอรมันก็ตั้งเป้าเหมือนๆ กัน ว่าจะเป็นมหาอำนาจทางทหาร ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
 
        พอสิ้นสงครามโลก ทั้งญี่ปุ่นและเยอรมันก็ตั้งเป้าหมายอีกเราจะเป็นเจ้าแห่งเศรษฐกิจ ปัจจุบันนี้ก็เป็นแล้ว อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้เป็นเป้าหมายพื้นๆ ที่ใครๆ ก็ต่างต้องตั้งความหวังไว้ทั้งนั้น จึงขอเรียกว่า “เป้าแผ่นดิน”
 
        2. เป้าหมายบนฟ้า เป็นความคาดหวังเกี่ยวกับชีวิตหลังจากที่หลับตาลาโลกไปแล้ว ในพระพุทธศาสนาของเราพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสสอนไว้แล้วว่า ทำบุญหรือทำความดีอย่างไร จึงจะได้ไปสวรรค์ ไปเป็นเทวดาไปเป็นนางฟ้า อานิสงส์ของการทำทานเป็นอย่างไร รวมทั้งอานิสงส์ของการรักษาศีลและเจริญภาวนาด้วย พระพุทธองค์ทรงแจกแจงแสดงที่ไปในภพเบื้องหน้า ซึ่งเป็นผลจากการกระทำในภพชาติปัจจุบันของบรรดาสัตว์โลกทั้งหลายไว้อย่างถี่ถ้วน ใครมีเป้าหมายบนฟ้าจะเป็นอะไรก็ประกอบเหตุกันเอาเองในชาตินี้
 
เป้าหมายชีวิตเหนือฟ้า คือการเข้านิพพาน
เป้าหมายชีวิตเหนือฟ้า คือการเข้านิพพาน
 
        3. เป้าหมายเหนือฟ้า คือ การมุ่งทำความดีเพื่อให้หมดกิเลสเข้าถึงพระนิพพาน เป็นเรื่องเป้าหมายที่พ้นโลก เลยสวรรค์ คือไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิด ให้พบกับทุกข์ยากนานาประการอีก
 
        การที่ปู่ย่าตาทวดของเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนทั้ง 3 ระดับดังกล่าวจึงทำให้ผู้ที่เข้าใจแล้วทำตาม สามารถตั้งเนื้อตั้งตัวได้ และมีจิตใจที่สูงส่ง ส่วนคนที่มีเป้าหมายไม่เด่นชัด ชีวิตก็กวัดแกว่ง จนยากที่จะเอาดีได้จริงๆ จังๆ


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
เพราะเคยทำผิดทำชั่วไว้มากหรือเปล่าฟ้าดินถึงไล่ตะเพิดอย่างนี้เพราะเคยทำผิดทำชั่วไว้มากหรือเปล่าฟ้าดินถึงไล่ตะเพิดอย่างนี้

ผู้มีราตรีเดียวนั้นแปลว่าอะไรผู้มีราตรีเดียวนั้นแปลว่าอะไร

จะฝึกความอดทนและระงับอารมณ์โกรธได้อย่างไรจะฝึกความอดทนและระงับอารมณ์โกรธได้อย่างไร



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

หลวงพ่อตอบปัญหา