ปัญหาสามีเจ้าชู้จะแก้อย่างไร


[ 10 เม.ย. 2555 ] - [ 18263 ] LINE it!

หลวงพ่อตอบปัญหา
 
 
โดย พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทัตตชีโว)
เรียบเรียงจากรายการหลวงพ่อตอบปัญหา ทาง DMC
 
 

คำถาม: หญิงที่สามีเจ้าชู้จะแก้ปัญหาอย่างไรคะ?

 
คำตอบ: สามีเจ้าชู้หรือคนเจ้าชู้ มีเหตุ 2 ประการ คือ
 
    1. เจ้าชู้เพราะแม่บ้านบกพร่องต่อหน้าที่ สำหรับกรณีนี้เป็นเรื่องที่แม่บ้านต้องแก้ไขตัวเอง โดยพยายามค้นหาข้อบกพร่องของตัวเองให้พบ แล้วก็ต้องยอมรับว่าตนเป็นอย่างนั้นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างยาก
 
        การค้นหาข้อบกพร่องของตนเองมีความจำเป็นที่จะต้องทำใจให้สงบเสียก่อน ซึ่งไม่มีวิธีไหนดีเกินกว่าการนั่งสมาธิเป็นประจำทุกคืน เพราะคนเรานั้นเมื่อเวลาลืมตามักเห็นแต่ข้อบกพร่องของคนอื่น ความผิดของคนอื่นแม้เล็กน้อยก็มองว่าใหญ่โตร้ายแรง ส่วนความผิดของตัวเองแม้ร้ายแรงใหญ่โตกว่าภูเขาก็ยังมองไม่เห็น แต่เมื่อหลับตานั่งสมาธิไม่เห็นใครอื่น กลับเห็นตัวเองในมโนภาพ ความบกพร่องของตัวเองก็จะค่อยๆ ลอยเด่นขึ้นมาให้เห็น ยิ่งใจสงบเท่าไร ก็ยิ่งเห็นข้อบกพร่องมากขึ้นเท่านั้น
 
        คนเราขอให้เห็นความผิดพลาดบกพร่องของตัวเองเถิด หนทางแก้ไขจะมีมาเอง แต่มีข้อเตือนใจอยู่อย่างหนึ่งสำหรับท่านที่มีสามี คือ ห้ามไปหาหมอทำเสน่ห์เด็ดขาด และอย่าทำอะไรรุนแรงเป็นการประชดประชัน เพราะนั่นมิใช่เป็นการแก้ปัญหา แต่จะยิ่งเป็นการเพิ่มปัญหาไม่รู้จบ
 
สามีเจ้าชู้
สามีเจ้าชู้
 
        นอกจากนี้ ยังมีอีกวิธีหนึ่งเป็นวิธีประกอบ คือให้ปรึกษาผู้หลักผู้ใหญ่ที่เขาเป็นคนดีมีศีลธรรม และมีความสำเร็จในการครองเรือน ซึ่งอาจจะไม่ใช่พ่อแม่ หรือญาติของเราก็ได้
 
    2. เจ้าชู้โดยนิสัย สำหรับกรณีนี้แก้ยากสักหน่อย ก็ต้องทนเอาก็แล้วกัน นึกว่าเป็นกรรมของเราที่ดูคนไม่เป็น ไปเลือกคนอย่างนี้มาเป็นสามี ก็ให้เราตั้งใจทำหน้าที่ภรรยา หน้าที่แม่บ้านให้ดี ไม่ให้บกพร่อง ทำบ้านให้เย็น คือไม่เอาเรื่องร้อนหูร้อนใจเข้าบ้าน ไม่ด่าว่าให้สามีอับอายแค้นเคืองใจ
 
        ถ้ามีเหตุการณ์ร้ายแรงอะไรเกิดขึ้น ก็แก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าเป็นเรื่องๆ ไป ส่วนการแก้ไขนิสัยพ่อบ้านเจ้าชู้คงต้องใช้เวลา คือ พยายามทำความดีให้มากเข้าๆ จนกระทั่งเขาเกรงใจ ในที่สุดเขาก็จะเลิกเจ้าชู้ไปเอง ซึ่งกว่าจะถึงตอนนั้นอายุของทั้งสองคนอาจจะล่วงเลยไปคนละหลายสิบปี ก็คงทำได้เท่านี้เอง
 

คำถาม: พ่อแม่ควรจะมีหลักเกณฑ์การวางบทบาทของตัวเอง ให้เหมาะสมในการปกครองลูกได้อย่างไร?

 
คำตอบ: พ่อแม่ที่ดีต้องเข้าใจสภาวะจิตใจของลูก รู้ว่าความรู้สึกนึกคิดของลูกจะเปลี่ยนแปลงตามวัยและสิ่งแวดล้อม เมื่อลูกยังเล็กอยู่ พ่อแม่จะเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของเขา ครั้นโตขึ้นเพื่อนจะเข้ามามีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิด พอลูกเข้าสู่วัยหนุ่มวัยสาว ความสำคัญของพ่อแม่จะลดลง และเมื่อลูกเป็นผู้ใหญ่ ลูกจะเป็นตัวของตัวเอง ต้องการความอิสระมาก ต้องการเหตุผลมากขึ้น ดังนั้นพ่อแม่จำเป็นจะต้องปรับตัวเองให้เท่าทันความรู้สึกนึกคิดของลูก
 
        การเป็นพ่อแม่ที่ดี นอกจากจะต้องทำหน้าที่ของพ่อแม่ที่ดีให้ครบถ้วนแล้ว ยังต้องเล่นบทบาทต่อไปนี้ให้ได้ดีอีกด้วย คือ
 
    1. บทบาทของความเป็นครู พ่อแม่ต้องอบรมสั่งสอนลูกชี้แจงให้ลูกรู้ว่าอะไรผิด อะไรถูก อะไรควร และอะไรไม่ควร ถ้าลูกยังเล็กนัก สอนกันด้วยเหตุผลยังไม่ได้ พ่อแม่ต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกดูเป็นแบบอย่าง การอบรมสั่งสอนจะต้องนุ่มนวล ค่อยพูดจาปราศรัย ไม่เอาแต่อารมณ์ การสั่งสอนด้วยไม้เรียว ควรเก็บไว้ใช้ในคราวที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น ต้องปลูกฝังนิสัยรักความสะอาดให้ลูกตั้งแต่ยังเล็ก ฝึกให้รู้จักดูแลความสะอาดของตัวเอง ตั้งแต่เรื่องเสื้อผ้า การอาบน้ำถูตัว แม้ที่สุดเรื่องนิสัยในการกินอาหาร อย่าปล่อยปละละเลย อย่าคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กน้อย
 
พ่อแม่ต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกดูเป็นแบบอย่าง
พ่อแม่ต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกดูเป็นแบบอย่าง
 
        เนื่องจากพ่อแม่เป็นครูคนแรกของลูก ใกล้ชิดลูกตั้งแต่แรกเกิด การระมัดระวังปลูกฝังสิ่งที่ถูกต้องดีงามให้เป็นพื้นฐานความประพฤติของลูกก่อน เมื่อโตขึ้นจะทำให้เขาสามารถรองรับความดีมาใส่ตัวได้เร็ว และมักรังเกียจความไม่เข้าท่าเข้าทางต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาได้เองโดยอัตโนมัติ
 
    2. บทบาทเทวดา พ่อแม่ต้องมีพื้นฐานทางธรรมที่ดี จึงจะเล่นบทนี้ได้ เพราะต้องฝึกลูกให้รู้จักรักบุญกลัวบาป ความจริงเรื่องนี้ทำได้ง่ายๆ เช่น อ่านนิทานชาดกให้ลูกฟัง ให้ลูกสวดมนต์ทุกคืนก่อนเข้านอน สอนลูกให้รู้จักการทำบุญให้ทาน โดยพ่อแม่ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เช่น ตักบาตรทุกเช้า เป็นต้น และที่สำคัญที่สุด คือพ่อแม่ต้องมีหิริโอตตัปปะ เมื่อสอนลูกไม่ให้ทำชั่วในเรื่องใดแล้ว ก็อย่าเผลอทำความชั่วนั้นๆ ให้ลูกรู้เห็นเสียเอง
 
    3. บทบาทพระพรหม พ่อแม่ต้องมีเมตตากรุณาต่อลูก ให้ความรักความอบอุ่น ต้องเลี้ยงดู ไม่ทิ้งขว้าง เมื่อลูกทำผิดต้องตักเตือนสั่งสอนดีๆ ให้ลูกรู้ผิดรู้ถูก และให้อภัยไม่ซ้ำเติม เมื่อลูกทำดีก็ชมเชยให้ภาคภูมิใจบ้าง ส่งให้ศึกษาเล่าเรียนเมื่อถึงวัยอันสมควร ยามเจ็บไข้ก็พยาบาลดูแลรักษา เมื่อลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ถึงคราวต้องแยกครอบครัวไปสร้างหลักฐาน ก็ควรปล่อยตามใจลูกบ้าง อย่าบงการบังคับ แต่คอยให้คำแนะนำ เป็นที่ปรึกษา เป็นผู้ให้กำลังใจ พ่อแม่ต้องมีอุเบกขา คือไม่ลำเอียงเข้าข้างลูก เมื่อลูกทำผิด
 
        ถ้าอบรมสั่งสอนลูกมาอย่างดีแล้ว แต่ลูกยังทำตัวเกะกะเกเรทำผิดกฎหมายบ้านเมือง สมควรจะต้องได้รับโทษ แม้โทษนั้นจะยิ่งใหญ่ถึงต้องติดคุกติดตะรางก็ต้องยอม อย่ารักลูกจนถึงกับทำตัวเป็นพยานเท็จ ช่วยได้แค่ไหนก็ทำในสิ่งนั้น แต่อย่าทำลายความยุติธรรมของบ้านเมือง
 
    4. บทบาทพระอรหันต์ พ่อแม่ต้องประพฤติตัวอยู่ในศีลธรรมให้ดีที่สุด จะได้เป็นปูชนียบุคคล เป็นพระศักดิ์สิทธิ์ในบ้านเป็นที่ปรึกษาชั้นดีประจำวงศ์ตระกูล เป็นที่เคารพนับถือของลูกหลานว่านเครือ ทั้งที่อยู่ร่วมบ้านและที่แยกครอบครัวออกไปแล้ว ต้องสร้างทั้งบุญบารมี ทั้งศักดิ์ศรี ชื่อเสียง เหล่าลูกหลานจะได้ยำเกรง นับถือ เชื่อฟัง ไม่กล้าทำความชั่ว ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
 
        เมื่อพ่อแม่เล่นบทบาททั้ง 4 ได้อย่างดีแล้ว ชีวิตครอบครัวก็จะเป็นสุข ครอบครัวจะมีแต่ความร่มเย็น ซึ่งย่อมส่งผลไปถึงสังคมและประเทศชาติให้ร่มเย็นไปด้วย


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
หน้าที่ของลูกที่มีต่อพ่อแม่มีอะไรบ้างหน้าที่ของลูกที่มีต่อพ่อแม่มีอะไรบ้าง

พ่อแม่เป็นห่วงลูกมากเกินไปหรือเปล่าพ่อแม่เป็นห่วงลูกมากเกินไปหรือเปล่า

ทำอย่างไรให้คนในหน่วยงานมีกำลังใจในการทำงานทำอย่างไรให้คนในหน่วยงานมีกำลังใจในการทำงาน



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

หลวงพ่อตอบปัญหา