รุกขธรรม


[ 8 พ.ค. 2555 ] - [ 18278 ] LINE it!

รุกขธรรม
 
 
 
     ใจที่ใสสะอาดบริสุทธิ์หยุดนิ่งอยู่ภายใน จะเป็นใจที่มีพลัง คือพลังแห่งความดี พลังแห่งความบริสุทธิ์ ขจัดมลทินทั้งหลายให้หมดสิ้นไป ขับเคลื่อนความมืดมิด และจะเกิดปัญญารู้แจ้ง เป็นปัญญาความรอบรู้อันบริสุทธิ์ที่จะทำให้ตัวเราหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะไปสู่อายตนนิพพาน การหมั่นฝึกฝนใจให้สงบหยุดนิ่งอยู่ภายใน จะทำให้เราเกิดปัญญาที่จะพิชิตปัญหา และมีความรู้แจ่มแจ้งแตกฉานในศาสตร์ทั้งปวง เราจะเข้าใจทุกๆ เรื่อง ทุกๆ ปัญหาที่เกิดขึ้น และสามารถรู้ไปถึงต้นแหล่งที่มาของมัน อีกทั้งรู้วิธีการที่จะขจัดปัญหานั้นให้หมดสิ้นไป ดังนั้น การเจริญภาวนาจึงเป็นหลักวิชาที่จะทำให้ชีวิตของเราประสบความสำเร็จและมีความสุขสมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไป
 
มีวาระพระบาลีที่กล่าวไว้ใน มูลคันธทานูปการสูตร ว่า
 
     "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจ เขาได้สดับมาว่า พวกเทวดาที่สิงสถิต อยู่บนต้นไม้มีกลิ่นหอม มีอายุยืน มีวรรณะงาม มีความสุขมาก เขาจึงปรารภต่อว่า โอหนอ เมื่อตายไป ขอให้เราเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดา ซึ่งสิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้มีกลิ่นหอม แล้วเขาจึงให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก ประทีป และอุปกรณ์แห่งประทีป เมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาซึ่งสิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ ดูก่อนภิกษุ ข้อนี้แลเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้บุคคลบางคนในโลกนี้ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นรุกขเทวดา"
 
     รุกขเทวา คือเทพที่สิงสถิตอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ มีวิมานซ้อนอยู่บนต้นไม้ซึ่งอยู่รวมกับมนุษย์ แต่ว่ามนุษย์ไม่สามารถมองเห็นวิมานของเขาได้ เพราะเป็นทิพยวิมานซึ่งล่วงจักษุของมนุษย์ วิมานของเทวดาเหล่านี้ โดยมากอยู่บนต้นไม้ใหญ่ที่มีพุ่มใบดกหนา หากต้นไม้นั้นถูกมนุษย์ไปตัดเอามาสร้างบ้าน หรือถูกฟันให้ตายลง หรือถูกภัยธรรมชาติบ้าง รุกขวิมานของเขาก็ถูกทำลายไปด้วย รุกขเทวดาผู้เป็นเจ้าของวิมานก็ต้องเดือดเนื้อร้อนใจ เพราะว่าไม่มีวิมานจะอาศัย ต้องไปแสวงหาต้นไม้อื่นเป็นวิมานต่อไป
 
     มีเรื่องที่น่าสนใจสำหรับเหล่ารุกขเทวาคือ ทุกๆ กึ่งเดือน พวกรุกขเทวดาจะมีการประชุมกัน ณ รุกขเทวสันนิบาตสถาน แล้วจะหมั่นไต่ถามรุกขธรรมแก่กันและกันว่า “ชาวเราทั้งหลายเอ๋ย ท่านยังตั้งอยู่ในรุกขธรรมดีอยู่หรือ? หรือว่ามิได้ตั้งอยู่ในรุกขธรรม ขอให้ชาวเราจงพากันตั้งมั่นอยู่ในรุกขธรรมเถิด” เทวดาเขาจะเฝ้าถามเฝ้าเตือนสติกันและกันอย่างนี้เป็นนิตย์ ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาสถานภาพและชีวิตของพวกเขาเอาไว้ เพราะถ้าไม่รักษารุกขธรรมแล้ว อาจเผลอไปประทุษร้ายเข่นฆ่ามนุษย์ ตัวเองก็จะต้องตกนรก หรือถูกห้ามเข้าสู่มหาเทวสันนิบาต อันนี้เป็นกฏระเบียบของรุกขเทวา ซึ่งคอยควบคุมไม่ให้มาวุ่นวายหรือทำร้ายมนุษย์นั่นเอง
 
     รุกขธรรมที่เหล่าเทวดาพรํ่าเตือนกันอยู่เป็นประจำนั้นมีอะไรบ้าง มีอยู่ข้อเดียวเท่านั้นแหละ คือ ความอดทนอดกลั้น ไม่ให้มีความโกรธเกิดขึ้นเมื่อถูกมนุษย์ผู้ไม่รู้มาตัดทำลายเพราะมองไม่เห็น ฉะนั้น เทวดาผู้เป็นเจ้าของวิมานจะต้องไม่มีความโกรธหรือความน้อยใจ ต้องอดทนอดกลั้นไว้ ถ้าถูกรุกรานก็จะต้องไปแสวงหารุกขวิมานแห่งใหม่ กิริยาอาการของเทวดาอย่างนี้เรียกว่า เป็นผู้มีรุกขธรรม ส่วนเทวดาตนใด หากวิมานของตนถูกทำลาย แล้วมีใจโกรธเคืองขุ่นแค้น และไปทำร้ายมนุษย์ผู้โค่นต้นไม้ เทวดานี้ชื่อว่า ไม่ได้รักษารุกขธรรม
 
     เทวดาผู้ขาดรุกขธรรมนี้มีโทษมาก ถ้าฉุนเฉียวหรือเพียงโกรธเคืองเฉยๆ ก็จะถูกห้ามเข้าประชุมในเทวสันนิบาต ถ้าพลั้งพลาดไปฆ่ามนุษย์ผู้ตัดต้นไม้ให้ถึงแก่ความตาย กรรมนั้นจะบีบคั้นให้ต้องจุติไปบังเกิดในอบาย คือในนรกทันที เพราะการฆ่ามนุษย์ถือว่าเป็นบาปหนัก ด้วยความเกรงภัยในนรกนี่เอง  ทำให้พวกเทวดาต้องตักเตือนให้สติกันและกันอยู่เสมอ เพื่อยับยั้งความโกรธไว้ มนุษย์ที่ตัดต้นไม้ทุกวันนี้จึงไม่ถูกฆ่าตายด้วยเทวฤทธิ์ ซึ่งนับเป็นความดีของรุกขเทวาที่น่าสรรเสริญมาก
 
     * มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล ภิกษุรูปหนึ่ง ประสงค์จะสร้างกุฏิที่อาศัย จึงแบกขวานเข้าป่า เลือกหาต้นไม้ต้นหนึ่งได้ก็ลงมือตัดต้นไม้นั้นทันที เทพนารีที่มีวิมานสิงอยู่ที่ต้นไม้นั้นจึงแสดงตนเป็นหญิงอุ้มลูกอ่อนมาวิงวอนว่า “พระคุณเจ้า ขอท่านอย่าได้ตัดวิมานของข้าพเจ้าเลย ได้โปรดเอ็นดูข้าพเจ้าด้วยเถิด”  ภิกษุรูปนั้นไม่ยอมฟัง กลับตั้งหน้าตั้งตาตัดต้นไม้ต่อไป พร้อมกับกล่าวว่า “น้องหญิง เธออย่ามากวนใจให้เสียเวลา เราจะตัดต้นไม้เพื่อเอาไปสร้างเสนาสนะ เธอจงหลีกไปเถิด”
 
     ภิกษุรูปนั้นพูดพลางตัดต้นไม้ไปพลาง ขับไล่นางให้หลีกไป ครั้นเทพนารีซึ่งเป็นนางไม้นั้น เห็นภิกษุไม่เชื่อฟัง จึงให้บุตรไปปรากฏกายใกล้ๆ กับที่ภิกษุกำลังฟันโคนต้นไม้ ด้วยหวังว่า หากพระเห็นบุตรของตนแล้วคงจะหยุดตัด แต่เหตุการณ์ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อภิกษุมองเห็นก็ยั้งขวานไม่ทันแล้ว ขวานที่เงื้อฟันลงไป จึงตัดแขนบุตรของเทพธิดาขาดกระเด็นทันที พระภิกษุตกตะลึงปล่อยขวานหลุดจากมือด้วยคาดไม่ถึงในเหตุการณ์ณ์ที่เกิดขึ้นนั้น
 
     เทพธิดาโกรธสุดขีด คิดจะฆ่าพระภิกษุ เงื้อมือขึ้นจะประหารด้วยความลืมตัว ทันใดนั้นเองนึกถึงรุกขธรรมว่า “ถ้าเราฆ่าพระ เราก็จะต้องไปตกในมหานรก อย่ากระนั้นเลย เราไปเข้าเฝ้าแล้วทูลเรื่องราวแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าดีกว่า” เทพธิดาจึงได้ไปกราบทูลพระพุทธองค์ และได้รับการสรรเสริญจากพระผู้มีพระภาคเจ้า ในการที่เธอสามารถหักห้ามความโกรธได้อย่างเร็วพลันว่า “บุคคลใดหักห้ามความโกรธที่เกิดขึ้นให้หยุดได้ เหมือนคนขับรถห้ามล้อรถที่กำลังวิ่งไปโดยเร็วให้หยุดได้ เราเรียกผู้นั้นว่าเป็นสารถี ส่วนสารถีคนขับรถในโลกนี้ ยังไม่ใช่สารถี เป็นเพียงคนถือเชือกเท่านั้น”
 
     เมื่อจบพระคาถา เทพนารีท่านนั้นก็ได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูสถานที่อยู่ของเทวดานั้น ทอดพระเนตรเห็นสถานที่เหมาะสมแห่งหนึ่งด้วยพุทธจักขุ จึงตรัสว่า “ไปเถิดเทพนารี เธอจงเข้าไปอยู่ที่ต้นไม้แห่งนั้นเถิด” เธอจึงเข้าไปสิงสถิตอยู่ในต้นไม้ซึ่งอยู่ภายในกำแพงวัดพระเชตวัน ซึ่งมีเทวบุตรผู้เป็นเจ้าของเดิมนั้นได้จุติไปแล้ว ตั้งแต่นั้นมา เทพนารีก็ได้รับความคุ้มครองจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเธอก็ได้เป็นพุทธอุปัฏฐายิกาด้วย
 
     ในคราวมีเทวสมาคม เมื่อเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่พากันลงมา เทวดาผู้มีศักดิ์น้อย ต้องถอยร่นไปจนจรดมหาสมุทร และภูเขาจักรวาล ส่วนเทพนารีท่านนี้ อาศัยความเป็นพุทธอุปัฏฐายิกา จึงนั่งฟังธรรมอยู่ในที่ที่ตนอยู่ตามปกติ และยังทำให้เทพนารีได้นั่งฟังปัญหาและการตอบปัญหาทั้งหมด ทั้งของภิกษุ และทั้งของเทวดาทั้งหลายในวิมานของตนอย่างสบาย จึงทำให้เธอเป็นผู้ได้ฟังธรรมมากกว่าเทพองค์อื่นๆ เมื่อท้าวมหาราชทั้ง ๔ มาสู่ที่บำรุงของพระผู้มีพระภาคเจ้าในยามราตรีแล้ว ก็มักจะมาเยี่ยมเทพนารีตนนี้ก่อนจากไปเสมอ
 
     เรามาดูกันว่า ทำบุญอะไรไว้ จึงได้มาเป็นรุกขเทวาสิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ ในพระไตรปิฏกกล่าวเอาไว้ว่า เกิดจากการที่คนคนนั้น ประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจ แล้วอธิษฐานอยากไปเป็นเทวดาที่สิงสถิตอยู่ตามต้นไม้ จากนั้นก็หมั่นประกอบกองการกุศลเอาไว้ เมื่อตายไปก็สามารถเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ได้เหมือนกัน หรือแม้ไม่ได้อธิษฐานจิตไว้ แต่ทำบุญไว้ไม่มากพอที่จะส่งให้ไปสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์หรือชั้นสูงๆ อีกทั้งในใจก็ยังมีห่วงกังวลอยู่ เมื่อละโลกแล้วจึงมาเป็นรุกขเทวดา ต่อเมื่อหมดห่วง ก็จะได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นสูงต่อไป
 
     นี่ก็เป็นเรื่องราวความเป็นอยู่ของเหล่ารุกขเทวา ซึ่งถือว่าเป็นสุคติสวรรค์ชั้นต้นๆ ที่มีความเป็นอยู่ที่ละเอียดประณีตกว่ามนุษย์ ต่อไปเราจะได้เรียนรู้ว่าสวรรค์ชั้นสูงๆ นั้นมีความละเอียดประณีต ที่มักได้ยินกันว่า แตกต่างราวฟ้ากับดินนั้นเป็นอย่างไร ตอนนี้ก็ให้ทุกท่านตั้งใจสั่งสมบุญกุศลให้มากๆ เพราะความสุขของชาวสวรรค์เขาวัดกันที่กำลังบุญ ดังนั้นให้สร้างบุญบารมี เพื่อจะได้เป็นเสบียงในการเดินทางไปสู่สุคติโลกสวรรค์กันทุกคน  

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี
 
นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
* มก. เล่ม ๔ หน้า ๒๖๖
 
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
สวรรค์ชั้นดาวดึงส์สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

โครงสร้างดาวดึงส์โครงสร้างดาวดึงส์

ทิพยสถานสำหรับผู้มีบุญทิพยสถานสำหรับผู้มีบุญ



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน