แผนที่ชีวิต


[ 21 พ.ค. 2555 ] - [ 18276 ] LINE it!

       
    ทันโลกทันธรรม
 
ตอน แผนที่ชีวิต
 
    ในการเดินทางไม่ว่าเราจะไปไหนก็ตามแต่ มีความจำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะต้องรู้เส้นทาง และถ้าหากเป็นการเดินทางไกลในเส้นทางที่เราไม่รู้จัก ก็มีความจำเป็นมากที่เราจะต้องมีแผนที่ในการเดินทาง เพราะแผนที่จะเป็นตัวช่วยให้เราวางแผนในการเดินทางได้สะดวกและราบรื่นโดยที่ไม่ทำให้เราหลงทาง ให้เราถึงที่หมายอย่างที่เราต้องการ
 
 
แผนที่มีความสำคัญและมีความจำเป็นในการเดินทาง
 
    ถ้าจะพูดถึงการดำเนินชีวิตของคนเรา เราก็สามารถสร้างแผนที่ชีวิตในการเดินทางของเราได้ ว่าเรามีเป้าหมายในการใช้ชีวิตไปในทิศทางใด ระยะทางจากจุดเริ่มต้นถึงปลายมากน้อยแค่ไหน เราจะต้องวางแผนอย่างไรในการเดินทางในการเดินทาง สิ่งสำคัญที่สุด เราจะต้องมีแผนที่ที่ดีที่สุดให้กับตนเอง และต้องดูแผนที่ให้เป็น ถามความต้องการของตัวเองว่าต้องการอะไร
 
สิ่งที่ควรตั้งคำถามกับตนเอง
 
1.เป้าหมายชีวิตเราคืออะไร อะไรคือที่สุดของชีวิต เช่น งาน เงิน ครอบครัว ความสมหวัง ความสุข
2.หาวิธีการเดินไปสู่เป้าหมายที่เราต้องการ เช่นหาครูบาอาจารย์ที่ดีให้เจอ หาต้นแบบที่ดี แล้วทำตามวิธีที่ครูบาอาจารย์ท่านแนะนำ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านสรุปว่า ที่สุดแห่งความสุขคือ นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี
 
 
สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี
 
    จริงๆ แล้ว ในทางโลกก็มีหลักง่ายๆ ให้เราได้ดำเนินชีวิตตาม โดยการแบ่งเป้าหมายตามระยะของเวลา ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว คือ การวางเป้าหมายอย่างฉลาด หรือ  s.m.a.r.t Goal
 
Specific (เฉพาะเจาะจง) เป้าหมายต้องเฉพาะลงไปเลย ต้องชัดเจน ไม่คลุมเคลือ
Measurable (วัดผลได้) เป้าหมายทุอย่างต้องวัดผลได้ ไม่เช่นนั้นเราก็ไม่สามารถประเมิน
ได้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร
Attainable (สามารถไปถึงได้) ถ้าเราตั้งเป้าหมายเราจะต้องไปถึงให้ได้
Relevant (มีความหมาย) คือจะต้องเกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา
Time-based (มีกรอบเวลาที่แน่ชัด) เช่นเราตั้งเป้าว่าภายในเวลา–เดือนเราจะนั่งสมาธิทุกวันให้ได้อย่างน้อยวันละ 1-2 ชั่วโมงก็ว่าไป ปีนี้เราจะทำอะไร ต้องกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน
 
 
สำรวจตัวเองว่าสิ่งใดควรเก็บไว้ สิ่งใดควรทิ้งไป สำหรับชีวิตของเรา
 
สิ่งที่ควรเก็บไว้
 
1.การมีความมุ่งมั่น ความตั้งใจ
2.การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
3.การให้คำแนะนำช่วยเหลือผู้อื่น เป็นเรื่องปกติถ้าเราเดินไปเป็นทีม ความปลอดภัย
และความมั่นคงก็จะมีเพิ่มมากขึ้นเป็นการลดความเสี่ยงในการที่เราจะหลงทาง
 
สิ่งใดควรทิ้งไป
 
1.ตั้งใจมากไปจนกลายเป็นความเครียดและกดดัน
2.เรียนรู้เยอะแต่ไม่ได้ลงมือปฏิบัติทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
3.ไม่มีประสบการณ์มากพอที่จะให้คำแนะนำผู้อื่นได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
 
สรุปขั้นตอนในการวางแผนที่ชีวิต
 
1.กำหนดเป้าหมาย
2.วางแผนทิศทางที่จะไป
3.จัดเตรียมสัมภาระ
 
มุมมองทางธรรมที่เราสามารถจะนำมาประยุกต์ใช้ในการสร้างแผนที่ชีวิต
 
แผนที่ไปสู่เป้าหมายปลายทางของความสำเร็จ
 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้วางเป้าหมายในการใช้ชีวิตไว้ 3 ระดับ คือ
1.เป้าหมายในชาตินี้  
2.เป้าหมายในชาติหน้า
3.เป้าหมายสูงสุด คือการหมดกิเลสเข้าพระนิพพาน
 
    การที่เราจะสร้างเนื้อสร้างตัวภายในชาตินี้ให้ประสบความสำเร็จแบบง่ายๆ ที่สุดถ้าเป็นเรื่องงานคือ ให้ยึดหลักอิทธิบาท 4 คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ถ้าต้องการมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ต้องสังคหวัตถุ 4 คือ ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตา เป็นต้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านให้หัวใจเศรษฐีไว้ 4 ข้อ คือ อุ อา กะ สะ
 
 
 
หลักการในการสร้างแผนที่ชีวิต
 
หัวใจเศรษฐี
 
    1.อุ คือ อุฏฐานสัมปทาหมายถึง คือขยันหาทรัพย์ ขยันทำงาน ถ้าขี้เกียจก็จะเห็นได้ชัดว่าว่าเป็นไปได้ยากที่เราจะมีทรัพย์
    2.อา คือ อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือเก็บรักษาทรัพย์เป็น การรักษาทรัพย์ไม่ใช่หมายถึงแค่ตัวเงินอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงอาคารบ้านเรือน ข้าวของเครื่องใช้ทั้งหมดที่เป็นของเรา ต้องเก็บรักษาดูแลให้เป็น
    ในกรณีที่ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในอเมริกาแตก ปี พ.ศ. 2551 เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดมากของการรักษาทรัพย์ให้เป็น คนจำนวนมากเดือดร้อนเพราะเอาเงินไปซื้อหุ้น ซื้อพันธบัตรที่คุณภาพไม่ถึงเพราะคิดว่ามันจะให้ผลตอบแทนดี แต่พอทุกอย่างล้ม ทรัพย์ทุกอย่างก็แทบจะสลายไปในพริบตาเพราะฉะนั้นการเก็บรักษาทรัพย์เป็นเรื่องที่สำคัญมากในยุคนี้ ดังคติว่า ของหายให้หา ของเสียให้ซ่อม
 
 
กำพล วัชรพล ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐคนแรก
 
    ดังตัวอย่างของคุณ คุณ กำพล วัชรพล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ  ธุรกิจของท่านระดับหมื่นล้าน ท่านก็ไม่ได้มองข้ามในสิ่งเล็กๆ เช่น เศษกระดาษจากการพิมพ์ ไม่ปล่อยให้เป็นขยะให้เสียเปล่า ท่านสั่งให้ลูกน้องเก็บแล้วเอาไปขาย โดยท่านลงไปดูด้วยตัวท่านเอง สามารถทำรายได้เป็นหลักล้าน นี่คือตัวอย่างของคนที่ไม่ดูเบาแม้เรื่องเล็กน้อย เราสามารถรักษาทรัพย์ในเรื่องเล็กๆ ก็จะทำให้เรามีความระมัดระวังในการรักษาทรัพย์เรื่องใหญ่ๆ ไปโดยปริยาย
 
 
กำพล วัชรพล ท่านให้ความสำคัญกับงานทุกเรื่องแม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ
 
    3.กะ คือ กัลยาณมิตตตา คือคบคนดี ถ้าเราคบคนดีก็จะพากันไปดี ถ้าคบคนไม่ดีก็จะพากันไปในทิศทางที่ไม่ดีในทางเสื่อม การมีสมัครพรรคพวกจะทำการงานใดก็จะมีความคล่องตัวไม่ติดขัด มีคนคอยช่วยเหลือแนะนำ
    4.สะ คือ สมชีวิตา ได้แก่ใช้จ่ายพอสมควร อย่าให้เกินตัว การไม่สร้างหนี้สร้างสิน จะทำให้เรามีความสุขกับการใช้ชีวิต แล้วหมั่นสร้างบุญสร้างกุศล ด้วยการทำทาน รักษาศีล บาปกรรมใดๆ อย่าได้ทำเพิ่มขึ้นอีก
 
 
การดำเนินชีวิตตามหลักหัวใจเศรษฐี จะทำให้เราพบกับความสุขในการใช้ชีวิต
 
  ชีวิตมีความจำเป็นจะต้องเดินทาง ถ้าหากเป็นเส้นทางที่เราไม่รู้จักตลอดเส้นทางก็มีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาข้อมูล หากไม่มีข้อมูลอาจจะทำให้เราหลงทาง ต้องเสียเวลา เสียทรัพย์ เสียโอกาส ฯลฯ สิ่งที่จำเป็นและขาดไม่ได้ คือแผนที่ นั่นเอง
    การดำเนินชีวิตของคนเราก็เช่นกัน หากเราสร้างแผนที่ชีวิตของเราเอง จะทำให้เรามองเห็นเป้าหมายชีวิตของเราชัดเจนมากยิ่งขึ้น จะทำให้เราไม่เผลอเดินออกนอกเส้นทางซึ่งอาจจะทำให้เราพลาดโอกาสกับสิ่งดีๆ ที่จะเกิดขึ้นในชีวิตก็เป็นได้
   
ข้อคิดที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องหาครูดีให้เจอ เมื่อเจอแล้วจงฟังคำครูแล้วปฏิบัติตามคำของครู
  


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ไขว่คว้าหาโลกใหม่ไขว่คว้าหาโลกใหม่

กลอนวันแม่ภาษาอังกฤษกลอนวันแม่ภาษาอังกฤษ

กฐินสัมฤทธิ์เด็กดี V-Star ปีพุทธศักราช 2555กฐินสัมฤทธิ์เด็กดี V-Star ปีพุทธศักราช 2555



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

Review รายการ