ผู้นำประโยชน์สุขมาให้แก่ชาวโลก


[ 4 ส.ค. 2555 ] - [ 18278 ] LINE it!

ผู้นำประโยชน์สุขมาให้แก่ชาวโลก
 
 
 
     เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราว ไม่ช้าก็ต้องจากไป แม้ทรัพย์สมบัติภายนอกที่มีอยู่ เราก็ไม่สามารถเอาติดตัวไปได้ สิ่งที่จะติดตัวเราไป มีเพียงบุญกับบาปเท่านั้น ถ้าหากเราสั่งสมบุญ ชีวิตเราจะมีคุณค่า เกิดมาแล้วมีชีวิตไม่ว่างเปล่า เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น เพราะเราได้ใช้วันเวลาอันน้อยนิดที่มีอยู่ในโลกนี้สร้างบารมีอย่างเต็มที่โดยไม่ประมาท เช่นเดียวกับพระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลาย
 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน สังฆโสภณสูตร ความว่า
 
“โย โหติ พฺยตฺโต จ วิสารโท จ
พหุสฺสุโต ธมฺมธโร จ โหติ
ธมฺมสฺส โหติ อนุธมฺมจารี
ส ตาทิโส วุจฺจติ สงฺฆโสภโณ
 
     ผู้ใดเป็นคนฉลาด แกล้วกล้า เป็นพหูสูต ทรงธรรม และเป็นผู้ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ผู้เป็นเช่นนั้นท่านเรียกว่า เป็นผู้ยังหมู่ให้งดงาม”
 
     ผู้มีสัมมาทิฏฐิเมื่อบังเกิดขึ้นในโลก ย่อมยังมหาชนให้รู้จักเส้นทางอันประเสริฐของชีวิต ด้วยการแนะนำให้สั่งสมบุญบารมี ชี้เส้นทางไปสุคติโลกสวรรค์ทางไปพระนิพพาน ผู้มีสัมมาทิฏฐินี่แหละ ชื่อว่าเป็นบัณฑิตที่แท้จริง เพราะคอยประคับประคองตนเองและผู้อื่น ให้ดำเนินชีวิตอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้อง ทั้งทางโลกและทางธรรม เหมือนดวงจันทร์ที่คอยขจัดความมืดมิด ชี้ทางสว่างให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย เดินไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัย
 
     ผู้เป็นนักปราชญ์บัณฑิต มีสัมมาทิฏฐิ นอกจากตนเองจะคิดดีพูดดีทำดีเป็นปกติ และมีคุณธรรมประจำตัวแล้ว ยังมีจิตใจสูงส่ง เสียสละเวลาแนะนำให้คนรอบข้างได้เข้าใจโลกและชีวิตไปตามความเป็นจริงได้ด้วย บุคคลเช่นนี้ ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใด ย่อมนำแต่ความสุขสวัสดี และชื่อเสียงอันดีงามมาสู่สถานที่นั้นๆ ท่านจึงเรียกว่า ผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม
 
     * เหมือนในสมัยอดีต พระโพธิสัตว์เกิดเป็นลูกของปุโรหิต ในวันที่ท่านเกิดนั้น สรรพาวุธในคลังพระแสงเปล่งแสงสว่างไสวไปทั่วพระนคร ปุโรหิตจึงตั้งชื่อให้ลูกชายว่า โชติปาละ
 
     เมื่อโชติปาละเจริญวัยขึ้น ปุโรหิตให้การศึกษาศิลปวิทยามากมาย จนกระทั่งแตกฉานชำนาญทั้งทางโลกและทางธรรม ชื่อเสียงอันดีงามก็ฟุ้งขจรไป ต่อมาท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สอนธรรมแก่พระราชาถึง ๗ พระองค์ สั่งสอนประชาชนให้ตั้งอยู่ในความดี ให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ สิ่งที่เป็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ลาภสักการะเกิดขึ้นแก่ท่านมากมาย เปรียบ
เสมือนแม่น้ำใหญ่ที่ไหลหลากมาฉะนั้น แต่พระโพธิสัตว์ไม่ได้ยึดติดในลาภสักการะนั้น ท่านกลับมีความคิดว่า เราจะบำเพ็ญทานบารมีให้บริบูรณ์
 
     คิดดังนั้น ท่านจึงสร้างโรงทานขึ้น ๖ แห่ง และบริจาคทรัพย์สร้างมหาทานบารมีมากมายทุกๆ วัน ของสิ่งใดมีผู้นำมามอบให้ ท่านก็นำสิ่งของนั้นออกบริจาคทานจนหมด กระทำอยู่อย่างนี้โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยใดๆ ทั้งสิ้น ยิ่งทำก็ยิ่งมีความสุขใจ ไม่รู้จักอิ่มในบุญ ปรารถนากระทำบุญให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
 
     ประชาชนต่างมารับบริจาคทานของท่านอย่างเนืองแน่น แล้วยังช่วยกันประกาศคุณความดีของท่านไปทั่วเมือง กิตติศัพท์อันดีงามจึงฟุ้งขจรขจายไปทั่วสารทิศ เพราะความฉลาดปราดเปรื่อง มีสติปัญญาเป็นเลิศ สามารถแก้ปัญหาได้ทุกข้อ และไม่รู้จักอิ่มในการให้ทานของท่าน ประชาชนจึงขนานนามใหม่ให้ท่านว่า มหาโควินทะ
 
     พระโพธิสัตว์แม้จะทุ่มเทให้ทานมากมาย แต่ก็ไม่เคยบกพร่องภารกิจที่สำคัญ คือการถวายความรู้แด่พระราชาทั้ง ๗ พระองค์ และท่านยังแบ่งเวลาสอนศิลปวิทยาให้แก่พราหมณ์มหาศาล ๗ ตระกูล อีกทั้งยังสอนมนต์ให้พวกช่างตัดผมอีก ๗๐๐ คน ต่อมาท่านมีความปรารถนาจะหลีกเร้นเพื่อเจริญพรหมวิหารธรรม เพื่อสร้างบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
 
     สนังกุมารพรหมรู้วาระจิตของท่าน จึงลงจากพรหมโลก แล้วมาปรากฏกายเปล่งรัศมีสว่างไสวต่อหน้าของพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ให้การต้อนรับด้วยเครื่องสักการะมากมาย แล้วถามมหาพรหมว่า “ทำอย่างไรถึงจะไปเกิดในพรหมโลก” สนังกุมารพรหมบอกพระโพธิสัตว์ถึงทางที่จะไปสู่พรหมโลกว่า “ท่านผู้ประเสริฐ สัตว์ละความยึดมั่นถือมั่นในสังขาร เป็นอยู่ลำพังเพียงผู้เดียว มีใจประกอบด้วยเมตตาในสรรพสัตว์ น้อมไปในกรุณาอย่างเดียว เว้นขาดจากเมถุนธรรม เมื่อศึกษาแล้วตั้งอยู่ในธรรมเหล่านี้ ย่อมถึงพรหมโลกอันเป็นอมตะได้”
 
     ครั้นพระโพธิสัตว์ได้ฟังวิธีการไปสู่พรหมโลกแล้ว ก็ปรารถนาที่จะออกบวช เพราะมองเห็นว่าการบวชเท่านั้น ที่จะทำให้พรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ พรหมจึงอนุโมทนาว่า “ดีแล้วท่านมหาบุรุษ ถ้าท่านออกบวช การมาของข้าพเจ้านับว่าไม่ไร้ประโยชน์ ท่านเป็นอัครบุรุษของชาวชมพูทวีป ยังอยู่ในปฐมวัย การละโภคทรัพย์สมบัติแล้วออกบวช เป็นความประเสริฐยิ่งนัก เหมือนช้างป่าทำลายเครื่องผูกที่ทำด้วยเหล็ก แล้วกลับไปป่าฉะนั้น” แล้วสนังกุมารพรหมก็ลากลับพรหมโลก
 
     พระโพธิสัตว์ฟังคำของพรหมแล้ว มีความคิดว่า “ถ้าออกจากเมืองไปบวชทันทีโดยมิได้บอกลาใคร จะไม่เป็นการสมควร เพราะเรายังถวายอนุศาสน์แด่ราชตระกูลอยู่” ท่านเก็บความตั้งใจดีนี้ไว้ จนถึงวันรุ่งขึ้น จึงเข้าไปทูลลาพระราชา พระราชาทุกพระองค์ ต่างเห็นความปรารถนาอย่างแรงกล้าของท่าน จึงตัดสินใจออกบวชตามทั้ง ๗ พระองค์ แม้ลูกศิษย์ของท่านก็พากันออกบวชตามเป็นจำนวนมาก
 
     เมื่อพระโพธิสัตว์ออกบวชอยู่ในป่า ทำฌานสมาบัติให้เกิด เป็นมหาฤๅษีที่มีลูกศิษย์แวดล้อมเป็นอันมาก เที่ยวจาริกแสดงธรรมตามสถานที่ต่างๆ แนะนำมหาชนให้ตั้งมั่นอยู่ในบุญกุศล ไม่ว่าท่านจะเดินทางไปที่ใด มหาชนจะพากันสร้างมณฑปไว้ล่วงหน้า ตกแต่งประดับประดาเพื่อคอยต้อนรับท่านเป็นอย่างดี พระโพธิสัตว์ได้สั่งสอนให้มหาชนตั้งมั่นอยู่ในศีล สำรวมอินทรีย์ รู้จักการใช้สอยสิ่งของแต่พอสมควร ให้หมั่นประกอบความเพียรอันเป็นเครื่องกำจัดกิเลส เจริญสมาธิภาวนาชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ท่านบำเพ็ญบารมีด้วยการเที่ยวสอนธรรมให้มหาชนเข้าถึงพรหมโลก ผู้ที่ปฏิบัติได้ไม่เต็มที่ก็ไปบังเกิดบนสวรรค์ หรืออย่างน้อยก็ไปบังเกิดเป็นคนธรรพ์  เมื่อละโลกไปแล้ว ท่านเองได้ไปเกิดในพรหมโลก
 
     เราจะเห็นว่า ที่ใดมีบัณฑิต ที่นั่นย่อมสว่างไสวไปด้วยแสงแห่งธรรม ผู้คนรอบข้างจะพลอยเป็นผู้ไม่ประมาทมัวเมาในชีวิต เห็นโทษเห็นภัยในการเกิด แล้วรีบสั่งสมบุญบารมี ทำความดีตามแบบอย่างของบัณฑิต ความร่มเย็นเป็นสุขจึงบังเกิดขึ้น
 
     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ชื่อว่าเป็นยอดนักปราชญ์บัณฑิต เป็นผู้ทำหมู่คณะให้งดงาม ให้โลกนี้เกิดสันติภาพได้อย่างแท้จริง เพราะพระองค์ทรงเข้าถึงฝั่งแห่งใจหยุดนิ่งซึ่งเป็นแหล่งแห่งความสุขและความบริสุทธิ์ การฝึกใจให้หยุดนิ่ง จึงเป็นการดำเนินตามปฏิปทาที่พระองค์ได้แนะนำไว้ แสงสว่างภายในที่เกิดจากใจหยุดนิ่งนี้ ผู้มีรู้มีญาณทั้งหลาย สามารถสัมผัสรับรู้ได้ แม้เทวดาก็อนุโมทนา เป็นเหตุให้ได้รับการคุ้มครองรักษา ถ้าหากเราหมั่นฝึกใจให้หยุดนิ่ง ชำระกาย วาจา ใจให้บริสุทธิ์ ผ่องใสอยู่เสมอ ความคิดคำพูดและการกระทำก็พลอยบริสุทธิ์ถูกต้องตามไปด้วย 
 
     ฉะนั้น ให้ทุกคนหมั่นฝึกใจให้หยุดนิ่งให้ได้ทุกวัน เมื่อเราเข้าถึงความความสว่างไสวภายในได้แล้ว จะได้ช่วยกันทำโลกนี้ให้สว่างไสว ด้วยการแนะนำให้เขาได้ประพฤติธรรมตามเราไปด้วย พราะโลกนี้จะเปลี่ยนแปลงหรือเป็นไปอย่างไร ย่อมอยู่ที่ใจของพวกเราทุกคนนั่นเอง

 
พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี
 
นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
* มก. เล่ม ๗๔ หน้า ๙๒
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ความปรารถนาของบัณฑิตความปรารถนาของบัณฑิต

อย่าก่อเวรอีกเลยอย่าก่อเวรอีกเลย

กระต่ายตื่นตูมกระต่ายตื่นตูม



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน