ความหมายของกายในคำว่าธรรมกาย ตอนที่ 2


[ 23 ส.ค. 2556 ] - [ 18278 ] LINE it!

ความหมายของ "กาย" ในคำว่า "ธรรมกาย" (ตอน 2 )
เรื่อง : ดร.ชนิดา จันทราศรีไศล 
ต่อจากตอนที่แล้ว...
 
พระธรรมกาย 
คำว่า ธรรมกาย ก็ดี นี้แหละเป็นชื่อของเราตถาคต
 
3. มหาปชาบดีโคตมีเถรีอปทาน : ธรรมกายกับอริยสาวก

     นอกจากธรรมกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ในพระไตรปิฎกบาลียังกล่าวถึงธรรมกายของพระพุทธสาวกด้วยดังที่ปรากฏในมหาปชาบดีโคตมีเถรีอปทาน อันเป็นถ้อยคำที่พระมหาปชาบดีโคตมีเถรีกราบทูลลาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อเสด็จปรินิพพาน

     พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี คือพระมาตุจฉาผู้เป็นประดุจพระมารดาที่ทรงเลี้ยงดูเจ้าชายสิทธัตถะมาตั้งแต่แรกประสูติ และในภายหลังที่พระบรมโพธิสัตว์ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระมหาปชาบดีโคตมีได้ทูลขอพระบรมพุทธานุญาตออกผนวชด้วย โดยเป็นภิกษุณีองค์แรกในพระพุทธศาสนา และได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระอรหันตเถรีองค์หนึ่ง

     ข้อความที่ท่านกราบทูลพระบรมศาสดานั้นมีคำว่า “ธรรมกาย” อยู่ด้วย ดังนี้

     ข้าแต่พระสุคตหม่อมฉันเป็นมารดาของพระองค์ ข้าแต่พระธีรเจ้าพระองค์ทรงเป็นพระบิดาของหม่อมฉัน ข้าแต่พระโคดมผู้เป็นที่พึ่ง ผู้ประทานความสุขอันเกิดจากพระสัทธรรมหม่อมฉันเป็นผู้ที่พระองค์ให้เกิดแล้วข้าแต่พระสุคต พระรูปกายของพระองค์นี้หม่อมฉันได้เลี้ยงดูให้เติบโต ส่วน ธรรมกายอันน่าเพลิดเพลินของหม่อมฉัน พระองค์ทรงทำให้เติบโตแล้ว หม่อมฉันได้ถวายพระกษีรธารแด่พระองค์เพียงระงับดับกระหายได้ชั่วครู่ แต่พระองค์ทรงประทานกษีรธารคือธรรมอันสงบระงับอย่างยิ่งแก่หม่อมฉัน (แปลจากพระไตรปิฎกบาลีสยามรัฐ เล่ม 33 ข้อ 157 หน้า 284)

       ในถ้อยคำนี้ พระเถรีทรงเปรียบเทียบการที่ท่านเองเป็น “มารดาในทางโลก” ของพระพุทธองค์กับการที่พระพุทธองค์ทรงเป็น “พระบิดาโดยธรรม” ของท่าน เนื้อความมีนัยที่น่าสนใจอยู่หลายประการ คือ

    1. ข้อความว่า “หม่อมฉันเป็นผู้ที่พระองค์ให้เกิดแล้ว” แสดงถึงการที่ท่านได้บรรลุโลกุตตรธรรมเป็นอริยบุคคล ซึ่งนับเป็นการ “เกิดใหม่”ตามหลักการของพระพุทธศาสนา

     2. ข้อความว่า “ธรรมกายอันน่าเพลิดเพลิน” บ่งบอกว่า ธรรมกายนำความสุขมาให้ คำว่า “น่าเพลิดเพลิน” มาจากศัพท์บาลีอานนฺทิโย แต่พระไตรปิฎกบางฉบับก็ใช้คำว่า อนินฺทิโต หรือ อนินฺทิโยแทน แปลว่า “ไม่มีที่ติ” ซึ่งบ่งบอกถึงคุณสมบัติอันดีและงามพร้อมของธรรมกายเช่นเดียวกัน
 
    3. ข้อความว่า “(ธรรมกาย) ของหม่อมฉัน” บ่งบอกว่าท่านได้เข้าถึงและเป็นเจ้าของธรรมกาย ซึ่งได้มาเป็นตัวตนใหม่ (new identity) ที่จริงมากกว่าของท่าน แทนพระรูปหยาบเดิม และยังบ่งบอกด้วยว่า ไม่เพียงแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าเท่านั้น แม้พระอริยสาวกก็มีธรรมกายเช่นกัน...
 
     ข้อความนี้จึงบอกความหมายของธรรมกายชัดเจนยิ่งขึ้นว่าเป็น กายแห่งการตรัสรู้ธรรม และมิใช่คำสอนทั้งนี้เพราะคำสอนเป็นของพระพุทธองค์เท่านั้น
 
    4. ข้อความว่า “(ธรรมกายของหม่อมฉัน) อันพระองค์ให้เติบโตแล้ว” บ่งบอกว่า ธรรมกายมีหลายระดับ และอาจพัฒนา (เติบโต) จากระดับเบื้องต้นไปถึงระดับสูงสุดได้

     คำว่า “ธรรมกาย” ที่พบในมหาปชาบดีเถรีอปทาน จึงตอกย้ำความหมายของธรรมกายในพระไตรปิฎกบาลีให้หนักแน่นขึ้นว่า สอดคล้องตรงกันกับธรรมกายในหลักการของวิชชาธรรมกายที่สอนโดยพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนีนั่นเอง
 
พระธรรมกาย 
คำว่า ธรรมกาย ก็ดี นี้แหละเป็นชื่อของเราตถาคต

4. ธรรมกายกับพระพุทธเจ้าในอดีต

     หลักฐานของคำว่า “ธรรมกาย” ชิ้นสุดท้ายในพระไตรปิฎกบาลี พบในคัมภีร์เถราปทาน เป็นข้อความที่พระเถระนามว่า อัตถสันทัสสกะ กล่าวถึงการสร้างบุญในอดีตชาติของท่าน เมื่อยังเป็นนารทพราหมณ์ โดยได้แสดงความเคารพและกล่าวคาถาสรรเสริญคุณพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งปรากฏคำว่า ธรรมกาย ในคาถาด้วย ดังนี้

      ในเหล่ามนุษย์และเทวาจะหาผู้ที่เสมอเหมือนพระองค์ด้วยญาณเป็นไม่มี ใครเล่าเห็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีพระญาณไม่สิ้นสุดนั้นแล้วจะไม่เลื่อมใส?

      ใครๆ ไม่อาจทำให้พระองค์ผู้ทรงมีธรรมเป็นกาย ผู้ทรงแสดงอยู่ซึ่งบ่อเกิดแห่งรัตนะทั้งสิ้นให้พิโรธได้ ใครเล่าเห็นพระองค์แล้วจะไม่เลื่อมใส? (แปลจากพระไตรปิฎกบาลีสยามรัฐ เล่ม 32 ข้อ 139 หน้า 243-244)

      ในข้อความที่ยกมานี้ คำว่า “ธรรมกาย” ปรากฏในย่อหน้าสุดท้าย ในข้อความที่ขีดเส้นใต้ซึ่งเป็นจุดที่มีเนื้อหากำกวมที่สุด เพราะแปลได้หลากหลายนัยอันเนื่องมาจากโครงสร้างของรูปประโยคบาลี ว่า “ธมฺมกายญฺจ ทีเปนฺตํ เกวลํ รตนากรํ” ซึ่งอาจแปลได้อย่างน้อย 3 แบบ ดังนี้

     1. “พระองค์ผู้ทรงแสดงอยู่ซึ่งธรรมกายอันเป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะทั้งสิ้น” ซึ่งเป็นแบบที่นิยมแปลตาม ๆ กันมา
 
     2. “พระองค์ผู้ทรงมีธรรมเป็นกาย (ผู้) ทรงส่องความสว่างไสวไปทั่ว ผู้เป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะทั้งหลาย”
 
     3. “พระองค์ผู้ทรงมีธรรมเป็นกาย ผู้ทรงแสดงอยู่ซึ่งบ่อเกิดแห่งรัตนะทั้งสิ้น” แบบที่แปลไว้เป็นตัวอย่างข้างต้น

     เมื่อมารวมกับความหมายที่หลากหลายของศัพท์ว่า “รตนากร” (บ่อเกิดแห่งรัตนะ) จึงทำให้การตีความคำว่า “ธรรมกาย” พลอยหลากหลายไปด้วย

     ในการแปลสองสำนวนแรกนั้น คำว่าธรรมกาย หมายถึงสิ่งเดียวกันกับ “บ่อเกิดแห่งรัตนะ” (รตนากร) ซึ่งในสำนวนแรกอาจตีความว่าหมายถึง พระธรรมวินัย คือคำสอนของ พระพุทธองค์ ดังที่พบในอปทานของพระอุบาลีก็ได้ ส่วนในสำนวนที่สอง หมายถึงพระพุทธองค์เอง ดังที่พบในอปทานของพระเสลเถระ
และในสำนวนแปลที่สามนั้น คำว่า ธรรมกาย หมายถึง พระพุทธองค์ ส่วน “บ่อเกิดแห่งรัตนะ” หมายถึงพระธรรมวินัย

     ข้อมูลที่ปรากฏในตัวคัมภีร์อปทานเอง ดูจะไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะช่วยให้ตัดสินได้เด็ดขาดมากไปกว่านี้ ว่าควรตีความอย่างไร ดังนั้น หลักฐานชิ้นที่ 4 ของคำว่า “ธรรมกาย” ในพระไตรปิฎกบาลี จึงดูจะยังเปิดช่องว่างให้มีการตีความคำว่า “ธรรมกาย” ได้แตกต่างออกไป

    อย่างไรก็ดี เมื่อมองถึงภาพรวมทั้งหมดของหลักฐานคำว่า “ธรรมกาย” ทั้ง 4 แห่ง ตั้งแต่อัคคัญญสูตรมาจนถึงหลักฐานชิ้นสุดท้ายนี้แล้วคงยากที่จะปฏิเสธว่า คำว่า “ธรรมกาย” ที่พบในพระไตรปิฎกบาลี ใช้ในความหมายของ “กายแห่งการตรัสรู้ธรรม” มากกว่า และชัดเจนกว่า ส่วนในความหมายว่า “พระธรรมวินัย” หรือคำสอนของพระพุทธองค์นั้น กลับยังเป็นที่กังขา ไม่อาจตัดสินได้เด็ดขาดแต่อย่างใด
 
พระประธาน วัดป่าหมาก จ.แม่ฮ่องสอน
พระประธาน วัดป่าหมาก จ.แม่ฮ่องสอน

     ในสายตาของชาวพุทธเถรวาทยุคต้น จึงยังคงมอง ธรรมกาย ว่าหมายถึงกายแห่งการตรัสรู้ธรรม เป็นกายที่เข้าถึงได้ เป็นเจ้าของได้ และเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้ที่เข้าถึงให้สะอาดบริสุทธิ์ขึ้นได้ นำมาพร้อมซึ่งคุณธรรม คุณสมบัติ คุณวิเศษ รวมทั้งความสุขอันไม่มีประมาณที่ไม่อาจหาได้จากที่อื่นใดในโลก นำพาให้หลุดพ้นจากความยึดมั่นในขันธ์ 5 อันเป็นตัวตนจอมปลอมที่หลอกลวงมนุษย์ให้ยึดถือกันอยู่อย่างเหนียวแน่นจึงไม่น่าแปลกใจที่อรรถกถาพระบาลีได้กล่าวสรรเสริญคุณของพระธรรมกายไว้มากมาย ทั้งยังแสดงความหมายของธรรมกายว่าคือ โลกตุตรธรรมที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตามนุษย์ แต่จะมองเห็นได้ด้วยดวงตาแห่งธรรม

     เมื่อได้ศึกษาความหมายของธรรมกายในพระไตรปิฎกบาลี ซึ่งมาพ้องตรงกันกับหลักการในวิชชาธรรมกายอย่างแจ่มชัดแล้ว จึงอดไม่ได้ที่จะรู้สึกยินดีกับพี่น้องนักสร้างบารมีที่ได้มารู้จักและฝากตัวเป็นศิษย์ของมหาปูชนียาจารย์ผู้เลิศ และได้มาประพฤติปฏิบัติธรรมตามคำสอนของท่านอันเป็นหนทางนำไปสู่ความรู้แจ้งอย่างแท้จริง
     คำว่า “ธรรมกาย” ที่พบในมหาปชาบดี เถรีอปทานจึงตอกย้ำความหมายของธรรมกายในพระไตรปิฎกบาลีให้หนักแน่นขึ้นว่าสอดคล้องตรงกันกับธรรมกายในหลักการของวิชชาธรรมกายที่สอนโดยพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนีนั่นเอง

บทความที่เกี่ยวข้องความหมายของ "ธรรม" ในคำว่า "ธรรมกาย"




Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ความรู้เรื่องธรรมกายความรู้เรื่องธรรมกาย



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมกาย