การหว่านไถอย่างอริยะ


[ 15 ต.ค. 2556 ] - [ 18279 ] LINE it!

การหว่านไถอย่างอริยะ

     ทุกครั้งที่เราได้นั่งหลับตาเจริญสมาธิภาวนา นำใจมาหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗  ธาตุธรรม เห็น จำ คิด รู้ ในตัวเรา จะถูกกลั่นให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์เป็นทางมาแห่งความสุข ซึ่งความสุขที่เกิดจากใจหยุดนิ่งนี้ เป็นสิ่งที่มวลมนุษยชาติต่างปรารถนา เพราะเป็นสุขที่เสรี กว้างขวาง ไร้ขอบเขต เป็นสันติสุขภายในที่นำมาซึ่งสันติภาพภายนอก อีกทั้งเป็นเหตุให้ขจัดกิเลสอาสวะ และให้เข้าถึงพระธรรมกายที่อยู่ภายในตัวอีกด้วย

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน เทวหิตสูตร ความว่า

“ปุพฺเพนิวาสํ โย เวทิ       สคฺคาปายญฺจ ปสฺสติ
อโถ ชาติกฺขยํ ปตฺโต       อภิญฺญา โวสิโต มุนิ
    เอตฺถ ทชฺชา เทยฺยธมฺมํ     เอตฺถ ทินฺนํ มหปฺผลํ    
        เอวํ หิ ยชมานสฺส           เอวํ อิชฺฌติ ทกฺขิณาติ      

     ผู้ใดรู้ขันธ์ที่เคยอาศัยในกาลก่อน แลเห็นสวรรค์ และอบาย บรรลุพระอรหัตอันเป็นที่สิ้นชาติ อยู่จบพรหมจรรย์แล้วเพราะรู้ยิ่ง เป็นมุนี บุคคลพึงให้ไทยธรรมในผู้นี้ ทานที่ให้แล้วในท่านผู้นี้มีผลมาก ทักษิณาย่อมสำเร็จแก่บุคคลผู้บูชาอย่างนี้”

     เราทุกคนต่างตระหนักกันดีแล้วว่า การสั่งสมบุญด้วยการให้ทาน เป็นสิ่งสำคัญต่อการดำเนินชีวิต เพราะทานเป็นบันไดก้าวแรกในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้น ทานสามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตจากคนธรรมดา กลายมาเป็นมหาเศรษฐีผู้มีสมบัติจักรพรรดิตักไม่พร่องได้ จากปุถุชนกลายมาเป็นพระอริยเจ้า ผู้ถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิตก็ได้ อย่างไรก็ดีจะเป็นผู้ยินดีในการให้ทานอยู่เสมอ แต่การรู้จักเลือกผู้รับก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะบุญกุศลที่เกิดจากการให้ทาน จะมีอานิสงส์ใหญ่หรือได้ผลน้อย ย่อมขึ้นอยู่กับปฏิคาหกคือผู้รับด้วย การพิจารณาถึงบุญเขต ก็เปรียบเหมือนการเลือกเนื้อนาดีที่จะหว่านข้าวกล้าลงไป การทำบุญก็เช่นเดียวกัน ต้องเลือกเนื้อนาบุญที่ดี ผลจึงจะงอกงามไพศาล

     * ดังเช่นในสมัยพุทธกาล พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในทักขิณาคีรีชนบท แคว้นมคธ สมัยนั้น ตรงกับช่วงฤดูกาลหว่านข้าวกล้า กสิภารทวาชพราหมณ์ซึ่งเป็นเศรษฐีย่อมๆคนหนึ่ง เป็นที่รู้จักของคนทั้งเมือง ได้สั่งให้คนในบ้านเทียมไถจำนวนมากถึง ๕๐๐ แอก เพื่อเริ่มไถนา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นพราหมณ์เข้ามาในข่ายพระญาณ พระองค์รู้ทันทีว่า พราหมณ์ผู้มีบุญท่านนี้จะได้เป็นพุทธศาสนิกชนที่ยึดพระรัตนตรัยเป็นสรณะ รุ่งเช้าจึงได้เสด็จไปบิณฑบาตในบริเวณใกล้บ้านพราหมณ์ ซึ่งเป็นช่วงที่พราหมณ์กำลังเลี้ยงอาหารแก่นักบวชนอกศาสนาที่ตนนับถืออยู่

     พระองค์ทรงเปล่งรัศมีไพโรจน์ล่วงรัศมีของพระจันทร์และพระอาทิตย์ แผ่คลุมไปทั่วอาณาบริเวณ ทำให้ก้อนดินที่พราหมณ์ได้สั่งให้ไถนั้นเปล่งปลั่งเป็นสีทองไปหมด หมู่ชนได้เห็นมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ มีอนุพยัญชนะ ๘๐ และคู่พระพาหาซึ่งงดงามด้วยรัศมีที่แผ่ซ่านออกหนึ่งวา ทรงรุ่งเรืองด้วยพระสิริ ประดุจท้องฟ้าที่มีหมู่ดาวส่องแสงระยิบระยับ และเหมือนภูเขาทองที่ห่อหุ้มด้วยสายฟ้า ต่างพากันล้างมือและเท้า เข้าไปยืนแวดล้อมประคองอัญชลีต่อพระพุทธองค์ด้วยความเคารพเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง

     กสิภารทวาชพราหมณ์เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแวดล้อมไปด้วยมหาชน กำลังเสด็จบิณฑบาตด้วยอาการน่าเลื่อมใส ทรงเยื้องกรายเหมือนพญาช้างศึกฉะนั้น พราหมณ์บังเกิดความศรัทธาเลื่อมใสขึ้นมา แต่ยังไม่พร้อมที่จะนอบน้อม เพราะถือว่าตนก็เป็นพราหมณ์ผู้มีชื่อเสียงในตำบลนี้ จึงได้แต่สนทนากับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าแต่พระสมณะ ข้าพเจ้าไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้ว ย่อมบริโภค แม้พระองค์ก็จงไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้ว จงบริโภคเถิด”

     เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงแสดงว่า พระองค์เป็นผู้ไถผู้หว่านชั้นเลิศในโลก จึงได้ตรัสว่า “ดูก่อนพราหมณ์ แม้เราก็ไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้ว ก็บริโภค” พราหมณ์คิดว่า “สมณะนี้กล่าวว่า แม้เราก็ไถหว่าน แต่เราไม่เห็นแอกหรือไถซึ่งเป็นเครื่องทำนาของมหาสมณะรูปนี้เลย” จึงตรวจดูพระผู้มีพระภาคเจ้าตั้งแต่พื้นพระบาทจนถึงปลายพระเกศา เพราะตนสำเร็จวิชาดูลักษณะ พราหมณ์รู้ทันทีว่าสมณะนี้สมบูรณ์ด้วยลักษณะประเสริฐ ๓๒ ประการ ได้สั่งสมบุญญาธิการไว้เป็นอย่างดี ก็คิดว่า ข้อที่สมณะพูดมุสามิใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้ จึงตอบโต้พระองค์ไปว่า “ข้าพเจ้าไม่เห็นแอก ไถ ผาล ปฏัก หรือโคทั้งหลายของท่านพระโคดมเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ท่านพระโคดมยังกล่าวว่า แม้เราก็ไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้วก็บริโภค ข้าพเจ้าอยากทราบว่าพระองค์ทรงมีการไถนาด้วยวิธีการอย่างไร”

     พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า “ศรัทธาของเราเป็นพืช ความเพียรเป็นฝน ปัญญาของเราเป็นแอกและไถ หิริเป็นงอนไถ ใจเป็นเชือก สติของเราเป็นผาลและปฏัก เรามีกายคุ้มครองแล้ว มีวาจาคุ้มครองแล้ว เป็นผู้สำรวมแล้วในการบริโภคอาหาร เราทำการดายหญ้า คือ วาจาสับปลับด้วยคำสัตย์ โสรัจจะของเราเป็นเครื่องให้แล้วเสร็จงาน ความเพียรของเราเป็นเครื่องนำธุระไปให้สมหวัง นำไปถึงความเกษมจากโยคะ ไปแล้วไม่ถอยหลัง ความเพียรนำไปยังที่ซึ่งบุคคลไปถึงแล้วไม่เศร้าโศก เราทำนาเช่นนี้ นาที่เราทำนั้นย่อมมีผลเป็นอมตะ บุคคลทำนาเช่นนี้แล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้”

     แม้กสิภารทวาชพราหมณ์ได้ฟังดังนั้น ก็ยังไม่เกิดศรัทธาที่จะถวายทานกับพระพุทธองค์ ได้แต่กราบทูลว่า “ท่านพระโคดมผู้เปรียบตนเช่นกับชาวนา ถ้าหากการไถหว่านของพระองค์เป็นเช่นนั้นจริงๆ ขอพระองค์จงบริโภคอมฤตผลที่ท่านพระโคดมไถนั้นเถิด” พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “เราไม่พึงบริโภคโภชนะซึ่งได้เพราะความขับกล่อม ดูก่อนพราหมณ์ นี่เป็นธรรมของบุคคลผู้เห็นอรรถและธรรมอยู่ ท่านผู้รู้ทั้งหลายย่อมรังเกียจโภชนะที่ได้เพราะการขับกล่อม ดูก่อนพราหมณ์ เมื่อธรรมมีอยู่ ความเป็นไปแห่งชีวะนี้ก็ยังมีอยู่ ขอท่านจงบำรุงพระขีณาสพทั้งสิ้น ผู้แสวงหาคุณใหญ่ มีความคะนองสงบระงับแล้ว ด้วยข้าวน้ำที่ท่านหามาได้ด้วยการไถหว่านนั้นเถิด ด้วยว่าการบำรุงนั้นเป็นนาบุญของผู้มุ่งบุญ” จากนั้นพระองค์ทรงเทศน์โปรดให้พราหมณ์เข้าใจถึงบุญเขตอันเยี่ยม ที่เมื่อหว่านพืชคือศรัทธาลงไปแล้ว ถวายทานในทักขิไนยบุคคลอันเลิศ ผลบุญอันเลิศก็ย่อมบังเกิดแก่บุคคลนั้นไปทุกภพทุกชาติ

     ครั้นกสิภารทวาชพราหมณ์ฟังพระธรรมเทศนาซึ่งมีเนื้อความลึกซึ้งเช่นนี้แล้ว ก็เข้าใจว่าคนบริโภคผลแห่งการไถนาของตนแล้ว วันรุ่งขึ้นก็ยังคงหิวข้าวเช่นเดิม แต่คนบริโภคผลแห่งการไถที่เป็นอมตะนี้ ย่อมพ้นจากทุกข์ได้ จึงบังเกิดความเลื่อมใส ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ดุจหงายภาชนะที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักมองเห็นได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้ากับพระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะจนตลอดชีวิต”

     จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่าการทำไร่ไถนาทางธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ท่านหมายถึงการแผ้วถางหนทางพระนิพพานเป็นอานิสงส์ มีผลเป็นอมฤตธรรม มีแต่ความสุขล้วนๆ ไม่มีทุกข์เจือปน เมื่อไถเสร็จแล้ว ก็ไม่ต้องมาเริ่มต้นใหม่ เสร็จแล้วก็เป็นอันเสร็จสิ้นภารกิจกันจริงๆ สิ้นภพสิ้นชาติ หมดความหิวกระหาย หมดความอาลัยในโลกทั้งปวง มีแต่มุ่งไปสู่ความบริสุทธิ์ยิ่งๆ ขึ้นไป  เพราะฉะนั้น เมื่อเราทำบุญกับผู้บริสุทธิ์ กระแสธารแห่งบุญย่อมจะบังเกิดขึ้นกับตัวเราด้วย เนื้อนาบุญอันเลิศนั้น ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน มีอยู่ในบวรพระพุทธศาสนานี้ เพราะอริยสัจ ๔ ก็ดี อริยมรรคมีองค์ ๘ ก็ดี ล้วนเป็นหนทางสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้น ก็มีอยู่เฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น สังฆทานเป็นประมุขของผู้หวังบุญ พระสงฆ์เป็นประมุขของผู้บูชา ดังนั้น ต้องทำบุญให้ถูกเนื้อนาบุญ และหมั่นหาโอกาสสั่งสมบุญไว้กับตนเองให้มากกันทุกๆ คน

 

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม ๒๕ หน้า ๒๔๓
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ทำความดีต้องมีกุศโลบายทำความดีต้องมีกุศโลบาย

อยู่ก็รัก จากก็คิดถึงอยู่ก็รัก จากก็คิดถึง

พระอัญญาโกณฑัญญะ ผู้รัตตัญญู (๑)พระอัญญาโกณฑัญญะ ผู้รัตตัญญู (๑)



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน