การสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ 3


[ 12 พ.ย. 2556 ] - [ 18366 ] LINE it!

การสังคายนาครั้งที่ 3 และเหตุการณ์ที่นำไปสู่สังคายนาครั้งที่ 3

 

 

การสังคายนาครั้งนี้มีปรากฎอรรถกถา มหาวิภังค์ (วิ.มหา. (มหามกุฏฯ)(ไทย) 1/9/71-107) ณ เมืองปาฏลีบุตรมีพวกเดียรถีย์ขาดลาภสักการะ นุ่งห่มผ้าเหมือนภิกษุ ปลอมบวชในพระพุทธศาสนาจำนวนมาก มาแสดงลัทธิที่ผิดพุทธบัญญัติ ทำสังฆลฑณให้แตกสามัคคี ทำให้สงฆ์ไม่ทำสังฆกรรมร่วมด้วยถึง 7 ปี พระเจ้าอโศกมหาราชจึงทรงโปรดให้อำมาตย์ผู้หนึ่งไประงับอธิกรณ์นี้ แต่อำมาตย์ทำเกินเลยบังคับสงฆ์ให้ลงสังฆกรรมร่วมกับเหล่าเดียรถีย์ พวกภิกษุไม่ยอม อำมาตย์จึงได้ฆ่าฟันภิกษุที่ขัดขืน 2-3 รูป พระเจ้าอโศกทราบเรื่องเกิดความไม่สบายใจ จึงสอบถามพวกภิกษุว่าบาปนี้จะถึงแก่พระองค์หรือไม่ ก็ไม่มีภิกษุรูปใดตอบได้ พวกภิกษุจึงอาราธนาพระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระให้วิสัชชนา พระเถระได้แก้ข้อกังขาว่าบาปเป็นเฉพาะของอำมาตย์เท่านั้นเพราะทำเกินรับสั่ง พระเจ้าอโศกทรงเลื่อมใสอาราธนาพระเถระให้เป็นผู้ชำระสงฆ์ให้บริสุทธิ์ พระเจ้าอโศกได้โปรดให้ชุมนุมสงฆ์ทั่วสังฆมณฑล ทรงสอบถามพระภิกษุ เช่นว่า พระพุทธเจ้าสอนอย่างไร ภิกษุที่ปลอมบวชตอบเป็นทำนองสัสสตทิฏฐิบ้าง อุจเฉททิฏฐิบ้าง พระเจ้าอโศกก็ให้สึกไปสวมชุดขาวเป็นจำนวนมากถึง 60,000 รูป ส่วนภิกษุฝ่ายธรรมวาทีพากันตอบว่า "วิภัชวาท"

 

ครั้นกำจัดภิกษุปลอมบวชได้แล้ว พระเจ้าอโศกจึงอาราธนาให้สงฆ์ทำอุโบสถกรรม และพระโมคคัลลีบุตรจึงถือโอกาสทำสังคายนาครั้งที่  3  โดยเลือกพระอรหันต์จำนวน 1,000 รูปเข้าร่วมทำสังคายนา ณ อโศการามทำอยู่ 9 เดือนจึงเสร็จ ทำสังคายนาเมื่อพระเจ้าอโศกเสวยราชย์ได้ 8 ปี พระโมคคัลลีบุตรได้รจนาคัมภีร์อภิธรรม กถาวัตถุ เพื่อไว้โต้แย้งกับพระพุทธศาสนานิกายอื่น เพื่อรักษาพระพุทธมติอันบริสุทธิ์ไว้ (เสถียร โพธินันทะ, 2542 : 185-186) 

 

พระเจ้าอโศกมหาราช

พระเจ้าอโศกมหาราช องค์อุปถัมภ์ในการสังคายนาครั้งที่ 3

 

ส่วนในอรรถกถาพระวินัยได้กล่าวไว้คร่าวๆ เนื้อหาข้างต้นมีรายละเอียดครอบคลุมแล้ว   อาจารย์เสถียรยังได้ชี้ประเด็นต่ออีกว่า  ในคัมภีร์อโศอวทานและในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกไม่ได้มีกล่าวถึงการสังคายนาครั้งนี้ นักวิชาการตะวันตกเชื่อว่า การสังคายนาเป็นเรื่องสำคัญมากน่าจะมีกล่าวไว้ในศิลาจารึกบ้าง แต่ศิลาจารึกก็ไม่ได้กล่าวถึงเลย จึงเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ชาวลังกาแต่งขึ้นมาภายหลัง และแท้จริงแล้วเดียรถีย์ 60,000 คน นั่นก็คือ พระภิกษุในนิกายมหาสังฆิกะ เพราะจากสิลาจารึกพระเจ้าอโศกทรงให้การอุปถัมภ์ในทุกๆ  ลัทธิศาสนาแม้กระทั่งสัตว์เดรัจฉาน   ไม่เฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น  และยุคนั้นมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก การที่มีคนปลอมบวช 60,000 คน  โดยที่ทางคณะสงฆ์เองไม่สามารถหาทางป้องกันได้เลยเป็นเวลา 7 ปี ทั้งที่มีกษัตริย์และอำมาตย์คอยให้การพิทักษ์พระพุทธศาสนาไว้ บวกกับในคัมภีร์ลังกาชอบเขียนกล่าวว่าภิกษุฝ่ายตรงข้ามว่าเป็น อธรรมวาทีบ้าง เดีรยถีย์บ้าง อลัชชีบ้าง นั่นก็พอจะสรุปได้ว่า เดียรถีย์ที่ปลอมบวชก็คือ พระในนิกายมหาสังฆิกะนั่นเอง 

 

ผู้เขียนเองมีความเห็นว่า ออกจะโหดร้ายเกินไปด้วยการตัดสินว่าใช่พระหรือไม่ใช่พระ เพียงการสอบถามปัญหาเท่านั้น ทั้งที่พระที่ห่มผ้าเหลืองนั้นไม่ได้ทำผิดพระวินัยร้ายแรงใดๆ จนต้องขาดจากความเป็นพระ บวกกับพระภิกษุบางรูปที่ตั้งใจปฏิบัติไม่ได้มีความรู้ทางด้านปริยัติหรือไม่อาจจะตอบคำถามได้ถูกต้อง ก็ต้องถูกพระราชอาณาให้สิกขาลาเพศไป ซึ่งเป็นที่น่าสลดใจอย่างยิ่ง

 

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539.

มหามกุฏราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกพร้อมอรรถกถา แปล. ชุด 91 เล่ม. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2532.

พระราชธรรมนิเทศ (ระแบบ ฐิตญาโณ). ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา.-- พิมพ์ครั้งที่ 4 --.กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2542.

เสถียร โพธินันทะ. ประวัติศาสนาพระพุทธศาสนา.-- พิมพ์ครั้งที่ 4 --. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2543.

สุมาลี มหณรงค์ชัย. พระพุทธศาสนามหายาน. -- พิมพ์ครั้งที่ 2 --. กรุงเทพมหานคร : ศยาม. 2550.

สุชาติ หงษา. ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา. กรุงเทพมหานคร : ศยาม, 2550.

 



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑโฒ)พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑโฒ)

พระบรมธาตุพระบรมธาตุ

ประเภทของพระบรมธาตุประเภทของพระบรมธาตุ



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

พระพุทธศาสนา