สามเณรนิโครธ (๒)


[ 13 ธ.ค. 2556 ] - [ 18269 ] LINE it!

สามเณรนิโครธ (๒)

     ความขยันหมั่นเพียรเป็นทางมาแห่งความสำเร็จ เป็นวิริยบารมีที่นักปราชญ์บัณฑิตทั้งหลายต่างก็ประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยเฉพาะความเพียรในการขจัดกิเลสอาสวะออกจากใจ ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่สำคัญของมวลมนุษยชาติ ยิ่งถ้าหากเพียรพยายามชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์มากเพียงใด เราจะมีโอกาสหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ จากความเป็นบ่าวเป็นทาสของพญามารได้มากเพียงนั้น

     ดังนั้น เราจึงต้องทุ่มเทชีวิตจิตใจ สั่งสมบุญ และเพียรพยายามในการนั่งสมาธิเจริญภาวนากันให้มากๆ ให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานกัน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า

     “หากว่าบุคคลมีธรรมประดับแล้ว เป็นผู้สงบแล้ว ฝึกตนแล้ว เป็นคนเที่ยงตรง เป็นพรหมจารี เลิกอาชญากรรมในสัตว์ทั้งปวง พึงประพฤติธรรมสมํ่าเสมอ ผู้นั้นก็ชื่อว่าเป็นพราหมณ์ ผู้นั้นก็ชื่อว่า เป็นสมณะ ผู้นั้นก็ชื่อว่า เป็นภิกษุ”

     สมณะ คือ ผู้สงบกาย วาจา ใจ มาตรฐานของสมณะที่ดี ต้องสงบกายคือ มีความสำรวม ไม่คะนองมือคะนองเท้า ต้องอนูปฆาโต ไม่เข้าไปทำร้ายใคร นอกจากนี้แล้ว สมณะยังต้องคำนึงถึงสมณสารูปคือ จะทำอะไรต้องให้ควรแก่สมณวิสัย คำนึงถึงปัณณัตติวัชชะคือ โทษที่เกิดจากประพฤติผิดพระธรรมวินัย ที่พระบรมศาสดาทรงบัญญัติไว้ และโลกวัชชะคือ สิ่งที่ชาวโลกติเตียน สิ่งไหนที่ชาวโลกทำผิดกฎหมายบ้านเมือง สมณะก็ต้องงดเว้น อย่าไปทำ เนื่องจากแต่ละท้องถิ่นมีวัฒนธรรมหรือข้อวัตรปฏิบัติที่แตกต่างกัน ฉะนั้น สมณะต้องศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีให้ดี

     สมณะต้องสงบวาจาคือ อนูปวาโท ไม่นินทาว่าร้ายใคร ไม่ยุยงใส่ร้ายป้ายสีกัน จะเป็นระหว่างพระกับพระ หรือพระกับฆราวาสก็ตาม มีแต่วาจาที่เป็นอรรถเป็นธรรม คุยแต่เรื่องที่เป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพานอย่างเดียว

     สมณะต้องสงบใจ คือ ทำใจให้หยุดนิ่งเป็นสุขอยู่ภายใน สงบจากบาปอกุศล ตรึกนึกถึงธรรมเป็นอารมณ์ ไม่ใช่ทำเป็นสงบแต่เปลือกนอกอย่างเดียว จิตใจของสมณะที่แท้ต้องเต็มไปด้วยความเมตตากรุณา ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อใคร ให้คุณอย่างเดียวไม่ให้โทษ

     การที่มีความสงบกาย วาจา ใจ ทั้ง ๓ ประการนี้ จะส่งผลให้สมณะมีความสงบเสงี่ยมสง่างามอยู่ในตัว ถ้าชมชายหนุ่มหญิงสาวทั่วไปท่านใช้คำว่า สวยงาม  แต่ถ้าจะชมสมณะ ท่านใช้คำว่า สง่างาม เป็นความงามที่สง่า และยังความเลื่อมใสศรัทธาให้เกิดขึ้น เห็นแล้วมีความเชื่อมั่นในคุณธรรมที่มีอยู่ในตัว มีความอิ่มเอิบเบิกบานอยู่ในธรรม เป็นต้นบุญต้นแบบของชาวโลก ให้เห็นถึงอานิสงส์ของการประพฤติดีปฏิบัติชอบ สมณะจึงเป็นมาตรฐานทางความประพฤติของชาวโลกทั้งหลาย

     ครั้งนี้เราจะได้มาติดตามศึกษาชีวิตสมณะของสามเณรนิโครธ ผู้จุดให้พระเจ้าอโศกมหาราชหันกลับมานับถือพระพุทธศาสนากันต่อ  สืบเนื่องจากครั้งที่แล้ว ที่ได้เล่าถึงตอนที่พระเจ้าอโศกทอดพระเนตรเห็นสามเณรนิโครธเดินผ่านบริเวณพระราชนิเวศน์ เพียงได้เห็นก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสในกิริยาอาการอันสงบสำรวมของสามเณร จึงนิมนต์ให้เข้ามาในพระราชมณเฑียร

     * พระราชาอยากทราบว่า สามเณรจะเป็นผู้รู้จักที่ๆ ควรนั่งหรือเปล่า จึงตรัสเชื้อเชิญว่า “ท่านทราบอาสนะที่สมควรแล้ว ก็จงนั่งเถิด” สามเณรแลดูสถานที่อันเหมาะสม และคิดว่า ในที่นี้ไม่มีภิกษุรูปอื่น จึงเดินเข้าไปใกล้บัลลังก์ ซึ่งยกเศวตฉัตรกั้นไว้ พระราชาทรงเลื่อมใสในความองอาจของสามเณร จึงนิมนต์ให้นั่งบนบัลลังก์ ทรงน้อมถวายอาหารทุกชนิดที่เตรียมไว้เพื่อพระองค์แก่สามเณร

     สามเณรรับภัตตาหาร พอยังอัตภาพของตนให้เป็นไปเท่านั้น เมื่อฉันเสร็จ พระราชาก็ตรัสถามว่า “พ่อเณรรู้พระโอวาทที่พระศาสดาทรงประทานแก่พ่อเณรบ้างไหม” สามเณรถวายพระพรว่า “มหาบพิตร อาตมภาพรู้เพียงบางส่วนเท่านั้น ไม่รู้ละเอียดครอบคลุมทั้งหมด เพราะยังเป็นผู้ใหม่อยู่”  พระราชาทรงรับสั่งว่า “พ่อเณร ขอจงได้แสดงโอวาทที่พ่อเณรรู้แก่โยมบ้างเถอะ”

     สามเณรได้กล่าวหัวข้อธรรม เรื่องความไม่ประมาทให้พระราชาได้สดับว่า อปฺปมาโท อมตํ ปทํ  ความไม่ประมาท เป็นทางไม่ตาย ปมาโท มจฺจุโน ปทํ  ความประมาท เป็นทางแห่งความตาย จากนั้นก็เทศน์ด้วยสำเนียงที่ไพเราะเพราะพริ้ง นี่ขนาดถ่อมตนว่ารู้น้อยแล้ว แต่เทศน์ได้ยอดเยี่ยมมาก ไพเราะทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย  พระราชาพอได้สดับแล้ว ก็ปลื้มปีติในธรรมที่สามเณรน้อยได้แสดง ทรงรับสั่งว่า “พ่อเณร โยมจะขอบูชากัณฑ์เทศน์ด้วยการถวายภัตรประจำแก่พ่อเณรวันละ ๘ สำรับ”

     สามเณรถวายพระพรว่า “มหาบพิตร อาตมภาพจะถวายธุวภัตรเหล่านั้นแก่พระอุปัชฌาย์” พระราชาตรัสถามว่า “พ่อเณร ผู้ที่ชื่อว่าอุปัชฌาย์ของท่านคือใคร” สามเณรถวายพระพรว่า “มหาบพิตร ผู้ที่เห็นโทษน้อยใหญ่ แล้วคอยตักเตือน และให้ระลึกไม่ให้ทำบาปอกุศล ชื่อว่าพระอุปัชฌาย์”

     พระราชาทรงรับสั่งว่า “พ่อเณร งั้นโยมจะถวายภัตรเพิ่มอีก ๘ สำรับ แก่พ่อเณร”  สามเณรถวายพระพรว่า “มหาบพิตร อาตมภาพจะถวายภัตรเหล่านั้นแก่พระอาจารย์” พระราชาตรัสถามว่า “พ่อเณร ผู้ที่ชื่อว่าพระอาจารย์นี้คือใคร” สามเณรถวายพระพรว่า “มหาบพิตร ผู้ที่ให้อันเตวาสิก และสัทธิวิหาริก ตั้งอยู่ในธรรมที่ควรศึกษาในพระศาสนานี้ชื่อว่า พระอาจารย์”

     พระราชาทรงรับสั่งว่า “ดีละ พ่อเณร โยมมีจิตศรัทธาจะถวายภัตรเพิ่มอีก ๘ สำหรับเพื่อพระอาจารย์ของสามเณรด้วย” สามเณรเป็นคนรักในการให้ทานเป็นชีวิตจิตใจอยู่แล้ว ก็ถวายพระพรว่า “มหาบพิตร อาตมภาพจะถวายภัตรเหล่านั้นแก่พระภิกษุสงฆ์” พระราชาทรงสงสัยในคำที่สามเณรนำมากล่าว จึงตรัสถามว่า “พ่อเณร ผู้ที่ชื่อว่าภิกษุสงฆ์นี้ คือบุคคลเช่นไร” สามเณรถวายพระพรว่า "มหาบพิตร บรรพชา และอุปสมบทของอาจารย์ และอุปัชฌาย์ของอาตมภาพ และบรรพชาของอาตมภาพ อาศัยหมู่ภิกษุใด หมู่ภิกษุนั้น ชื่อว่าภิกษุสงฆ์”

     พระราชาทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงทรงรับสั่งว่า “พ่อเณร โยมจะถวายภัตรเพิ่มอีก ๘ สำรับสำหรับภิกษุสงฆ์” สามเณรจึงทูลรับว่า “ขออนุโมทนากับมหาบพิตรด้วย” ในวันรุ่งขึ้นสามเณรจึงได้ไปอาราธนาภิกษุ ๓๒ รูป เข้าไปภายในพระราชวัง เพื่อรับภัตตาหารจากพระราชา

     พระราชาเห็นหมู่ภิกษุสงฆ์แล้วเลื่อมใส จึงนิมนต์มาเพิ่มอีก ๓๒ รูป ให้มาฉันภัตตาหารในพระราชวัง จากนั้นทรงให้เพิ่มภิกษุมากขึ้นทุกวันๆ จาก ๓๒ รูป เป็น ๖๔ รูป จาก ๖๔ รูป เป็น ๑๒๘ รูป เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น ๒๕๖ รูป ยิ่งเห็นภิกษุสงฆ์มาเป็นเนื้อนาบุญมาก ก็ยิ่งปีติในมหาทานที่ได้ทำไป ได้ทรงตัดภัตรของพวกนักบวชนอกศาสนาออก แล้วได้ทรงตั้งนิตยภัตรไว้สำหรับภิกษุหกแสนรูปภายในพระราชนิเวศน์ เพราะความเลื่อมใสที่มีต่อสามเณรนิโครธนั่นเอง ฝ่ายสามเณรนิโครธได้แนะนำให้พระราชาพร้อมทั้งเหล่าอำมาตย์ข้าราชบริพารดำรงอยู่ในไตรสรณคมน์ และให้สมาทานศีล ๕ ท่านได้เข้าไปเทศน์สอนธรรมะ แนะนำการทำสมาธิภาวนาในพระราชวังเป็นประจำ ให้ทุกคนดำรงมั่นอยู่ในพระรัตนตรัย เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ สามเณรนิโครธก็ได้บวชเป็นพระภิกษุผู้เป็นสมณะแท้อย่างแท้จริง

     เราจะเห็นว่า อานุภาพของผู้ได้ชื่อว่าเป็นสมณะแท้นั้น สามารถเปลี่ยนแปลงจิตใจผู้ไม่ได้เลื่อมใสในพระศาสนาให้หันมาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก ผู้ที่ได้ชื่อว่าสมณะนั้น จึงไม่ใช่เป็นเพียงแค่เอาผ้าเหลืองมาห่มคลุมกายเพียงอย่างเดียว แต่ข้องเกี่ยวไปถึงจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์สงบนิ่งอยู่ภายในด้วย

     สมณะคือ บุคคลต้นแบบในอุดมคติของชาวโลก คนดีและความดีหากมีอยู่ในที่ใด ย่อมทำให้ที่แห่งนั้นมีความสุข ไม่เพียงแต่เท่านั้น เรื่องราวของความดี และวิถีชีวิตของคนดี ยังสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการทำความดีอย่างกว้างขวางต่อเนื่องไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนอย่างชีวิตของสามเณรนิโครธที่นึกถึงคราใดก็ปลื้มใจทุกครั้ง เพราะท่านเป็นต้นเหตุให้พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาถึงยุคของพวกเรา  ดังนั้น เราต้องรักษาพระพุทธศาสนาให้ยิ่งด้วยชีวิต และตั้งใจปฏิบัติให้เข้าถึงพระธรรมกายภายในให้ได้ จะได้เป็นอายุพระพุทธศาสนากันทุกคน


พระธรรมเทศนาโดย: หลวงพ่อธัมมชโย (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม ๑ หน้า ๘๔
 

รับชมคลิปวิดีโอสามเณรในตำนาน สามเณรนิโครธ ตอนที่ 2 : ธรรมะเพื่อประชาชน
ชมวิดีโอสามเณรในตำนาน สามเณรนิโครธ ตอนที่ 2 : ธรรมะเพื่อประชาชน   Download ธรรมะสามเณรในตำนาน สามเณรนิโครธ ตอนที่ 2 : ธรรมะเพื่อประชาชน
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
สามเณรนิโครธ (๓)สามเณรนิโครธ (๓)

ปชาบดีเถรี ผู้รัตตัญญู (๑)ปชาบดีเถรี ผู้รัตตัญญู (๑)

ปชาบดีเถรี ผู้รัตตัญญู (๒)ปชาบดีเถรี ผู้รัตตัญญู (๒)



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน