ปชาบดีเถรี ผู้รัตตัญญู (๒)


[ 19 ธ.ค. 2556 ] - [ 18290 ] LINE it!

ปชาบดีเถรี ผู้รัตตัญญู (๒)

     สรรพสัตว์ทั้งหลายต่างก็มีเวลาที่เสียไป ๒๔ ชั่วโมงเท่ากัน แต่สิ่งที่ได้กลับคืนมาไม่เท่ากัน บางคนได้บุญเพิ่ม บางคนได้บาปอกุศลเพิ่มขึ้นในแต่ละวัน  ฉะนั้น การที่เรามีความคิดว่า จะต้องมีชีวิตอยู่อีกยาวนานนั่นเป็นสิ่งที่เราคิดเอาเอง เพราะในความเป็นจริงแล้ว อนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน เราจะเดินทางออกจากร่างกายนี้เมื่อไรก็ไม่รู้

     ชีวิตในโลกนี้ไม่สั้นนิดเดียว แต่ชีวิตหลังความตายนั้นยาวนานนัก เราเหลือเวลาอยู่น้อยเต็มที ที่ว่าน้อยนั้นคือน้อยสำหรับการสร้างบุญบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป  เพราะฉะนั้น เราต้องใช้เวลาที่เหลืออยู่น้อยนี้  สั่งสมความดีความบริสุทธิ์ทั้งทางกาย วาจา และใจให้เต็มที่

มีวาระพระบาลีที่พระผู้พระภาคเจ้าตรัสไว้ใน พราหมณ์วรรค ว่า

“ยสฺส กาเยน วาจาย   มนสา นตฺถิ ทุกฺกตํ
   สํวุตํ ตีหิ ฐาเนหิ       ตมหํ พฺรูมิ พฺราหฺมณํ

     ความชั่วทางกาย วาจา และใจของบุคคลใดไม่มี เราเรียกบุคคลนั้น ผู้สำรวมแล้วโดยฐานะ ๓ ว่า เป็นพราหมณ์”

     การขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นจากใจเป็นเป้าหมายสูงสุดของการเกิดมาเป็นมนุษย์ เมื่อเราสามารถกำจัดกิเลส ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งความชั่วทั้งหลายให้หมดสิ้นไปได้ เราก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อย่างแท้จริง บริสุทธิ์ทั้งทางกาย วาจา และใจ เป็นบุคคลผู้ไม่มีทุกข์ ไม่มีโทษ ไม่มีภัย ทั้งกับตนเองและบุคคลอื่น เป็นยอดกัลยาณมิตรให้กับตนและชาวโลกได้ พระพุทธองค์ตรัสเรียกบุคคลเช่นนี้ว่าเป็นพราหมณ์ เพราะเป็นผู้ลอยบาปออกจากใจได้แล้ว ส่วนนอกจากนี้ พระพุทธองค์ท่านไม่เรียกว่าพราหมณ์ เพราะยังไม่สามารถละเว้นจากอกุศลธรรมทั้งหลายได้ ยังเป็นปุถุชนผู้มีกิเลสหนาอยู่  

     แต่ถ้าหากบุคคลใดมุ่งมั่นตั้งใจ และกำลังฝึกฝนอบรมตนเองเพื่อให้บริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา และใจ ก็พอจะมีเชื้อสายของบัณฑิตนักปราชญ์ เหมือนอย่างพระนางมหาปชาบดีโคตมีและสตรีอีก ๕๐๐ จากศากยะตระกูล ที่ตั้งใจจะเปลี่ยนวิถีชีวิตจากที่เคยอยู่อย่างสะดวกสบาย ประสงค์จะออกบวช เพื่อทำกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นจากใจ เรามาฟังข้อวัตรปฏิบัติของพระนางว่า การจะเป็นผู้ลอยบาปออกจากใจได้นั้นทำอย่างไรกันบ้าง

     ครั้งก่อนได้เล่าถึงบุพกรรมของพระนางมหาปชาบดีโคตมี ในครั้งนี้จะได้เล่าต่อถึงภพชาติปัจจุบัน ที่ท่านได้มาบังเกิดในเทวทหะนคร เป็นพระกนิษฐภคินีของพระนางสิริมหามายา ซึ่งเป็นพระพุทธมารดาของพระบรมศาสดา ซึ่งเมื่อครั้งที่พราหมณ์ผู้ชำนาญมนต์ได้ตรวจดูพระลักษณะของพระนางสิริมหามายาและทำนายว่า “ทารกที่อยู่ในพระครรภ์ของพระนางจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ” เมื่อทรงเติบโตเป็นเจ้าหญิงแล้ว ทรงมงคลอภิเษกกับพระเจ้าสุทโธทนะในกรุงกบิลพัสดุ์

    ต่อมา เมื่อพระนางสิริมหามายาทรงให้กำเนิดเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้เป็นบรมโพธิสัตว์ได้เพียง ๗ วันเท่านั้น พระนางก็ทิวงคต พระเจ้าสุทโธทนะจึงสถาปนาพระนางปชาบดีโคตมีไว้ในตำแหน่งพระอัครมเหสี  ครั้นเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช และได้บรรลุสัพพัญญุตญาณ ทรงโปรดสรรพสัตว์ไปทั่วชมพูทวีป และได้เสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์เพื่อโปรดพระประยูรญาติ พระบรมศาสดาได้แสดงธรรมให้พระบิดาฟัง พระเจ้าสุทโธทนะทรงสดับพระธรรมเทศนาแล้วได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ได้ปรินิพพานภายใต้มหาเศวตฉัตร

     * ฝ่ายพระนางมหาปชาบดีโคตมีเกิดศรัทธาอยากเสด็จออกผนวช จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งกำลังประทับอยู่ที่นิโครธาราม พระนางถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอให้มาตุคามพึงได้การออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้วเถิด” พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนพระนางโคตมี อย่าเลย พระนางอย่าชอบใจกับการออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วเลย” ถึงแม้พระนางจะทูลขอถึง ๓ ครั้งด้วยกัน แต่พระบรมศาสดาก็ไม่ทรงอนุญาตเหมือนเดิม

     ต่อมา เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปทางกรุงเวสาลี พระนางปชาบดีโคตมีทรงตัดสินพระทัยปลงพระเกศา ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์ พร้อมกับเจ้าหญิงสากิยะอีก ๕๐๐ นาง ได้ออกเดินทางไกลเพื่อขอบวชอีกครั้งหนึ่ง พระนางประทับอยู่ที่ซุ้มประตูด้านนอก ทรงมีพระบาทระบม มีพระกายเปื้อนด้วยฝุ่นละออง

     ท่านพระอานนท์เห็นความตั้งใจจริงของพระน้านางเช่นนั้น จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ขอให้มาตุคามพึงออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่พระองค์ทรงประกาศแล้วเถิด” พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนอานนท์ อย่าเลย เธออย่าชอบใจให้มาตุคามออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่เราประกาศแล้วเลย” แม้ท่านพระอานนท์จะทรงทูลขอถึงครั้ง ๓ ก็ไม่ทรงอนุญาตเหมือนเดิม

     แต่ท่านพระอานนท์เป็นคนมีไหวพริบ จึงหาหนทางที่จะให้พระน้านางออกบวชให้ได้ ท่านทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มาตุคามออกบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว สามารถจะทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตผลได้หรือไม่ พระเจ้าข้า”

     เมื่อได้รับการยืนยันว่า “ได้” พระเถระจึงทูลต่อไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้น พระนางปชาบดีโคตมีทรงมีอุปการะมาก เป็นพระมาตุจฉาของพระองค์ ทรงทะนุถนอมเลี้ยงดูให้พระองค์ทรงดื่มน้ำนม ในเมื่อพระชนนีทิวงคตแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ขอให้มาตุคามพึงได้ออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้วเถิด”

     ดูก่อนอานนท์ ถ้าพระนางมหาปชาบดีโคตมี ทรงรับครุธรรม ๘ ประการ คือ

๑.ภิกษุณีแม้อุปสมบทแล้ว ๑๐๐ ปี พึงกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรมแก่ภิกษุแม้อุปสมบทในวันนั้น

๒. ภิกษุณีไม่พึงเข้าจำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ

๓. ภิกษุณีต้องแสวงหาภิกษุผู้ถามถึงการทำอุโบสถ และการเข้าไปรับโอวาทจากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน

๔. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์ทั้งสองฝ่าย

๕. ภิกษุณีต้องครุธรรมแล้ว พึงประพฤติมานัตปักษ์หนึ่ง ในสงฆ์ทั้งสองฝ่าย

๖. ภิกษุณีต้องอุปสมบทในสงฆ์ทั้งสองฝ่าย

๗. ห้ามมิให้ภิกษุณีด่าว่ากล่าวแก่ภิกษุสงฆ์

๘. ห้ามไม่ให้ภิกษุณีสอนภิกษุ แต่ให้ภิกษุกล่าวสอนอย่างเดียว

     ครุธรรมเหล่านี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงก้าวล่วงเลยจนตลอดชีวิต"

     ท่านพระอานนท์รับครุธรรม ๘ ประการนี้แล้ว ก็เข้าไปหาพระนางมหาปชาบดีโคตมี สอบถามว่าพระนางจะยอมรับครุธรรม ๘ ประการนี้ได้ไหม  พระน้านางได้ฟังดังนั้น ก็เกิดปีติยิ่งนัก เหมือนว่ากำลังจะได้สมบัติจักรพรรดิ ได้น้อมรับครุธรรม ๘ ประการด้วยความยินดี จากนั้นก็เข้าไปถวายบังคมพระบรมศาสดา ตั้งใจนั่งฟังพระธรรมเทศนาด้วยจิตที่เบิกบานผ่องใส พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมโปรดพระน้านาง และภิกษุณีผู้บวชใหม่ทั้ง ๕๐๐ รูป พระน้านางก็น้อมใจไปตามเสียงแห่งพระธรรมเทศนา ในที่สุดก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันตเถรี ส่วนภิกษุณี ๕๐๐ รูป ก็บรรลุพระอรหันต์เช่นกัน ต่อมาภายหลังพระบรมศาสดาทรงสถาปนาพระมหาปชาบดีภิกษุณีไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นสาวิกาผู้เลิศกว่าภิกษุณีผู้เป็นรัตตัญญู รู้ราตรีนาน

     จะเห็นได้ว่า การที่กุลธิดาจะออกบวชเป็นภภิกษุณีได้ ต้องอาศัยพลังศรัทธา และพลังใจที่เต็มเปี่ยมล้นปรี่ ต้องปฏิบัติตามครุธรรม ๘ ประการที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ เนื่องจากทรงเป็นห่วงอนาคตของพระพุทธศาสนา และเห็นความไม่ปลอดภัยทางด้านร่างกายของภิกษุณี จึงทรงตั้งกฎกติกาไว้อย่างเคร่งครัด ทำให้ปัจจุบันภิกษุณีในพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทได้ขาดหายไป แม้ว่าปัจจุบันจะมีผู้ปรารถนาอยากจะบวชเป็นภิกษุณีเหมือนสมัยพุทธกาล ถ้าจะทำให้ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัยก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก 

     สำหรับกุลบุตรทั้งหลาย ผู้ได้โอกาสอันประเสริฐนี้ พึงใช้โอกาสนี้ให้เต็มที่ หลวงพ่อไม่อยากให้พลาดโอกาสในการบรรพชาอุปสมบท เพื่อมาฝึกฝนอบรมตนเองในช่วงเข้าพรรษา จะได้เพิ่มเติมเนกขัมมบารมีให้กับตนเอง จะบวชที่วัดไหนก็ตามสะดวก แต่ถ้าจะให้ดีก็ต้องหาวัดที่มีพระอาจารย์ คอยแนะนำพร่ำสอนให้ จะได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมวินัย และปฏิบัติธรรมได้อย่างมีความสุข ได้บรรลุวัตถุประสงค์ของชีวิตกัน

     โดยเฉพาะการจะไปถึงจุดหมายปลายทางของชีวิตในสังสารวัฏ คือได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย  ต้องอาศัยกำลังใจที่เข้มแข็งและเด็ดเดี่ยวในการประพฤติธรรม แม้ในระหว่างทาง เรายังไม่สมหวังดังใจก็ตาม เพราะมีอุปสรรคขวากหนามมาขวางกั้น เราต้องอดทนอย่าท้อถอย โดยเฉพาะเป้าหมายที่เราจะมุ่งไปสู่ที่สุดแห่งธรรมนั้น ยิ่งต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริง และมีความปรารถนาอย่างแรงกล้า ต้องสร้างบารมีชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพัน  ฉะนั้น ตราบใดที่เรายังไปไม่ถึงที่หมายอย่าได้คลายความเพียร ให้พวกเราทุกคนอย่าประมาท หมั่นปฏิบัติธรรมทำใจของเราให้ใสบริสุทธิ์หยุดนิ่ง ให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้กันทุกๆ คน



พระธรรมเทศนาโดย: หลวงพ่อธัมมชโย (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม ๙ หน้า ๔๔๑
 

 

 



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ปชาบดีเถรี ผู้รัตตัญญู (๓)ปชาบดีเถรี ผู้รัตตัญญู (๓)

เขมาเถรี อัครสาวิกาเบื้องขวาเขมาเถรี อัครสาวิกาเบื้องขวา

ปฏาจาราภิกษุณีเถรีปฏาจาราภิกษุณีเถรี



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน