ปฏาจาราภิกษุณีเถรี


[ 27 ธ.ค. 2556 ] - [ 18288 ] LINE it!

ปฏาจาราภิกษุณีเถรี

     เราเกิดมาเพื่อสร้างบารมี สร้างความดีไปจนกว่าบุญบารมีของเราจะมากพอ ที่จะเป็นเครื่องสนับสนุนให้เราได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เช่นเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในสมัยที่ยังเป็นพระบรมโพธิสัตว์อยู่ เมื่อเกิดมาในโลกมนุษย์ พระองค์ก็ทำแต่ความดี สร้างความดีอย่างไม่หยุดยั้ง ไปจนกระทั่งหมดอายุขัย และตลอดระยะเวลานั้น พระองค์ไม่เคยละเลยการฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง ด้วยการเจริญภาวนา ทรงทำอย่างนี้ทุกภพทุกชาติจนบารมีของพระองค์เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นบรมครูของโลก  

พระบรมศาสดาทรงเปรียบชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายว่า

     “หยาดน้ำค้างบนปลายยอดหญ้ายามต้องแสงอาทิตย์อุทัย ย่อมเหือดแห้งหายไป ตั้งอยู่ไม่นาน ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมถูกความแก่ ความเจ็บ และความตาย เผาผลาญไป ตั้งอยู่ไม่นาน ฉันนั้น”

     ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ล้วนมีความตายเป็นที่สุด ไม่มีใครเลยที่จะเอาชนะพญามัจจุราชได้ พอแรกลืมตาขึ้นดูโลก ชีวิตก็บ่ายหน้าไปหามฤตยู เหมือนพระอาทิตย์เมื่อโผล่พ้นขอบฟ้า และมุ่งหน้าสู่อัสดง แต่ความสั้นยาวของชีวิตแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน เพราะความตายไม่มีเครื่องหมาย  ไม่มีสัญญาณบ่งบอกหรือตักเตือนว่า ชีวิตเราจะดับลงในวันใด เหมือนดวงประทีปตั้งอยู่กลางสายลม  บางคนจบชีวิตลงในวัยเด็ก บางคนจบชีวิตลงในวัยหนุ่มสาว บางคนจบชีวิตในวัยชรา  

     เพราะฉะนั้น เราจึงต้องหมั่นเตือนสติตัวเราเองบ่อยๆ เพื่อความเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต จงมองสังขารร่างกาย เหมือนหยาดน้ำค้างบนปลายยอดหญ้าที่ตั้งอยู่ได้ไม่นาน ในไม่ช้าก็ต้องเหือดแห้งไป  ชีวิตเราต้องเสื่อมสลายไปในที่สุดเช่นนั้น เราเองก็ยังไม่รู้ว่าความตายจะมาถึงเราเมื่อไร เพราะชีวิตนี้เป็นของน้อยนิด ควรรีบเร่งทำความเพียรสร้างความดีสั่งสมบารมียิ่งๆ ขึ้นไป แล้วชีวิตของเราจะปลอดภัย  แม้ประสบทุกข์อันใหญ่หลวง จะผ่านพ้นไปได้ด้วยบารมีที่สั่งสมมาอย่างดีแล้ว

     * ในสมัยพุทธกาล มีลูกสาวเศรษฐีคนหนึ่งในเมืองสาวัตถี มีรูปร่างสวยงามมาก พ่อแม่เลี้ยงดูเป็นอย่างดี ให้อยู่บนปราสาทชั้นที่ ๗ มดไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม ต่อมานางไปชอบพอกับคนใช้ของตัวเอง  แล้วพากันหนีออกจากบ้านไปอยู่ในป่า ไม่นานก็ตั้งครรภ์ ในสมัยโบราณ ธรรมเนียมของผู้ที่จะคลอดบุตรต้องกลับมาคลอดที่บ้าน นางจึงบอกกับสามีว่าจะขอกลับไปคลอดที่บ้านของนาง แต่สามีไม่ยอมเพราะกลัวจะถูกพ่อของนางลงโทษ

     เช้าวันหนึ่ง นางจึงตัดสินใจหลบหนีสามี เดินทางกลับบ้านเกิดของตัวเอง และได้คลอดบุตรระหว่างทาง พอสามีทราบก็รีบตามไป พบว่านางคลอดบุตรแล้ว จึงพากันเดินทางกลับไปที่บ้านในป่าดังเดิม  อยู่มาไม่นานก็เกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันอีก แต่ทว่าเหตุการณ์ครั้งที่สองนี้ เป็นเหตุการณ์ที่พลิกชีวิตของลูกสาวเศรษฐี นางตั้งครรภ์อีกครั้งหนึ่ง เมื่อครรภ์แก่แล้วก็พาลูกชายหลบหนีสามีเพื่อจะกลับบ้านเกิดอีก ฝ่ายสามีเมื่อทราบว่าภรรยาหนีออกจากบ้าน ก็ได้ติดตามไปจนทัน

     คืนนั้นได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ฝนฟ้าได้ตกกระหนํ่า ประจวบเหมาะกับนางเจ็บท้องใกล้จะคลอด จึงให้สามีไปแสวงหากิ่งไม้ใบไม้มาทำที่กำบังฝน เมื่อสามีถือมีดเดินไปเพื่อตัดกิ่งไม้ ไปถึงจอมปลวกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่อยู่ของงูพิษ งูพิษจึงเลื้อยปราดออกมาฉกสามีของนาง ซึ่งมัวแต่สาละวนกับกิ่งไม้อยู่ ล้มลงตายในที่นั้นเอง  

     ธิดาเศรษฐีเจ็บครรภ์อย่างหนัก มองหาสามีก็ไม่เห็น ในที่สุดก็คลอดบุตรชายออกมาอีกคนหนึ่ง  ขณะเดียวกันฝนก็เทกระหนํ่า เด็กทั้ง ๒ คนก็ส่งเสียงร้องไห้กันจ้าละหวั่น ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายอยู่นั้น นางได้คุกเข่าแล้วค้ำมือทั้ง ๒ ข้างกับพื้นดิน กำบังฝนให้ลูกทั้งสองคนพ้นจากสายฝนไปได้บ้าง  จนถึงรุ่งเช้า จึงได้พาลูกทั้งสองระหกระเหินไปตามหาสามี ได้พบศพสามีนอนคว่ำหน้าอยู่ที่จอมปลวก ก็ได้แต่เสียใจร้องห่มร้องไห้คิดถึงสามี

     ขณะที่ใจยังไม่คลายโศก นางได้ออกเดินทางเพื่อจะกลับไปบ้านเกิด จึงจูงลูกชายคนโต และอุ้มลูกชายคนเล็กที่ยังเป็นทารกอยู่ไปจนถึงฝั่งแม่น้ำ พาลูกข้ามไปทีละคน อุ้มลูกคนเล็กเดินฝ่ากระแสน้ำไปวางบนใบไม้ที่ริมฝั่งตรงกันข้าม แล้วเดินกลับมาเพื่อจะรับลูกอีกคนหนึ่ง เมื่อเดินฝ่ากระแสน้ำไปได้ครึ่งทาง  มีเหยี่ยวตัวหนึ่งเห็นทารกตัวแดงๆ คิดว่าเป็นชิ้นเนื้อ เลยโผลงมาโฉบเอาทารก นางตกใจเป็นอย่างยิ่ง  จึงร้องตะโกน และปรบมือขับไล่ด้วยเสียงอันดัง ลูกชายคนโตเห็นอาการของนาง นึกว่าแม่กวักมือเรียกเลยเดินลงมาในแม่น้ำ ถูกกระแสน้ำพัดหายวับไปในทันที

     นางเห็นลูกน้อยทั้งสองหายไปต่อหน้าต่อตา จึงร้องไห้คร่ำครวญอย่างสุดแสนทรมาน ในที่สุดนางได้รวบรวมเรี่ยวแรงที่มีอยู่ ตะเกียกตะกายไปหาพ่อแม่ เมื่อเดินไปถึงบ้านจึงทราบข่าวว่า บ้านตัวเองถูกไฟไหม้เพราะฟ้าผ่าเมื่อคืนนี้ พ่อแม่และพี่ชายเสียชีวิตทั้งหมด ๓ คน นางสูญเสียบุคคลผู้เป็นที่รักพร้อมๆ กันถึง ๖ คนในเวลาคืนเดียว จึงเสียใจจนไม่สามารถจะตั้งสติอยู่ได้ กลายเป็นหญิงเสียสติในตอนนั้น จากนั้นนางเที่ยวเดินคร่ำครวญหาผู้ที่ตายไปแล้วเหล่านั้น ด้วยอาการกระเซอะกระเซิงจนผ้าผ่อนหลุดจากร่างกาย

     แต่ธิดาเศรษฐีผู้นี้ จะไม่พบกับทุกข์โศกที่สาหัสไปกว่านี้อีกแล้ว เพราะบุญในอดีตที่เคยสั่งสมไว้ พร้อมกับความตั้งใจปรารถนาเป็นพระอรหันตสาวิกาผู้เลิศรูปหนึ่ง นำพาให้นางได้ไปพบพระบรมศาสดา ในขณะที่ทรงแสดงธรรมอยู่ได้ทอดพระเนตรเห็นนางเข้ามาในข่ายพระญาณ ขณะนั้นเองนางได้เดินตรงมายังเชตวันมหาวิหาร แหวกฝูงชนเข้ามายังที่แสดงธรรม มหาชนเห็นนางผู้เสียสติเดินเข้ามาใกล้ก็พากันขับไล่ แต่พระบรมศาสดาตรัสห้าม แล้วบอกให้นางเข้ามาใกล้ๆ

     นางตรงเข้ามาหาพระบรมศาสดา ซึ่งกำลังแสดงธรรมให้มหาชนรับฟังกันอยู่ เข้าไปนั่งคุกเข่าร่ำไห้ ณ ที่นั้น พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ดูก่อนน้องหญิง เธอจงกลับได้สติเถิด” ด้วยพุทธานุภาพ นางจึงกลับได้สติขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง จึงเกิดความละอายที่ตัวเองไม่มีเสื้อผ้าอาภรณ์สวมใส่ สาธุชนผู้ใจบุญท่านหนึ่ง ได้โยนผ้าขาวให้นางห่มเพื่อป้องกันความละอาย ความโศกค่อยๆ มลายหายไปจากใจของนาง พระบรมศาสดาตรัสเทศนาสั่งสอนให้นางพิจารณาเห็นความเป็นจริงของชีวิต นางค่อยๆ ไตร่ตรองตามกระแสพระธรรมเทศนา เนื่องจากนางเป็นผู้มีบุญเก่าที่สั่งสมมาดีแล้ว พอจบพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน และได้ขอบวชเป็นภิกษุณี ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา นางจึงได้ชื่อว่า “ปฏาจารา” ซึ่งหมายถึง ผู้มีความประพฤติกลับคืนมาดังเดิม

     วันหนึ่งนางปฏาจาราภิกษุณี ถือเอาน้ำล้างเท้าราดลงบนพื้นดิน พอราดครั้งแรกน้ำไหลไปได้นิดหน่อย และซึมหายไป ราดครั้งที่สองน้ำไหลไปไกลกว่าครั้งแรก ราดครั้งที่ ๓ น้ำไหลไปไกลกว่าทั้ง ๒ ครั้ง ปฏาจาราภิกษุณีถือเอาน้ำนั้นเป็นอารมณ์ พิจารณาว่า “เหล่าสัตว์นี้ย่อมตายในปฐมวัย เหมือนน้ำที่เราราดไปครั้งแรก ตายในมัชฌิมวัย เหมือนน้ำที่เราราดครั้งที่สอง ตายในปัจฉิมวัย เหมือนน้ำที่เราราดไปครั้งที่สาม”  

     พระบรมศาสดาประทับนั่งที่พระคันธกุฏี แผ่รัศมีไปเหมือนกับปรากฏอยู่เบื้องหน้า ตรัสว่า “เป็นอย่างนั้นแล ปฏาจารา การมีชีวิตอยู่เพียงวันเดียวหรือขณะเดียวของผู้เห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปของขันธ์ ๕ ประเสริฐกว่าการมีชีวิตอยู่ถึง ๑๐๐ ปี ของผู้ไม่เห็นความเกิด และความเสื่อมของขันธ์ ๕” นางปฏาจาราภิกษุณีได้พิจารณาธรรมตามคำสอนของพระพุทธองค์ไปตามลำดับ ใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายได้ถูกส่วน จึงดำเนินจิตเข้าไปสู่ภายใน สุดท้ายก็ได้บรรลุกายธรรมอรหัต เป็นพระอรหันต์เถรีในขณะนั้นเอง ต่อมาภายหลังพระพุทธองค์ทรงแต่งตั้งให้นางเป็นภิกษุณี ผู้เลิศในด้านทรงจำพระวินัย

     จะเห็นว่า จุดหักเหของชีวิตนั้น หากเราได้ใช้ปัญญาพิจารณา แล้วตัดสินใจให้ถูกต้อง ชีวิตนั้นจะผ่านพ้นห้วงทุกข์ไปได้ ชีวิตของเรานั้นเปราะบางยิ่งนัก หายใจออกไม่หายใจเข้าก็ตาย หายใจเข้าไม่หายใจออกก็ตาย แม้จะพยายามประคับประคองอย่างดีเพียงใด ก็อยู่ได้ไม่นานก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ และต้องตายในที่สุด ชีวิตเราจึงตั้งอยู่ได้ไม่นาน เหมือนหยาดน้ำค้างบนปลายยอดหญ้า เมื่อต้องแสงพระอาทิตย์ยามเช้า ก็ต้องเหือดแห้งหายไปอย่างรวดเร็ว

     ตามธรรมดาสังขารร่างกายของคนเรา เกิดดับอยู่ตลอดเวลา แต่เนื่องจากสืบต่อกันรวดเร็วมาก เราจึงไม่ค่อยรู้ถึงการเกิดดับ และมองเห็นว่าเป็นของเที่ยงจีรังยั่งยืน เพราะสันตติคือ ความสืบต่อไม่ขาดสายมาบดบัง รักษารูปลักษณ์ไว้ ทำให้เกิดความประมาทลุ่มหลงในวัยและชีวิต กว่าจะรู้ว่าสังขารเสื่อมถอยลงไปแล้ว ชีวิตก็ย่างเข้าสู่วัยชรา ไร้เรี่ยวแรงแล้ว ครั้นพอจะหันกลับมาทำความดี มาสร้างบุญบารมีให้เต็มที่เหมือนเมื่อยังเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่ก็ไม่ได้เสียแล้ว

     การจะเห็นสังขารได้ตามความเป็นจริง ต้องทำใจให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นี่แหละ หยุดให้สนิทจนเห็นกายในกายเข้าไปเรื่อยๆ ตั้งแต่กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหม จนถึงกายธรรม เข้าถึงพระธรรมกายได้เมื่อไร อาศัยธรรมจักษุคือตาธรรมกายนั้น มองเห็นสังขารทั้งปวงว่า เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ยังตกอยู่ในกฎของไตรลักษณ์  

     การเห็นความไม่เที่ยง ความเกิดดับของสังขาร และสิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริงนี้ ทำให้เกิดนิพพิทาคือ ความเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด คลายความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนภายนอก แล้วมุ่งเข้าสู่ความสงบคือ ใจหยุดใจนิ่ง เข้าถึงตัวตนภายในคือ กายธรรม ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันแท้จริง ที่เราควรเอาใจใส่ เพราะจะเป็นทางไปสู่ความดับทุกข์ได้ในที่สุด

     เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เราจึงไม่ควรประมาท ให้หมั่นปฏิบัติธรรมกันอย่างสมํ่าเสมอทุกๆ วัน อย่าได้ขาด ฝึกใจให้หยุดนิ่ง ให้ติดเป็นนิสัย ไม่ว่าจะมีภารกิจมากน้อยเพียงใดก็ตาม เราจะไม่เอาภารกิจเหล่านั้นมาเป็นข้ออ้าง ทำให้เราเสียโอกาสในการเข้าถึงธรรม เพราะฉะนั้น หมั่นฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งตลอดเวลา

 

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม ๓๓ หน้า ๒๔
 

 



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
พระภัททกาปิลานีเถรีพระภัททกาปิลานีเถรี

รูปนันทาเถรีรูปนันทาเถรี

กิสาโคตมีเถรีกิสาโคตมีเถรี



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน