รับมือกับตัวป่วนที่ทำงาน


[ 17 ก.พ. 2557 ] - [ 18280 ] LINE it!

ทันโลก ทันธรรม
รับมือกับตัวป่วนที่ทำงาน
จากรายการทันโลก ทันธรรม ออกอากาศทางช่อง DMC
 
 


      คนในที่ทำงานถือว่าเป็นแหล่งรวมคนร้อยพ่อพันแม่นิสัยใจคอความชอบความคิดเห็นก็แตกต่างกัน ทำให้เราต้องปรับตัวกันมากและในที่ทำงานบางที่ ยังมีตัวป่วนประจำออฟฟิสให้เราอึดอัดปวดหัวอีก วันนี้รายการของเราก็มาพูดคุยกันในเรื่องของการรับมือกับตัวป่วน

       เชื่อว่าทุกคนก็คงจะเคย อยู่ออฟฟิสมาก่อน แล้วก็คงจะเคยเห็นตัวป่วนในออฟฟิส ฝรั่งเขาเรียกว่าเจิร์ค คือว่าในคนบางคนก็คือทำงานเก่งก็มีนะ บางคนทำงานเก่งมากเลยแต่ว่าชอบกวนชาวบ้านเขา

      เพราะฉะนั้นตัวป่วนในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเขามาทำให้ออฟฟิสเดือดร้อนแบบขาดผลงาน บางคนก็เป็นคนเก่งด้วย แต่บางครั้งความเก่งในที่ทำงานกับการที่สัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานมันคนละอันกัน คำว่าตัวป่วนในที่ทำงานในที่นี้คงจะหมายถึง บุคคลที่อาจจะทำงานดี แต่ชอบไปทำให้คนอื่นลำบากใจ ทำให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกว่ารบกวนเขา นี่ล่ะครับที่เรียกว่าตัวป่วนซึ่งก็คงจะมีหลาย ๆ แบบด้วยกัน ตัวอย่างเช่น ในที่ทำงาน ทำงานไปบางที คนทำงานก็ทำไปนะ แต่บางคนเอาแล้ว พอเจ้านายแว่บไปหน่อย ลุกขึ้นมาจับกลุ่มกันพูดคุยเมาส์กันเรื่องนู้นนี้ไม่เกี่ยวกับที่ทำงานเราแล้ว แล้วเสียงก็ดังขึ้นเรื่อย ๆ  เดี๋ยวก็มีคนขาเมาส์มาแล้ว แจมกันใหญ่เลย อย่างนี้ใครทำงานอยู่ก็เสียสมาธิ

      หรืออีกประเภทหนึ่ง คือ เป็นคนที่ชอบปล่อยข่าวลือ บางครั้งก็ไม่เป็นผลดีต่อองค์กรไม่เป็นผลดีต่อบุคคล บางทีก็จิกกัดชาวบ้านเขา หรือบางทีก็ปล่อยข่าว ลือป่วนองค์กรเลย บอกว่าตรงโน้นตรงนี้ความไม่ยุติธรรมอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ก็ส่งผลให้บรรยากาศในที่ทำงานเสียไปได้เหมือนกัน

      บางคนที่เขาเป็นคนชอบคุยเสียงดัง โดยนิสัยเขาเป็นคนชอบคุยเสียงดัง เจ้าตัวก็ไม่รู้ แล้วเผอิญบางครั้งการคุยเสียงดังโดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุยโทรศัพท์ตัวเองก็จะไปรบกวนผู้อื่นในที่ทำงานได้ คือต้องแชร์ใช้พื้นที่ร่วมกัน หรือว่าบางคนชอบใช้น้ำหอมที่มีกลิ่นรุนแรง กลิ่นฉุนจัดอย่างนี้ เข้ามาที เรียกว่าฟุ้งไปทั่ว ทั้งออฟฟิสเลยก็มี ถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้มันไปดึงดูดความสนใจของงานที่อยู่ตรงหน้าออกไป ทำให้เสียสมาธิไปเลย

      โดยภาพรวมแล้ว เราก็คงจะต้องมีวิธีที่ฉลาดในการทำงานในออฟฟิส คือตัวเราจะต้องมีไหวพริบปฏิภาณที่ดี แล้วก็อยู่ร่วมกับคนอื่นซึ่งเป็นตัวป่วนได้อย่างไร วันนี้ยกมาให้สัก 20 ข้อ

    อันแรกคือเราจะต้องรู้วิธีเปลี่ยนสถานการณ์จากการวิพากษ์วิจารณ์ เป็นความต้องการที่แท้จริง ยกตัวอย่างเช่น แทนที่จะบอกว่างานชิ้นนี้เมื่อไรจะเสร็จ ต้องบอกว่า วันจันทร์หน้าจะเอาไปพรีเซนท์ให้ลูกค้านะ ถ้าเกิดเสร็จไม่ทันก็คือไม่ได้ใช้ อย่างนี้เป็นต้น เป็นการหักมุมไปนิดหนึ่ง

      ข้อที่สอง เราต้องไปโฟกัสที่ตัวผลลัพท์ บางครั้งรายละเอียดความคิดเห็นมันไม่เหมือนกันนะครับ เวลาคนมองก็คือมองคนละแบบ ถ้าเรามัวแต่ไปทะเลาะกันหรือว่าไปถกเถียงกันในประเด็นที่เป็นรายละเอียด บางครั้งก็จะลืมไปว่าเราอยากได้อะไร องค์กรต้องการอะไร เพราะฉะนั้นให้เราโฟกัสไปที่ผลลัพท์ แล้วก็ทุกอย่างทำไปเพื่อให้ได้ผลลัพท์ ตรงนั้นแล้วก็ให้โฟกัสตรงนั้นเป็นหลัก แต่ไม่ใช่เพื่อเถียงกัน เจาะประเด็นเข้าไปแล้วมันก็แตกประเด็นไปอย่างอื่น สุดท้ายก็ลืมไปเลย จริง ๆ แล้วเราต้องการอะไรกันแน่ องค์กรต้องการอะไร
 


      ข้อที่สามถ้ามีเรื่องอะไรเกิดขึ้นให้คุยตรงเลย คุยตรงหมายความว่าเราเดินไปหาคนนั้นแล้วนั่งคุยกันต่อหน้าเลย หรือยกโทรศัพท์คุยกันตอนนั้นเลยอย่าไปผ่านคนอื่น อย่าไปส่งอีเมล์ เรื่องสำคัญ ๆ เรื่องที่อาจจะเกิดความเข้าใจผิดกันได้ ส่งอีเมล์ไปบางคนนะครับ ส่งอีเมล์ไปเสร็จ ก๊อปปี้ให้คนโน้นคนนี้เกิดความเข้าใจผิดกันแท้ ๆ เรื่องเล็ก ๆ ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ทันที เพราะฉะนั้นมีอะไรโทรหากันดีกว่าเคลียร์กัน อ๋อ เรื่องนี้ โอเค จบเรียบร้อย ทุกอย่าง  ทุกคนอยู่บนหน้าจอกันหมดลืมไปว่าจริง ๆแล้วเรายังคุยกันได้อยู่นะ แค่เดินไปคุย

      ข้อที่สี่ทุกอย่างที่เราจะไปนำเสนอหรือว่าเราจะไปคุยกับใครก็ตาม จะทั้งตัวป่วนตัวดีหรืออะไรแล้วแต่นะครับเราต้องมีบทสรุปในใจเพราะเวลาคุยกันไปคุยกันมา ประเด็นมันแตกนะครับ พอประเด็นมันแตกแล้วลืมไปว่าจริง ๆ แล้วบทสรุปของเรื่องนั้นคืออะไร เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดอะไรเราพูดบทสรุปไปเลย เช่นบอกว่าอ๋อประเด็นนี้มันคืออย่างนี้ ต้องทำตรงนี้ เพราะว่ามันคืออย่างนี้ ๆ พูดง่าย ๆ คือประเด็นเราต้องเขียนไว้ชัดเจนอยู่ในใจ

       ข้อที่ห้า ก็คือว่า ในการคุยโดยเฉพาะคุยกับตัวป่วนนะครับสำคัญสุดเลยคือไหวพริบ เราต้องมีไหวพริบแสดงออกให้เขาเห็นก็ได้นะครับว่าเรายุ่งมากไม่มีเวลามานั่งต่อล้อต่อเถียง มีงานเข้ามาเยอะแยะ ต้องคุยต้องทำเรื่องนี้ต้องอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ แล้วเวลาพูดคุยทักทายอาจจะใช้คำพูดว่าสวัสดี คือจบ เราต้องพยายามจำกัด เรียกว่าไม่ให้มีประเด็นออกไปต่อนะครับ ไม่หยอดประเด็น

      ข้อที่หก เราต้องจับประเด็นให้ดีนะครับประเด็นต้องให้ชัดเจน จดให้ชัดเลยว่าวันนี้เราจะคุยอะไรจดใส่กระดาษไปเลย เวลาคุย มันแตกออกไปหลายทางก็ตบกลับ อันที่สองคืออย่าตื่นเต้น พยายามทำใจให้นิ่งแล้วสุดท้าย สาม พรีเซนท์งานนำ เสนองานแล้วพูดคุยแบบมืออาชีพนะครับ คือไม่ตื่นเต้นตกใจเวลาพูดอะไรออกมามีข้อมูลรองรับชัดเจน เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่จะไปพูดคุยเตรียมทำการบ้านให้ดีอย่าไปโดยที่เราไม่พร้อม ถ้าวันนั้นเรายังไม่พร้อมขอเลื่อนไปก่อน บอกว่ามีข้อมูลที่ต้องรอการวิเคราะห์ หรือว่ามีข้อมูลที่เราจะต้องหาเพิ่ม ถ้าพร้อมถึงจะคุยไม่พร้อมไม่คุยไม่งั้นคือเสียเปล่าเสียเวลาด้วย

      ข้อที่เจ็ดเราต้องเลิกบ่น ต่อไปนี้อะไรเกิดขึ้นคือเราหยุดบ่น พร่ำบ่นนะครับ มองปัญหาว่าเกิดจากอะไร วิเคราะห์ให้ชัดเจนแล้วแก้ให้ตรงจุด มุ่งไปที่เหตุที่เกิดของปัญหานั้น มันเริ่มต้นมาจากอะไรมันมีเหตุอะไรแล้วก็แก้ไขที่เหตุนะครับอย่าไปพร่ำบ่นว่าทำไมอย่างนั้นทำไมอย่างนี้

     ข้อที่แปด ก็คือต้องระงับความโกรธเอาไว้ เพราะฉะนั้นการใช้เสียงอะไรต่าง ๆ เหล่านี้นะครับ เรียกว่าจะต้องข่มอารมณ์โกรธคืออย่าไปแสดงออกด้วยกิริยาท่าทางวาจาตลอดจนน้ำเสียง คือเราต้องรักษาใจให้นิ่งนั่นเองครับ

      ข้อที่เก้าแม้ว่ามีเรื่องอะไรฟีดแบ๊คมา อย่าคิดว่าโดนจับผิด  เพราะพอจับผิดปุ๊บใจเราจะสั่นครับ พอใจสั่นเสียงมันก็จะสั่น สั่น แสดงออกไปด้วยพารานอยด์ วิตกกังวลนู่นนี่นั่น ถ้ามีอะไรฟีดแบ๊คกลับมาถือว่าเป็นการแก้ไขในจุดที่เราอาจจะมองไม่ครบรอบด้านนะครับ แล้ววิเคราะห์ตรงนั้นแล้วยอมรับว่าโอเคตรงนี้ เราจะเอากลับไปปรับปรุงแก้ไขอย่างไร อย่าคิดว่ากำลังถูกจับผิดอยู่

      ข้อที่สิบก็คือประเด็นจะต้องชัดเจนเวลา เจอแย้งมา เจอตู้มา เราดึงกลับเลยครับ ถ้ามันอยู่นอกประเด็นเราดึงกลับเลย ประเด็นที่แท้จริงในวันนี้ เรามีข้อสรุปเรื่องนี้ ชัดเจนอย่างนี้นะครับ ไม่อย่างนั้นจะถูกลากไปนะครับ เหมือนน้ำที่อยู่บนโต๊ะครับจะลากไปลงตรงไหนก็ได้ เพราะฉะนั้นเราจะต้องชัดเจนว่าเราจะมาทางนี้ ถ้าใครแย้งไปทางอื่นไม่ได้ เราดูประเด็นเสร็จ อ๊ะไม่ใช่เรา ต้องให้ประเด็นชัดเจน

      ข้อที่สิบเอ็ด งานต่าง ๆ ที่ทำอยู่ให้แจกแจงให้มันเป็นระบบนะครับ แจกแจงเนื้องานให้เป็นระบบไม่ให้เกิดการโอเวอร์แล๊บหรือข้ามเส้นกันหรือทับกันหรือว่าเกิดการซ้ำซ้อน พอเราแจกแจงเป็นระบบแล้วมันจะชัดเจนตรงนั้น และมีคู่มือในการทำงานเหมือนจะเดินทางนะครับ มันต้องจากกรุงเทพฯ ไป เชียงใหม่ มันต้องผ่านใครบ้าง ผ่านพิจิตรไหม ผ่านพิษณุโลกไหม ผ่านเชียงรายไหมอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ก็วางไว้ให้เป็นระบบชัดเจนนะครับ มีทางเลือกคือถ้าไปทางนี้ไม่ได้ ไปทางอื่นได้ไหม พอมีระบบตรงนี้ชัดเจน มันเหมือนเป็นโรดแม๊บเป็นคู่มือที่เราจะไปให้ถึงง่าย ๆ นะครับ

      ข้อที่สิบสอง ถ้ามีขาวีนอยู่ในที่ทำงานก็มีวิธีที่ดีในการจัดการกับขาวีน ต้องตอบเขาไปอย่างชัด ๆ ว่า เราต้องการมืออาชีพ
    
      ข้อที่สิบสาม เลือกคำพูดแล้วก็เลือกน้ำเสียง อย่างเช่นพอมี คนมาป่วนให้เรามาหงุดหงิดใจนะครับ ถามเขาไปตรง ๆ เลยนะครับว่ามีเรื่องอะไรไหม หรือมีเหตุผลอะไรไหม

      ข้อที่สิบสี่ เวลาที่เราต้องการจะบอกใครในเรื่องของบุคลิกภาพของเขาหรืองานของเขาเราอย่าคลุมเคลือครับ บอกไปตรง ๆ เลยว่าอันนี้เป็นอย่างนี้นะ

      ข้อที่สิบห้า คือเลิกซุบซิบนินทากัน  

        ข้อที่สิบหก  คือเราต้องรักษาระยะห่างนะครับ จริง ๆ อยู่นะครับในที่ทำงานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่ทุกคนจะต้องมีชีวิตส่วนตัว เพราะฉะนั้นที่บ้านก็คือชีวิตส่วนตัวของเราสิ่งไหนที่เราไม่ควรจะเอาไปทับซ้อนกัน ชีวิตที่บ้านกับชีวิตที่ทำงานเราต้องรักษาระยะห่างให้ดีคือหมายถึงว่า เราไม่ควรที่จะเอาการทำงานเป็นทั้งหมดของชีวิต Keep distance life กับทุกคนที่เราติดต่อสื่อสารด้วยให้มีระยะห่างกันอย่างเหมาะสมไม่ใช่ว่าคลุกคลีตีโมงกันมากเกินไป

      ข้อที่สิบเจ็ด ก็คือว่า ใช้เรื่องเบา ๆ ในการผูกมิตรกัน เช่น วันนี้เสื้อผ้าสีสวยดี ลูกเป็นอย่างไรบ้าง คือ เรื่องราวอะไรที่เป็นเรื่องเบา ๆ เพื่อผูกมิตรกับคนใหม่ หรือคนที่เรา อยู่กันมาแต่ไม่เคยทักกันเลย

      ข้อที่สิบแปด ควบคุมอารมณ์นะครับ ก็คือพยายามอย่าส่งเสียงแหลมหรือว่าเวลามีเรื่องอะไรพยายามใช้โทนเสียงที่เป็นปกติ คือควบคุมตรงนั้นให้ได้ก่อน  ให้ใจมันนิ่งก่อน เวลาได้รับอะไรมา  กระทบจิตใจเรา  อย่าเพิ่งตุ้มออกไปนะครับให้จิตนิ่งสบายใจก่อนนึกถึงอะไรก็ได้ให้สบายใจแล้วค่อยพูด พูดด้วยความสบายใจนั่นเอง

     ข้อที่สิบเก้า ถ้าจะวิจารณ์นะครับ  ให้วิจารณ์เฉพาะในด้านดี ลองบ้าง ลองวิจารณ์ในด้านดีบ้าง คือคนเรามันรู้แล้วล่ะ ว่าเรื่องนี้จะต้องวิพากษ์วิจารณ์เสียหน่อย แต่เราลองยกประเด็นดี ๆ มาหน่อย จริง ๆ แล้วการทำงานชิ้นนี้มันมีจุดดี ตรงนี้ถือเป็นจุดแข็งเลย วิจารณ์ด้านดีดูบ้างนะครับ

     ข้อยี่สิบ ก็คือตัวเราเองต้องเปิดใจกว้างนะครับไม่ว่าจะได้รับเสียงชมเสียงบ่น ได้รับการที่ใครมาป่วนเรา หรืออะไรต่าง ๆ เหล่านี้ สุดท้ายแล้วก็คือว่าเราต้องลองเปิดใจให้กว้างดูแล้วดูสิว่าเนื้อหาสาระเป็นอย่างไร
 

ส่วนของทันธรรมพระอาจารย์พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ  ท่านจะมีข้อแนะนำไว้ว่า....

      เจริญพร วันนี้เรามาคุยกันเรื่องการรับมือกับตัวป่วนในที่ทำงานคิดว่าทุกคนก็คงมีประสบการณ์เจอทั้งนั้น  ว่าในสังคมชุมชนที่เราเองอยู่  บางทีก็มีตัวป่วนเกิดขึ้นไม่ว่าสมัยเรียนหนังสือแต่ละห้องก็มีคนเฮี้ยว ๆ อยู่นะ เพื่อน เฮี้ยว ๆ พอจบไปทำงานก็มักจะเจอเพื่อนร่วมงานประเภทที่ว่าแต่ละคนก็มีสไตล์หลากหลายกันไป  บางทีเราเองก็ขัดอกขัดใจบ้างก็มีเหมือนกัน ถามว่าเราจะรับมือกับกรณีเหล่านั้นได้อย่างไรเอ่ย ก่อนอื่นนะให้เราต้องยอมรับธรรมชาติความจริงอย่างหนึ่งว่าคนเราไม่มีใครสมบูรณ์แบบแต่ละคนก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวเอง เราลองเช็คดูดี ๆ เถิดที่ว่าเราดี ๆ นี่นะ ในสายตาของบางคนเราเป็นตัวป่วนบ้างหรือเปล่า  คำว่ารับมือกับตัวป่วนไม่ใช่รับมือกับคนอื่นเขาอย่างเดียวนะ  จะต้องเช็คตัวเองดี ๆ ว่าแล้วเราล่ะทำความหงุดหงิด รำคาญใจให้กับเขาหรือเปล่า  เพราะคำว่าป่วนไม่ใช่หมายถึงไปเอะอะอาละวาดเป็นอันธพาลอย่างเดียวแต่บางทีแค่ว่าทำงานไปแล้วเราตามเพื่อนเขาไม่ทันบ้างหรือว่ามีสไตล์เฉพาะตัวเองบ้าง  ชอบปลีกวิเวกคนเดียวไม่ค่อยเข้าหมู่เข้าพวกอะไรแบบนี้เป็นต้น มันก็ทำให้เกิดการอึดอัดคับข้องในความรู้สึกของคนอื่นได้ทั้งนั้นแหละ พอมองเข้าใจอย่างนี้แล้ว  ใจเราจะเปิดกว้างขึ้น 
 
     มีเรื่องหนึ่งที่เราสามารถมาเทียบเคียงกันได้ พวกเราคงเคยได้ยินชื่อหมอชีวกโกมารภัฎ  ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นหมอที่เก่งที่สุด แพทย์แผนไทยจะต้องมีรูปปั้นหมอชีวกโกมารภัฎไว้เคารพบูชาแล้วเป็นแพทย์ประจำพระองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียกว่าเก่งที่สุดในยุคพุทธกาล โดยแต่เดิมเมื่อท่านไปฝึกวิชาแพทย์ที่ตักศิลากับอาจารย์  เรียนอยู่ 7 ปี วิธีการพิสูจน์ว่าจบหลักสูตรหรือยัง คืออาจารย์ก็เอาเสียมไปให้เล่มหนึ่ง บอกว่าให้ไปเดินในรัศมีหนึ่งโยชน์ 16 กิโลเมตร รอบเมืองตักศิลาเจอต้นหมากรากไม้ต้นหญ้าต้นไม้ใหญ่ไม้เล็กไม้ใหญ่สารพัดอย่างอะไรที่ไม่ใช่ยาก็ช่วยขุดมาด้วยมาให้อาจารย์ดู หมอชีวกไปเดินจนรอบหนึ่งโยชน์เลยนะปรากฏว่าไปหาอาจารย์มือเปล่า บอกอาจารย์ครับไม่เจอเลยครับคือต้นหมากรากไม้ต้นเล็กต้นใหญ่ทุกต้น ก็เห็นว่าต้นนั้นทำยานี้ได้ต้นนี้ทำยานั้นได้สรุปคือไม้ทุกชนิดที่หมอชีวกโกมารภัฎเห็นเขามองเห็นว่าเป็นยาได้หมดเลยในหลากหลายรูปแบบ
 
     อาจารย์ก็บอก ชีวกเธอจบหลักสูตรแล้วแสดงว่าเรียนจบแล้ว  อันนี้น่าคิดไม้บางอย่างเราเห็นต้นหญ้ามันก็เป็นวัชพืชใช่ไหม  วัชพืชในสายตาของคนอื่น  แต่ในสายตาของหมอชีวกปรากฎว่าวัชพืชชนิดนี้เอาไปรักษาโรคนั้นได้ชนิดนี้ไปรักษาโรคนั้นได้ คนที่เป็นหัวหน้างานที่เก่งจะต้องรู้จักค่าของคน มองออกว่าลูกน้องแต่ละคนเขามีจุดเด่นอยู่ตรงไหน บางคนดูเฮี้ยว ๆ มีข้ออ่อนตรงนี้ แต่เขามีข้อเด่นตรงโน้นนะถ้าหยิบจุดเด่นเขามาใช้ถูกแล้วล่ะก้อ เขาก็จะสร้างประโยชน์ให้เราได้เพราะฉะนั้นต้นหมากรากไม้เป็นพันเป็นหมื่นชนิดได้หมดทุกชนิดเลย  แล้วคนเราเหนือกว่าต้นไม้ตั้งเยอะ ทำไมจะใช้ประโยชน์ไม่ได้
 
       เพราะฉะนั้นเราต้องมองอย่างนี้ใจเราจะได้เปิดกว้างขึ้น แล้วก็มีโอวาทของพระเดชพระคุณหลวงพ่อทัตตะชีโวท่านให้ข้อคิดไว้น่าคิดทีเดียวนะ ท่านบอกสังเกตหรือเปล่าก้อนหินในลำธารมันจะสะอาด เราหยิบขึ้นมาจากลำธารหินมันจะสะอาดนะแล้วก็กลม ๆ เกลี้ยง ๆ แต่ถ้าเป็นก้อนหินบนบกล่ะก้อ มันมีเหลี่ยมมีคม แล้วไม่ค่อยสะอาดหรอก  ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นก็เพราะก้อนหินในลำธารจะถูกน้ำซัดเซาะไป มันก็ไปกระทบกระแทกกันขูดกันไปข่วนกันมา ไอ้ที่เป็นเหลี่ยมเป็นคมมันก็ค่อย ๆ เกลี้ยง ๆ  ๆ ๆ แล้วของสกปรกก็ถูกน้ำพาไป คนเราก็เหมือนกัน ถ้าเกิดอยู่ตัวใครตัวมัน บางทีเหลี่ยมคมของเราเองเราไม่รู้สึกนะ เรานึกว่าเราเองปกติ แต่ความปกติของเราเองมันไม่ปกติ ในสายตาคนอื่นเขาก็มี แต่พออยู่ด้วยกันแล้วมีเรื่องที่จะกระทบกระทั่งกันบ้าง อด ๆ ทน ๆ กันบ้างเรียนรู้ซึ่งกันและกันบ้างค่อย ๆ ปรับตัว สุดท้ายแล้วเท่ากับเป็นการลบเหลี่ยมลบคมของเราเองให้กลมเกลี้ยงแล้วก็อยู่ร่วมกันด้วยความผาสุกเพราะฉะนั้นต้องเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนมีข้อดีแล้วก็ข้อด้อย
 
 
     ขณะเดียวกันเราเองก็ต้องอดทนต่อสิ่งเหล่านั้นให้ได้ เพราะชีวิตมนุษย์เราจะไปหาความสมบูรณ์พร้อมจากใครคงไม่ได้ ถ้าหากจะมีล่ะก็ ตั้งใจฝึกตัวเองให้สมบูรณ์พร้อมสิ อย่างนี้จะเข้าท่ามาก ๆ เลย มีตัวอย่างวิธีการบริหารจัดการคนที่เป็นตัวป่วนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดูว่าพระพุทธเจ้าใช้วิธีการอย่างไร คือพระองค์ใช้การวางกรอบพระวินัยเริ่มต้น ต้นพุทธกาล ผู้ที่มาบวชมาด้วยความศรัทธามีบารมีแก่กล้าส่วนใหญ่บวชแล้วปฏิบัติธรรมเป็นพระอรหันต์ทั้งนั้นไม่จำเป็นต้องบัญญัติพระวินัย ทุกคนที่มาเมื่อเป็นพระอรหันต์มันก็จบ รู้ว่าอะไรควรไม่ควรอยู่แล้ว แต่ต่อมาพวกที่บวชเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้นๆ แล้วไม่ได้เป็นพระอริยบุคคลก็มีเป็นสมมติสงฆ์ก็มี  มีผู้ที่ไปทำไม่ถูกต้องเข้าแต่ละเรื่องทำเข้าแล้วก็มีเสียงโจษจรรย์กันอึงคนึงอย่างเป็นพระวินัยข้อแรกนะ พระสุทินมีศรัทธาออกบวช แต่กลับมาเยี่ยมบ้าน โยมที่บ้านบอกว่าท่านจะบวชก็ไม่ว่าหรอกนะ แต่ขอสืบเชื้อสายไว้หน่อยไว้สืบสมบัติต่อไป เอ๊ะพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ห้ามไว้นี่นะ เพราะตอนนั้นยังไม่มีพระวินัยเลยนะ ท่านก็เลยไปสืบเชื้อสายให้กับภรรยาเก่า โอ้โฮทั้งมนุษย์ทั้งเทวดาโจษกันอึงคะนึงเลย เรื่องรู้ถึงพระพุทธเจ้าพระองค์จึงประชุมสงฆ์ตำหนิบัญญัติพระวินัยข้อแรกคือพระภิกษุห้ามเสพมาถุนใครไปทำเข้าถือว่าอาบัติปาราชิกต้องขาดจากความเป็นพระทันทีอย่างนี้เป็นต้นพูดง่าย ๆ ว่าพระวินัยแต่ละข้อเกิดขึ้นมาเพราะพุทธบัญญัติคือมีเหตุเกิด
 
     วิธีการพระพุทธเจ้าคือจัดประชุมสงฆ์ทั้งหมดที่อยุ่ในที่นั้น ๆ แล้วก็ตามทั้งบุคคลที่เป็นต้นเหตุด้วย บุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย แล้วถามต่อหน้าสงฆ์ทั้งหมดว่าจริงไม่จริงประการใด เมื่อซักไซ้ไล่เรียงได้ความชัดแล้วพระองค์ก็จะบัญญัติพระวินัยที่เหมาะสมพร้อมระบุว่าถ้าใครไปทำผิดเข้าอีกจะมีโทษอย่างไรหนักสุดก็ปาราชิกขาดจากความเป็นพระทันที เทียบทางโลกเหมือนโทษประหาร รองลงมาอาบัติสังฆาทิเสก เทียบทางโลกก็เหมือนโทษจำคุก แล้วรองลงมาเป็นอาบัติปาจิตตี ที่ว่าปลงอาบัติแล้วหาย บางอย่างก็ต้องมีการสละของบ้าง เช่นว่าถ้าเป็นอาบัติเกี่ยวกับเรื่องบาตรไปทำบาตรไม่ถูกต้องไปทำจีวรไม่ถูกต้องปลงอาบัติแล้วก็ต้องสละสิ่งเหล่านั้นออกไปถึงจะพ้นจากอาบัติอย่างนี้เป็นต้น แล้วพอหลังจากนั้นใครไปทำผิดตามนี้ต้องถือตามพระวินัยที่พระพุทธเจ้าพระองค์บัญญัติเอาไว้แต่ถ้าใครไปทำผิดในเรื่องที่พระพุทธเจ้ายังไม่เคยบัญญัติไว้ ท่านถือว่าบุคคลผู้นั้นยังไม่ต้องโทษนะ เป็นอาทิกัมมิกะ คือเป็นบุคคลต้นบัญญัติ รอด อย่างพระสุทิน ไม่ได้ปาราชิกนะ เพราะว่าตอนที่ท่านไปทำ ยังไม่มีพระวินัยห้ามเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าพระองค์แฟร์มากเลยนะ คือถ้ามีพระวินัยบัญญัติไว้แล้ว ทำปั๊บพอขาดต้องผิด แต่ถ้ายังไม่ได้บัญญัติเอาไว้ระเบียบยังไม่มีก็ถือว่ารอด ถือว่าขาดสามัญสำนึกไม่รุ้ว่าอะไรควรไม่ควรพระองค์ก็จะตำหนิ
 
     ดูก่อนภิกษุผู้เป็นโมฆะบุรุษ แล้วพระองค์ก็จะทรงตำหนิเสร็จแล้วก็ทรงบัญญัติพระวินัยให้สงฆ์ทั้งหลายรับรู้รับทราบจากนี้ไปอย่าไปทำอย่างนี้อีกนะ ทำแล้วก็ผิดอย่างนี้ทีเดียว พระองค์ไม่ได้ปล่อยปละละเลยเกิดเหตุอะไรขึ้นก็จะเรียกประชุมสงฆ์สอบถามแล้วก็บัญญัติพระวินัยขึ้นมาเป็นข้อ ๆ ๆ ๆ แล้วพระ บางองค์ต้องบอกว่ามีความสามารถในการแฉลบพอสมควรเลยนะ สังฆาทิเสสครึ่งหนึ่งมาจากพระอุทายี ห้ามอย่างนี้ก็แฉลบไปอย่างโน้น พอพระองค์บัญญัติพระวินัยเพิ่ม ห้ามอีกก็แฉลบไปอีก แฉลบไปแฉลบมาหรือว่าภิกษุฉัพพะคี มี กลุ่ม 6 มีพวก 6 รูปเข้ากลุ่มกัน คนเราก็มีพวกมีแก๊ง มีเพาเวอร์ทีเดียวนะก็ไปทำอะไรผิดไว้เยอะแล้วพระพุทธเจ้าก็บัญญัติพระวินัยขึ้น แต่พระเหล่านี้ก็เก่งนะพอพระพุทธเจ้าบัญญัติพระวินัยแล้ว บางท่านก็จะไม่ทำอีกแต่จะไปหาทางทำอย่างอื่นต่อไป เรียกว่าทำให้ปวดหัวพอสมควร ไปดูในครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าอดทนมากนะ ไม่ใช่ก่อเรื่องซ้ำแล้วซ้ำอีกตัดขาดไปเลย  เปล่า ทุกอย่างว่าตามพระวินัย ถ้ามองในแง่มุมหนึ่ง ภิกษุที่เฮี้ยว ๆ เหล่านี้ก็ถือว่ามีข้อดีเหมือนกัน คือทำให้เกิดพระวินัยขึ้นมาเป็นกรอบร้อยรัดหมู่คณะ หมู่สงฆ์ในภายหลังให้รู้ว่าอะไรควรไม่ควรอะไรถูกอะไรผิด มีพระวินัยบัญญัติไว้ชัดถ้าครั้งพุทธกาลไม่มีพระภิกษุเฮี้ยว ๆ อย่างนี้เลยนะไม่มีพระวินัยเลยสักข้อเดียวแล้วนี่ ก็ยังไม่รู้พระภิกษุในปัจจุบันจะเป็นอย่างไรบ้าง เราก็ไม่มีกรอบพระวินัย 227 ข้อเอาไว้เป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติ
 
 
     เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าในเสียก็มีดีในดีก็มีเสียให้เรามองทุกอย่างด้วยความเข้าใจเท่านั้นเองแล้วก็อย่าลืมย้อนมาดูตัวเองเยอะ ๆ ว่าคนอื่นเขาจะอย่างไรก็ยังเป็นส่วนหนึ่งนะ แต่สำคัญที่สุดสำรวจตัวเองดูให้ดี ๆ เถิด ไม่ใช่ไปนั่งมองว่าเราจะรับมือตัวป่วนในออฟฟิส ป่วน ขณะเดียวกันไปแอบสอบถาม ปรากฏว่าเพื่อนคนอื่นในออฟฟิสหาว่าเราเป็นตัวป่วน ปวดหัวน่าดูคนนี้มันไม่เข้าท่า เป็นอย่างนั้นไปก็แย่ทีเดียว ท่านผูกโครงโลกนิติไว้สอนใจว่า
 
"โทษท่านผู้อื่นเพี้ยงเมล็ดงา ปองติฉินนินทา ห่อนเว้น โทษตนเท่าภูผาหนักยิ่ง ป้องปิดคิดซ่อนเร้นเรื่องร้ายหายสูญ"
 
     เราอย่าให้เป็นอย่างนั้นนะ จับผิดตัวเองเยอะ ๆ ปรับปรุงพัฒนาตนเองมาก ๆ แล้วก็มองทุกคนรอบข้างด้วยความเข้าใจ
 
     ถ้าเราเป็นหัวหน้างานก็จะสามารถวางระบบระเบียบในที่ทำงานได้อย่างดีสามารถกลั่นกรองสมาชิกใหม่ที่จะมาช่วยงานเราเองได้อย่างดีแล้วเมื่อเราเองมีหลักในการดูแลการบริหารคนอย่างดี เราจะรวมคนมีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วยเราได้เยอะแล้วใครก็ตามที่สามารถรวมหมู่รวมคณะรวมทีมผู้ที่มีความรู้ความสามารถผู้ที่มีคุณธรรมมาได้มาก คนนั้นจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เราไปดูเถอะมหาเศรษฐีใหญ่เจ้าของกิจการใหญ่ผู้บริหารใหญ่ประสบความสำเร็จได้เพราะเขามีทีมงานทั้งนั้นแหละต้องมีทีม แต่เราจะมีทีมได้เราก็ต้องบริหารทีมเป็นรวมใจคนได้
 
      เพราะฉะนั้น เช็คสำรวจตัวเองให้ดีไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานภาพเป็นเพื่อนร่วมงานกันหรือเป็นผู้บังคับบัญชาในระดับชั้นต่าง ๆ หรือเป็นเจ้าของกิจการก็ตาม ก็มีหลักอยู่ว่ามองทุกคนด้วยความเข้าใจเห็นข้อดีข้อเสียเขาชัดแล้วก็มองตัวเองชัดเห็นข้อบกพร่องตัวเองชัดเจนด้วยเช่นเดียวกันแล้วช่วยกันวางกรอบวางวินัยของหมู่คณะให้ดี ประคับประคองกันไปมองทุกคนด้วยจิตที่เมตตาไม่ไปหงุดหงิดหมั่นไส้เขาก่อน พออย่างนี้ล่ะก้อเราก็จะประคับประคองเดินไปด้วยกันได้จนกว่าจะถึงฝั่งคือเป้าหมายปลายทางในที่สุด เจริญพร

รับชมวิดีโอ


 
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
กุศลกรรมบถ ศีล..มารดาแห่งความดีกุศลกรรมบถ ศีล..มารดาแห่งความดี

ชายไทยทำไมต้องบวชชายไทยทำไมต้องบวช

ธรรมะในการทำงานเพื่อมวลชนธรรมะในการทำงานเพื่อมวลชน



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

Review รายการ