เมณฑกเศรษฐีผู้ใจบุญ (๖)


[ 27 มี.ค. 2557 ] - [ 18268 ] LINE it!

เมณฑกเศรษฐีผู้ใจบุญ (๖)

     วันเวลาที่หมุนเวียนเปลี่ยนไป ทำให้สรรพสิ่งเปลี่ยนแปลง ชีวิตก็ผันแปร จากวัยเด็ก วัยรุ่น วัยหนุ่มสาวที่เต็มเปี่ยมด้วยพลัง ก็ค่อยๆ ร่วงโรย ดุจดวงอาทิตย์เคลื่อนคล้อยในยามอัสดง แต่สิ่งหนึ่งที่ยังมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาคือ เป้าหมายและมโนปณิธานอันแน่วแน่ วันเวลาที่ผ่านมา บางคนก็มีความภาคภูมิใจในชีวิต แต่บางคนกลับรู้สึกเสียดายเวลาและโอกาสดีๆ ที่ผ่านไป แต่ไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการสร้างความดี เราสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้เสมอ ด้วยการทำสิ่งใหม่ๆ ที่ดีๆ ที่ทำให้ใจสงบสุข พลิกใจที่ห่อเหี่ยวให้กลับมาสดชื่น ยกใจที่อ่อนล้าให้หันมากล้าแกร่ง และกล้าเผชิญหน้ากับความจริง ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่ออุปสรรค ให้ถือว่าอุปสรรคเป็นเสมือนบทเรียนของชีวิต ที่ทุกคนต้องเรียนรู้ และก้าวข้ามไปให้ได้ โดยเฉพาะการไปสู่ฝั่งพระนิพพานนั้น จะต้องก้าวข้ามอุปสรรคอันยิ่งใหญ่คือสังสารวัฏ เอาชนะกิเลสอาสวะทั้งปวง ด้วยการหมั่นเจริญสมาธิภาวนา ทำใจหยุดนิ่งเป็นประจำสมํ่าเสมอ

มีสุภาษิตที่ปรากฏในอรรถกถา ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า

     “ธรรมดาพวกมนุษย์ ย่อมไปสู่สำนักของพวกมนุษย์ พวกโคก็ไปสู่ฝูงโค บรรพชิตก็ไปสู่สำนักของบรรพชิต บัณฑิตก็เข้าไปหาพวกบัณฑิต”

     ธรรมดาของสรรพสัตว์ที่เกิดมาในโลกนี้ จะคบหาสมาคมหรือเข้าหากันได้ตามธาตุธรรมคือ มีจริตอัธยาศัย อนุสัย และอาสยะตรงกัน จริตคือความประพฤติ ที่เป็นไปทางกาย วาจา ใจ มีทั้งสุจริตและทุจริต  อัธยาศัยของหมู่สัตว์แต่ละประเภทก็ไม่เหมือนกัน มีทั้งที่น้อมไปในทางที่ดีและไม่ดี  อนุสัยคือตัวกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของสัตว์ ซึ่งติดมาข้ามภพข้ามชาติ บางคนรู้ทันก็หมั่นขจัดข้อบกพร่องออกไป แต่คนที่ไม่รู้ก็พอกพูนให้หนาแน่นขึ้นไปเรื่อยๆ  แล้วสิ่งที่ทั้งดีและไม่ดีที่ทำลงไปก็ติดอยู่ในกลางกายของบุคคลนั้น ไม่ได้สูญหายไปไหนเลย

     อาสยะคือความประสงค์ที่คล้ายคลึงกัน บางคนมีอัธยาศัยในทางกามคุณ แต่บางคนก็มีฉันทะในทางเนกขัมมะคือ อยากออกจากกาม อาสยะจึงเปรียบเสมือนแรงบันดาลใจที่คอยกระตุ้นเตือนอยู่ภายในใจ ให้อยากทำความดีหรือความชั่ว บางท่านก็มีธุลีคือ กิเลสในดวงตาเบาบาง บางท่านก็มีธุลีกิเลสหนา แต่ก็ปรารถนาที่จะทำตนให้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ จึงจำต้องหมั่นปรารภความเพียรให้มากๆ

     เพราะฉะนั้น การคบหาสมาคมกันของหมู่สัตว์ กระทั่งถึงมวลมนุษยชาติ ทุกชาติ ทุกภาษา ทุกศาสนา ทุกเผ่าพันธุ์ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของธาตุธรรมที่ใกล้เคียงกัน ใครมีบุญมากก็อยู่ในแวดวงของผู้มีบุญ ถ้าเราสังเกตดูจะพบว่าเศรษฐีเข้ากับหมู่เศรษฐี คนจนสมาคมกับหมู่คนจน หากมีธาตุธรรมในระดับที่สามารถจะบรรลุธรรมได้ บุญจะดึงดูดเข้าหาครูบาอาจารย์ที่สามารถสอนตนให้หมดกิเลสได้ แม้จะถูกกีดขวางจากผู้ที่ไม่หวังดี แต่บุญในตัวจะตักเตือนให้รู้ว่า บุคคลใดเป็นผู้สอนหนทางไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้น ทางใดเป็นหนทางที่ถูกต้อง  เป็นหนทางไปสู่สวรรค์ และพระนิพพาน และจะคบหากับบุคคลนั้น  

     เหมือนอย่างเส้นทางชีวิตอันงดงามของท่านเมณฑกเศรษฐี ผู้ผ่านการสร้างบารมีกับพระพุทธเจ้ามาแล้วหลายพระองค์ ซึ่งหลวงพ่อได้ค่อยๆ ทยอยนำมาเล่าให้ได้ศึกษากันนั้น เราจะสังเกตเห็นว่า ท่านเศรษฐีได้เสวยสมบัติอันเลิศที่เป็นโลกิยะทั้งที่เป็นของมนุษย์ และที่เป็นของทิพย์ ครั้งนี้พวกเราจะได้รับทราบตอนที่ท่านเศรษฐีจะได้สมบัติอันเป็นโลกุตระคือ ได้นิพพานสมบัติ

     * เมื่อพระบรมศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติผลของท่านผู้มีบุญทั้ง ๖ ท่านคือ เมณฑกเศรษฐี ภรรยาของเศรษฐีชื่อว่าจันทปทุมา ลูกชายชื่อธนัญชัยเศรษฐี ลูกสะใภ้ชื่อสุมนาเทวี หลานสาวชื่อวิสาขา และทาสคนสนิทชื่อปุณณะ จึงเสด็จไปยังเมืองภัททิยนคร  พร้อมทั้งภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ทรงประทับอยู่ในชาติยาวัน เพื่อรอคอยการมาเข้าเฝ้าของท่านเศรษฐี

     ท่านเมณฑกเศรษฐี ได้ฟังการพรรณนาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากเพื่อนว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้แล้วเองโดยชอบ ทรงบรรลุวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรมอันบริสุทธิ์ เมื่อท่านเศรษฐีฟังแล้วเกิดความปีติขนลุกชูชัน จากนั้นจึงชักชวนภรรยา ลูกชาย ลูกสะใภ้ หลานสาว และคนรับใช้คนสนิทไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  

     ในขณะที่ทั้ง ๖ ท่าน กำลังนั่งยานออกจากภัททิยนคร เพื่อเดินทางไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า พวกเดียรถีย์ซึ่งเป็นนักบวชนอกศาสนา เห็นเมณฑกคหบดีมาแต่ไกล ก็ทักทายไต่ถามว่า “ท่านคหบดี ท่านจะรีบไปที่ไหนกัน” พอรู้ว่า ท่านเศรษฐีพร้อมหมู่ญาติ กำลังไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็กลัวว่าท่านเศรษฐีจะหันไปนับถือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงพากันกล่าวห้ามว่า “ท่านเศรษฐี ท่านเป็นกิริยวาทะ จะไปเฝ้าสมณโคดมผู้เป็นอกิริยวาทะได้อย่างไรกัน เพราะพระสมณโคดมเป็นอกิริยวาทะ แสดงธรรมเพื่อความไม่ทำ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น การไปเฝ้าพระสมณโคดมจะมีประโยชน์อะไร ท่านอย่าได้ไปเข้าเฝ้าให้เสียเวลาเลย”

     เนื่องจากเมณฑกเศรษฐีสั่งสมบุญมามาก และอธิษฐานจิตไว้อย่างดีว่า ขอให้ได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านจึงสามารถแยกแยะได้ด้วยตนเองว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นบุคคลผู้เลิศ และเป็นพระอรหันต์โดยไม่ต้องสงสัย เพราะฉะนั้น จึงมิได้ใส่ใจคำทักท้วงของพวกเดียรถีย์ ท่านสั่งให้นายสารถีรีบขับยานมุ่งหน้าตรงต่อชาติยาวันโดยเร็ว ขณะเดินทางก็เจริญพุทธานุสตินึกถึงพุทธคุณไปด้วย ความปีติเลื่อมใสก็เกิดขึ้นในใจของท่านตลอดเวลา เมื่อไปถึงได้รีบลงจากรถ เดินเข้าไปถวายบังคมพระพุทธองค์ กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วนั่งรอฟังธรรมจากพระองค์ต่อไป

     พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถาคือ ทรงประกาศทานกถาว่าด้วยประโยชน์ของการให้ทาน ทานเป็นสิ่งสำคัญต่อการเดินทางไกลในสังสารวัฏ จะช่วยประคับประคองชีวิตให้มีความเป็นอยู่อย่างไม่อัตคัตขัดสน ทรงแสดงสีลกถา ชี้ให้เห็นประโยชน์ของการรักษาศีล ว่าการประพฤติสุจริต จะนำพาชีวิตไปสู่สวรรค์ ทรงแสดงสัคคกถา ว่าด้วยการเสวยสุขในสวรรค์ชั้นต่างๆ เพราะเป็นผลที่เกิดจากการทำทาน รักษาศีลไว้เป็นอย่างดี ทรงแสดงกามาทีนวกถา โทษของกามอันเศร้าหมอง ไม่ว่าจะเป็นกามอันเป็นของมนุษย์หรือของทิพย์ ยังเป็นสุขที่มีทุกข์เจือปนอยู่ ไม่ใช่ประโยชน์อย่างสูงสุด กามคุณ ๕ นี้ ทำหน้าที่ตรึงใจหมู่สัตว์ให้ติดอยู่ในภพสาม จึงไม่สามารถพบสุขอันเป็นอมตะคือ พระนิพพานได้ ฉะนั้น เมื่อปรารถนาสุขอย่างยิ่ง ก็ต้องทิ้งเบญจกามคุณให้ได้

     ประการสุดท้าย ทรงแสดงเนกขัมมานิสังสกถาคือ อานิสงส์ในการออกจากกาม เพราะจะเป็นทางมาแห่งการเสวยเอกันตบรมสุข จะเข้าถึงได้ใจจะต้องปลอดจากกามฉันทะ ต้องปลดต้องปล่อยต้องวางจากสิ่งต่างๆ ที่เคยยึดมั่นถือมั่น เมื่อพระองค์ทรงทราบว่า ท่านเศรษฐีมีใจผ่องใสปลอดจากนิวรณ์แล้ว จึงทรงแสดงอริยสัจสี่ไปตามลำดับ ท่านเมณฑกเศรษฐี และคณะก็ปล่อยใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ในที่สุดก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันกันทุกคน

     เราจะเห็นได้ว่า ผู้ที่สั่งสมบุญมาดี และได้อธิษฐานจิตกำกับไว้อย่างดีแล้ว ท่านจะไม่หวั่นไหวในคำพูดของคนพาล ไม่สนใจอุปสรรคใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อถึงเวลาบุญส่งผล ผู้มีบุญจะได้สมบัติที่เป็นโลกิยะ ตั้งแต่รูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ลาภยศ สรรเสริญ เกิดมาทั้งรวย สวย ฉลาด สมปรารถนาในทุกสิ่ง เมื่อมีโอกาสได้ฟังธรรมจะได้สมบัติที่เป็นโลกุตระคือ มรรคผลนิพพาน บุญนั้นดึงดูดให้ได้นิพพานสมบัติ  ดังนั้น ทุกท่านต้องหมั่นสั่งสมบุญไว้ให้มากๆ เราจะต้องไปเอาสมบัติจักรพรรดิตักไม่พร่องที่สามารถหล่อเลี้ยงคนได้ทั้งโลก เพื่อเรา และชาวโลกจะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมกันอย่างเต็มที่ อันเป็นเหตุให้ได้นิพพานสมบัติในที่สุด และให้หมั่นนั่งธรรมะกันมากๆ แล้วเราจะได้เข้าถึงพระรัตนตรัยซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกภายในกันทุกๆ คน

 

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม ๔๓ หน้า ๕๗

 



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
เมณฑกเศรษฐีผู้ใจบุญ (๗)เมณฑกเศรษฐีผู้ใจบุญ (๗)

ชฎิลเศรษฐี ผู้มีภูเขาทองชฎิลเศรษฐี ผู้มีภูเขาทอง

ปุณณเศรษฐี ผู้ไถนาเป็นทองปุณณเศรษฐี ผู้ไถนาเป็นทอง



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน