สรณะอันเกษม


[ 25 เม.ย. 2557 ] - [ 18269 ] LINE it!

สรณะอันเกษม

     วันเวลาที่ผ่านไปแล้ว เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถจะเรียกกลับคืนมาได้ เหมือนดั่งสายน้ำที่ไหลผ่านเลยไปไม่อาจหวนกลับ ชีวิตคนเราก็เช่นกัน ย่อมผ่านไปพร้อมกับกาลเวลา ที่นำความแก่ชรามาสู่ตัวเราทุกอนุวินาที ซึ่งนักสร้างบารมีจะต้องรู้จักให้วันเวลานั้นผ่านไปพร้อมกับการสร้างความดี เราต้องใช้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้ สร้างบารมีให้เต็มที่ เพื่อทำสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดให้เกิดขึ้นกับตัวของเราเองและผู้อื่น ด้วยการประพฤติธรรม แม้สภาวะเศรษฐกิจของโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ บางครั้งชีวิตเราอาจได้รับผลกระทบกระเทือนบ้าง คล้ายกับกำลังถูกมรสุมใหญ่โหมกระหน่ำ แต่ก็ขออย่าได้หวั่นไหว เพราะเหตุการณ์เช่นนี้เป็นธรรมดาของโลก

     ขณะที่เกิดความแปรปรวนของกระแสโลก คนทั้งหลายต่างกำลังแสวงหาที่พึ่งให้กับตนเอง  เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของชีวิต แต่มีจำนวนน้อยคนนักที่จะพบกับที่พึ่งอันเกษม เพราะส่วนใหญ่ยังไม่รู้เลยว่าที่พึ่งอันแท้จริงคืออะไร อยู่ที่ตรงไหน และจะเข้าถึงได้อย่างไร ดังนั้น จึงต้องมาทำความเข้าใจ เกี่ยวกับเรื่องที่พึ่งอันเกษม ที่พึ่งอันแท้จริงกัน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า

“พหุ ํ เว สรณํ ยนฺติ           ปพฺพตานิ วนานิ จ
  อารามรุกฺขเจตฺยานิ           มนุสฺสา ภยตชฺชิตา
เนตํ โข สรณํ เขมํ            เนตํ สรณมุตฺตมํ
      เนตํ สรณมาคมฺม             สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจติ ฯ
   โย จ พุทฺธญฺจ ธมฺมญฺจ       สงฺฆญฺจ สรณํ คโต
      จตฺตาริ อริยสจฺจานิ           สมฺมปฺปญฺญาย ปสฺสติ
    ทุกฺขํ ทุกฺขสมุปฺปาทํ          ทุกฺขสฺส จ อติกฺกมํ  
  อริยญฺจฏฺฐงฺคิกํ มคฺคํ         ทุกฺขูปสมคามินํ   
เอตํ โข สรณํ เขมํ            เอตํ สรณมุตฺตมํ
      เอตํ สรณมาคมฺม             สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจติ   

     มนุษย์เป็นอันมาก ถูกภัยคุกคามแล้ว ย่อมถึงภูเขา ป่า อาราม และรุกขเจดีย์ว่าเป็นที่พึ่ง สรณะนั่นแลไม่เกษม สรณะนั่นไม่อุดม เพราะบุคคลอาศัยสรณะนั่น ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ ส่วนบุคคลใดถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง ย่อมเห็นอริยสัจ ๔ (คือ) ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความก้าวล่วงทุกข์ และมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ ซึ่งยังสัตว์ให้ถึงความสงบแห่งทุกข์ ด้วยปัญญาอันชอบ สรณะนั่นแลของบุคคลนั้นเกษม สรณะนั่นอุดม เพราะบุคคลอาศัยสรณะนั่น ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้”

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเข้าถึงสรณะภายใน และได้พิสูจน์แล้วว่า ที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงนั้น มีอยู่ ๓ อย่างเท่านั้น ผู้รู้ทั้งหลายต่างยืนยันเช่นนี้เหมือนกันหมด เพราะฉะนั้น เราควรจะยึดเอาพระรัตนตรัย ๓ อย่างนี้ เป็นที่พึ่งเป็นที่ระลึก เป็นที่ยึด ที่เกาะของใจเรา แล้วเราจะพ้นจากความทุกข์ทรมาน เข้าถึงความสุขที่แท้จริงได้ ชาวโลกทั้งหลายที่ยังไม่เคยได้ยินได้ฟังคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็มักจะไม่รู้จักสรณะที่แท้จริงว่า คืออะไร อยู่ที่ตรงไหน จะเข้าถึงได้ด้วยวิธีการใด

     เมื่อไม่ได้ยินไม่ได้ฟัง ก็มักจะไปยึดสิ่งที่ตนได้พบ ได้เห็น ได้ยิน หรือได้ฟังมาว่า สิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นที่พึ่งที่ระลึก อย่าว่าแต่ในสมัยนี้เลย แม้แต่ในสมัยพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบังเกิดขึ้นแล้วในโลก ตรัสถึงที่พึ่งที่ระลึกว่ามีอยู่ ๓ อย่างเท่านี้ ผู้มีบุญผู้ประพฤติปฏิบัติตาม ก็ได้บรรลุธรรมาภิสมัย เข้าถึงพระรัตนตรัยกันเป็นจำนวนมาก แต่ในยุคนั้น บางคนแม้มาเกิดร่วมสมัยกัน ก็ยังไม่ได้ยินได้ฟังว่าอะไรเป็นสรณะที่แท้จริง ดังตัวอย่างของปุโรหิตอัคคิทัต  

     * ปุโรหิตอัคคิทัตเป็นผู้ที่มีปัญญา เป็นพหูสูต ท่านเป็นที่ปรึกษาของพระเจ้าแผ่นดินถึง ๒ พระองค์ คือพระเจ้ามหาโกศลกับพระเจ้าปเสนทิโกศล ต่อมาเมื่อท่านชราภาพลงแล้ว ก็อยากจะแสวงหาที่วิเวก จึงได้กราบบังคมทูลลาพระราชาเพื่อออกบำเพ็ญสมณธรรม ได้บวชเป็นฤๅษี ตั้งบรรณศาลาอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำแห่งหนึ่ง มีผู้ที่เลื่อมใสในท่านปุโรหิต จำนวนถึงหมื่นคน เพราะมีความเชื่อมั่นในความเป็นพหูสูตของท่านปุโรหิต ว่าจะสามารถแนะนำสั่งสอนให้รู้จักที่พึ่งที่แท้จริงได้ ในที่สุดก็ได้บวชเป็นฤาษีตาม อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ

     ต่างก็ตั้งกติกากันไว้ว่า หากเวลาที่ใครเกิดกามวิตกขึ้นมา คือเมื่อเป็นฤๅษีแล้ว ถ้าไปนึกถึงเรื่องทรัพย์สมบัติหรือเรื่องสตรี เป็นนักบวชแล้วยังนึกถึง ๒ เรื่องนี้ ก็ให้ไปขนเอาทรายที่ริมฝั่งแม่น้ำมากองไว้ นี่จัดเป็นความดีอย่างหนึ่งที่ท่านฤๅษีอัคคิทัตได้สั่งสอนแก่บริวารฤๅษี หากเกิดความรู้สึกอย่างนี้แล้ว ก็ให้ไปขนทรายมา แล้วก็ไม่ว่ากัน ไม่ต้องรู้สึกอายกัน เป็นการเปิดเผยความบริสุทธิ์ใจซึ่งกันและกัน  

     ปรากฏว่า ทรายที่ริมฝั่งน้ำ ถูกขนขึ้นมากองโตเป็นภูเขาทีเดียว จนกระทั่งมีพญานาคเกิดความยินดีในทรายกองโตนั้น เห็นว่ามันสวยงาม จึงไปนอนเฝ้าอยู่บนยอดกองทราย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอดพระญาณในยามรุ่งอรุณ มองเห็นอุปนิสัยของฤาษีอัคคิทัตและบริวาร ว่าจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะบุญบารมีเต็มเปี่ยม โดยในขณะนี้กำลังบ่มอินทรีย์อยู่

     แต่ทว่าอัคคิทัตดาบสได้สั่งสอนตนเองและบริวารไปในทางที่ยังไม่ถูกต้องว่า เมื่อไรเกิดความสะดุ้งกลัว เกิดความทุกข์ทรมาน ให้พึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คืออะไรที่คิดว่าศักดิ์สิทธิ์ ก็ให้พึ่งสิ่งนั้น เช่น พึ่งภูเขาลูกโตๆ พึ่งป่าที่ดูแล้ววังเวง พึ่งต้นไม้ใหญ่ๆ ที่เข้าใจว่าจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือสิ่งที่จะบันดาลความสำเร็จให้บังเกิดขึ้นได้ พึ่งอารามศักดิ์สิทธิ์ พึ่งเทวสถาน การสั่งสอนที่ไม่ถูกต้องเช่นนี้ และยังให้ยึดถืออย่างนี้เรื่อยมา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอดพระญาณเห็นว่า ถึงเวลาแล้วฤาษีเหล่านั้นจะได้เข้าถึงสรณะที่แท้จริง เพราะมีอุปนิสัยจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน

     ในยามเช้า พระพุทธองค์ตรัสเรียกพระโมคคัลลานะมา แล้วทรงรับสั่งว่า “โมคคัลลานะ เธอไปโปรดอัคคิทัตฤาษีกับบริวาร ให้เป็นสัมมาทิฏฐิ ให้รู้จักที่พึ่งที่แท้จริงเถอะ” พระโมคคัลลานะก็กราบทูลว่า “อัคคิทัตฤาษีมีบริวารมาก มีกำลังมากเหลือเกิน ลำพังเพียงข้าพระองค์จะไปโปรดล่ะก็ คงจะไม่เชื่อฟัง เพราะว่าฤาษีรวมกันเป็นหมู่ใหญ่ อาจจะแย้งข้าพระองค์ได้ แต่ถ้าหากว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จไปด้วย ก็คงจะโปรดได้ทั้งหมด” พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับสั่งย้ำให้พระโมคคัลลานะรีบไปก่อนเถิด แล้วพระองค์จะตามไปในภายหลัง  

     ในที่สุด พระโมคคัลลานะก็ไปโดยลำพัง แสดงตนไปยืนอยู่หน้าบรรณศาลาของฤาษีอัคคิทัต และก็เรียกฤาษีอัคคิทัตด้วยชื่อว่า “อัคคิทัต เราจะขออาศัยอยู่ที่นี่ ขอให้ท่านช่วยชี้สถานที่ที่เราจะอาศัยด้วย” อัคคิทัตฤาษีเป็นผู้สูงด้วยคุณวุฒิและวัยวุฒิ เป็นผู้มากด้วยมานะทิฏฐิ มีความคิดว่า เราเป็นถึงอดีตปุโรหิตของพระเจ้าแผ่นดินถึง ๒ พระองค์ ใครๆ ก็เคารพนับถือเราทั้งนั้น ไม่มีใครที่จะกล้ามาเรียกชื่อของเราแบบคนคุ้นเคยเช่นนี้ ด้วยมานะทิฏฐิ จึงตอบพระโมคคัลลานะไปว่า “ไม่มี ที่ตรงนี้น่ะ ไม่มีสำหรับท่าน”

     พระโมคคัลลานะจึงว่า “ปกติมนุษย์ก็เข้าอยู่ในหมู่มนุษย์ โคเข้าอยู่ในฝูงโค นักบวชก็ต้องอยู่ในหมู่ของนักบวช เพราะฉะนั้น ให้ท่านช่วยชี้ว่า ที่ที่เราควรจะอยู่น่ะ อยู่ที่ไหน” ฤาษีอัคคิทัตก็บอกว่า "ไม่มีหรอก" แต่พระโมคคัลลานะก็ยังยืนยันว่า จะขออาศัยอยู่ที่ตรงนี้ ในที่สุดฤาษีอัคคิทัตจึงบอกว่ามีอยู่ที่หนึ่ง คือที่กองทรายโน้น มีอยู่ที่เดียวเท่านั้น ถ้าท่านอยากอยู่ก็ตามใจท่าน  

     พระโมคคัลลานะเดินไปที่กองทราย เมื่อพบกับพญานาคจึงเกิดการประลองฤทธิ์กัน เพราะพญานาคซึ่งหวงแหนที่อยู่รู้สึกโกรธ ที่จู่ๆ ก็มีผู้จะมาแย่งที่พักอาศัย ด้วยอานุภาพแห่งพญานาค พอโกรธก็บันดาลให้เกิดเปลวเพลิง เรียกว่าการบังหวนควัน เป็นเปลวเพลิงที่มีฤทธิ์ร้อนแรงมาก พระโมคคัลลานะท่านไม่รู้สึกกลัวแต่อย่างใด เพราะท่านเป็นอัครสาวกผู้เลิศทางด้านมีฤทธิ์มาก จึงเข้ากสิณเตโชสมาบัติ บังหวนควันพุ่งใส่พญานาค เป็นไฟที่ร้อนแรงยิ่งกว่านั้นอีก ในที่สุด พญานาคสู้ไม่ได้ ก็ยอมแพ้ แล้วขดตัวแผ่พังพาน บังแดดบังฝนให้พระเถระได้นั่งสมาธิอยู่บนกองทรายตลอดทั้งคืน

     ครั้นรุ่งเช้า อัคคิทัตก็สั่งให้ฤๅษีบริวารตามไปดูว่า ป่านนี้นักบวชท่านนั้น คงละลายไปด้วยอานุภาพแห่งพญานาคแล้ว จึงชวนกันไปดู ปรากฏว่าเห็นพระโมคคัลลานะนั่งอยู่บนกองทราย โดยมีพญานาคขดเป็นวงกลมแผ่พังพาน คอยปกป้องอันตรายให้ จึงเกิดความเลื่อมใส ในเวลานั้นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาในขณะที่ทิฐิมานะของฤาษีทั้งหลายลดลงแล้ว เมื่อท่านประทับในที่อันควร พระโมคคัลลานะเข้ามาถวายบังคม พวกฤาษีเห็นดังนั้น ก็เข้ามาถวายบังคม เพราะคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจะต้องมีอานุภาพมากกว่าพระโมคคัลลานะ ซึ่งสามารถปราบพญานาคได้เป็นแน่แท้

     ในที่สุด เมื่อทิฐิมานะลดลงแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมให้อัคคิทัตและบริวารได้ทราบถึงสรณะที่แท้จริงว่า สรณะนั้นมีอยู่ภายในเท่านั้น คือพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ เป็นที่พึ่งอันเกษม เป็นที่พึ่งที่แท้จริง ที่จะช่วยให้พ้นจากความทุกข์ทั้งหลายได้ ส่วนภูเขา ป่า  ต้นไม้ใหญ่ อารามศักดิ์สิทธิ์ สิ่งนั้นไม่ใช่เป็นที่พึ่งอันเกษม  

     เรื่องนี้เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า พระรัตนตรัยภายในเท่านั้น เป็นที่พึ่งที่ระลึกได้อย่างแท้จริง อัคคิทัตฤาษีและบริวารก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพานกันทั้งหมด พระพุทธเจ้าทรงประทานการบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้ ทรงแสดงเกี่ยวกับรัตนะทั้ง ๓ ว่าอยู่ภายในตัว ในกึ่งกลางกายของทุกๆ คน เป็นที่พึ่งที่แท้จริงภายใน แต่จะเข้าถึงตรงนี้ได้ ต้องทำใจให้หยุดให้นิ่งอยู่ภายใน หยุดอยู่ในกลางนั้นไปเรื่อยๆ หยุดอยู่ในกลางกาย พอถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงดวงธรรมเบื้องต้นเรียกว่า ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน บังเกิดขึ้นที่กลางกาย อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน เป็นดวงสว่างทีเดียว อยู่ในกลางกาย นั่นคือเบื้องต้นที่จะเข้าถึงรัตนะทั้ง ๓ ที่เป็นที่พึ่งที่ระลึกภายในเป็นสรณะอันเกษม

     พอหยุดถูกส่วนเข้า จะเข้าถึงดวงธรรมต่างๆ เป็นชุดๆ บังเกิดขึ้นอยู่ในกลางนั้น เข้าถึงดวงศีล เข้าถึงดวงสมาธิ เข้าถึงดวงปัญญา เข้าถึงดวงวิมุตติ เข้าถึงดวงวิมุตติญาณทัสสนะ และในที่สุดก็เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด ที่มีหน้าตาเหมือนกับตัวของเราเอง นั่งขัดสมาธิหันหน้าออกไปทางเดียวกับตัวของเรา ให้เอาใจหยุดต่อไปอีกในกลางนั้น พอถูกส่วนก็เข้าถึงดวงธรรมอีกชุดหนึ่ง ชุดหนึ่งก็มี ๖ ดวง คือ ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ เป็นชุดที่ ๒ และในที่สุดก็เข้าถึงกายทิพย์ที่อยู่ภายใน

     ทำไปอย่างนี้เรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าถึงกายรูปพรหม ถึงกายอรูปพรหม และเข้าถึงกายธรรม กายธรรมนั่นแหละ คือพุทธรัตนะ ในกลางกายธรรมมีดวงธรรมรัตนะอยู่ กลางธรรมรัตนะนั้นก็มีกายธรรมละเอียดเรียกว่าสังฆรัตนะ ซ้อนกันอยู่ภายในอย่างนี้ เข้าไปเรื่อยๆ  ๓ อย่างนี้แหละ เป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกอย่างแท้จริง

     เมื่อเราได้ตั้งใจปฏิบัติธรรมตามนี้แล้ว นับว่าเป็นบุญลาภของเรา ที่ได้มีโอกาสมาศึกษากิจในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องราวที่สำคัญเกี่ยวกับชีวิตของเราเอง ถ้าหากเรายังไม่รู้จักว่า สรณะนั้นเป็นอย่างไร อยู่ที่ตรงไหน จะเข้าถึงด้วยวิธีการใด ชีวิตเราจะมีแต่ความทุกข์ทรมาน แต่ถ้าหากว่าเรารู้จักและรู้วิธีที่ถูกต้องแล้ว ไม่ช้าเราจะเข้าถึงความสุขที่แท้จริงภายใน วิธีที่จะเข้าถึงความสุขและที่พึ่งที่แท้จริง ต้องหยุดนิ่งอย่างเดียว

     ใจที่แวบไปแวบมา คิดไปในเรื่องราวต่างๆ แล้วฝึกให้มาหยุดนิ่งอยู่ในกลางกาย ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ในระดับเหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ โดยการสมมติว่าเราหยิบเส้นด้ายขึ้นมา ๒ เส้น เส้นหนึ่งขึงให้ตึงจากสะดือ ทะลุหลัง อีกเส้นหนึ่ง ขึงจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย ให้เส้นด้ายทั้ง ๒ ตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม ตรงนี้เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ ให้สมมติเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกัน แล้วนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้งสอง สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗  ตรงนี้นั่นเอง เป็นที่สถิตของรัตนะทั้ง ๓  

     เมื่อเรามีความปรารถนาที่จะให้เข้าถึงรัตนะทั้ง ๓ จะต้องเอาใจมาหยุดอยู่ตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้ เอาใจของเรามาหยุดมานิ่งอยู่ที่ตรงนี้อย่างสบายๆ ให้ใจหยุด ให้ใจนิ่ง ให้ใจใส ให้ใจสบาย ทำใจให้เบิกบานให้แช่มชื่น หยุดอยู่ที่ตรงนี้ แต่ถ้าหากว่ามีความคิด มีเรื่องราวต่างๆ ผ่านเข้ามาในใจ ก็ให้ภาวนา สัมมาอะระหังๆๆ ภาวนาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ โดยให้เสียงคำภาวนาดังออกมาจากจุดกึ่งกลางกายฐานที่ ๗ จะกี่หมื่นกี่แสนครั้งก็ตาม ก็ภาวนาไปอย่างสบายๆ ภาวนาไปเรื่อยๆ จนกว่าใจของเรา ไม่อยากจะภาวนา อยากจะนิ่งเฉยๆ ถ้าเกิดความรู้สึกอย่างนี้ ก็ให้เรานิ่งเฉยๆ นิ่งไปเรื่อยๆ อย่างสบายๆ ใจเย็นๆ

     ไม่ช้าใจของเราจะหยุดนิ่งเอง จะนิ่งเฉย พอใจนิ่งแล้ว ไม่ช้าจะเริ่มโล่ง เริ่มโปร่ง เริ่มเบาสบายอย่างแท้จริง เมื่อเรารักษาอารมณ์นี้อย่างต่อเนื่อง แสงสว่างจะค่อยๆ บังเกิดขึ้นในกลางหยุดนิ่ง จะค่อยๆ สว่างขึ้นๆ ไปเอง ในตอนนี้ ดวงธรรมจะปรากฏเกิดขึ้นมาเป็นจุดสว่างเล็กๆ เหมือนดวงดาวในอากาศ หรือ โตใหญ่ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ หรือ โตใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน  เป็นดวงธรรมที่ใสบริสุทธิ์บังเกิดขึ้นในกลางใจหยุดนิ่ง ดวงธรรมต่างๆ และกายต่างๆ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วดั้งเดิม ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราสมมติ หรือสร้างขึ้นมา เมื่อใจของเราละเอียดได้ในระดับไหน เราก็เข้าถึงในระดับนั้น

     เพราะฉะนั้นเมื่อใจของเราละเอียดด้วยวิธีการทำหยุดทำนิ่งอย่างนี้ เราจะเข้าถึง เมื่อเข้าถึงยิ่งละเอียดเข้าไปเท่าไร ยิ่งมีความสุขเพิ่มขึ้นๆ เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ความสุขที่เข้าถึงดวงธรรม ก็สุขในระดับหนึ่ง ความสุขที่เข้าถึงกายภายในก็อีกระดับหนึ่ง ปริมาณความสุขมากขึ้น ประณีตเพิ่มขึ้น  ความสุขที่เข้าถึงกายธรรมก็อีกระดับหนึ่ง จะเพิ่มขึ้นในทุกๆ ด้านทีเดียว สุขเพิ่มขึ้นๆ เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าทั้งโลกมีความสุขกันอย่างนี้ทุกคน สันติสุขอันไพบูลย์จะบังเกิดขึ้น

     ดังนั้นทุกท่านต้องเข้าใจให้ดี นี่เป็นกิจที่ควรทำสำหรับการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เป้าหมายของเราหรือสิ่งที่เราแสวงหานั้นคือสรณะภายใน ได้แก่พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ เมื่อเราเข้าถึงแล้ว ชีวิตของเราก็จะสมบูรณ์ ถ้าหากว่าเราเข้าไม่ถึง ชีวิตของเรายังไม่ปลอดภัย

     ฉะนั้น ชีวิตเราควรแสวงหาสิ่งที่เป็นสรณะที่แท้จริง เราจะได้พ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย หลวงพ่ออยากให้เข้าถึงตรงนี้กัน เพราะอยากให้มีความสุข อยากให้มีความบริสุทธิ์ อยากให้รู้แจ้งเห็นแจ้ง เกี่ยวกับเรื่องตัวของเรา และสรรพสิ่งทั้งหลาย เราเกิดมาทั้งทีต้องเข้าถึงที่พึ่งที่แท้จริงให้ได้ ต้องรู้เรื่องราวของตัวเราเอง ว่าเรามาจากไหน มาทำไม อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต ต้องให้ไปรู้ไปเห็นด้วยตัวเองให้ได้ เมื่อรู้เห็นแล้วเราก็ต้องมุ่งเอาชีวิตเป็นเดิมพันทีเดียว มุ่งไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรม เพราะฉะนั้น ให้ทุกท่านรักในการปฏิบัติธรรม เอาจริงเอาจังอย่าเกียจคร้าน อย่าได้ประมาท แล้วเราสมปรารถนากันทุกคน

 

 

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม ๔๒ หน้า ๓๔๐


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
หนทางสายกลางหนทางสายกลาง

ที่พึ่งที่แท้จริงที่พึ่งที่แท้จริง

ฐานที่ ๗ ใสบริสุทธิ์ดุจตะวันแก้วฐานที่ ๗ ใสบริสุทธิ์ดุจตะวันแก้ว



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน