กายแห่งการตรัสรู้ธรรม


[ 30 พ.ค. 2557 ] - [ 18266 ] LINE it!

กายแห่งการตรัสรู้ธรรม

 

     “ธรรมกาย” เป็นกายแห่งการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นหลักของพระพุทธศาสนาและของโลก ถ้าเข้าถึงได้เราจะเป็นพุทธศาสนิกชนที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง ทั้งภายนอกและภายใน จะรู้ซึ้งในคุณของพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะ ที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดของมวลมนุษยชาติ เราจะหายสงสัยในอานุภาพอันไม่มีประมาณของพระรัตนตรัย จะเปลี่ยนจากผู้ไม่รู้ มาเป็นผู้รู้แจ้ง ทำให้เข้าใจโลกและชีวิตได้อย่างถูกต้อง สามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสุข สร้างบารมีเพื่อมุ่งไปสู่อายตนนิพพาน ดังนั้น เราจึงควรที่จะปฏิบัติธรรม เพื่อให้เข้าถึงธรรมกายกันทุกๆ คน

* พระบรมศาสดาทรงเปล่งอุทานใต้ควงไม้พระศรีมหาโพธิ์ว่า

“ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา
อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมณสฺส
วิธูปยํ ติฏฺฐติ มารเสนํ
สุริโยว โอภาสยมนฺตลิกฺขํ

     ในกาลใดแล ธรรมทั้งหลาย มาปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ในกาลนั้น พราหมณ์ย่อมกำจัดมารและเสนามารเสียได้ ดุจพระอาทิตย์กำจัดความมืด ส่องสว่างอยู่ในอากาศ ฉะนั้น”

     การเจริญสมาธิภาวนา ถือเป็นหลักสำคัญที่จะนำไปสู่การรู้แจ้งเห็นจริง ในคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระสัทธรรมที่ท่านได้นำมาแสดง จะเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง โดยอาศัยเพียงการอ่าน หรือฟังมาอย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอ จะต้องลงมือปฏิบัติด้วย จึงจะรู้แจ้งเห็นจริง เพราะธรรมะของพระพุทธองค์เป็นเอหิปัสสิโก ต้องลงมือพิสูจน์ด้วยตัวเอง หากเข้าถึงแล้ว เราจะเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ตามความเป็นจริง ความสว่างไสวในดวงจิตจะบังเกิดขึ้น ขจัดความมืดมิดคืออวิชชาให้หมดสิ้นไป

     คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมด ประมวลรวมกันอยู่ในธรรมกาย การที่เราจะรู้เรื่องราวของธรรมกายได้ก็ต่อเมื่อตอนที่ใจหยุดนิ่ง จะรู้ว่าธรรมกายนี้ ไม่ใช่เป็นของใหม่ ไม่ใช่เป็นวิธีการใหม่ แต่เป็นสิ่งดั้งเดิมที่มีอยู่แล้วในตัวของเรา และของทุกๆ คนในโลก ไม่ได้จำกัดเชื้อชาติ ศาสนาและเผ่าพันธุ์ วิธีปฏิบัติทั้ง ๔๐ วิธีนั้น เป็นไปเพื่อให้เข้าถึงธรรมกายทั้งสิ้น แต่ที่ไม่รู้จักธรรมกาย ก็เพราะเราวางใจไว้ผิดที่ ถ้าหากวางใจไว้ถูกที่แล้ว จะต้องเข้าถึงธรรมกันทุกๆ คน

     วิธีทำสมาธิทั้ง ๔๐ วิธีนั้น สามารถแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือประเภทที่ ๑ ส่งจิตออกนอกตัว ประเภทที่ ๒ นำจิตเข้ามาไว้ในตัว ผู้ที่ส่งจิตออกนอกตัวจะไม่พบธรรมกาย แม้ผู้ที่นำจิตเข้ามาไว้ในตัว จะเข้าถึงธรรมกายได้ ก็ต้องเอาใจมาหยุดนิ่งที่กลางตัว ดำเนินจิตเข้าสู่กลางของกลางอย่างเดียว

     ถ้าหากส่งจิตออกนอกตัว อาจจะพบแสงสว่างได้บ้าง และก็มักจะมีนิมิตเลื่อนลอยต่างๆ เกิดขึ้นมา เพราะฉะนั้นบูรพาจารย์ในกาลก่อน ท่านจึงสอนไม่ให้ยึดติดในนิมิตที่เลื่อนลอยเหล่านั้น เพราะยังไม่ใช่วิธีที่จะทำให้เข้าถึงธรรมกาย

     นักปฏิบัติธรรมที่ส่งจิตเข้ามาในตัวก็เช่นเดียวกัน ผลของการปฏิบัติจะพบดวงสว่าง อาจจะมีบางครั้งที่พบกายของตัวเอง บางครั้งพบองค์พระ แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป ไปต่อไม่ได้ เพราะยังวางใจไม่ถูกที่ ไม่ถูกส่วน

     หลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ ท่านสละชีวิตเป็นเดิมพันทีเดียว ศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง ตั้งแต่ส่งจิตออกนอกตัว นำจิตเข้ามาในตัว แล้วก็ประคองจิตเข้ามาไว้กลางตัว ซึ่งท่านก็พบว่าการส่งจิตออกนอกตัว แม้กระทั่งในตัวนั้น ยังไม่ทำให้พบธรรมกาย แต่ต้องน้อมนำใจเข้ามาไว้ตรงกลางตัวเท่านั้น จึงจะพบด้วยการหยุดใจไว้ตรงฐานที่ ๗  

     เมื่อหยุดถูกส่วนจะเห็นเป็นดวงใสๆ อย่างเล็กขนาดเท่าดวงดาวในอากาศ อย่างกลางขนาดพระจันทร์วันเพ็ญ อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน หรือยิ่งกว่านั้น เมื่อหยุดถูกส่วนหนักเข้า จะเข้าไปพบกายต่างๆ ตั้งแต่กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม และกายธรรม เมื่อทราบวิธีเข้าถึงธรรมกายแล้ว ท่านก็มีมหากรุณา ได้นำสิ่งนี้มาเผยแผ่ต่อชาวโลก เพื่อให้ทุกคนได้เห็นว่า พระรัตนตรัยจริงๆ นั้นอยู่ในตัวของเราเอง เป็นทั้งที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดของมวลมนุษยชาติ

     ธรรมกายเป็นกายแก้วเรียกว่า “พุทธรัตนะ” ดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย หรือความรู้ที่หลั่งออกมาจากกลางของพระธรรมกาย เรียกว่า “ธรรมรัตนะ” ธรรมกายละเอียด ที่รักษาธรรมรัตนะเอาไว้นั้น เรียกว่า “สังฆรัตนะ” ซึ่งซ้อนอยู่ภายใน

     พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ แม้จะแยกกันตามชื่อ แต่ความจริงนั้น รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหมือนเพชร ที่มีทั้งเนื้อดี สีดี แล้วก็แววดี รวมเรียกว่าเพชร เนื้อดีก็ได้แก่พุทธรัตนะ สีดีก็ได้แก่ธรรมรัตนะ แววดีก็ได้แก่สังฆรัตนะ ทั้งสามนี้ รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อยู่ในกลางตัวของเรานี่แหละ

     เมื่อหลวงปู่วัดปากน้ำท่านค้นคว้าต่อไป ก็พบว่า ต้องอยู่กลางตัว หากอยู่กลางตัวแล้วจะสว่างที่สุด ความสว่างกับความบริสุทธิ์นั้นมีความสัมพันธ์กัน ยิ่งสว่างเท่าไร ความบริสุทธิ์ก็ยิ่งมีมากขึ้น ความสว่าง ความบริสุทธิ์ และความมั่นคงของจิตก็มีความสัมพันธ์กัน อยู่นอกตัวเหมือนยืนหมิ่นๆ หมิ่นเตียง หมิ่นโต๊ะ วางใจอยู่ในตัวเหมือนเขยิบเข้ามาหน่อย ต่อเมื่ออยู่กลางตัวนั่นแหละ จึงจะเหมือนยืนอยู่จุดกึ่งกลางของโต๊ะ มีความมั่นคง ไม่หวั่นไหวต่ออะไรเลยทีเดียว  

     เพราะฉะนั้น ต้องวางใจให้ถูกที่และถูกส่วน จึงจะเข้าถึงธรรมกาย ถ้าไม่ถูกที่ก็เข้าไม่ถึง เมื่อปฏิบัติไม่ได้เข้าไม่ถึง ก็ทำให้เข้าใจผิดคิดว่าธรรมกายคือลัทธิใหม่ คือวิธีการทำสมาธิแบบใหม่ เป็นวิธีที่ ๔๑ ซึ่งที่จริงไม่ใช่อย่างนั้น เป็นความเข้าใจผิดกันไปเอง

     ธรรมกายนี้ไม่ใช่ของใหม่ ไม่ใช่นิกายใหม่ ไม่ใช่วิธีที่ ๔๑ แต่เป็นวิธีปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงธรรมกาย ซึ่งรวมอยู่ใน ๔๐ วิธีนั่นแหละ เนื่องจากเราใช้คำไม่ครบถ้วน มักจะใช้คำว่าเป็นวิธีธรรมกาย แต่ถ้าคำเต็มแล้ว เขาใช้คำว่า วิธีปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงธรรมกาย วิธีเข้าถึงธรรมกาย

     แล้วธรรมกายที่อยู่ในกลางตัวนี้ ก็เป็นวิธีปฏิบัติแบบสติปัฏฐาน ๔ คือตามเห็นกายในกายเข้าไปเรื่อยๆ ตั้งแต่กายภายในซ้อนอยู่ในกายภายนอก แล้วกายภายในซ้อนอยู่ในกายภายใน ตามพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม ของแต่ละกายไปอย่างนี้ เป้าหมายก็เพื่อไปให้ถึงกายที่สุด คือกายธรรมอรหัต ที่มีแต่ความบริสุทธิ์ล้วนๆ เมื่อเข้าถึงธรรมกายแล้ว จะเปลี่ยนแปลงจากผู้ไม่รู้กลายมาเป็นผู้รู้แจ้ง รู้เห็นไปตามความเป็นจริง ความรู้นี้เกิดจากการเห็นแจ้ง เห็นได้ด้วยธรรมจักษุ คือตาธรรมกาย และหยั่งรู้ได้ด้วยญาณของธรรมกาย

     เมื่อทราบแล้ว ทำให้ตื่นจากความหลับใหล หลุดจากกิเลสอาสวะ อะไรต่างๆ ที่ครอบงำอยู่ เช่นความโลภทำให้จิตหิว ความโกรธทำให้จิตร้อน ความหลงทำให้จิตมืด หิว ร้อน มืดเหล่านี้ดับไปหมด เมื่อเข้าถึงธรรมกายจะมีความรู้สึกอิ่มเอิบเบิกบานใจ จิตใจจะเย็นสบาย แล้วก็ใสสว่าง ทำให้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อาจหาญร่าเริงอยู่ในธรรม

     เพราะฉะนั้น การเห็นธรรมกายนี้ จึงได้ชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า ดังที่พระพุทธองค์ทรงยืนยันว่า ธมฺมกาโย อหํ อิติปิ ตถาคตคือธรรมกาย ธรรมกายคือตถาคต ตถาคตเป็นชื่อพระพุทธเจ้า พระองค์ใช้คำนี้ เพราะใจของพระองค์ปล่อยวางกายภายนอก ที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วเข้าไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมกายที่เป็นธรรมขันธ์ เป็นกายที่มีแต่ความสุขและความบริสุทธิ์ล้วนๆ

     เรื่องราวของธรรมกายนี้ เป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้ง แต่ก็ไม่ยากเกินกว่าที่เราจะเข้าถึงได้ ถ้าหากทุกท่านหมั่นฝึกใจให้หยุดนิ่ง  เป็นประจำสม่ำเสมอ นำใจกลับเข้ามาไว้ที่ศูนย์กลางกายให้ได้ทุกเวลา สักวันหนึ่ง เราต้องเข้าถึงพระธรรมกายกันทุกคนเลย ธรรมกายเป็นกายแห่งการตรัสรู้ธรรมที่มีอยู่แล้วในกลางกายของมนุษย์ทุกคน แต่มนุษย์ทุกคนอาจเข้าไม่ถึงพระธรรมกายได้หมด เพราะปฏิบัติไม่ถูกวิธี แต่ถ้าปฏิบัติถูกวิธี จะเข้าถึงธรรมกายกันหมดทั้งโลกอย่างแน่นอน

 

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม ๖ หน้า

 



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ผู้ขัดขวางการสร้างบารมีผู้ขัดขวางการสร้างบารมี

๔๐ วิธี เพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย๔๐ วิธี เพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย

ฝึกใจให้หยุดนิ่งฝึกใจให้หยุดนิ่ง



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน